xs
xsm
sm
md
lg

ชี่กงและชี่กง DCP

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เราจะพัฒนาชีวิตอย่างไร?

ทางพุทธศาสนาสอนให้เราพัฒนาชีวิตอย่างรอบด้านทั้งด้าน ศีล สมาธิ ปัญญา คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ทำความชั่ว มีจิตใจแน่วแน่ที่จะทำในสิ่งที่ดี ด้วยความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำ ว่าถูกผิดมากน้อยแค่ไหน และควรจะคิด จะพูด จะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม ดีงาม ฯลฯ

เป็นการพัฒนาจาก "ภายใน" ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยดี มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน และมีความสุข
ในทางเป็นจริง การปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ และด้วยปัญญา มีรูปแบบและวิธีการมากมาย แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป

โดยทั่วไป รูปแบบและวิธีการเหล่านั้น มักจะเกิดขึ้นและแพร่หลายได้เพราะมีตัวบุคคลที่เป็นหลักเป็นแกน สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยว พึ่งพิงได้ทั้งทางศีล สมาธิ และปัญญา โดยการปฏิบัติตามแนวทางที่ตัวบุคคลผู้เป็นแกนนั้นกำหนดหรือ "นวัตกรรม" ขึ้น

จึงได้ปรากฏมีสำนักปฏิบัติธรรมอย่างหลากหลายขึ้นในทุกภาคของประเทศ โดยมีเจ้าสำนักเป็นแกนกลาง ห้อมล้อมด้วยสาวกที่เลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์เจ้าสำนัก

ลักษณะร่วมกันของสำนักเหล่านั้น คือเป็นองค์กรเปิด ที่ใครใคร่เข้าก็เข้า ใครใคร่ออกก็ออก ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธา

กระนั้น ด้วยกลยุทธ์ "การตลาด" หรือ "บารมี" ของเจ้าสำนัก บางสำนักจึงพัฒนาเติบใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ มีเครือข่ายครอบคลุมกว้างขวางไปทั่วประเทศหรือกระทั่งในต่างแดน เป็นที่พึ่งของคนทั่วไปได้มาก

ในสังคมไทย การพัฒนาชีวิตของปัจเจกบุคคลมักแยกไม่ออกจากสำนักปฏิบัติธรรมเหล่านั้น

สำนักปฏิบัติธรรมหรือวัด จึงมีสภาวะเป็น "ฐาน" หรือเวทีรองรับกระบวนการเชื่อมโยงของคนเรากับหลักธรรม เป็นเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องการปฏิบัติธรรม พัฒนาชีวิตให้ดีงาม

บนพื้นฐานดังกล่าว ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ ก็สามารถทำการศึกษาค้นคว้า ทดลองปฏิบัติ ได้ด้วยตนเอง จนเกิดความแตกฉานในหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเข้าใจ "เข้าถึง" และ "ตื่นรู้" ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง ยิ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาชีวิตไปตามวิถีอันประเสริฐ

ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ตนประสบความสำเร็จในชีวิต และมีความสุขในชีวิตเท่านั้น แต่ยังจะสามารถช่วยชักนำให้ผู้อื่นพัฒนาชีวิตไปบนเส้นทางที่ถูกต้องได้ด้วย

ณ ที่นี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่พัฒนาชีวิตและชักนำให้ท่านทั้งหลายเดินไปบนเส้นทางของการพัฒนาชีวิตด้วย "ชี่กง DCP"

การนำวิชาชี่กงเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตคนไทย

มีการนำวิชาชี่กงจีนของสำนักต่างๆ มาฝึกฝนกันในหมู่คนจีนในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าแบบ "สำเร็จรูป" ผู้ฝึกฝนต้องปรับตัวเข้าหาวิชา หรืออาจารย์ ถือเอาวิชาหรืออาจารย์เป็นตัวตั้ง ทำให้การพัฒนาชีวิตผิดรูปผิดรอย ไม่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์รอบด้าน และสูญเสียความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง

อีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ได้อาจเป็นเพียง "วิชา" สำหรับการยึดปฏิบัติตาม และเกิดผลโดยตรงต่อตนเองในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้ฝึกฝนเกิดความแตกฉานทางปัญญา ไม่สามารถพัฒนาชีวิตของตนเองได้อย่างรอบด้าน อย่างเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง

