xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วงญี่ปุ่น ผลประโยชน์ของชาติและของกลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

สื่อมวลชนหลายแขนงเล่นกันทั้งข่าวและบทวิเคราะห์ว่า จีนกับญี่ปุ่นขัดแย้งกันคราวนี้ รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี มันเป็นอย่างนี้จริงหรือ

ผมเคยอยู่จีนมาร่วม 10 ปีทราบดีว่า การชุมนุมเดินขบวนประท้วงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนจีน และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่าว่าแต่การชุมนุมประท้วงในประเด็นการเมืองเลย แม้แต่ประท้วงเรื่องบ้านช่องที่ดินที่ถูกทางการรื้อเอาไปสร้างศูนย์การค้าหรือตัดถนนโดยพลการ ก็มักมีตำรวจจีนมาคอยสลายการชุมนุมอยู่เนืองๆ

ผมเคยถามน้องคนหนึ่งที่ตอนนี้กำลังทำ ป.เอก อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจีน อย่าให้บอกเลยว่าที่ไหน ว่าบรรยากาศวิชาการที่นั่นเป็นอย่างไร ก็เลยรู้มาว่า เอาเข้าจริง ก็ไม่มีใครอยากพูดแสดงความเห็นกันมากนัก โดยเฉพาะที่คิดเห็นต่างไปจากทางการ คงหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นแหละ นี่ขนาดคนเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังไม่กล้าพูดมาก นักศึกษาและประชาชนทั่วไปมีหรือจะกล้าพูด นี่เป็นความรับรู้โดยตรงของผมเอง

ผมลองพิมพ์คำ 反日 (ต่อต้านญี่ปุ่น) และ 反美 (ต่อต้านอเมริกา) ในเว็บไซต์ของซินหัวเน็ต (Xinhuanet.com) เมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 21.00 น. ผมได้คำตอบที่น่าสนใจคือ มีกระทู้ถามและตอบในเรื่อง “ต่อต้านญี่ปุ่น” มากถึง 10,651 กระทู้ ขณะที่กระทู้ “ต่อต้านอเมริกา” มีเพียง 5,342 กระทู้ น้อยกว่ากันถึงครึ่งต่อครึ่ง เอาละผมอยากรู้ว่า คนจีนสนใจปัญหาของพวกเขาเองแค่ไหน ผมเอาแค่ 2 ประเด็นคือ ปัญหาของเกษตรกรกับปัญหาการคอรัปชั่น ผมพบว่ามีคนสนใจปัญหาของเกษตรกรแค่ 3,608 กระทู้ ส่วนปัญหาการคอรัปชั่นมีมากถึง 18,435 กระทู้

แม้ว่าตัวเลขนี้จะใช้เป็นสถิติอะไรไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเงาสะท้อนให้เราเห็นถึงความสนใจของคนจีนส่วนหนึ่งได้ เพราะอย่างน้อยเราก็รู้ว่า คนจีนเขาสนใจปัญหาคอรัปชั่นมากกว่าเรื่องประท้วงญี่ปุ่น แต่คนจีนก็ไม่เคยออกมาเดินขบวนประท้วงเรื่องคอรัปชั่นแต่อย่างใด อย่าว่าแต่เป็นหมื่นคนเลย เอาแค่ตัวแทนภาคประชาชนเพียงไม่กี่สิบคน ก็ไม่เคยเกิดขึ้น

แล้วการเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นกันเป็นหมื่นคนเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมสรุปฟันธงให้เลยว่า ทางการจีนเปิดไฟเขียวให้ การเดินขบวนประท้วงต่างชาติดูจะเป็นกรณีเดียวที่ทางการจีนจะอนุญาตให้ทำกันได้ และต้องเป็นเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องอื่นอย่าเสนอหน้าประท้วงเชียว ถ้าไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว

ผมเองยังกังขาอยู่ว่า ลึกๆลงไปแล้ว มันมีเบื้องหลังและวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า ที่ทางการจีนเปิดไฟเขียวให้คนจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาออกมาประท้วงญี่ปุ่นอย่างรุนแรงเช่นนี้ ประเด็นที่ประท้วงล้วนเป็นประเด็นเก่าที่เรื้อรังมาหลายสิบปี อย่างเรื่องที่ญี่ปุ่นเขียนตำราเรียนในลักษณะพยายามฟอกตัวจากการกระทำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้น มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีคนจีนคนไหนออกมาประท้วงอะไร ผมว่า คนเกาหลีเขาประท้วงบ่อยกว่าและรุนแรงสะใจกว่าคนจีนเยอะ ถึงขนาดตัดนิ้วและฆ่าตัวตายก็มี

ส่วนเรื่องต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ดูไปมันก็ทะแม่งๆชอบกล เพราะในช่วงที่มีการประท้วง ญี่ปุ่นก็เปิดศูนย์การค้าใหม่อีกสองแห่งในจีน แถมมีคนจีนเข้าไปอุดหนุนกันหลายพันคนเสียด้วย อย่างนี้ประท้วงไปก็คงหนื่อยเปล่าเสียเวลาเปล่า

