xs
xsm
sm
md
lg

แว่วเสียงขลุ่ยที่ 'ลั่วหยาง'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


谁家玉笛暗飞声,散入春风满洛城。
此夜曲中闻折柳,何人不起故园情。
มิรู้เสียงขลุ่ยจากหนใดแอบลอยมาตามลมฤดูใบไม้ผลิอวลอบไปทั่วลั่วหยาง
ค่ำคืนนี้เมื่อยินทำนองแห่ง 'เจ๋อหลิ่ว' จะมีใครบ้างหนอที่ไม่หวนคำนึง ถึงบ้านเกิด

หลี่ไป๋(李白)


เสียงขลุ่ยจีน แววมาตามสายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเสียงแทรกผ่านแก้วหู ซึมผ่านเข้าไปบาดที่หัวใจ ส่งให้รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า บทเพลงที่บรรเลงอยู่นั้น ช่างคล้ายเสียงขลุ่ยไทยที่บ้านเราเสียนี่กระไร (คลิกฟัง เสียงขลุ่ยจีน ได้ที่นี่ manager media audio clip)
......................
กลิ่นอายของประวัติศาสตร์ลอยมาแตะประสาทสัมผัส ตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึง ..... ลั่วหยาง อดีตราชธานีแห่งมณฑลเหอหนาน

ลั่วหยาง (洛阳) ชื่อนี้ได้มาตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างรัฐ (จ้านกั๋ว:战国;ก่อนคริสต์กาล 403-221 ปี) อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของลั่วหยางนี้มีมาก่อนหน้านั้นยาวนานนับพันปี เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การดำรงชีพและการปกครองของบรรพบุรุษชาวจีนมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดย ณ พื้นที่อันเป็นเมืองลั่วหยางในปัจจุบันก็ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายทั้งใน สมัยเซี่ย (ศตวรรษที่ 21-17 ก่อนคริสต์ศักราช) ซาง (ศตวรรษที่ 17-11 ก่อนคริสต์ศักราช) โจวตะวันตก (ศตวรรษที่11 - 771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

ที่มาที่ไปของชื่อ ลั่วหยาง (洛阳) นั้น ลั่ว (洛) มาจากชื่อของแม่น้ำลั่ว (洛水) ขณะที่คำว่า หยาง (阳) บ่งบอกว่าเมืองแห่งนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำลั่ว ....

สำหรับคำว่า 'ยิน (阴)' กับ 'หยาง (阳)' นี้ หากพบในชื่อสถานที่ใดก็มีหลักสังเกตง่ายๆ ดังนี้คือ

ยิน (阴) - อยู่ทางใต้ของแม่น้ำ อยู่ทางเหนือของภูเขา
หยาง (阳) - อยู่ทางเหนือของแม่น้ำ อยู่ทางใต้ของภูเขา

คำอธิบายก็คือ โดยปกติแล้วเนื่องจากประเทศจีนอยู่ซีกโลกด้านเหนือ แสงแดดจึงสาดมาจากทางทิศใต้เสมอ พื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำกับทางใต้ของภูเขาที่ได้รับแสงแดดอยู่เสมอจึงเรียกว่า หยาง (阳) ในทางกลับกัน พื้นที่ทางใต้ของแม่น้ำกับทางเหนือของภูเขา จึงเรียกว่า ยิน (阴)

ลั่วหยาง ถือเป็นหนึ่งในเจ็ดราชธานีเก่าแห่งแผ่นดินจีน ร่วมกับ อันหยาง ซีอาน ไคเฟิง หางโจว หนานจิง และ ปักกิ่ง ซึ่งหากพลิกดูประวัติศาสตร์คำนวณรวมดูแล้วนั้น เมืองแห่งนี้ถือเป็นราชธานีของจีนมาหลายยุคหลายสมัย รวมระยะเวลายาวนานกว่าพันปี 13 ราชวงศ์ มีกษัตริย์หรือฮ่องเต้เคยประทับอยู่ที่เมืองนี้กว่า 105 พระองค์*

การปรากฎหลักฐานอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในสถานะเมืองหลวงของลั่วหยางก็ คือ การย้ายเมืองหลวงจาก เฮ่าจิง (镐京; บริเวณเมืองซีอานในปัจจุบัน)ไปยังทิศตะวันออกมายัง ลั่วอี้ (雒邑; ลั่วหยางในปัจจุบัน) ของโจวผิงหวัง(周平王) เมื่อ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โจวตะวันตก (西周) และเริ่มเข้าสู่ยุคโจวตะวันออก (东周) เมื่อเกือบ 2,800 กว่าปีก่อน

โดยในยุคต่อๆ มา ลั่วหยางก็เป็นเมืองหลวงของ ฮั่นตะวันออก ก๊กเว่ยของโจโฉในสมัยสามก๊ก (หรือ วุยก๊ก ที่คนไทยรู้จัก) จิ้นตะวันตก เป่ยเว่ย สุย (ในสมัยสุยหยางตี้) ถัง (ในสมัยพระนางบูเช็กเทียน หรือ อู่เจ๋อเทียน) ทั้งนี้หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่าในอดีต 'ลั่วหยาง' นั้นมีสถานะคล้ายเป็นเมืองหลวงอะไหล่ เมืองหลวงสำรองของ ฉางอาน (ซีอาน) มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ในสมัยโจว ฮั่น สุย ถัง ....