ผู้เขียนเข้าสู่วิชาชี่กง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะใช้วิชาชี่กงเป็น "ฐาน" หรือ "เครื่องมือ-อุปกรณ์" พัฒนาชีวิตด้วยปัญญา มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (อัตตา หิ อัตตโน นาโถ) ได้อย่างแท้จริง

จากการฝึกฝนและค้นคว้าด้วยตัวเอง (เริ่มต้นจริงจังตั้งแต่ปี 2541) มีความเข้าใจในธรรมชาติและกระบวนการพัฒนาของวิชาชี่กงจีนในระดับหนึ่ง พบว่า วิชาชี่กงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางจิตใจและร่างกาย สมควรแนะนำให้แก่ผู้สนใจได้เข้าใจและนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตของตนเองได้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ตาม เพื่อให้ชี่กงสามารถเชื่อมโยงเข้ากับสังคม วัฒนธรรม และอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวพุทธได้อย่างไม่ขัดเขิน จำเป็นต้องปรับแนวคิดและรูปแบบให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของสังคมไทยและคนไทย ขณะที่พยายามรักษาแก่นแท้ของวิชาที่มีลักษณะ "กลางๆ" (สามารถนำมาประยุกต์และพัฒนาต่อเนื่องได้) ไว้อย่างครบถ้วน

ในทางปฏิบัติ ผู้เขียนจึงไม่ยึดติดในสำนัก อาจารย์ หรือวิชาชี่กงหนึ่ง ใดโดยเฉพาะ แต่ได้ทำการ "สลาย" เส้นแบ่งของวิชาชี่กง ให้เหลือแต่ "แก่นแกน" แล้วจับเอาแก่นแกนหรือองค์ประกอบพื้นฐานของวิชาชี่กงที่มีลักษณะ "กลางๆ" ที่มีอยู่ในทุกวิชาชี่กง มาเป็นฐานเป็นโครง แล้วสอดใส่เนื้อหาที่มีความกลมกลืนกับ อารมณ์ ความรู้สึกของคนไทยทั่วไป เข้าไปแทน

ในกระบวนทั้งหมดนั้น ผู้เขียนได้พยายามนำเอาความเข้าใจใน "ธรรมชาติ" ของมนุษยชาติ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และสังคมศาสตร์ เข้ามาเป็นองค์นำทางความคิด เพื่อให้การฝึกฝนดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับทิศทางใหญ่ในการพัฒนาตนเองของมวลมนุษยชาติ

ทั้งนี้ ถือว่าวิชาชี่กงนั้น เป็น "ศาสตร์" มีคุณสมบัติ "กลางๆ" ที่ใครๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้

ดังนั้น วิชาชี่กงที่ผู้เขียนนำเสนอ จึงประกอบด้วยหลักการพื้นฐานที่เป็น "รากแก้ว" ของภูมิปัญญาจีน บวกกับองค์ความรู้และความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของมวลมนุษย์โดยรวม ที่สามารถเชื่อมประสานเข้ากับลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมไทย สังคมไทย และคนไทยทั่วไป

ชี่กงคือการปฏิบัติของชาวบ้านบนฐานธรรม

โดยภาพรวม วิชาชี่กงจีนสั่งสมมาจากการปฏิบัติดูแลรักษาชีวิตของตนเอง ของประชาชาวจีนตั้งแต่โบราณกาล โดยอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติและ "กฎธรรมชาติ" ที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นมาในท่ามกลางการดำเนินชีวิต ซึ่งต่อมาได้แตกแขนงออกเป็นหลายสายหลายสำนัก ตามแนวคิดความเชื่อและการอธิบายของปราชญ์ในแต่ละยุค ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึมซ่านไปทั่วทั้งแผ่นดินจีน

ทั้งนี้ สังคมจีนเป็นสังคมเกษตรโบราณ มีอารยธรรมที่ตั้งฐานอยู่บน "ธรรมชาติ" ยาวนานหลายพันปี มีปราชญ์ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็นศาสดาค้นพบ "กฎธรรมชาติ" ที่เป็นหลักธรรมชี้นำการดำเนินชีวิต แยกได้เป็นหลายสายหลายสำนัก แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่สองท่านคือ เล่าจื๊อ (เหลาจื่อ) และขงจื๊อ (ขงจื่อ)

