แต่กาลก่อนที่บนโลกใบนี้มิได้มีการกำหนดว่าดอกไม้ดอกใดให้เป็นที่สุด เป็น "ราชาแห่งดอกไม้" ทำให้เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ดอกไม้นานาพรรณต่างก็แข่งขันกันชูช่อเบ่งบานอวดให้ดวงตะวันชื่นชมความสวยงามของตน ด้วยความที่ไม่อยากให้มวลหมู่ดอกไม้ทะเลาะเบาะแว้งกันไปมากกว่านี้ ครั้งหนึ่งดวงตะวันจึงจัดประกวดดอกไม้ขึ้น โดยดวงตะวันจะเป็นกรรมการตรวจตรามวลหมู่ดอกไม้ทั้งหมดด้วยตัวเอง ว่าดอกไม้ดอกไหนกันแน่ที่เป็น "ราชาแห่งดอกไม้" ตัวจริง
ตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนบรรดาเด็กๆ จะลืมตาตื่นขึ้นมา ดวงตะวันก็เริ่มออกทำงานเสียแล้ว ดวงตะวันเดินท่อมๆ ตั้งแต่ทิศตะวันออกไปจรดทิศตะวันตก พิศมองดอกไม้ทั้งหลายทั้งมวลว่ามีลักษณะเช่นไรบ้าง ช่อสูงเท่าไหร่ ดอกใหญ่เพียงไร กลีบมีกี่ชั้น หอมหรือไม่ สีสันมีกี่แบบ มีพี่น้องมากมายขนาดไหน ฯลฯ
ทุกวัน ดวงตะวันต้องยุ่งเช่นนี้จนกระทั่งฟ้ามืด ....
ไม่ว่าจะแห่งหนตำบลใด เมื่อดวงตะวันเดินทางผ่านดอกไม้ส่วนใหญ่ก็จะรีบเผยกลีบอวดชูความสวยสดของตนเอง ขณะที่บางดอกก็พยายามเอาใจดวงตะวันแอบกระซิบว่า ตนเองจะเปลี่ยนชื่อโดยใส่คำว่า "ตะวัน" เข้าไปในชื่อด้วย ส่วนบางดอกก็พยายามติดสินบนด้วยการส่งน้ำดอกไม้ให้ดวงตะวันชิม บ้างก็พยายามแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนโค้งคำนับอย่างสวยงามเมื่อดวงตะวันเดินผ่าน ..... ผ่านมาหลายบ่าย ดวงตะวันก็ยังตกลงปลงใจไม่ได้เสียทีว่าจะยกให้ใครเป็น "ราชาแห่งดอกไม้" ดี
จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อดวงตะวันผ่านมายังนครลั่วหยาง บ้านของดอกโบตั๋น แต่กลับไม่พบโบตั๋นสักดอกออกมาแสดงการต้อนรับดังเช่นที่ผ่านมาเห็นดังนั้น ดวงตะวันจึงรู้สึกไม่พอใจและนึกในใจว่า
"เจ้าดอกโบตั๋น! ดอกไม้ทั้งหลายเมื่อเห็นข้าต่างก็กุลีกุจอออกมาต้อนรับขับสู้ ดี! ข้าก็อยากรู้นักว่าเจ้าจะแน่ จะเลิศเลอสักแค่ไหน ....." กล่าวจบดวงตะวันจึงแปลงกายเป็นชายแก่เคราขาวดกเดินเข้าไปในสวนโบตั๋น
ในสวนโบตั๋น ดวงตะวันในร่างชายแก่จึงพบว่าเหล่าโบตั๋นนั้นงดงามกว่าดอกไม้ใดๆ ที่ตนเคยพบเห็นมาทั้งหมด บรรดาโบตั๋นต่างมีกลีบดอกบางที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ นับไม่ถ้วน สีสันต่างก็สดสวยทั้งขาว แดง เหลือง ม่วง เขียว ฯลฯ บ้างบนกลีบก็ไล่โทนสีจากอ่อนไปแก่ บางดอกใหญ่โตดูโอฬารสูงถึง 2-3 เมตร ส่วนดอกที่ยังเล็กๆ ต่างก็แอบชื่นชมดอกใหญ่อยู่ในที โดยโบตั๋นแต่ละดอกต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างกันไป
หลังจากกลับออกมาจากสวนโบตั๋น .... เช้าวันรุ่งขึ้น ดวงตะวันก็ประกาศยกให้ "โบตั๋นเป็นราชาแห่งดอกไม้ทั้งมวล (花中之王)" โดยไม่มีดอกไม้อื่นใดในโลกหล้ากล้าส่งเสียงคัดค้านแต่อย่างใด
คลิก ฟัง เพลงบรรเลงกู่เจิ้ง ได้จาก Manager Media Audio Clip
.........................
