xs
xsm
sm
md
lg

ฝึกฝนชี่กง เสริมสร้าง "กำลังภายใน"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การฝึกฝนชี่กง ทำให้ชีวิตดีขึ้นทั้งทางกายและจิต

ชี่กง DCP เป็นชี่กงเพื่อสุขภาพ บนฐานที่ว่า การฝึกฝนชี่กงสามารถพัฒนาศักยภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ศักยภาพของชีวิตประกอบไปด้วยศักยภาพทางกายและศักยภาพทางจิต

ศักยภาพทางกาย ก็คือสภาวะของร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพกายดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ศักยภาพทางจิต ก็คือมีจิตใจที่เข้มแข็ง อิ่มเอิบ มีสุขภาพจิตดี มีความสุข

เริ่มจากเสริมสร้าง "กำลังภายใน"

ขั้นตอนการฝึกฝนชี่กง เช่น ชี่กง DCP เริ่มต้นด้วยการสร้างฐานกำลังภายในของร่างกาย โดยใช้ความสำนึก (Consciuosness) เป็นตัวเชื่อม (วิธีการ คือ ทำจิตคลาย-กายผ่อน แล้วผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ยาวๆ จนสุดปลายลม ซึ่ง ณ จุดปลายลมนั้น ให้สำนึกหรือ "บอก" กับตัวเอง ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของตัวเรากับธรรมชาติ ตามหลัก "เทียนเหรินเหออี" คนกับฟ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน)

เมื่อเชื่อมติดแล้ว ตัวผู้ฝึกจะสัมผัสได้ถึง "พลังชี่" ที่เกิดขึ้นกับตน

"พลังชี่" คือการแสดงออกถึงการทำงานของระบบกำลังภายในของร่างกาย ภายหลังจากที่ผู้ฝึกสามารถเชื่อมตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

"อาการ" ของการเกิดพลังชี่ ที่สำคัญคือความรู้สึกว่ามีประจุไฟฟ้าวิ่งแปลบปลาบที่ปลายนิ้วมือทั้งซ้ายขวา มีแรงผลักและดูดระหว่างฝ่ามือซ้ายกับฝ่ามือขวา รวมทั้งอาการชาเล็กน้อยของมือทั้งสองข้าง

ในบางกรณี ผู้ฝึกจะรู้สึกว่าเกิดกระแสอุ่นร้อนครอบคลุมตรงบั้นเอว โดยเฉพาะบริเวณไตทั้งสองข้าง ทั้งอุ่นและสบาย

และอาการอื่นๆอีกมาก ที่ในยามปกติจะไม่ปรากฏ หรือปรากฏไม่ชัดเจน

อาการต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งบ่งบอกว่า การฝึกฝนชี่กง ได้กระตุ้นการทำงานของระบบกำลังภายในของร่างกายเราแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ฝึกฝนชี่กง ที่ได้ฝึกฝนจนกระทั่งระบบพลังชี่หรือระบบกำลังภายในของตนทำงานอย่างคึกคักอยู่เป็นนิจแล้ว การปรากฏของอาการเหล่านั้นจะมีอยู่เสมอๆ แม้อยู่ในระหว่างการดำเนินชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่จิตใจโปร่งโล่ง เบาสบาย

นั่นแสดงว่า การฝึกฝนชี่กง นำไปสู่การ "ตื่นตัว" ของระบบกำลังภายใน กระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะดีเลิศ ร่างกายแข็งแรง สุขภาพกายดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ดูเป็นหนุ่มเป็นสาว สดใส เบิกบานอยู่ตลอดเวลา เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิตในทางสร้างสรรค์ พร้อมอย่างยิ่งสำหรับการใช้สมองคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาต่างๆ

สรุปคือ สามารถยกระดับศักยภาพโดยรวมของชีวิตให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ระบบกำลังภายในของร่างกาย

ในทางชี่กง มองร่างกายเราเป็นสองร่างซ้อนกันอยู่

ร่างแรก เป็นกายเนื้อ คือร่างกายปกติในความเข้าใจของคนเรา ตามหลักวิชาชีววิทยา ประกอบด้วยเนื้อหนัง กระดูก ระบบประสาท ระบบการไหลเวียนของโลหิต เป็นต้น ทั้งหมดนั้นสามารถตรวจวัดสภาวะความเป็นไป และการทำงานของระบบต่างๆได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ และอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งตามหลักวิชาต่างๆ ทั้งทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา

ร่างสอง เป็นกายละเอียด คือระบบพลังชี่ ที่วิ่งอยู่ภายในร่างกายของเรา ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงเข้ากับระบบพลังชี่นอกตัว ทั้งเป็นสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต จากใกล้ถึงไกลไปจนถึงขอบจักรวาล

จนถึงปัจจุบันนี้ วงการแพทย์แผนปัจจุบันและวงการวิทยาศาสตร์ทั่วไป ยังไม่อาจให้คำตอบในเรื่องระบบพลังชี่ได้อย่างชัดเจน

