เป็นที่เข้าใจในวงการหนังจีนว่า ภาพของ ถันซินเผย ที่วาดลวดลายงิ้วในหนังเรื่อง ‘ติ้งจวินซัน’ เป็นเพียงการบันทึกภาพอย่างง่ายๆลงบนแผ่นฟิล์มโดยไม่มีเนื้อเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ลงทุนและจัดจำหน่ายโดย บริษัทเอเชีย คอมปานี และถ่ายทำโดย บริษัท ซินหมิน ในปีค.ศ.1913 เรื่อง ‘หนันฟูหนันชี’ (难夫难妻) ต่างหากที่เป็น ‘หนังเรื่อง’ เรื่องแรก
เมื่อเลนส์เริ่มเล่าเรื่องราว ผู้กำกับและคนเขียนบทก็เกิด
‘หนันฟูหนันชี’ เขียนบทโดย เจิ้งเจิ้งชิว ซึ่งควบบทบาทผู้กำกับการแสดงร่วมกับ จางสือชวน ส่วนดาราแสดงเป็นกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นตามละครสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘เหวินหมิงซี่’*(文明戏) ซึ่งในสมัยนั้นตามประเพณีห้ามมิให้ชายหญิงแสดงร่วมบนเวทีเดียวกัน ดังนั้นผู้ชายจึงต้องมาสวมบทของผู้หญิงแทน
และถึงแม้การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นไปอย่างโกโรโกโส แม้แต่แผ่นฟิล์มหนังก็หายสาบสูญไปแล้ว แต่การทำงานในหนังเรื่องนี้ก็นับเป็นจุดเริ่มต้น ‘เทพนิยาย’ ของจางสือชวนและเจิ้งเจิ้งชิว ที่คนทำหนังรุ่นหลังต่างยกย่องเป็นบรมครูของหนังจีน
‘หนันฟูหนันชี’ เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึง 2 ตระกูลที่อยากจะดองกัน โดยให้บุตรชายและสาวของทั้ง 2 ฝ่ายแต่งงงานกันโดยมิได้ถามไถ่ความพอใจของลูกทั้งคู่ พวกเขาได้เชิญแม่สื่อมาวิ่งเต้นให้ ด้วยการจัดแจงของแม่สื่อ ที่เดี๋ยวก็ไปหลอกฝ่ายนั้นทีเดี๋ยวก็ไปต้มฝ่ายนี้ที ทำให้ในที่สุดก็มีการจัดพิธีแต่งงานขึ้น ในวันแต่งงานนั้นยังเต็มไปด้วยพิธีรีตองและข้อปฏิบัติหยุมหยิม และในฉากสุดท้ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อนก็ถูกบังคับให้เข้าห้องหอจนได้
เจิ้งเจิ้งชิว แต่งเรื่องนี้ขึ้นจากแรงบันดาลใจเรื่องการคลุมถุงชนตามประเพณีโบราณในบ้านเกิดของเขา เมืองแต้จิ๋ว (เฉาโจว) ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) สำหรับด้านเทคนิคการถ่ายทำแล้ว หนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านนี้เลย
จากคำกล่าวของ จางสือชวน ผู้กำกับร่วมของหนังเรื่องนี้ เคยเล่าไว้ในบทความชิ้นหนึ่งเรื่อง ‘ตั้งแต่ผมกำกับหนังมา’ ว่า สำหรับเขาแล้ว คำว่า ‘เทคนิคการกำกับภาพยนตร์’ แม้แต่ในความฝันก็ยังไม่เคยคิดถึงมาก่อน เพียงแค่จัดวางกล้องให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และก็ซักซ้อมนักแสดงให้แม่นยำ กล้องก็ตั้งอยู่ตรงนั้นไม่เปลี่ยน แล้วก็ใช้ ‘ภาพกว้าง’ ยิงยาวตลอดเรื่อง
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การถ่ายทำหนังเรื่อง ‘หนันฟูหนันชี’ ของเขาในเวลานั้นก็คงไม่แตกต่างไปจากนี้นัก
ดังนั้น ความสำคัญของ ‘หนันฟูหนันชี’ จึงอยู่ที่การหยิบ ‘เรื่องราว’ มาบอกเล่าผ่านหนังมากกว่า เจิ้งเจิ้งชิว ในฐานะผู้กำกับและคนเขียนบท ได้สร้างบทที่มีพล็อตเรื่องเรียบง่ายความยาว 1,000 กว่าตัวอักษร เพื่อการถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ ‘หนังเล่าเรื่อง’ ซึ่งแตกต่างจากการ ‘บันทึกการแสดง’ ที่ทำในหนังเรื่อง ‘ติ้งจวินซัน’
ซึ่ง ‘บทบาทใหม่ของภาพยนตร์’ นี้ ถือเป็นการบุกเบิกที่มีความหมายไม่ต่างจากการกำเนิดนวนิยายเลยทีเดียว
‘หนันฟูหนันชี’ ยังได้เปิดศักราชบทบาทหน้าที่ของ ‘ผู้กำกับและผู้เขียนบท’ อย่างเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกด้วย ก่อนหน้าการสร้างหนังเรื่องนี้ เจิ้งเจิ้งชิว เคยมีประสบการณ์งานหนังจากเรื่อง ‘ติ้งจวินซัน’ โดยเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการในกองถ่าย แต่สำหรับใน ‘หนันฟูหนันชี’ เขาเป็นทั้งผู้เขียนบท ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน และดูแลด้านกำกับการแสดงของนักแสดง ส่วน จางสือชวน ผู้มีหน้าที่เป็นผู้กำกับร่วมนั้น ดูแลเฉพาะด้านการควบคุมกล้องถ่ายหนังหรืองานกำกับด้านภาพนั่นเอง
