xs
xsm
sm
md
lg

หนังบู๊กำลังภายใน ‘ลมหายใจ’ ในความทรงจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘นั่นเป็นยุคสมัยที่งดงามยุคหนึ่งจริงๆ’  เจิ้งเพ่ยเพ่ย (郑佩佩) ราชินีนักดาบกล่าวขณะหวนรำลึกถึงยุคเริ่มต้นที่เธอเข้าสู่วงการภาพยนตร์


ศตวรรษภาพยนตร์จีน (5) /
ไม่มีใครปฏิเสธว่าความโด่งดังของ ‘พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก’ 卧虎藏龙 (ว่อหู่ฉังหลง) หรือ ‘CROUCHING TIGER, HIDDEN DRAGON’ หนังปีค.ศ.2000 ของผู้กำกับ หลี่อัน หรืออั้งลี่ ได้ดันกระแสหนังกำลังภายในของจีนพุ่งขึ้นถึงขีดสุดเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา  มันเป็นการผสมผสานวิถีการเล่าเรื่องแบบทันสมัยเข้ากับความงดงามในศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของจีนเข้าไว้อย่างลงตัว  แต่กว่าที่หนังกำลังภายในของจีนจะเดินทางมาถึงวันนี้ ได้ผ่านจุดเริ่มต้นและการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเองมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

การแสดงออกในหนังของ อั้งลี่ ที่คนรุ่นหลังได้เห็นในหนังจีนวันนี้ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากวิถีทางที่ผ่านการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มาจากอดีต

‘ต้าจุ้ยเสีย’ 《大醉侠》 ' หงส์ทองคะนองศึก ' หรือ Come Drink With Me หนังกำลังภายในรุ่นคลาสิกของบริษัท ชอว์ บราเดอร์ส ในปีค.ศ.1966  ที่มีฉากต่อสู้ที่เต็มไปด้วยพลังของจอมยุทธ์ขี้เมาที่กำลังขาดสติ  ร่วมกับลีลาการต่อสู้ของจอมยุทธ์หญิง และ ‘เสียหนี่ว์’《侠女》(จอมยุทธ์หญิง) หรือ A Touch of Zen หนังที่ปรากฏฉากการประลองยุทธ์ของนักแสดงที่เหาะเหินอยู่บนกิ่งไผ่ เมื่อปีค.ศ.1971 ฉากเดียวกับที่ อั้งลี่ ทำได้อย่างสวยงามในหนังของเขา

‘เสียหนี่ว์’ มีความยอดเยี่ยมทั้งในด้านการถ่ายภาพ จัดแสง การตัดต่อ และยังเป็นหนังจีนที่ได้รับรางวัลเทคนิคพิเศษ (Special Technical Award for "Superior Technique" ) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 28  ซึ่งนับเป็นหนังจากจีนเรื่องแรกที่ได้รับการยอมรับในสายตาชาวต่างประเทศ

หนังฮ่องกงทั้งสองเรื่องเป็นส่วนหนึ่งในผลงานหลายๆเรื่องของผู้กำกับ หูจินเฉวียน (胡金铨 ค.ศ.1931 - 1997) ผู้กำกับหนังกำลังภายในยุคแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ปรมาจารย์หนังกำลังภายในของฮ่องกง’ ฉายา ‘ราชาหู’ ( King Hu ) ถึงแม้งานกำกับของเขาจะมีไม่มาก แต่หลายชิ้นกลายเป็น ‘ตำรา’ ให้หนังกำลังภายในหลายเรื่องดำเนินรอยตาม

เจิ้งเพ่ยเพ่ย ดารานำแสดงหญิงในหนังเรื่อง ' หงส์ทองคะนองศึก ' ของหูจินเฉวียน และยังคงมีผลงานโดดเด่นในหนัง ‘พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก’ ของ อั้งลี่ กล่าวถึง ‘คิงหู’ ว่า หากไม่มีผู้กำกับหูจินเฉวียนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและเจียระไนเธอมา ก็ไม่มีเจิ้งเพ่ยเพ่ยในวันนี้

