xs
xsm
sm
md
lg

สอน 'ซิ่ง' (5)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ผมยังจำได้ตอนอาจารย์วิชาสุขศึกษา เริ่มบรรยายถึงวิชาเพศศึกษา ความแตกต่างระหว่างชาย-หญิง พร้อมกับรูปประกอบทางชีววิทยาของอวัยวะเพศชาย-หญิง การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของสรีระของเด็กในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ตอนนั้น ผมและเพื่อนๆ ในชั้นต่างก็ตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ แม้ในบางเรื่องพวกเราจะเคยทราบมาแล้วบ้างจากนอกห้องเรียน แบบไม่ต้องพึ่งวิชา สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) แต่อย่างใด

การอบรมเรื่องเพศศึกษา จริงๆ ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นเรื่องที่น่าหนักอกหนักใจสำหรับ คนเป็นพ่อ เป็นแม่ รวมไปถึงครูบาอาจารย์ผู้สอนวิชาสุขศึกษา ยกตัวอย่างง่ายๆ เพียงว่าคุณลูกทำหน้าขี้สงสัยเดินมาถามคุณพ่อหรือคุณแม่ว่า "ทำไมผมมี 'ไอ้นั่น' แต่น้องผู้หญิงข้างบ้านเขาไม่มีละครับ?" เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ ต่างก็ต้องพลิกตำรา ตอบ กันหลายตลบ

เมื่อผมพลิกไปอ่านหนังสือของ ศ.หลิวแล้วก็พบว่า จริงๆ แล้ว ก็พบว่า ที่เมืองจีนการนำหลักสูตรเรื่องเพศศึกษา (Sex Education) มาใส่ไว้ในระบบการศึกษาของนักเรียนในวัยเทียบเท่ากับนักเรียนมัธยมในปัจจุบัน นั้นเขาเริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อเกือบ 2,000 กว่าปีก่อนใน สมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-189) แล้ว*

ในรัชสมัยของฮั่นจางตี้ (汉章帝) หรือเทียบเท่ากับ ค.ศ.79 ราชสำนักฮั่นด้วยการสนับสนุนขององค์ฮ่องเต้ ได้เปิดประชุมสัมมนาครั้งใหญ่เกี่ยวกับตำราของลัทธิขงจื๊อขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตีความคำสอนให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ผลจากการประชุมครั้งนั้นมีการจดบันทึก และรวบรวมเป็นหลักฐานไว้โดยมี ปันกู้ (班固)** นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่สุดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนมาช่วยเรียบเรียงเป็นเล่ม และใช้ชื่อว่า "การถกเถียงในตำหนักพยัคฆ์เผือก (ไป๋หุทงเต๋อลุ่น:白虎通德论)"*** หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "ไป๋หุทง (白虎通)" ทั้งนี้ในหนังสือที่เป็นวิชาการจ๋าอย่าง 'ไป๋หุทง' นอกจากจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาในตำราขงจื๊อแล้ว เนื้อหาส่วนหนึ่งที่บันทึกไว้ถึงการถกเถียง ถาม-ตอบ ของเหล่าบัณฑิตเกี่ยวกับเรื่องเพศไว้ด้วย โดยเนื้อหานั้น ศ.หลิว ระบุว่า ละเอียดเป็นอย่างยิ่งถึงขั้นที่แม้แต่ปัญหา 'กระจุ๋มกระจิ๋ม' เกี่ยวกับ เพศสัมพันธ์ ก็ยังมี

มากกว่านั้นใน 'ไป๋หุทง' ยังมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง 'ปี้ยง (辟雍)'

ในอดีต 'ปี้ยง' คือ สถานที่ซึ่งจัดไว้ให้กับ บุตรหลานของบรรดาเจ้าขุนมูลนายชั้นสูง เพื่ออบรมและเรียนรู้ศิลปวิทยาการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้ถึงพิธีกรรมต่างๆ ดนตรี การร่ายรำ บทกวี การเขียนตัวหนังสือจีน ยิงธนู ขี่ม้า บังคับรถม้า ฯลฯ และก็แน่นอนว่า 'เพศศึกษา' ก็เป็นหลักสูตรหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในการเรียนการสอนที่นี่

สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปวิทยาการสำหรับลูกเจ้านายในสมัยก่อน มีลักษณะดังนี้คือ เมื่อเหล่าหนูๆ จากตระกูลเจ้าขุนมูลนาย อายุได้ 10 ขวบก็จะมีการส่งเข้าเรียนในโรงเรียนระดับประถมในวัง พออายุ 15 ปี ก็จะเข้าศึกษาต่อที่ 'ปี้ยง' ที่อยู่ในแถบชานเมือง จนกระทั่งอายุ 20 ปี ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นเวลาที่เด็กหนุ่มได้เติบโตเป็นชายหนุ่มเต็มตัวแล้ว

เมื่อพิจารณาจากการที่ 'ไป๋หุทง' ระบุว่า เรื่องเพศศึกษานี้มีความจำเป็นจนถึงขนาดต้องเปิดสอนเป็นวิชาหนึ่งในชั้นเรียน สาเหตุของการที่คนจีนในสมัยโบราณให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ มากถึงขนาดนี้ก็เนื่องมาจาก หากในครอบครัวมี การสอน ผิดๆ ถ่ายทอดผิดๆ ก็มีแนวโน้มว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาในการสืบทอดวงศ์ตระกูลได้ ดังเช่นที่ผมเคยระบุไว้ใน เรื่อง 'ซิ่ง' ตอนที่หนึ่ง ถึงความเชื่อของชาวจีนโบราณที่ว่า "การไม่มีทายาทสืบทอดตระกูล ถือเป็นความอกตัญญูที่สาหัสที่สุด" ดังนั้น การผลิตทายาทสืบทอดตระกูลโดยเฉพาะในตระกูลใหญ่ๆ จึงมีความสำคัญมาก อย่างที่ว่าคนในปัจจุบันอาจคาดคิดไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม การสั่งสอนและถ่ายทอดเรื่องเพศศึกษาก็ใช่ว่าจะจำกัดวงอยู่เพียงในตำราเต๋า หรือ ในแวดวงของชนชั้นสูงเท่านั้น ในวัฒนธรรม ของชาวจีนโบราณก็มี ประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป ใช้สำหรับการสั่งลูกสอนหลาน เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมที่จะต้องมีครอบครัว

ภูมิปัญญาและวิธีการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับบุตรหลานของ ชาวจีนในสมัยโบราณนั้นที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมากก็ คือ เจี้ยจวงฮว่า (嫁妆画) และ ยาเซียงตี่ (压箱底)

เจี้ยจวงฮว่า (嫁妆画) แปลตรงตัวก็คือ ภาพวาดที่บรรดาพ่อ-แม่ จะมอบให้เจ้าสาวติดตัวไปพร้อมๆ กับของใช้ส่วนตัวอื่นๆ เมื่อถึงเวลาออกเรือนไปอาศัยอยู่บ้านเจ้าบ่าว และหากจะให้เปรียบเทียบเป็นภาษาชาวบ้าน ในปัจจุบัน 'เจี้ยจวงฮว่า' ก็คือ 'รูปโป๊' ดีๆ นี่เอง เนื่องจาก จุดประสงค์และประโยชน์หลักของ เจี้ยจวงฮว่า ก็คือ เพื่อเป็นตัวอย่างให้บ่าว-สาวคู่ใหม่ ไว้ศึกษาในคืนแรกของการร่วมเรียงเคียงหมอน

สำหรับ เจี้ยจวงฮว่า นั้นถือเป็นประเภทหนึ่งของภาพวาดอีโรติก ที่คนจีนเรียกกันว่า ชุนกงฮว่า (春宫画) อันขึ้นชื่อลือชา และปกติแล้ว เจี้ยจวงฮว่า หนึ่งเล่ม (หรือหนึ่งม้วน) จะมีภาพบรรจุอยู่ 8 หรือ 12 ภาพ

ส่วน ยาเซียงตี่ (压箱底) นั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาขนาดเล็กกะทัดรัด บางชิ้นอาจมีขนาดเท่ากำปั้นเท่านั้น หรืออาจจะเป็นเครื่องลายครามที่ทำเลียนแบบเป็นรูปหมอนหนุน (เหมือนหมอนที่ชาวจีนใช้หนุนเวลาสูบฝิ่น) ทั้งนี้โดยความเชื่อเรื่องโชคลาง ชาวจีนในสมัยโบราณมักกันมี 'ยาเซียงตี่' ที่แปลเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า 'ของที่ใส่เอาไว้กดล่างสุดของหีบ' บรรจุเอาไว้ โดย ยาเซียงตี่ที่ว่านั้นจะทำเป็นพิเศษ คือ ส่วนกลวงข้างในจะซ่อนไว้ โดยเมื่อเปิดออกก็จะพบ รูปปั้นอีโรติก เป็นรูปปั้นการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง

ทั้งนี้ก่อนลูกสาวจะต้องออกเรือน คุณแม่ ก็จะงัดเอาของที่อยู่ใต้หีบมาเปิดโชว์ให้ลูกสาวดูและบอกกล่าว เพื่อจะได้นำไปสอนเจ้าบ่าวอีกที .... เป็นไงครับ ภูมิปัญญากับความคิดสร้างสรรค์ ของคนโบราณ เรียกได้ว่าเหนือเมฆจริงๆ

เล่ามาถึงตอนนี้ หลายคนก็เริ่มมีข้อสงสัยว่า ทำไมชาวจีนโบราณที่เป็นชาวบ้าน ต้องสอนเรื่องวิธีการมีเพศสัมพันธ์ให้กับฝ่ายหญิงด้วย ทำไมไม่สอนให้กับฝ่ายชาย ที่เป็นเจ้าบ่าว?

ในประเด็นดังกล่าวมีการวิเคราะห์กันว่า สมัยโบราณการถ่ายทอดเรื่องนี้ภายในครอบครัว มักจะเป็นการถ่ายทอดกันระหว่าง แม่ กับ ลูกสาว เสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ลองนึกดูง่ายๆ ก็แล้วกันว่าหากเป็นการถ่ายทอด สั่งสอนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่าง พ่อ-ลูกสาว แม่-ลูกชาย หรือ พ่อ-ลูกชาย ก็ดูจะประดักประเดิดแค่ไหน ซึ่งดูยังไงๆ ก็คงจะไม่เหมาะสมเท่ากับ การสั่งสอนกันระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง คือ แม่กับลูกสาว*

นอกจากนั้น โดยประเพณีโบราณก็เป็นที่ทราบกันว่า บ่าว-สาวมักแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย โดยคนโบราณก็มักจะจับคู่ให้ฝ่ายหญิงอายุมากกว่าฝ่ายชายเล็กน้อย และ สอดคล้องกับมุมมองที่ถูกกับหลักวิทยาศาสตร์ คือ โดยธรรมชาติแล้วผู้หญิงก็มักจะโตเป็นสาว เร็วกว่าผู้ชายโตเป็นหนุ่มอีกด้วย

สำหรับเรื่องราวในตอนต่อไปผมขออนุญาตปิดท้ายซีรีย์ 'ซิ่ง' ด้วยเรื่อง ภาพวาดอีโรติก ของจีนที่เรียกว่า ชุนกงฮว่า (春宫画) ก็แล้วกันนะครับ

หมายเหตุ :
*หนังสือ 浮世与春梦:中国与日本的性文化比较 โดย ศาสตราจารย์หลิวต๋าหลิน สำนักพิมพ์ 中国友谊出版公司 พิมพ์เดือนกันยายน ปี ค.ศ.2004 หน้า 286-292
**ปันกู้ (班固) มีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ช่วงปี ค.ศ.32-ค.ศ.92 ปันกู้เกิดในครอบครัวของนักประวัติศาสตร์ เพราะพ่อคือ ปันเปียว (班彪) ก็เป็นนักประวัติศาสตร์ โดย ปันกู้ รับมรดกการเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นต่อจากพ่อ โดยเขาใช้เวลา 20 กว่าปีเพื่อเขียนหนังสือประวัติศาสตร์จีนเล่มสำคัญออกมาหนึ่งเล่มคือ ฮั่นซู (汉书) โดย ฮั่นซู ถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวของราชวงศ์หนึ่งราชวงศ์ คือ ฮั่นตะวันตก ไว้อย่างละเอียด และถือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ประเภทหนังสือประวัติศาสตร์เฉพาะยุค (断代史) เล่มแรกของจีน (จริงๆ แล้ว ปันกู้เสียชีวิตก่อนจะเขียนฮั่นซูเสร็จ ฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้ จึงมอบหมายให้ ปันเจา (班昭) น้องสาวของปันกู้เป็นผู้เขียนต่อจนจบ)
***อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ "ไป๋หุทงเต๋อลุ่น (白虎通德论) หรือ ในชื่อภาษาอังกฤษคือ Discussion about the Proper Virtue, held in the White Tiger Hall เป็นภาษาอังกฤษได้จากจาก www.chinaknowledge.de



กำลังโหลดความคิดเห็น