xs
xsm
sm
md
lg

การฝึกฝนชี่กง DCP (2)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร


ท่าที่ 1 สร้างฐานพลัง

ท่านี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน

ขั้นแรก เป็นการเชื่อมโยงพลังชี่ภายใน (เน่ยชี่) กับพลังชี่ภายนอก (ไว่ชี่) ให้เกิดพลังชี่รวมขับเคลื่อนในตัวตน นำผู้ฝึกฝนเข้าสู่สภาวะชี่กง

ขั้นที่สอง เป็นการบริหารพลังชี่รวมให้แข็งแกร่งเหนียวแน่น เกิดการขับเคลื่อนอย่างเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันของพลังชี่ไปทั้งตัว แล้วลำเลียงพลังทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ทุ่งพลังหรือตันเถียนล่าง (ท้องน้อยใต้สะดือ) อันเป็นฐานพลังชี่รวมของร่างกาย สำหรับรองรับการฝึกฝนร่างกายต่อไป (รวม 3 ท่าด้วยกัน ได้แก่ ท่ายืดตัว ท่าหมุนตัว และท่าเขย่าตัว) ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแกร่งสมบูรณ์ทั้งในระดับกายหยาบและกายละเอียด

ขั้นตอนการฝึก (ดูภาพประกอบ รวม 5 ภาพ)

1) เริ่มด้วย "ท่าเตรียม" แล้วทำ "จิตคลาย-กายผ่อน" พร้อมกับผ่อนลมหายใจเบาๆ ยาวๆ จนกระทั่งสุดปลายลม ซึ่ง ณ จุดปลายลมนั้น ให้ผู้ฝึกฝนสำนึกหรือบอกตนเองอยู่ภายในถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของตน (เทียนเหรินเหออี)

เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกันเข้าระหว่างเรากับธรรมชาติในระดับ "ชี่" คือระดับกายละเอียด ในรูปของพลังงาน เรียกว่าพลังชี่ ให้ระบบพลังชี่ภายในหรือ "เน่ยชี่" เชื่อมโยงกับระบบพลังชี่ของธรรมชาติภายนอก (ในขั้นนี้คือการเชื่อมเข้ากับพลังชี่ดิน) หรือ "ไว่ชี่" อย่างแนบแน่นทางปลายนิ้วมือและปลายนิ้วเท้า เข้าสู่สภาวะชี่กง

ในท่านี้ ผู้ที่ทำจิตคลาย-กายผ่อน สำนึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้ดี มักจะเข้าสู่สภาวะชี่กงได้เร็ว โดยจะรู้สึกมีประจุไฟฟ้าแล่นแปลบปลาบที่ปลายนิ้วมือและเท้าทั้งสองข้าง เกิดความรู้สึกชาๆ ที่ฝ่ามือหรือกระทั่งลำแขนทั้งสองข้างในทันทีที่ผ่อนลมหายใจไปจนสุดปลายลม

กระนั้น สำหรับผู้ฝึกฝนใหม่ ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าจะเกิดอะไรกับตนเอง ขอให้ตั้งสมาธิฝึกฝนไปเรื่อยๆ ก็พอแล้ว

นั่นคือ ไม่ต้องคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำ "จิตคลาย-กายผ่อน" ผ่อนลมหายใจเบาๆ ยาวๆ ไปเรื่อยๆ

อีกนัยหนึ่ง ตั้งใจฝึกฝนอย่างแน่วแน่ แต่ไม่เกร็งไม่เครียด ไม่คาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประคับประคองตนเองอยู่ในสภาวะ "จิตคลาย-กายผ่อน" อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ให้การฝึกฝนดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

2) หายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ พร้อมกับสำนึกว่าได้ดึงพลังชี่จากพื้นดินขึ้นสู่ร่างกาย เลื่อนพลังชี่ขึ้นสู่ส่วนบนของร่างกายไปเรื่อยๆจนเต็มร่างและไปเชื่อมกับพลังชี่ของฟ้าที่กลางศีรษะ

3) ชั่วอึดใจหนึ่ง จึงเริ่มผ่อนลมหายใจออกมาเบาๆ ยาวๆ ในภาวะที่พลังชี่ในกายทั้งหมดค่อยๆเลื่อนลงสู่เบื้องล่าง ผ่านปลายมือและปลายเท้าลงสู่ดิน

