ชาวปักกิ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าใต้บ้านเรือนที่พวกเขาอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ลึกลงไปราว 2-3 เมตร มี “เมืองใต้ดิน” ซ่อนอยู่เบื้องล่าง ทว่า “เมืองใต้ดิน” แห่งเดียวกันนี้ เป็นเป้าหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องแวะมาชม
ในปัจจุบัน เทศบาลนครปักกิ่งได้อนุญาตให้เปิด “เมืองใต้ดิน” บางส่วนที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเมืองหลวง สิ่งที่น่าสนใจและความสำคัญที่ทางการต้องส่งเสริม คือ ประวัติและความยิ่งใหญ่ของ “เมืองใต้ดิน” แห่งนี้
"เมืองใต้ดิน" เดิมเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1969 ตามคำสั่งของประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีน ในยุคของสงครามเย็นระหว่างจีนและอดีตสหภาพโซเวียต โดยใช้แรงงานคนหลายหมื่นคนมีทั้งชาวบ้าน และนักเรียน นักศึกษาในการขุด โดยไม่มีเครื่องจักรช่วยเลย ซึ่งแสดงเป็นภาพให้เห็นที่ผนังอุโมงค์ ใช้เวลานานถึง 10 ปีจึงสร้างเสร็จ ความยาวของอุโมงค์แห่งนี้มากกว่า 30 กิโลเมตร กินเนื้อที่ราว 85 ตารางกิโลเมตร ลึก 8-18 เมตรจากพื้นดิน ภายในสูงราว 3 เมตร
เมืองใต้ดินถูกออกแบบให้สามารถจุคนได้ถึง 300,000 คน และประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม โรงพยาบาล โรงเรียน โรงหนัง โรงงาน คลังเก็บน้ำมัน และธัญพืช คลังอาวุธ มีแม้กระทั่งฟาร์มเพาะเห็ด
นอกจากนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเมืองใต้ดินนั้น มีแหล่งน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์อยู่มาก เมื่อถึงเวลาจำเป็นสามารถนำขึ้นมาใช้ได้ และยังมีช่องระบายอากาศ 2,300 แห่ง มีเสบียงกักตุนไว้พร้อม สำหรับการใช้ชีวิตนานถึง 4 เดือนที่ข้างล่างนี้ หากมีการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธเคมี
เนื่องจากขนาดของการก่อสร้างที่ใหญ่ และพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก จึงถูกเรียกว่า “เมืองใต้ดิน”
เล่ากันว่าในขณะนั้นเพื่อหาวัสดุมาสร้างหลุมหลบภัยที่สมบูรณ์แห่งนี้ ได้มีการทำลายกำแพงและป้อมประตูเมืองโบราณหลายแห่ง ซึ่งเหลือเพียงชื่ออยู่ในปัจจุบัน เช่น ซีจื๋อเหมิน ฝู่เฉิงเหมิน ฉงเหวินเหมิน เป็นต้น มีเพียงเจิ้งหยังเหมิน และเต๋อเซิ่งเหมิน เท่านั้น ที่ยังหลงเหลือมาถึงวันนี้
แผนในการสร้างหลุมหลบภัยทางอากาศ หรือเมืองใต้ดินนี้ ตั้งใจที่จะให้ประชาชนราว 40% ที่อยู่ในเมืองสามารถหนีลงมาหลบได้ภายใน 5 นาที หากมีการโจมตีเกิดขึ้น ส่วนที่อยู่ไกลออกไปก็ให้หลบเข้าไปในป่า
ดังนั้น แทบจะทุกครัวเรือนในเขตตงเฉิง ซีเฉิง ฉงเหวิน และเซวียนอู่ ต่างทำทางเข้าออกไว้เพื่อนำไปยังเมืองใต้ดินนี้ ที่สำคัญยังมีทางเข้าออกเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่งในเมือง เช่น พระราชวังต้องห้าม (กู้กง) จัตุรัสเทียนอันเหมิน มหาศาลาประชาคม หอสักการะฟ้า (เทียนถัน) และในปัจจุบันยังเชื่อมกับสถานีรถไฟปักกิ่ง ตลอดจนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายแห่ง