เล่าจื๊อเป็นศาสดาแห่งเต๋า ประมวลหลักธรรมคำสอนไว้ในหนังสือ "เต้าเต๋อจิง" (เต๋าเต็กเก็ง) บรรยายถึงสภาวธรรมทั้งทางธรรมชาติ สังคมและมนุษย์ มีความเป็น "ศาสตร์" ที่สะท้อนสัจธรรม ทั้งทางธรรมชาติ สังคมและมนุษย์ ต่อมามีผู้ยกขึ้นเป็นลัทธิเต๋า เคารพยกย่องเล่าจื๊อดุจศาสดา ดำเนินกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเอง บางทีก็เรียกกันว่า ศาสนาเต๋า

ศาสตร์แห่งเต๋าและลัทธิเต๋าพัฒนาควบคู่กันมาเรื่อยๆ นานนับสองพันกว่าปี เป็นที่ยึดถือของชาวจีนทั่วไป

ระหว่างนั้น มีการนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในประเทศจีน เกิดการผสมผสานกันเข้าของพุทธกับเต๋า กลมกลืนเข้าไปในชีวิตของคนจีน เกิดสภาวะที่ว่า "ในพุทธก็มีเต๋า ในเต๋าก็มีพุทธ"

ขงจื๊อเป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้รวบรวมและจัดระเบียบกรอบความคิดและขนบประเพณีดั้งเดิมของจีนก่อนยุคฉิน กลายเป็นแบบแผนการปกครองสำหรับการบูรณาการแว่นแคว้นต่างๆ ของประเทศจีนเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง เป็นหลักยึดของระบบการปกครองในสังคมระบอบศักดินาที่เหนียวแน่นคงทนนานกว่าสองพันปี เป็นฐานเชื่อมความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประชาชาติจีนอย่างแน่นหนา และทั้งเป็นหลักปฏิบัติทางสังคมในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นมา มีอิทธิพลครอบงำจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

ในทางปฏิบัติ ได้มีการยกย่องขงจื๊อเป็นศาสดา และสถาปนาคำสอนของขงจื๊อเป็นลัทธิอุดมการณ์ มีกิจกรรมและพิธีกรรมมากมาย เข้าข่ายของความเป็นศาสนา มีสาวกทั่วประเทศ

ในห้วงสองพันกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อได้แพร่หลายไปทั่วแผ่นดินใหญ่ด้านเอเชียบูรพา และข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่หมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นฐานความคิดวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ในเบื้องล่างของลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อ ยังมีศาสตร์โบราณที่ก่อรูปขึ้นมาในท่ามกลางการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวจีนตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นศาสตร์ธรรมชาติที่ไม่รู้ระยะเวลาของการเริ่มต้น รู้แต่ว่ามันค่อยๆ สั่งสมเป็นภูมิปัญญาจีน นั่นคือ ศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงหรือ "อี้จิง"

อี้จิงบรรยายกฎธรรมชาติหรือธรรมะจาก "ความว่างเปล่า" (อู๋จี๋) ไปสู่ "ความมีอยู่ที่เป็นหนึ่ง" (ไท่จี๋) และจากความมีอยู่ที่เป็นหนึ่งแยกออกเป็น "สอง" คือสองด้านที่ตรงกันข้าม หรือ " อิน-เอี๋ยง" (ที่เราเรียกกันจนชินว่า "หยิน-หยัง") แล้วแตกออกเป็นสรรพสิ่งทั่วทั้งสากลโลก

ในหลักธรรมของเล่าจื๊อและขงจื๊อจึงเชื่อมโยงไว้ด้วยกฎแห่งอี้จิงตั้งแต่ต้นจนปลาย

ทฤษฎีและปรัชญาทางการแพทย์ของจีน ก็ตั้งอยู่บนฐานของกฎอี้จิงอย่างชัดเจน

ชี่กง ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติดูแลรักษาชีวิตให้เข้มแข็ง ดีงาม ที่ประชาชนชาวจีนเพียรพยายามนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โบราณกาล จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องตั้งอยู่บนฐานของลัทธิความเชื่อและศาสตร์โบราณเหล่านี้ สำหรับเผยแพร่ให้กว้างขวางต่อไป ด้วยการนำเอาหลักลัทธิคำสอนของปราชญ์-ศาสดามาชี้นำการทำความเข้าใจในระดับ "ธรรม" และใช้หลักธรรมคำสอนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวชี้นำการพัฒนาชีวิต อย่างสอดคล้องต้องกันไปทั่วทั้งสังคม