การหายใจเข้า-ออก หนึ่งรอบ หมายถึงว่าเราได้ดึงพลังชี่ในดินขึ้นไปเชื่อมพลังชี่บนฟ้า และขับพลังชี่บนฟ้าลงไปเชื่อมพลังชี่ในดิน ซึ่งจะส่งผลให้พลังชี่ภายใน (เน่ยชี่) กับพลังชี่ภายนอก (ไว่ชี่) รวมตัวกันเข้าได้ดี เป็นกระบวนการเชื่อมโยงกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันของตัวเรากับธรรมชาติ

อีกนัยหนึ่ง เป็นการเชื่อมโยงกันเข้าของ "ฟ้า-คน-ดิน" (หรือ "เทียน-เหริน-ตี้" ในภาษาจีนกลาง)

"คน" ซึ่งก็คือตัวเรา เป็นผู้เชื่อมโยงฟ้ากับดินเข้าด้วยกัน ด้วยการดึงพลังดินขึ้นมาเชื่อมพลังฟ้า และดันพลังฟ้าลงไปเชื่อมพลังดิน ตัวเราก็อยู่ในท่ามกลางและเป็นหนึ่งเดียวกับพลังฟ้าพลังดิน ระบบพลังชี่ในกายของเราก็เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวระบบพลังชี่ของฟ้าและดิน

จงทำการหายใจเข้า-ออกเช่นนี้ 3 ครั้ง

4) งอแขนขึ้น หันฝ่ามือทั้งสองข้างเข้าหากัน และห่างกันพอประมาณ (ราว 10-20 ซ.ม.) ผู้ที่เข้าสู่สภาวะชี่กงแล้วจะรู้สึกถึงแรงดึงดูดของพลังชี่ระหว่างฝ่ามือทั้งสองข้าง

5) ดึงมือแยกห่างออกจากกัน จนกว้างเสมอไหล่ พร้อมกับหายใจเข้า แล้วหดมือเข้าหากัน มาอยู่ในท่าเดิม พร้อมกับหายใจออก (ดึงออก-หายใจเข้า หดเข้า-หายใจออก)

ทำเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนครบ 8 ครั้ง

6) ปรับมือทั้งสองข้าง ให้มือซ้ายหงายลงไปอยู่ด้านล่าง มือขวาคว่ำอยู่ด้านบน ทิ้งระยะห่างกันเล็กน้อย แล้วหมุนมือขวา (และซ้ายตาม) เป็นวงกลม ตามการเดินของเข็มนาฬิกา เมื่อครบ 8 รอบแล้วหมุนมือกลับ ในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาจนครบ 8 รอบ

7) พลิกมือซ้ายขึ้นมาอยู่ด้านบน ฝ่ามือคว่ำ พร้อมกับพลิกมือขวาลงไปอยู่ด้านล่าง ฝ่ามือหงาย ทิ้งระยะห่างเล็กน้อย แล้วหมุนมือซ้าย (และขวาตาม)เป็นวงกลม ตามเข็มนาฬิกา จนครบ 8 รอบ แล้วหมุนกลับ ทวนเข็มนาฬิกา จนครบ 8 รอบ

8) ลดฝ่ามือทั้งสองลงมาที่หน้าท้องน้อย หันฝ่ามือเข้าหาท้องน้อย สำนึกว่ากำลังลำเลียงพลังชี่ทั้งหมดไปเก็บไว้ในทุ่งพลังหรือตันเถียนล่าง

ยืนนิ่งอยู่ในท่านี้ราว 1 นาที แล้วลดมือทั้งสองลง คืนสู่ท่าเตรียม

เมื่อถึงตรงนี้ ร่างกายของผู้ฝึกฝนก็ได้เข้าสู่สภาวะชี่กงในระดับลึก ระบบพลังชี่ในกายแข็งแกร่งสมบูรณ์ที่สุด พร้อมอย่างยิ่งสำหรับการฝึกฝนร่างกาย (รวม 3 ท่าด้วยกัน คือ ท่ายืดตัว ท่าหมุนตัว และท่าเขย่าตัว)
กำลังโหลดความคิดเห็น