แล้วเรื่องเกาะเตี้ยวหวีที่ญี่ปุ่นเรียกหมู่เกาะเซ็นกากุ ก็เป็นเรื่องเก่าที่เรื้อรังกันมาหลายสิบปีเช่นกัน ข่าวว่าอาจมีแหล่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันอยู่แถบนั้น ซึ่งทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างก็เข้าไปสำรวจแหล่งพลังงานที่ว่านี้กัน แม้จะอยู่ในเขตน่านน้ำที่ยังมีข้อพิพาทก็ตาม ไม่มีใครฟังใคร

เรื่องเก่าๆเหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นประเด็นประท้วงที่ออกมารุนแรงขนาดนี้ได้ ทำให้รู้สึกว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ซ่อนเร้นอยู่ จะมีที่เป็นเรื่องใหม่ก็คือ เรื่องที่ญี่ปุ่นอยากเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ โดยการผลักดันของสหรัฐอเมริกา หากญี่ปุ่นได้เป็นสมาชิกถาวร ญี่ปุ่นก็ย่อมจะมีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น และช่วงไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นพยายามแสวงหาช่องทางที่จะแสดงบทบาทในเวทีโลกให้มากขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะส่งทหารไปอีรัก หรือล่าสุดเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ญี่ปุ่นก็ส่งเรือรบ 2 ลำมายังเกาะภูเก็ตในเวลาที่รวดเร็วมาก เร็วพอๆกับที่สหรัฐอเมริกาส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมทหารกว่า 12,000 คนไปจอดใกล้ๆเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

บทบาทในเวทีโลกที่เพิ่มมากขึ้นของญี่ปุ่น อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับจีนก็ได้ ยิ่งมาอยากเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงด้วยแล้ว จีนก็คงต้องพลิกตำราวางหมากกลไว้สู้กับญี่ปุ่น แต่ผู้นำจีนก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านเรื่องนี้อย่างแข็งขันอะไร แถมยังออกมาพูดจาในทำนองว่า ญี่ปุ่นควรสร้างความน่าไว้เนื้อเชื่อใจกับนานาชาติมากกว่านี้ พูดเหมือนซ่อนอะไรบางอย่างไว้ในคำพูดนั้น

ฉะนั้น การประท้วงญี่ปุ่นอย่างรุนแรง จึงอาจเป็นเกมการเมืองที่จีนสร้างขึ้นมาใช้กับญี่ปุ่น ผมไม่ได้พูดลอยๆนะ ดูสิ พอนายโนบูตากะ มาจิมูระรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเดินทางกลับหลังจากล้มเหลวในการเจรจากับนายหลี่จ้าวชิงรัฐมนตรีต่างประเทศจีน การประท้วงญี่ปุ่นก็เริ่มซาลง และองค์การแห่งหนึ่งของจีนก็ออกมาบอกว่า ยินดีซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนที่เสียหายให้กับสถานทูตญี่ปุ่น ทั้งยังไม่มีการแถลงปฏิเสธการเรียกร้องของนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติที่อยากให้นายหูจิ่นเทาประธานาธิบดีจีนและนายจุนอิจิโร่ โคอิสึมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพบปะพูดคุยปรับความเข้าใจกันในระหว่างการประชุมเอเชียอัฟริกา ที่กรุงจากาตาร์ อินโดนีเซียในวันที่ 21 นี้ด้วย

อย่างนี้พอเห็นเค้าไหมครับว่า มันเหมือนเป็นการเปิดประเด็นจากฝ่ายจีนที่จะได้พูดจาต่อรองอะไรบางอย่างกับญี่ปุ่น

ความขัดแย้งทางการเมือง แท้ที่จริงแล้ว ต้นตอคือความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ลงตัว เมื่อนั้นความขัดแย้งทางการเมืองก็จะทุเลาลง ดังนั้น หากจีนเปิดประเด็นเพื่อกรุยทางไปสู่การต่อรองผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเหมือนเกลียวเชือกที่ฟั่นติดอยู่ด้วยกัน มันแยกไม่ออก ขืนแยกก็พังด้วยกันทั้งคู่

เรื่องประท้วงญี่ปุ่น จึงเป็นกลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวของฝ่ายจีน คนจีนได้ระบายความไม่พอใจอะไรบางอย่าง และลืมๆเรื่องค่าครองชีพที่พุ่งปรี๊ดได้ชั่วคราว ทางการจีนได้โอกาสกดดันกลุ่มการเมืองขวาจัดในญี่ปุ่นที่คอยเติมเชื้อไฟยั่วโทสะจีนอยู่เนืองๆ และยังมีประเด็นที่จะเอาไปพูดคุยต่อรองกับญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นก็หัวแตกกลับบ้านไปด้วยอาการมึนงงว่า “เกิดอะไรขึ้นกับกูวะ”

แล้วใครได้ประโยชน์จากกรณีนี้ ขอโทษที่ต้องบอกว่าไม่ใช่พวกที่ออกมาประท้วงดอก นักศึกษาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะยังคงต้องตกงานหลังเรียนจบ คนจีนก็ยังต้องเจอกับค่าครองชีพที่แพงลิ่ว แต่คนที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มทุนจีนและกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ เพราะผลประโยชน์ของกลุ่มทุนย่อมมาก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ จะไม่เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ในเมื่อผลประโยชน์ของพวกเขามักมาในนามของผลประโยชน์ของชาติเสมอ ไม่เชื่อคอยดูแล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น