ตอนนั้นฉันอายุเพียง 19 เล่นหนังกำลังภายในมาไม่กี่เรื่อง การที่ผู้กำกับหูเลือกฉันมารับบท จินเยี่ยนจื่อ (หรือนางแอ่นทอง 金燕子 ) ในหนังเรื่อง ‘ หงส์ทองคะนองศึก ’ เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของท่าน ความจริงบริษัทตั้งใจจะเลือกนักแสดงที่เป็นนางงิ้วจากค่ายเหนือ (北派 นักแสดงที่มาจากงิ้วปักกิ่งและงิ้วเจ้อเจียง) แต่ผู้กำกับหูได้เคยเห็นฉันร่ายรำมวยในหนังบู๊มาก่อนหน้านี้ และมองเห็น ‘พลัง’ ในตัวฉันที่แสดงออกมาไม่เหมือนใคร’  เจิ้งเพ่ยเพ่ย หวนรำลึกถึงการทำงานกับผู้กำกับหูครั้งแรก

นางเอกนักบู๊เล่าว่า ‘ท่านได้หาครูมวยมาช่วยฝึกสอนท่ารำหมัดมวยต่อสู้ในการแสดง และแนะนำเรื่องจังหวะต่างๆ ทำให้ฉันได้ประโยชน์ไม่น้อยจากการเรียนรู้ที่จะเป็นจอมยุทธ์ในหนังเรื่องนี้’

เธอยังกล่าวถึงลักษณะพิเศษในการทำงานของผู้กำกับหนังกำลังภายในยุคก่อนผู้ลาลับท่านนี้ ว่า  ท่านจะนำนักแสดงเข้าไปในห้องตัดต่อด้วยเพื่อได้เห็นกระบวนการตัดต่อ และทำให้นักแสดงเข้าใจว่าในแต่ละฉากจะประกอบด้วยภาพจังหวะไหนบ้าง และต้องอาศัยเทคนิคอะไร กอปรกับผู้กำกับหูเคยเป็นนักแสดงมาก่อน จึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงอุปรากรอย่างมาก

บทนางแอ่นทองในหนัง ‘หงส์ทองคะนองศึก ’ ทำให้ เจิ้งเพ่ยเพ่ย ขึ้นแท่นเป็นราชินีหนังบู๊อย่างเต็มตัว เธอได้รับทาบทามให้รับบทนี้อีกครั้งในหนังเรื่องภาคต่อที่ใช้ชื่อ 金燕子 หรือนางแอ่นทอง (ชื่อหนังภาษาไทย ‘หงส์ทองคะนองศึก ภาค 2’ ) มาเป็นจุดขายของหนัง ภายหลังที่ ‘หงส์ทองคะนองศึก’ ประสบความสำเร็จอย่างสูงและยังได้ออกฉายในเทศกาลหนังทั้งในนิวยอร์ค คานส์ และที่โตเกียว ร่วมกับหนังจากประเทศต่างๆ ชื่อของเธอก็กลายเป็นเสมือน ‘ยี่ห้อ’ คู่กับดาราชายอีกหลายคนในหนังจอมยุทธ์เกือบทุกเรื่องเช่นกัน

‘สำหรับตัวฉันเองแล้ว ถึงเดี๋ยวนี้ฉันก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นจอมยุทธ์หญิงได้เพราะตัวเองมีบุคลิกอย่างนั้น หรือเป็นเพราะฉันได้รับอิทธิพลจากหนังที่แสดงก็ไม่สามารถแยกแยะได้ชัดนัก ที่ลืมไม่ลงคือบุญคุณของผู้กำกับหู และมิตรภาพที่เกิดขึ้นกับนักแสดงที่เคยร่วมงานกันมาหลายปี อย่างเช่น เยี่ยว์หัว(岳华) และหวังหยู่ ( หวังอี่ว์ 王羽 ) พวกเราล้วนสนิทกันมาก’ ดารารุ่นลายคราม เจิ้งเพ่ยเพ่ย กล่าวด้วยความตื้นตัน

หนังกำลังภายในได้รับความนิยมและอุ้มชูจากคนดูหนังชาวฮ่องกงเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสหลักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮ่องกงยุคแรก หลังยุคทศวรรษที่ 70 (ของศตวรรษที่ผ่านมา) หนังจีนได้ออกฉายในต่างประเทศเช่นเดียวกับดาราหนังกำลังภายในก็เดินเข้าสู่หัวใจของแฟนหนังชาวตะวันตกอย่างผ่าเผย และถึงแม้ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป การสร้างหนังแนวกำลังภายในจะลดน้อยถอยลง แต่หนังฮ่องกงส่วนใหญ่ในยุคหลังก็ไม่สามารถสลัดคราบหนังแอ็คชั่นที่เน้นการต่อสู้และใช้ความรุนแรงออกไปได้

