รู้เรื่องเมืองจีน / การเดินทัพทางไกลของกองทัพแดง หรือ เรียกในภาษาจีนกลางว่า ฉางเจิง (长征)ในช่วงระหว่างปีค.ศ.1934-1936 เป็นวีรกรรมของกองทหารชาวนาและกรรมกรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (中国工农红军) โดยการนำของ เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล จูเต๋อ นายพลหลินเปียว ผู้บัญชาการทหารเผิงเต๋อหวย เย่ถิง หลิวป๋อเฉิง ฯลฯ ที่ชาวจีนและชาวโลกต่างยอมรับว่า เป็นการเดินทัพที่ยากลำบากและยิ่งใหญ่เกรียงไกรในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของจีน
เป้าหมายของการเดินทัพครั้งประวัติศาสตร์นี้ คือ การสร้างฐานที่มั่นของกองทัพแดงในเมืองสำคัญซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภาคตะวันตก คือ เมืองรุ่ยจินในมณฑลเจียงซี และเมืองเหยียนอันในมณฑลส่านซี
กองทัพแดงได้ล่าถอยหนีการโจมตีของกองกำลังทหารของพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ กั๋วหมินตั่งของนายพลเจียงไคเช็ค โดยใช้ความอุตสาหะและพลังอันเด็ดเดี่ยวที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นอกจากต้องต่อกรกับกองทหารของพรรคก๊กมินตั๋ง และกองทหารต่างชาติที่มาช่วยก๊กมินตั๋งแล้ว ยังต้องเผชิญกับความอดอยากและความทุรกันดารยากแค้นของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่ต่างๆ ที่เดินทางผ่านไปด้วย
เดือนตุลาคม ค.ศ.1934 เมื่อกองทัพแดงแตกพ่ายจากการล้อมปราบของทหารก๊กมินตั๋ง ได้แยกเป็นเหล่าทัพย่อยๆหนีการโจมตีจากดินแดนทางตอนเหนือและใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) หลายจุดด้วยกัน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำทัพจากรุ่ยจิน, อี๋ว์ตู ในเจียงซี ฉางทิง, หนิงฮว่า ในฝูเจี้ยน มุ่งสู่ภาคตะวันตกอันกว้างใหญ่ในมณฑลส่านซี จนถึงจุดหมายในอำเภอเป่าอัน ทางเหนือของส่านซี ในวันที่ 19 ตุลาคม 1935
ต่อมากองทัพแดงเหล่าที่ 2 และ 6 ที่นำโดย เฮ่อหลง และเหรินปี้สือ ก็เริ่มเดินทัพทางไกลจากหูหนันในเดือนพฤศจิกายน 1935 จนมารวมพลกับกองทัพแดงที่กันซู่สำเร็จในวันที่ 2 กรกฎาคม 1936 และในที่สุดกองทัพแดงเหล่าที่ 1 , 2 และ 4 ได้มารวมพลเป็นกองกำลังใหญ่ที่กันซู่ เป็นอันสิ้นสุดการเดินทัพทางไกลในเดือนตุลาคม 1936
ตลอดเส้นทางเดินเท้า 25,000 ลี้ (ราว 9,650 กิโลเมตร) กองทัพแดงได้สร้างวีรกรรมเดินเท้าผ่านมณฑลต่างๆถึง 14 มณฑล เดินย่ำไปในเขตแดนที่เป็นทุ่งหญ้าน้ำขัง ป่าเขา ผ่านหมู่บ้านที่ยากจน และพิชิตภูเขาหิมะ รวมระยะเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 2 ปี ด้วยกำลังพลเริ่มต้นมากกว่า 100,000 คน ที่เหลือรอดชีวิตมาถึงจุดหมายได้ไม่ถึง 30,000 คน
การเดินทางครั้งนี้ถึงแม้จะสูญเสียกำลังพลไปมากมาย แต่ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเหมาเจ๋อตงและคณะ ในฐานะที่เป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่สร้างขึ้นโดยชาวจีน และยังได้รับการสนับสนุนและเข้าร่วมในกองทัพโดยประชาชนจีนทั้งหญิงและชาย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้พรรคคอมมิวนิสต์จนสามารถขยายกำลังเติบโตขึ้นในเวลาต่อมาด้วย
วีรกรรมของกองทัพแดงยังคงตราตรึงในจิตใจชาวจีนมาจนถึงวันนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานและกลุ่มคนจำนวนหนึ่งยังคงต้องการสวมวิญญาณเหล่าผู้กล้าด้วยการย้อนอดีตเดินทางไปยังเมืองต่างๆตามเส้นทางฉางเจิง โดยตั้งภารกิจให้กับการเดินทางของพวกเขาใหม่ เช่น การเดินทัพทางไกลเพื่อฟื้นฟูการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ย้อนรอยการเดินทัพทางไกลในวาระครบรอบ...ปี เป็นต้น
สถานที่สำคัญบนเส้นทางทัพทางไกล 25,000 ลี้
~ จุดเริ่มต้น เมืองรุ่ยจิน
รุ่ยจิน ตั้งอยู่ทางเชิงเขาฝั่งตะวันตกของเทือกเขาอู่อี๋ซัน (武夷山) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเจียงซี ช่วงการปฏิวัติภายในประเทศครั้งที่ 2 รุ่ยจินเป็นเมืองศูนย์บัญชาการกลางของกองทัพปฏิวัติ และยังเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางชั่วคราวของรัฐบาลจีนโซเวียต ( 中华苏维埃共和国) ได้รับการขนานนามว่าเป็น กรุงเก่าสีแดง "红色故都"