ตรงกันข้ามกับการแพทย์แผนจีนได้ถือเอาระบบพลังชี่เป็นฐานในการอธิบายต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นแนวชี้นำในการรักษาพยาบาล ด้วยการประสานการอธิบายระบบพลังชี่เข้ากับระบบเส้นลมปราณ (ระบบจิงลั่ว) เห็นว่า การเคลื่อนตัวของพลังชี่ได้อย่างคล่องแคล่วในระบบจิงลั่ว จะทำให้สภาพร่างกายดำรงอยู่ได้เป็นปกติ ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ

ชี่กงแพทย์จีนจึงมุ่งฝึกฝนการควบคุมพลังชี่ให้สามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างคล่องแคล่วในระบบจิงลั่ว ขจัดสภาวะบกพร่อง และแก้ไขจุดติดขัดในระบบจิงลั่วให้หมดไป ให้ระบบจิงลั่วทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เลือดลมเดินสะดวก โรคก็หาย ร่างกายก็สดชื่นแข็งแรง

ในทางการแพทย์แผนจีน จึงสนับสนุนให้ฝึกฝนชี่กง เสริมสร้างพลังชี่ในกาย ซึ่งก็คือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบกำลังภายใน เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกาย

กระนั้น การฝึกฝนชี่กงเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบบกำลังภายใน ในบางกรณี เช่น เมื่อการฝึกฝนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และลึกซึ้งจนกระทั่งเกิดการ "ทะลุทะลวง" ไปสู่ระดับใหม่ที่สูงขึ้น ก็จะเกิดผลเกินเลยไปกว่าเพียงการสร้างเสริมความสมบูรณ์ให้แก่ร่างกายเท่านั้น

ทั้งนี้ การฝึกฝนดังกล่าว จะนำไปสู่การปลดปล่อยศักยภาพโดยรวมที่แฝงฝังอยู่ในตัวตนได้อย่างรอบด้าน เกิดสมรรถนะ "เหนือธรรมชาติ" บางอย่าง ที่ไม่มีอยู่ในตัวของคนทั่วไป

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เด่นๆ ก็เช่น เรื่องราวของนายแพทย์เอี๋ยนซิน (แพทย์เทวดา) หรือท่านอาจารย์ไห่เติง (ผู้บรรลุวิชา "อีจื่อฉาน" หรือ "อรหันต์นิ้วเดียว"-ใช้นิ้วมือเดียวรับน้ำหนักตัวได้อย่างสบาย ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำได้อีกเลย)

มองระบบพลังชี่ในกายผ่านระบบจิงลั่วของแพทย์จีน

ในทางการแพทย์จีน มองว่าพลังชี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบจิงลั่ว เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของระบบจิงลั่วให้ดำเนินไปได้เป็นปกติ เป็นตัวกระทำการให้เกิดภาวะสมดุลในร่างกาย

ระบบจิงลั่ว ประกอบด้วยพลังชี่ เส้นลมปราณ จุดต้งเสวีย และตันเถียนหรือทุ่งพลัง

เส้นลมปราณแผ่คลุมไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวทั้งภายนอกและภายใน

จุดต้งเสวีย กระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆของเส้นลมปราณ

ตันเถียนหรือทุ่งพลังมีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือที่ตรงกลางระหว่างคิ้ว (ตันเถียนบน) ตรงกลางหัวใจ (ตันเถียนกลาง) และตรงท้องน้อย (ตันเถียนล่าง)

พลังชี่ (ทางการแพทย์จีนเรียกว่า "เจินชี่"- พลังชี่แท้) เป็นต้นธารของพลังขับเคลื่อนต่างๆ ในตัวเรา เส้นลมปราณเป็นเส้นทางการเคลื่อนตัวของพลังชี่ ส่วนจุดต้งเสวียเป็นจุดในตำแหน่งต่างๆ บนเส้นลมปราณ เป็นประตูเข้าออกของพลังชี่ ส่วนตันเถียนคือรากเหง้าของเส้นลมปราณ เป็นบ่อรวมของพลังชี่

ทั้งนี้ สิ่งที่วงการแพทย์จีนเรียกว่า "พลังชี่" ที่ว่านี้ หมายถึงพลังชี่ในร่างกายของคนเรา เป็นระบบ "กำลังภายใน" หรือ "เน่ยชี่" ขณะที่มองพลังชี่นอกกายเราเป็นระบบ "ว่ายชี่" หรือพลังชี่ภายนอก

พลังชี่ที่เกิดและเคลื่อนตัวนอกกายเราทั้งหมด ล้วนแต่เป็น "ว่ายชี่"

การแพทย์จีนนิยมใช้การแทงเข็ม ณ จุดต้งเสวียต่างๆ ที่กระจายกันอยู่บนเส้นลมปราณในร่างกาย กระตุ้นระบบพลังชี่ภายใน ทำให้ "เน่ยชี่" ทำงานเข้มแข็ง ร่างกายก็จะแข็งแรงตามไปด้วย