หนังจีนออกนอกกับนักแสดงหญิงในหนังเรื่องแรก
ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘หนันฟูหนันชี’ ในปี 1913 อีกฝั่งหนึ่งของเกาะฮ่องกง หลีหมินเหว่ย ชาวกว่างตง ได้ตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ ‘หัวเหม่ย’ โดยก่อนหน้านี้ได้เคยร่วมทุนกับบริษัทเอเชีย คอมปานี สร้างหนังเรื่อง ‘จวงจื่อซื่อชี’ (庄子试妻) หนังสั้นเรื่องแรกจากฮ่องกง ซึ่งถึงแม้จะมีโครงเรื่องธรรมดาแต่ก็เป็นหนังที่เป็นจุดกำเนิดหนังฮ่องกง และยังทำให้ชื่อของ หลีหมินเหว่ย กลายเป็นหนุ่มมหัศจรรย์แห่งยุค และได้รับการยกย่องเป็นบิดาผู้ให้กำเนิดหนังในฮ่องกง
หลังกำเนิดภาพยนตร์จีนมาได้ 8 ปี หนังเรื่องแรกที่มีนักแสดงหญิงร่วมแสดงด้วยก็ถูกสร้างขึ้นออกสู่สายตาสาธารณชน หนังดังกล่าวยังเป็นหนังจีนเรื่องแรกที่ถูกนำออกไปฉายนอกประเทศ และได้กรุยทางให้กับภาพยนตร์ฮ่องกงสู่ตลาดโลก
‘จวงจื่อซื่อชี’ ( ค.ศ.1913) เป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงชีวิตคู่ของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ดัดแปลงจากตอนหนึ่งของงิ้วกวางตุ้ง เรื่อง ‘โจวจวงหูเตี๋ยเมิ่ง’ (周庄蝴蝶梦) เรื่องมีอยู่ว่า จวงจื่อ อยากพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของภรรยาจึงเล่นละครลองใจเมียว่าตนตายไปแล้ว หลัง จวงจื่อ ตายไปไม่นานเธอก็มีรักใหม่ ซ้ำยังไม่วายไปรบกวนหลุมศพอดีตสามีเพื่อเอาใจแฟนใหม่ด้วย ซึ่งคนรักใหม่ของเธอก็คือ จวงจื่อที่ปลอมตัวมานั่นเอง
ผู้รับบท จวงจื่อ คือ หลีเป๋ยไห่ พี่ชายของ หลีหมินเหว่ย ส่วนตัวเขารับบทเป็นภรรยา ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำโดยใช้แสงธรรมชาติ นักแสดงสวมเสื้อผ้าที่เป็นเครื่องแต่งกายในยุคเริ่มต้นสาธารณรัฐ ส่วน เหยียนซันซัน ภรรยาของ หลีหมินเหว่ย รับบทเป็นสาวใช้ ซึ่งเป็นนักแสดงหญิงคนแรกที่ปรากฏเงาบนแผ่นฟิล์มของวงการภาพยนตร์จีน
หลีหมินเหว่ย เป็นที่จดจำของนักดูหนังฮ่องกงเนื่องมาจากการบุกเบิกสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในฮ่องกง และบางคนถึงขนาดยกย่องเขาและพี่ชายเป็นบุคคลเกียรติยศเทียบได้กับ ‘พี่น้องลูมิแยร์’
หลีหมินเหว่ย ชื่อกวางตุ้ง Lai Man Wai ใช้ชีวิตช่วงวัยแสวงหาในนครเซี่ยงไฮ้ ราวปีทศวรรษที่ 20-30 แห่งศตวรรษที่แล้ว เขาร่วมกับพี่ชายทั้งสอง หลีไห่ซันกับหลีเป๋ยไห่ ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์หมินซินจำกัด แต่ก็เจ๊งไม่เป็นท่า ภายหลังจึงย้ายมาตั้งบริษัทที่เซี่ยงไฮ้แทน (บริษัทผลิตภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้) เขาได้สร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในมหานครศูนย์กลางวัฒนธรรมหนังแห่งนี้ ในเวลาต่อมา คนในตระกูลหลีอีกหลายคนก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์และเป็นที่รู้จักไปทั่วเช่นกัน
ไม่เพียงแต่ หลีหมินเหว่ย ที่ชาวจีนยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของวงการหนังฮ่องกง อีกคนคือ พี่ชายของเขา หลีเป๋ยไห่ ผู้ซึ่งเขียนบท กำกับหนังและแสดงในบทสำคัญๆในหนังอีกหลายเรื่องหลังจากนั้น เขาได้ก่อตั้งบริษัทหนังฮ่องกง (香港影片公司) ในช่วงปีค.ศ.1928 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ของคนงานในฮ่องกงและกวางตุ้ง (省港大罢工) บริษัทของเขาเป็นแห่งเดียวที่สามารถประคับประคองกิจการรอดมาได้ในช่วงเวลาลำบากนั้น โดยผลิตภาพยนตร์ออกมา 10 กว่าเรื่อง และยังเปิดสถานฝึกอบรมบุคลากรด้านภาพยนตร์อีก 4 แห่ง ซึ่งทำให้ลมหายใจของหนังในฮ่องกงไม่ขาดสายจนถึงวันนี้.