ดังนั้น ชี่กงจีน จึงแบ่งออกได้เป็นชี่กงเต๋า ชี่กงพุทธ ชี่กงขงจื๊อ ชี่กงแพทย์จีน

ชี่กงเต๋า มีหลักธรรมเต๋าชี้นำ

ชี่กงพุทธมีหลักพุทธธรรมชี้นำ

ชี่กงขงจื๊อมีหลักธรรมขงจื๊อชี้นำ

ชี่กงแพทย์จีนมีทฤษฎีแพทย์จีนชี้นำ

โดยทั้งหมดนั้นจะมีหลักทฤษฎีอี้จิงเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นจนปลาย

นั่นคือ ไม่ว่าคุณจะฝึกชี่กงแบบไหน สายไหน สำนักใด จะต้องมีความว่าง (อู๋จี๋) ความมีอยู่เป็นหนึ่งเดียว (ไท่จี๋) และ ความดำรงอยู่ของสองด้านที่ตรงข้ามกัน(อิน-เอี๋ยง) เป็นฐานของการอธิบาย

จุดมุ่งหมายของการฝึกฝนชี่กง

ดังได้กล่าวเกริ่นมาแล้วว่า ชี่กงมีที่มาจากการสั่งสมประสบการณ์ดำเนินชีวิต เป็นวิถีปฏิบัติเพื่อเพิ่มเสริมคุณภาพชีวิตให้เข้มแข็ง ดีงาม มาตั้งแต่สมัยโบราณของประชาชนชาวจีน เป็น "วิชา" ดูแลสุขภาพกายและจิตใจของประชาชนชาวจีน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข ตามสภาวะที่เป็นจริงของ "โลก"

สาเหตุที่มีการฝึกฝนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในระดับสูงที่เกินเลยไปจากนั้น (ชีวิตทิพย์ อำนาจปาฏิหาริย์ และอภินิหาร) ก็เพราะมีการนำเอาวิชาชี่กงไปผูกติดกับลัทธิความเชื่อแบบ "หลุดโลก" ตีความชีวิตไปในลักษณะ "หลายชั้น หลายโลก" ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ การฝึกฝนชี่กงเพื่อพัฒนาชีวิต จำเป็นจะต้องอยู่บนฐานของ "การปฏิบัติ" ซึ่งก็คือ "การปฏิบัติธรรม" ยึดมั่นในในกฎแห่งกรรม ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาจิตใจ ให้เกิดกุศลจิต และกุศลธรรมฉันทะ

บนฐานของการฝึกเช่นนี้ เราจึงจะมีความก้าวหน้าในวิชา เกิดปัญญาตื่นรู้ สามารถจัดการกับชีวิตของตนเองได้อย่างถูกต้องและดีงาม

อีกนัยหนึ่ง การใช้หลักธรรมคำสอนของปราชญ์และศาสดาชี้นำการฝึกฝน ก็เพื่อให้ผู้ฝึกพัฒนาคุณธรรมและจิตใจให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อการฝึกฝน ทำให้เกิดผลสูงสุดต่อตนเองได้ในทุกขั้นตอน

ความเป็นมาของ ชี่กง DCP

บนฐานการวิเคราะห์ดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้นำเอาหลักการพื้นฐานการปฏิบัติของวิชาชี่กงจีนมาเป็นตัวตั้ง แล้วพัฒนาวิชาชี่กงที่เหมาะสมสำหรับการฝึกฝนของตนเองขึ้นมา

หลักการพื้นฐานของวิชาชี่กงจีน ประกอบด้วย การปรับกาย ปรับลมหายใจ และปรับจิตใจ (อารมณ์ ความรู้สึก สำนึก) นั่นคือการทำให้ตัวเราเองเข้าสู่ภาวะที่ "จิตคลาย-กายผ่อน" ใช้การผ่อนลมหายใจยาว เข้าสู่สภาวะชี่กง คือสงบ เย็นอย่างเป็นธรรมชาติ ในระดับ "เทียนเหรินเหออี" หรือ "ฟ้ากับคนเป็นหนึ่งเดียวกัน" ผู้ฝึกฝนอยู่ในสภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยมีสำนึกหรือ Consciousness เป็นตัวเชื่อม และขับเคลื่อนระบบชี่ในตนอย่างเป็นพลวัต หรือ Dynamic

อันเป็นที่มาของชื่อวิชาชี่กงที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นมาว่า เป็น การฝึกฝนสำนึกที่มีความเป็นพลวัต หรือ Dynamic Consciuosness Practice-DCP
กำลังโหลดความคิดเห็น