xs
xsm
sm
md
lg

ครูหลวนเหวินหัว: ผู้สร้างทางต่อสะพานเชื่อมมิตรไมตรีจีนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใดๆ อาจขาดชีวิตชีวา หากไม่มีมิตรภาพอันอบอุ่นระหว่างประชาชนทั่วไป อาจารย์หลวนเหวินหัวหรือที่นักศึกษาธรรมศาสตร์เรียกกันว่า ‘ครูหลวน’ เป็นผู้หนึ่งที่มีความกระตือรือร้นในการสัมพันธ์กับไทยไม่ว่าในด้านการคบหาคนไทย การเรียนรู้วรรณกรรมไทย การซึมซับวัฒนธรรมไทย ด้วยความรักที่จะเข้าใจและเข้าถึงความเป็นไทยนี้เอง ส่งให้อาจารย์ได้มาทำงานและใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 10 ปี

ครูหลวนยังนับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางต่อสะพานเชื่อม ความเข้าอกเข้าใจระหว่างประชนสองชาติอย่างจริงจัง ด้วยการใช้ความรู้ภาษาไทยอย่างดีเยี่ยมของครู ผลักดันงานเขียนทางวิชาการ รวมทั้งงานแปลเกี่ยวกับวรรณกรรมไทย ออกเป็นฉบับพากษ์ภาษาจีน ให้คนจีนรู้จักความคิด วัฒนธรรมไทยอย่างลึกชึ้งมากขึ้น


ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์จีนไทยนั้น สิ่งที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจก็คือ การได้เป็นประจักษ์พยานเล็กๆคนหนึ่งในการสถาปนาและพัฒนาการของความสัมพันธ์มิตรไมตรีจีนไทย เมื่อปลายปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ผมได้ไปช่วยงานชั่วคราวที่โรงพิมพ์วิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งปักกิ่ง และได้ผ่านประสบการณ์ ที่นับเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ ที่นั่น ผมไม่เพียงแต่เป็นคนแรกๆที่ได้เห็นแถลงการณ์ร่วมการสถาปนาความสัมพันธ์ปกติระหว่างจีนไทยฉบับพากษ์ภาษาไทย ทั้งยังได้เป็นผู้เรียงพิมพ์เอกสารฉบับพากษ์ไทยนั้นด้วยมือตัวเองอีกด้วย เอกสารฉบับนี้ ถือว่าเป็นความลับในช่วงก่อนหน้าที่รัฐบาลทั้งสองประเทศประกาศคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว โดยในวันที่สองคำแถลงการณ์ร่วมนี้ จึงได้ปรากฏแก่สายตาของกลุ่มสื่อมวลชน

สำหรับชาวจีนทั่วไป การสถาปนาความสัมพันธ์ปกติระหว่างจีนไทยนี้ เป็นเพียงข่าวสารชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับพวกเราในฐานะเป็นผู้ทำงานที่เกี่ยวโยงกับไทยกลุ่มหนึ่งนั้น นับเป็นข่าวดีที่น่าซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง
กระทั่งเมื่อผมเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ก็ได้จับพลัดจับผลูมาเรียนภาษาไทย ในระหว่างช่วงเวลา 5 ปีในช่วงนั้น นอกเหนือจากอาจารย์สิทธิชัย คนไทยที่ผมได้ติดต่อคบหาเมื่อนับรวมเข้าด้วยกันแล้ว ยังไม่ถึง 10 คน หนังสือพิมพ์ภาษาไทย นิตยสารภาษาไทย และหนังสือหนังหาที่เป็นภาษาไทยยิ่งนับเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง เนื่องจากว่าแม้มีเงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ สัมพันธภาพระหว่างจีนไทยที่ไม่มีการไปมาหาสู่ โดยขาดช่วงมานานเหลือเกินนั้น ได้ดำเนินมาเป็นเช่นนี้ กระทั่งผมเรียนภาษาไทยสำเร็จ สิ่งที่วิตกอยู่ในเวลานั้นคือจะไม่ได้นำวิชาความรู้ที่สู้อุตสาหะร่ำเรียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้เปิดประตูกว้างให้แก่ทั้งสองชาติ