**************************************
หมายเหตุ
กลุ่มละครแนวใหม่เปิดม่านสู่ผู้ชม
นักแสดงหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นจากละครสมัยใหม่ หรือ ‘เหวินหมิงซี่’ ก็เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทในวงการบันเทิงของจีน ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มคนที่ล้ำสมัยและเป็นตัวแทนความก้าวหน้า ราวปีค.ศ.1911-1912 เป็นยุคสมัยเฟื่องฟูที่สุดของ ‘ละครสมัยใหม่’ หลังการปฏิวัติซินไฮ่ (ค.ศ.1911) ประสบความสำเร็จ ละครสมัยใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์โฆษณาหรือร้องเป่าแนวคิดการปฏิวัติ ก็ยิ่งทวีความนิยมในหมู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
กลุ่มละครแนวใหม่นี้เริ่มต้นเข้ามาในประเทศจีนโดยชาวต่างประเทศ บ้างเกิดจากการก่อตั้งของนักเรียนที่จบจากต่างประเทศ เช่น สมาคมละครสมัยใหม่ชุนชิว หรือ ‘ชุนชิวเส้อ’ (春秋社) ของ เจิงเซี่ยวกงและหลี่ซูถง สมาคมละครแนวใหม่ซินหมิน หรือ ‘ซินหมินเส้อ’ (新民社) ของ เจิ้งเจิ้งชิว และ สมาคมหมินหมิงเส้อ (民鸣社) ของจิงอิ๋งซันและจางสือชวน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนักแสดงจาก 2 สมาคมหลังส่วนใหญ่กลายมาเป็นแกนหลักของวงการภาพยนตร์ยุคบุกเบิกของจีน
เหตุที่ละครสมัยใหม่เป็นที่นิยมของชาวบ้าน เนื่องจากเนื้อหาสาระที่นำเสนอมักเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องอิสรเสรี อาทิ ความกล้าหาญของพวกร่อนเร่พเนจร การแต่งงานอย่างเสรี หรือไม่ก็เปิดโปงความโสมมในวงราชการ ช่วงที่สังคมเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ คนดูต่างเดินเข้าโรงละครไม่ใช่เพียงเพื่อดูสิ่งสวยงาม แต่เพื่อรับฟังแนวคิดและรับรู้ถึงโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมที่จะสะท้อนออกมาในละครด้วย ประกอบกับผู้กุมอำนาจทางการเมืองก็ผลัดเปลี่ยนกันบ่อยครั้ง นักปกครองอยู่ในตำแหน่งไม่นาน จึงเปิดช่องทางให้คณะละครแนวใหม่นำเรื่องราวเหล่านี้มาเสนอได้โดยไม่ถูกตำหนิ
จนถึงปีค.ศ.1917 และ 1918 ละครสมัยใหม่ก็เดินมาถึงสุดทาง เนื่องจากใฝ่หาเสรีภาพมากเกินไปจนละทิ้งกรอบแบบแผนของการแสดง ไม่เคารพในบทละคร ขาดการซ้อมบท การทดสอบบท บางครั้งนักแสดงขึ้นเวทีโดยที่ยังไม่เข้าใจเค้าโครงเรื่องอย่างชัดเจน มีครั้งหนึ่งในการแสดงเรื่อง ‘ชิวจิ่น’ (秋瑾 สตรีนักปฏิวัติในยุคสาธารณรัฐที่มีบทบาทมากในการเรียกร้องเสรีภาพของสตรีจีน) ก่อนเปิดฉากนักแสดงยังตะโกนด้วยความสับสนอยู่เลยว่า ‘ ไอหยา ! ชิวจิ่น คนนี้เป็นชายหรือหญิงกันแน่’ ยุคนี้เองที่คำว่า ‘ละครแนวใหม่’ ได้กลายเป็นคำที่แฝงการดูถูกเหยียดหยามมากกว่าการชื่นชม.
*********************************
* สารคดีชุด ‘ศตวรรษภาพยนตร์จีน’ เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีกำเนิดภาพยนตร์จีน นำเสนอทุกบ่ายวันพฤหัสบดี โปรดติดตามตอนหน้า 'เรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยายของนางเอกทศวรรษที่ 20'
เรียบเรียงจาก ซีน่าเน็ต / ซินหัวเน็ต / เชียนหลงเน็ต ภาพเก่าจากแฟ้มภาพ ต้าจี้หยวนเน็ต