ด้วยชัยภูมิที่ดี การคมนาคมสะดวก และที่สำคัญอยู่ใกล้กับฉางอาน (ซีอาน) มาก ทำให้สองเมืองนี้มีสถานะคล้ายเป็นเมืองคู่แฝดกันไปโดยปริยาย

สำหรับความมหึมา ความ และ ความพลุกพล่านของ เมืองลั่วหยาง ในอดีตกาลนั้น หากใครยังจินตนาการไม่ออก ผมขออนุญาตเรียบเรียงคำของหวงอี้ ที่พรรณนาถึงสภาพ 'ราชธานีลั่วหยาง' ช่วงปลายราชวงศ์สุย ไว้ในมหากาพย์กำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ 'มังกรคู่สู้สิบทิศ' (ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย น.นพรัตน์) มาให้อ่าน

"นครลั่วหยางตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งด้านทิศใต้ของแม่น้ำฮวงโห ทิศเหนือพิงภูเขาหมางซาน ทิศใต้อยู่ติดกับแม่น้ำลั่วสุ่ย ทิศตะวันออกใกล้กับเมืองหู่เหลา ทิศตะวันตกเป็นด่านหันหู่กวน รอบด้านปรากฎภูเขาล้อมรอบ กึ่งกลางเป็นที่ราบ นครลั่วหยางมีแม่น้ำสี่สายไหลผ่าน ทั้งตั้งอยู่ในภูมิประเทศอันตราย ทั้งมีทิวทัศน์งามสดใส ผืนดินอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมสะดวกยิ่ง

"ดังนั้นนับแต่โบราณกาลมา ราชวงศ์ เซี่ย ซาง ตงโจว ตงฮั่น วุยก๊ก จิ้นตะวันตก วุ่ยเหนือ และราชวงศ์สุยล้วนตั้งราชธานีอยู่ที่นี้ ด้วยเป็นศูนย์กลางคมนาคม เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารนั่นเอง

"หลังจากที่สุยหยางตี้ฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ ก็เลือกสถานที่ในนครลั่วหยางตั้งเป็นราชธานีใหม่ ... สุยหยางตี้ฮ่องเต้ยังถือนครลั่วหยางเป็นจุดศูนย์กลาง ขุดคลองต้ายุ่นเหอเชื่อมดินแดนตอนเหนือและใต้ เชื่อมบรรจบแม่น้ำห้าสายเข้าด้วยกัน ทำให้ลั่วหยางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมของแผ่นดิน ....

"วันนี้ฟ้าเพิ่งรุ่งสาง ประตูเมืองเปิดออก พ่อค้าวาณิชย์ที่เตรียมเข้าเมืองไปค้าขาย และชาวนาชาวไร่ที่นำผลผลิตมาจำหน่ายจำนวนมากทยอยเข้าเมืองไป ปาฟงหันกับฉีจื่อหลิงที่สวมหน้ากากมนุษย์ปะปนอยู่ในกลุ่มคน เดินเข้าเมืองทางประตูด้านใต้อย่างปลอดโปร่ง ...... พอเข้าสู่ประตูเมือง ฉีจื่อหลิงซึ่งเพิ่งเหยียบถิ่นใหญ่ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

"เห็นถนนใหญ่ชื่อเทียนเจี๋ย ซึ่งเชื่อมระหว่างประตูเมืองด้านทิศเหนือและใต้ ทอดยาวออกไป อย่างน้อยมีความยาวเจ็ดแปดลี้ ถนนกว้างนับร้อยก้าว สองฟากข้างเพาะปลูกต้นไม้นานาชนิด กึ่งกลางเป็นถนนหลวงสำหรับฮ่องเต้เสด็จประพาส ประจวบกับตอนนี้เป็นช่วงเชื่อมต่อระหว่างฤดูใบไม้ผลิกับฤดูร้อน ปรากฎดอกท้อแดงสะพรั่งต้นหลิวเขียวขจี ทิวทัศน์งามราวภาพวาด"**

เมื่อประวัติศาสตร์เลื่อนไหลไปตาม ธารแห่งเวลา สภาพเมืองลั่วหยางเช่นที่ว่า ก็หลงเหลืออยู่แต่เพียงในหน้าประวัติศาสตร์ ปรากฎเป็นจินตภาพของผู้ที่มีจินตนาการ อย่างไรก็ตามก็มิใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเลือนหายไปกับกาลเวลาเสียหมด 'ลั่วหยาง' ราชธานีพันปีแห่งนี้ยังหลงเหลือ อดีตอันรุ่งเรือง ให้ผู้คนโหยหา และ หวนคำนึงอยู่ ทุกซอกมุม ......



หมายเหตุ :
- ระยะเวลาการเป็นเมืองหลวงของ ลั่วหยางนั้นตำรา หนังสือแต่ละเล่มนั้นระบุไว้แตกต่างกัน บ้างว่า 1,600 ปี (คิดรวมเอาราชวงส์ 'เซี่ย' กับ 'ซัง' เข้าไปด้วย) บ้างว่า 1,100 ปี บ้างว่าเกือบ 1,000 ปี ขณะที่ชื่อเดิมของ ลั่วหยาง คือ ลั่วอี้ นั้นภาษาจีนเขียนได้สองแบบคือ 雒邑 และ 络邑

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 洛阳名胜 สำนักพิมพ์ 中州古籍出版社 ฉบับเดือนเมษายน ปี 2001
**มังกรคู่สู้สิบทิศ (大唐双龙传) เล่มที่ 4 นิยายโดยหวงอี้ แปลโดย น.นพรัตน์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์




กำลังโหลดความคิดเห็น