ดอกโบตั๋น หรือ หมู่ตาน (牡丹花;Peony) เป็นดอกไม้ที่มีความหมายพิเศษสำหรับชาวจีน โดยนับแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวจีนส่วนใหญ่ถือว่า โบตั๋น เป็นหนึ่งในดอกไม้สัญลักษณ์ของประเทศ เพราะนอกจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีนแล้ว ยังเป็นที่นิยมและมีปลูกกันอย่างแพร่หลาย
ในปี พ.ศ.2446 (ค.ศ.1903) ขณะที่จีนยังอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงนั้น ราชสำนักชิงได้ประกาศให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน (国花) แต่เมื่อจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองกลายเป็นสาธารณรัฐจีน ก็เปลี่ยนมาใช้ดอกเหมย (เหมยฮวา:梅花) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยถึงปัจจุบันคนไต้หวันนั้นก็ยังถือว่า ดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำของเกาะไต้หวันอยู่
ต่อมาเมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการทำการสำรวจความเห็นของประชาชน และประชาชนส่วนมากก็ยกให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเห็นที่แตกต่างและการถกเถียงที่ยังไม่จบสิ้นในที่ประชุมใหญ่สภาประชาชนจีน จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีมติรับรองให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติจีนอย่างเป็นทางการเสียที (ขณะที่ฮ่องกงนั้น ใช้ดอกจื่อจิง (紫荆花) เป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะ)*
ดังเช่นที่นิทานข้างต้นกล่าว ลั่วหยางถือเป็นบ้านของดอกโบตั๋น ทำให้ลั่วหยางมีอีกชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า นครโบตั๋น (牡丹城)
ก่อน ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) -ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ดอกโบตั๋นไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเท่าใดนัก โดยชาวจีนทราบกันตั้งแต่ในสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ว่าพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติสามารถทำเป็นยา (รากของดอกโบตั๋นสามารถใช้ทำเป็นยาเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระดูผิดปกติในสตรี โรคหืด โรคชักได้)
จนกระทั่งในสมัยของบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน:武则天) จักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนขึ้นครองราชย์ ด้วยความที่พระองค์ทรงโปรดดอกโบตั๋นมาก จึงทำให้โบตั๋นกลายเป็นดอกไม้ที่แพร่หลายในเมืองฉางอาน เมืองหลวงของจีนในสมัยถัง โดยทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แหล่งกำเนิดของดอกโบตั๋นในประเทศจีนก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างว่าพระนางบูเช็กเทียนนำดอกไม้ชนิดนี้มาจากบ้านเกิด บ้างว่านำมาจากจิงโจว (泾州)
ทั้งนี้มีตำนานเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งกลางฤดูหนาว พระนางบูเช็กเทียนอยากชมดอกไม้ จึงออกคำสั่งให้ดอกไม้ทั้งหมดในเมืองฉางอานบาน ด้านเทพดอกไม้ต่างๆ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ตกใจกลัวพากันบานโดยพร้อมเพรียง จะมีแต่ก็เพียงเทพเจ้าดอกโบตั๋นเท่านั้นที่แข็งขืนไม่ยอมบาน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ถึงฤดูกาล หากดอกโบตั๋นบานก็จะเป็นการผิดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ด้านพระนางบูเช็กเทียนเมื่อเห็นว่าดอกโบตั๋นไม่ยอมบาน จึงสั่งให้ขุนนางเอาไฟเผาที่ต้นเสียจนดอกโบตั๋นต้องยอมบาน เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันต่อๆ มาว่าทำไมก้านดอกโบตั๋นจึงแห้งและมีสีเข้มเหมือนถูกไฟเผา**
อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเพราะแม้สุดท้ายดอกโบตั๋นจะยอมบาน แต่พระนางบูเช็กเทียนก็ทรงยังไม่พอพระทัย สั่งให้ย้ายดอกโบตั๋นทั้งหมดออกจากฉางอานไปยังลั่วหยาง และนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมลั่วหยางจึงกลายเป็นถิ่นถาวรของดอกโบตั๋นในที่สุด***
ดอกโบตั๋นสำหรับชาวจีน นอกจากจะมีความหมายเกือบจะเป็นดอกไม้ประจำชาติแล้ว เนื่องจากความใหญ่อลังการของลักษณะดอก ยังทำให้โบตั๋นเป็นสัญลักษณ์ถึงความเป็นผู้ดี ความร่ำรวยและฐานะอันสูงส่ง
