xs
xsm
sm
md
lg

'แก๊งสี่คน' ทรชนแห่งประวัติศาสตร์จีน (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากกล่าวถึงเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมบนแผ่นดินใหญ่ตลอด 10 ปี คือ ในช่วง คศ.1966-1976 แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า แก๊ง 4 คน (四人帮) อันประกอบด้วย เจียงชิง เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวังหงเหวิน ที่เข้ามารวมตัวกันอย่างจริงจังเมื่อการปฏิวัติดำเนินไปช่วงหนึ่งแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นบทบาทและความทะเยอทะยานของแต่ละคนในการช่วงชิงอำนาจก็ไม่ด้อยไปกว่ากันเลย จนสร้างความทุกข์ลำเค็ญไปทั่วทุกหย่อมหญ้าบนแผ่นดินจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม กระทั่งแม้แต่นักปฏิวัติแท้ที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่ประธานเหมา ปัญญาชน ไปจนถึงชาวบ้านระดับรากหญ้า

เจียงชิง 江青 (1914-1991)

ผู้นำของการปฏิวัติวัฒนธรรมบนแผ่นดินใหญ่นางนี้ มีชื่อเดิมว่าหลี่หยุนเฮ่อ(李云鹤) เป็นคนเมืองจูเฉิง ในมณฑลซันตง เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งแรกในปี 1933 แต่ทว่าก็หมดสมาชิกภาพไปในอีก 5 เดือนถัดมา หลังจากนั้นในปี 1934 ยังถูกพรรคก๊กมินตั๋งในเซี่ยงไฮ้จับไป และได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยดี ซึ่งประวัติช่วงนี้ถือว่าเป็นตราบาปอย่างหนึ่ง เพราะหากนางไม่ได้ให้ความร่วมมือกับก๊กมินตั๋ง การได้รับอิสรภาพโดยดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย จึงเท่ากับเป็นการทรยศกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

เมื่อถูกปล่อยออกมาแล้ว นางก็ได้ยึดอาชีพเป็นนักแสดงภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อว่า หลันผิง(蓝苹) กระทั่งในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1937 หลันผิงได้เดินทางไปยังเหยียนอัน และฟื้นสมาชิกภาพในพรรคคอมมิวนิสต์กลับมาอีกครั้ง โดยในปีถัดมาก็ได้เลื่อนสถานภาพขึ้นเป็นภรรยาของประธานเหมาเจ๋อตุง

การขึ้นมาครองอำนาจระดับสูงของเจียงชิงนั้น กล่าวกันว่ามาจากการเป็นภรรยาของเหมาล้วนๆ เนื่องจากนางไม่ใช่คนที่มีการศึกษาดี หรือมีความสามารถโดดเด่น แม้แต่การเป็นนักแสดงซึ่งเป็นอาชีพเก่า ก็เป็นเพียงนักแสดงชั้นสอง แต่ความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้นางครองตำแหน่งสูงทางการเมือง ประกอบกับการเป็นคนที่มีปมด้อยไม่อยากเห็นใครเด่นเกินหน้า ในช่วงปลายของชีวิตประธานเหมา นางกับพรรคพวกได้กีดกันผู้นำพรรคคนอื่นๆ ที่เป็นปรปักษ์ไม่ให้เข้าใกล้ประธานเหมา พร้อมทั้งทำลายชื่อเสียง เกียรติคุณของทั้งโจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิง และครอบครัวนักปฏิวัติที่ร่วมสร้างชาติมากับประธานเหมาท่ามกลางเสียงก่นด่าของประชาชนอีกด้วย

และแล้วอำนาจของนางก็สิ้นสุดลงในวันที่ 6 ตุลาคมปี 1976 หลังอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงไม่ถึง 1 เดือน เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงร่วมมือกับนายพลเยี่ยเจี้ยนอิงและพรรคพวก วางแผนเข้าจับกุมแก๊ง 4 คน และในเดือนกรกฎาคม 1977 ในที่ประชุมเต็มคณะพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 10 วาระที่ 3 ก็ได้มีมติยกเลิกสถานภาพภายในพรรคของเจียงชิงไปตลอดกาล รวมถึงเพิกถอนตำแหน่งหน้าที่ทั้งหมด ถัดมาในวันที่ 25 มกราคม 1981 ศาลสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พิพากษาให้ประหารนางเจียงชิงในฐานะหัวหน้าการกบฏ รอลงอาญาไว้ 2 ปี ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคมปี 1983 ศาลก็ได้ลดหย่อนโทษให้เหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม เจียงชิงก็ได้จบชีวิตตัวเองด้วยน้ำมือตัวเองเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1991