การกดจุด และรมร้อน ณ จุดต้งเสวีย ก็จะให้ผลในทำนองเดียวกัน แต่เป็นไปในระดับที่แตกต่างกัน

การปรับสำนึกนำไปสู่การปรับกาย

ขั้นตอนการฝึกฝนชี่กง ที่เป็นแบบ "กลางๆ" ก็คือ ปรับจิต (เสิน) ให้เชื่อมเข้ากับระบบพลังชี่ และนำไปสู่การปรับตัวของร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์

มีตัวยืน 3 ตัว ให้เรายึด

ตัวที่ 1 คือ "เสิน" (จิต-สำนึก)

ตัวที่ 2 คือ "ชี่" (พลังชี่)

ตัวที่ 3 คือ "จิง" (กาย)

ในวิชาชี่กงโบราณ ได้มีการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "เสิน-ชี่-จิง" อย่างละเอียดพิสดาร แต่รวมความได้ว่า การปรับจิตหรือเสิน จาก "สือเสิน" คือ "จิตรู้" อันเป็นสภาวะจิตทั่วไปของคนเราไปสู่ระดับ "หยวนเสิน" หรือ "จิตเดิม" ที่อยู่ในส่วนในของจิตหรือสำนึกทั่วไป

ในสภาวะที่จิตเดิมเริ่มทำงาน (จากการเชื่อมสำนึกหรือจิตรู้เข้ากับพลังชี่ ณ ปลายลมหายใจที่ผ่อนออกไป) ก็จะนำร่องการขับเคลื่อนของชี่หรือพลังชี่ไปสู่สภาวะที่คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ตามปกติ

การขับเคลื่อนของพลังชี่โดยการนำของจิตเดิม (จิตสมาธิ-สำนึกในความหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติของตัวเรา) จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งของระบบกาย โดยผ่านไตทั้งสองข้าง อันเป็นฐานรวมของชีวิตกาย ตามแนวคิดแพทยศาสตร์จีน เมื่อพลังชี่ขับเคลื่อนตัวได้ดี จะเกิดสภาวะอุ่นร้อนครอบคลุมไตทั้งสองข้าง

ตามหลักอธิบายดังกล่าว เสิน-ชี่-จิง จึงเป็นองค์รวมเดียวกัน ในกระบวนการขับเคลื่อนเชื่อมโยง ส่งผลกระทบต่อกันและกันตลอดเวลา

เมื่อนำมาประสานเข้ากับการอธิบายเชิงแพทย์จีน ก็จะพบว่า

เมื่อเราปรับสำนึก (เสิน) จนสามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบพลังชี่ในกาย สามารถขับเคลื่อนพลังชี่ (ชี่) ให้เคลื่อนตัวไปตามจุดต้งเสวียสำคัญๆ ในเส้นลมปราณ ในทุกจุดที่ต้องการ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบจิงลั่วไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

การปรับสำนึก (จิต) คือ "หัวใจ"

การฝึกฝนชี่กงเพื่อสุขภาพ ตามหลักแพทย์แผนจีน จึงเน้นการฝึก "สำนึก" หรือ "เสิน" ซึ่งก็คือจิตใจของคนเรา

เริ่มด้วยการปรับ "จิตรู้" หรือ "สือเสิน" ไปสู่สภาวะ "จิตเดิม" หรือ "หยวนเสิน"

ในกรณี ชี่กง DCP ก็คือการปรับสำนึกหรือ "บอก" ตัวเอง ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ (เทียนเหรินเหออี) ในขณะที่ผ่อนลมยาวจนสุดปลายลม

ณ จุดปลายลมนั้น สำนึกแห่งความเป็นธรรมชาติของตัวเรา อันเป็นจิตรู้ ก็จะค่อยๆ เจือจางๆและหายไปอย่างรวดเร็ว เปิดทางให้จิตเดิมที่ฝังลึกอยู่ภายในห้วงสำนึกของคนเราแสดงบทบาท ขับเคลื่อนพลังชี่ในกายไปตามเส้นลมปราณ

ด้วยสำนึกแห่งกุศลจิตของจิตรู้ และความบริสุทธิ์ใสสะอาดของจิตเดิม จะทำให้การขับเคลื่อนของพลังชี่ตามกระแสจิตที่บงการ ดำเนินไปอย่างคึกคักยิ่งนัก

ซึ่งนำไปสู่ข้อวิสัชนาที่ว่า จิตที่ขับเคลื่อนยิ่งงาม เป็นประภัสสร พลังที่ขับเคลื่อนก็จะยิ่งใหญ่ รุนแรง สร้างเสริมชีวิตให้ดีงามได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตลอดอายุขัยของผู้ฝึกฝน

มองในมุมกลับ การฝึกฝนชี่กง คือช่องทางการพัฒนาจิตใจให้ดีงาม ได้อย่างไม่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น