เจิ้งเพ่ยเพ่ย ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งที่ภาพยนตร์เริ่มมีบทบาทในชีวิตชาวฮ่องกงไว้อย่างลึกซึ้ง ในตอนท้ายว่า

‘ฉันรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในยุคสมัยที่ภาพยนตร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในฮ่องกง ในยุคนั้นผู้คนยังไม่รู้ว่าจะหาความบันเทิงได้จากอะไรนอกจากการดูหนัง ภาพยนตร์จึงเฟื่องฟูขึ้นด้วยตัวของมันเองอย่างที่สุด พวกเราคนหนังในยุคนั้นต่างอยู่ในวัยเยาว์ บริษัทที่เราสังกัดอยู่ก็ให้การดูแลเป็นอย่างดี แม้แต่นักข่าวก็ปกป้องพวกเราอย่างมากทีเดียว เราอาศัยอยู่ในหอพักของบริษัท วันเวลาดำเนินไปอย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน นั่นเป็นยุคสมัยที่งดงามยุคหนึ่งจริงๆ’

..........................................

ย้อนดูหนังบู๊ในแผ่นดินใหญ่

ก่อนหน้าที่หนังบู๊จะข้ามทะเลไปโด่งดังในเกาะฮ่องกง และพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นแก่นสารในวันนี้ ชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ได้สัมผัสภาพยนตร์บู๊แนวสืบสวนที่สร้างขึ้นในเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรก

โดยในปีค.ศ.1917 โรงพิมพ์ซางอู้อิ้นซูก่วน ( 商务印书馆) โรงพิมพ์หนังสือยักษ์ใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ซื้อกิจการและอุปกรณ์ถ่ายหนังจากบริษัทผลิตภาพยนตร์ของชาวอเมริกันที่กำลังจะล้มละลายด้วยเงินลงทุนไม่มาก แล้วเริ่มเปิดแผนกผลิตภาพยนตร์ในปีถัดมา

บริษัทโรงพิมพ์ซางอู้ฯได้ผลิตภาพยนตร์ประเภทต่างๆ อาทิ หนังทิวทัศน์ ข่าว การศึกษา งิ้ว ละครแนวใหม่ ฯลฯ กว่า 10 เรื่อง ในจำนวนนี้หนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุดแต่กลับเป็นหนังที่ผู้บริหารของบริษัทไม่ปลื้ม คือ ‘เชอจงเต้า’ หรือขโมยบนรถไฟ (车中盗 ค.ศ.1920) ได้กลายเป็นหนังรูปแบบใหม่ที่มีอิทธิพลต่อหนังบู้แนวสืบสวนของจีนในปัจจุบัน

‘เชอจงเต้า’ เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงหัวขโมย 2 คน ที่เพิ่งออกจากคุก สิ้นหนทางจนต้องกลับมาเป็นขโมยอีกครั้ง พวกเขาได้ขโมยเงินบนรถไฟแล้วนำไปซ่อนไว้ในอุโมงค์ นักสืบต้องตามสืบคดีนี้โดยมีสาวขายดอกไม้ให้การช่วยเหลือ

หนังเรื่องนี้ได้รับการต้อนรับจากคนดู จนทำให้การทำหนังบู๊แนวสืบสวนกลายมาเป็นรูปแบบการสร้างหนังของฮ่องกง และผู้กำกับ เหรินเผิงเหนียน ที่โด่งดังจากการกำกับภาพยนตร์ดังกล่าวได้สร้างหนังแอ็คชั่นและบุกเบิกหนังกำลังภายในอีกหลายเรื่อง ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของหนังกำลังภายในยุคต่อมา จนข้ามถิ่นมาบูมในฮ่องกงในที่สุด

เรียบเรียงจาก ซีน่าเน็ต / ซินจิงเป้า

** สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีกำเนิดภาพยนตร์จีน นำเสนอทุกบ่ายวันพฤหัสบดี โปรดติดตามตอนหน้า คุยสบายๆกับเรืองรอง รุ่งรัศมี ถึง 'หนังจีนที่ต้องรู้จักดู'







กำลังโหลดความคิดเห็น