รุ่ยจินเป็นเมืองที่มีฐานที่มั่น ที่บัญชาการรบของแม่ทัพแห่งกองทัพแดงที่สำคัญ ปัจจุบัน สถานที่เหล่านี้ถูกจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ อาทิ เขตฐานปฏิวัติเก่าเย่ผิง (叶坪村) ซึ่งตั้งอยู่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองรุ่ยจิน 5 กิโลเมตร ฐานฝึกกองทัพเหวินชังกง (文昌宫) ที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านต้นแบบของคณะปฏิวัติด้วย
นอกจากนี้ยังมี หอสมุดเลี่ยนเจียง (潋江书院) ที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง รัชสมัยเฉียนหลงปีที่ 3 (ค.ศ.1738) ซึ่งกองทัพแดงใช้เป็นที่ฝึกทหาร ที่ตั้งรัฐบาลชั่วคราวโซเวียต แผนกสรรพาวุธ ที่ประชุม ฯลฯ และยังมี หอรำลึกประวัติศาสตร์การปฏิวัติ (革命历史纪念馆) ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นจัดแสดงประวัติความเป็นมาเรื่องการปฏิวัติของกองทัพแดง ตลอดจนวีรกรรมของสมาชิกคนสำคัญของพรรคฯ
~ เขาจิ่งกันซัน
ตั้งอยู่ตอนกลางเทือกเขาหลัวเซียวซัน (罗霄山) ตามชายแดนของมณฑลหูหนันกับเจียงซี ประกอบด้วยยอดเขาสำคัญๆที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งปกคลุมด้วยพื้นที่ป่าถึง 64% เขาแห่งนี้เริ่มมีความสำคัญในฤดูใบไม้ร่วงปีค.ศ.1927 เมื่อเหมาเจ๋อตง จูเต๋อ ได้นำกองทัพชาวนาและกรรมกรขึ้นมาตั้งฐานที่มั่นของกองทัพปฏิวัติแห่งแรกสำเร็จ และเป็นที่รู้จักในฐานะ 'อู่กำเนิดของการปฏิวัติ' (革命摇篮)
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ อาทิ เขตทิวทัศน์ฉือผิง (茨坪景区) ศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของคณะปฏิวัติ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ปฏิวัติ สุสานวีรบุรุษนักปฏิวัติ และแหล่งธรรมชาติที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับการปฏิวัติในอดีต เช่น เขตทิวทัศน์เสียวจิ่งหลงถัน (小井龙潭景区) เป็นเขตทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงบนเขาจิ่งกันซันซึ่งเดิมเป็นที่พักฟื้นและรักษาพยาบาลเหล่านักรบของกองทัพแดงและยังเป็นสุสานของวีรบุรุษด้วย
~ เขาจวินอี้ ชุมทางเดินทัพสู่ ฉงชิ่ง – ซื่อชวน - กุ้ยโจว
เขาแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานนับตั้งแต่สมัยสามก๊ก ในช่วงการเดินทัพทางไกลที่นี่เป็นศูนย์บัญชาการและศูนย์การปกครองของกองทัพแดงอีกแห่งหนึ่ง
~ เมืองเหยียนอัน ฐานที่มั่นใหญ่ของกองทัพแดง
เมืองเหยียนอันตั้งอยู่ทางตอนเหนือในมณฑลส่านซี ริมแม่น้ำเหลืองช่วงกลาง เป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการทหารของเขตส่านเป่ย ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่นและสงครามปฏิวัติปลดปล่อยประเทศ เหมาเจ๋อตงและกองบัญชาการกองทัพแดงได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นและใช้ชีวิตอยู่ถึง 13 ปี จึงเป็นแหล่งรวมโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติหลายแห่งที่สำคัญ
นอกจากนี้ แหล่งสำคัญบนเส้นทางทัพทางไกล 25,000 ลี้ ยังมีแหล่งธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำอูเจียง ที่มีต้นกำเนิดจากเขาอูเหมิงซัน (乌蒙山) เมืองกุ้ยหยัง ในมณฑลกุ้ยโจว เขาเหลียงซัน (凉山) และทะเลสาบหลูกูหู ( 泸沽湖 ) ดินแดนลี้ลับทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน
ดินแดนทุ่งหญ้าน้ำขังหงยวน-นั่วเอ่อไก้ และเทือกเขาหิมะเจียจินซัน ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่คร่าชีวิตทหารของกองทัพแดงไปจำนวนมาก และสุดท้าย สมรภูมิล่าจื่อโข่ว (腊子口) ที่เป็นช่องทางที่กองทัพแดงเข้ายึดส่านซี - กันซู่ – หนิงเซี่ย เพื่อเข้ายันกับทัพของญี่ปุ่นทางภาคเหนือ
ปัจจุบัน สถานที่ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยมนตร์ขลังของวีรกรรมของกองทัพแดง ที่ประชาชนทั้งชาวจีนและต่างชาติให้ความสนใจไปเที่ยวชม .
เรียบเรียงจาก ซีวายซีเน็ต / ซีซีทีวี / ‘ประวัติศาสตร์จีน’ โดย ทวีป วรดิลก