แต่เนื่องจากเมืองใต้ดินไม่เคยได้ใช้ในวัตถุประสงค์ที่สร้างขึ้นมาเลย เมื่อเวลานานเข้า ชาวบ้านต่างลืมเลือน และถูกปิดลงหลังช่วงทศวรรษ 1970 ประกอบกับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางเข้าออกและอุโมงค์เล็กๆ หลายแห่งถูกถมไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมืองใต้ดินได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในบางส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 1980 ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกได้อย่างมาก โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเปิดเป็นร้านขายงานฝีมือ เครื่องเขียนจีน เช่น พู่กัน แท่นหมึก เครื่องประดับหยก ไข่มุก ภาพลายมือของบุคคลมีชื่อเสียง ยาจีน และงานหัตถกรรมต่างๆ ทั้งยังให้บริการปรึกษาแพทย์แผนจีน ซึ่งภายหลังก็เลิกไป
ต่อมาในปีนี้จึงได้เปิดอีกครั้ง คือเมืองใต้ดินที่เขตฉงเหวินทางตะวันออกเฉียงใต้ของปักกิ่งแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใน "ซีต่าม๋อหูท่ง" (西打磨胡同 หรือ 西大么胡同)ซึ่งเป็นซอยเล็กๆ แยกจากถนนเฉียนเหมินต้าเจีย (前门大街) ปากซอยเป็นร้านถ่ายรูป ต้าเป่ยเจ้าเซี่ยง (大北照相)ไม่ไกลจากสถานีรถไฟใต้ดินเฉียนเหมิน หากมาจากเฉียนเหมิน ขอให้มั่นใจเดินเข้าซอยซีต่าม๋อมาเรื่อยๆ ราว 25 นาที ก็จะเห็นตึกเลขที่ 62 อยู่ทางด้านขวามือ ซึ่งไม่มีอะไรเด่นสะดุดตา นอกจากป้ายด้านหน้าที่เขียนเป็นภาษาจีนว่า 北京地下城 (เป่ยจิงตี้เซี่ยเฉิง) หรือแปลว่า เมืองใต้ดินปักกิ่ง และภาษาอังกฤษว่า Beijing Under Ground City
ทั้งนี้ ในการเข้าชมจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่พาเดิน เนื่องจากจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่นี่จึงรับผู้เข้าชมจำกัด ดังนั้นหากไม่ได้มากับกรุ๊ปทัวร์หรือมาเดี่ยวควรโทรมาจองล่วงหน้า ที่หมายเลข 67022657 บัตรผ่านประตูราคา 20 หยวน (100 บาท) เปิดตั้งแต่ 8.30-17.00 น. ทุกวัน
ในส่วนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในขณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองใต้ดินปักกิ่งเท่านั้น ทางเดินปูด้วยพรมแดงและตามไฟเพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวหลงออกนอกเส้นทาง ผนังด้านข้างประดับด้วยภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่ด้านล่างมีเครื่องมือที่ใช้ในการขุดอุโมงค์วางกองอยู่ สำหรับที่กล่าวว่าสามารถเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญ หรือสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ขณะนี้มีเพียงป้ายบอกทางเท่านั้น แต่เส้นทางดังกล่าวได้ถูกปิดไปแล้ว
สำหรับห้องโถงกลาง ซึ่งด้านบนตรงกับสนามกีฬาของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งพอดี ได้จัดแสดงขั้นตอนการผลิตผ้าไหม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไหม
หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนปักกิ่ง ขณะที่กำลังเดินชมพระราชวังกู้กง เทียนถัน หรือจัตุรัสเทียนอันเหมิน อย่าลืมว่า คุณอาจกำลังเดินอยู่เหนืออุโมงค์ใต้ดินที่ทอดตัวยาวอยู่ใจกลางเมือง และอย่าพลาดที่จะไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของ “เมืองใต้ดิน” ที่ยังหลงเหลืออยู่ด้วยตัวของคุณเอง.
เรียบเรียบจาก ไชน่าเดลี่ ซินหัวเน็ต ทอมดอทคอม