เหยาเหวินหยวน 姚文元 (1931- ปัจจุบัน)

แกนนำแก๊ง 4 คนคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นชาวเมืองจูจี้ มณฑลเจ้อเจียง มีส่วนร่วมในหน่วยงานด้านโฆษณาการของพรรคมาตั้งแต่ยังไม่เป็นสมาชิกของพรรค ซึ่งเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของพรรคแล้ว ก็รับผิดชอบในหน้าที่นี้มาโดยตลอด โดยในปี 1965 ก็ได้มีผลงานวิจารณ์บทละครเรื่อง ‘ไห่รุ่ยถูกปลดจากราชการ (海瑞罢官) ’ ภายใต้การบงการของเจียงชิงและจางชุนเฉียว และนี่เองก็เป็นจุดเริ่มต้นจุดหนึ่งของมติมหาชนต่อการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เริ่มขึ้นในปีถัดมา และในการเคลื่อนไหวดังกล่าวเหยาก็รับบทเป็นสมาชิกในกลุ่มแกนนำผู้ปฎิวัติวัฒนธรรมด้วย
ปฏิบัติการที่สร้างชื่อให้กับเหยา นั่นคือเหตุการณ์ที่เรียกว่า มรสุมเดือนมกราคม(一月风暴) ในปี 1967 เป็นการร่วมมือระหว่างจางชุนเฉียวและเหยาเหวินหยวน ที่ใช้อำนาจของการเจ้าหน้าที่กลุ่มย่อยคณะปฏิวัติกลางกวาดล้างกลุ่มที่มีอำนาจราชการเดิมในเมืองเซี่ยงไฮ้ภายใน 1 เดือน แล้วขึ้นมาครองเมืองแทน การกระทำของพวกเขาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประธานเหมาเจ๋อตุงโดยตรง ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นี้แล้วประธานเหมายังส่งสาสน์มาแสดงความยินดี และให้เผยแพร่เหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านหนังสือพิมพ์ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความวุ่นวายยิ่งขึ้นไปอีกบนแผ่นดินใหญ่

เหยายังมีบทบาทเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจียงชิงเรื่อยมาในการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประเทศ ในช่วงปี 1974 ถึง 1975 ซึ่งเป็นช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม เขาอาศัยการประณามหลินเปียวและขงจื้อ(批林批孔) เพื่อปลุกระดมให้มีการประณามโจวเอินไหล โดยมีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพรุ่นเก่าให้หมดจากเส้นทางกุมอำนาจ

ในปี 1976 หลังอสัญกรรมของประธานเหมา แก๊งสี่คนมีแผนช่วงชิงอำนาจสูงสุดของทั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาล แต่น่าเสียดายที่ไม่สำเร็จ กลับกลายเป็นว่าทั้งสี่ต้องถูกจับกุมและสูญสิ้นอำนาจไปในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง

ในเดือนกรกฎาคมปี 1977 ที่ประชุมเต็มคณะพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 10 วาระที่ 3 ก็ลงความเห็นให้เพิกถอนสมาชิกภาพของเหยาไปตลอดชีวิต รวมทั้งยกเลิกความรับผิดชอบทั้งหมดที่ทำอยู่ และในวันที่ 25 มกราคม 1981 ศาลสูงสุดก็ได้พิจารณาโทษให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี และไม่มีสิทธิใดๆ ด้านการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ในเดือนมกราคมปี 1996 เหยาเหวินหยวนก็พ้นโทษ และอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้อย่างเงียบๆ เดิมทีนั้นเขามีโครงการจะเขียนหนังสือที่รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต แต่ทว่าต้นฉบับไม่ผ่านการตรวจแก้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีการเผยแพร่ผลงานออกมา อย่างไรก็ตาม เขายังได้รับการช่วยเหลือจากเจียงเจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดี โดยเจียงเห็นใจว่าเหยาไม่มีทรัพย์สินใดๆ จึงมีคำสั่งให้เงินสนับสนุนเดือนละ 4,000 หยวนในบั้นปลายชีวิต

เรียบเรียงจาก พีเพิลเดลี่ http://zh.wikipedia.org ไชน่าเดลี่, TOM.COM,www.china.org.com, หนังสือประวัติศาสตร์จีน ของทวีป วรดิลก
กำลังโหลดความคิดเห็น