ในจีนสมัยโบราณ ดอกโบตั๋นที่สวยๆ นั้นมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในหมู่ชนชั้นสูง เป็นงานอดิเรก เพื่อความสวยงาม จนถึงขั้นเพาะเพื่อประมูลขายกันในราคาเสียดฟ้า ดังเช่นที่ ไป๋จวีอี้ (白居易) กวีถัง หนึ่งในสุดยอดกวีแห่งประวัติศาสตร์จีนระบุไว้ในบทกวีที่ชื่อว่า ซื้อดอกไม้ (买花) ว่า
"一丛深色花,十户中人赋"
อี้ฉงเซินเซ่อฮวา สือฮุจงเหรินฝู้
ความหมายของบทกวีท่อนนี้ พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ในขณะนั้น โบตั๋นเพียงไม่กี่ดอกยังมีมูลค่ามากกว่าเงินภาษีของชนชั้นกลางสิบคนเสียอีก ภาพที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านรายได้ และความเป็นอยู่ของประชาชนที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน โดยเพียงแค่ไม่ดอกของเล่นชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งของเศรษฐีบรรดาสามัญชนก็มิมีสิทธิ์ที่จะคิดหรือฝันถึง ด้วยเหตุนี้ทำให้ในสมัยก่อนสามัญชน รวมไปถึงกวีชาวจีนบางกลุ่มจึงไม่นิยมชมชอบดอกโบตั๋นเท่าไรนัก แต่หันไปชื่นชมดอกไม้อื่นที่ สวยงาม และ เรียบง่ายกว่าแทน
...... สำหรับผม เมื่อได้อ่านบทกวีดังกล่าวแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ เพราะ ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเพียงใด 'ประวัติศาสตร์' ก็ยังคงเป็นกงล้อที่หมุนทับรอยเดิมจริงๆ
ปัจจุบัน ทุกปีในช่วงเดือนเมษายน ที่เมืองลั่วหยางจะมีการจัดเทศกาลดอกโบตั๋น อย่างอลังการ คึกคัก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเทศกาลดอกโบตั๋นนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทุกสารทิศ ทั้งในจีนและต่างประเทศ จนทำให้ในช่วงเดือนเมษายน ที่พัก โรงแรม และทัวร์มาลั่วหยางนั้นจะมีราคาแพงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ
สำหรับแหล่งชมดอกโบตั๋นที่มีชื่อเสียงมากในเมืองลั่วหยางนั้นได้แก่ สวนสาธารณะหวังเฉิง (王城公园) ที่มีสวนปลูกดอกโบตั๋น 500 กว่าพันธุ์รวม 3 พันกว่าต้น และตั้งอยู่บนพื้นที่อันเป็นที่ตั้งเดิมของพระราชวังของกษัตริย์จีนในสมัยโจวตะวันออก (东周)
หมายเหตุ :
- ดอกโบตั๋น หรือหมู่ตาน (牡丹花;Peony) ในประเทศจีน นอกจากจะมีปลูกมากที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานแล้ว ยังมีปลูกมากที่เมืองเหอเจ๋อ ในมณฑลซานตงอีกด้วย ส่วนในภาษาญี่ปุ่น 'ดอกโบตั๋น' มีความหมายว่าโอสถจากจีน ด้วยคุณสมบัติของโบตั๋นที่สามารถปรุงเป็นยาได้ ขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ โบตั๋นยังปลูกได้ในยุโรป และอเมริกาเหนืออีกด้วย โดยในปี พ.ศ.2500 (ค.ศ.1957) รัฐอินเดียน่า ของสหรัฐฯ ได้กำหนดให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐแทนดอกบานชื่น (Zinnia) ขณะที่ในเมืองไทยบ้านเรา เมื่อเอ่ยถึงโบตั๋นนอกจากจะนึกถึงประเทศจีนแล้ว นักอ่านทั้งหลายยังนึกถึง 'โบตั๋น' นามปากกาของคุณสุภา สิริสิงห นักประพันธ์ชื่อก้อง ผู้ประพันธ์นิยายชื่อดัง (เกือบทั้งหมดเคยถูกนำมาดัดแปลงทำเป็นละครโทรทัศน์) อย่าง จดหมายจากเมืองไทย ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ตราไว้ในดวงจิต สุดแต่ใจจะไขว่คว้า กว่าจะรู้เดียงสา ทองเนื้อเก้า วัยบริสุทธิ์ เกิดแต่ตม บัวแล้งน้ำ ตะวันชิงพลบ เป็นต้น จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปีพุทธศักราช 2542 อีกด้วย
Tips สำหรับการเดินทาง:
- สวนสาธารณะหวังเฉิง (王城公园) เปิดถึง 21.00น. ค่าบัตรผ่านประตู 20 หยวน อยู่ใจกลางเมืองลั่วหยาง โดยนอกจากจะเป็นสวนสาธารณะแล้วยังแบ่งเป็นส่วนสวนสนุก สวนสัตว์ และพิพิพันธ์ตัวอักษรโบราณของจีนด้วย ทั้งนี้หากต้องการชมแนะนำว่าให้ไปราวกลางเดือนเมษายนที่ดอกโบตั๋นจะบานสะพรั่งทั้งสวน ทั้งนี้นอกจากหวังเฉิงกงหยวนแล้ว ยังมีสวนสาธารณะซีย่วน (西苑公园) สวนสาธารณะโบตั๋น (牡丹公园) ที่ก็เปิดสวนโบตั๋นให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเช่นกัน
อ้างอิงจาก :
*หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 66-67 และ Peony จาก Wikipedia, the free encyclopedia
**หนังสือ 中国文化知识精华 : สำนักพิมพ์ 湖北人民出版社, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เดือนมกราคม ค.ศ.2004 หน้า 601 ; การเอาไฟเผาให้ดอกไม้บาน ต้นไม้โตนี้เป็นหลักฐานหนึ่งของการประดิษฐ์ ห้องเรือนกระจก หรือ Green House ที่มีหลักฐานว่าชาวจีนใช้เลี้ยงพืชในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น
***อ้างอิงแล้ว ในหนังสือ 中国文化知识精华