ในปี 1982 ผมได้ฉวยโอกาสที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกได้เปิดไว้ ในการมาศึกษาภาษาไทยเพิ่มเติมและทำงานวิจัยเป็นเวลา 1 ปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลานั้น บรรยากาศทางการเมืองของไทยยังคงมีควันหลงจากเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาอย่างนองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี ค.ศ.1976 ทั้งยังคงมีปัญหาทางการเมืองบางประการตกทอดหลงเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจากประเทศคอมมิวนิสต์จึงยังคงเป็นที่จับตามองของเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงไทย นอกจากนี้ กลุ่มคนไทยทั่วไปที่เราได้พูดคุยติดต่อด้วยในเวลานั้น เมื่อรู้ว่าพวกเรามาจากปักกิ่ง การพูดคุยที่ออกรสก็ชะงักลงทันที ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากการติดต่อระหว่างคนสองชาติ และความเข้าอกเข้าใจกันนั้น จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่ง

30 ปี ผ่านไปเร็วราวกระพริบตา การไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนระหว่างจีนไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม เหมือนดั่งกระแสน้ำไหลในแม่น้ำน้อยใหญ่ ชาวไทยและชาวจีนไม่เพียงแต่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความรู้สึกเสมือนญาติมิตร ด้วยความเชื่อ ขนบประเพณีที่ใกล้ชิดกัน ทำให้เราทั้งสองไม่มีปัญหาอุปสรรค์ใดๆในการดำเนินความสัมพันธ์ อีกทั้งการริเริ่มเขตการค้าเสรีจีนและกลุ่มอาเซียน ยิ่งทำให้อนาคตความร่วมมือทั้งสองประเทศ ฉายโชนสวยงามอย่างไร้ขีดจำกัด

เมื่อรวมเวลาทั้งหมดที่ทำงานในประเทศไทย ก็นับได้ถึง 11 ปี ที่นั่น มีเพื่อนร่วมงาน มิตรสหายสนิท และลูกศิษย์ลูกหามากมายที่คบหากันอย่างอบอุ่น ประเทศไทยเป็นที่ที่ผมโหยหาฝันถึง เป็นบ้านหลังที่สองของผม

การงานต่างๆที่ผมได้ทำมาในช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าการวิจัยวรรณกรรมไทย การแปลงานวรรณกรรมไทยอยู่ที่เมืองจีน หรือว่าเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนที่เมืองไทย ก็สามารถใช้คำพูดประโยคหนึ่งมาสรุปความ นั่นก็คือสิ่งที่ผมทำไปนั้น ล้วนเป็นงานสร้างทางต่อสะพานสำหรับเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างจีนไทย แม้นว่าความสามารถของผมมีจำกัด ผลสำเร็จไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็เป็นงานที่มีความหมายชิ้นหนึ่ง เพียงเท่านี้ ผมก็รู้สึกปิติเต็มตื้น..."

ประวัติครูหลวนเหวินหัว
ครูหลวนเหวินหัว เกิดปี ค.ศ. 1939 ที่เมืองจี๋หลิน เริ่มเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อปี 1960 หลังจบการศึกษา ก็ได้ทำงานวิจัยวรรณกรรมไทย ที่สำนักวิจัยวรรณกรรมต่างประเทศแห่งสภาบัณฑิตยสถานแห่ง
ประเทศจีน ต่อมาในปี 1982 ก็ได้เข้าศึกษาภาษาไทยและทำงานวิจัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ปี วิจัยวรรณกรรมไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 1 ปี(1987-88) จากนั้น ก็เป็นอาจารย์ประจำสอนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมเวลาถึง 8 ปี (1993-95, 1998-2004) กระทั่งเกษียณอายุกลับบ้านที่ปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2005


ครูหลวนยังได้สร้างสรรค์งานเขียน ถ่ายทอดวรรณกรรมไทยเป็นภาษาจีน ให้ชาวจีนได้รู้จักงานทางความคิดและงานเขียนของไทยมากขึ้น ได้แก่ ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย (เป็นประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยพากษ์ภาษาจีนเล่มแรก) ประวัติศาสตร์วรรณกรรมตะวันออก (มี 2 เล่ม, ได้รับรางวัลจากหอสมุดแห่งชาติจีน) นอกจากนี้ ยังมีงานแปลได้แก่ ‘ข้างหลังภาพ’ ของศรีบูรพา ‘คำพิพากษา’ และ ‘เรื่องธรรมดา’ของชาติ กอบจิตติ ‘รวมเรื่องสั้นไทย’ ‘รวมนิทานของศรีธนนชัย’ ตลอดจนบทกวีของเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ และกวีไทยท่านอื่นๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น