xs
xsm
sm
md
lg

'ฮั่น' ชนชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกับชุด 'จงซัน'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชนชาติฮั่น เป็นประชากรส่วนใหญ่ในประเทศจีน ผลสำรวจจำนวนประชากรในปลายคริสตศตวรรษที่ 20 พบว่า มีชาวฮั่นราว 1,200 ล้านคนอาศัยในประเทศจีน และนับเป็นกลุ่มชนชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

มีหลักฐานว่าชาวฮั่นถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหวงตี้ (黄帝) อาศัยอยู่ในแถบดินแดนจงหยวนและกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนมายาวนานกว่า 5,000 ปี นับตั้งแต่สมัยเซี่ย ซาง โจว ชุนชิว-จั้นกั๋ว จนมาเริ่มเป็นปึกแผ่นในสมัยฉินและฮั่น  สมัยฮั่นนี่เองที่เริ่มมีคำเรียก 'ชนชาติฮั่น' ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อตามแบบลัทธิเต๋า

ชาวฮั่นมีกิจกรรมด้านการเกษตรและหัตถกรรมที่เจริญก้าวหน้า อีกทั้งมีการประดิษฐ์เครื่องสำริด การทักทอ เครื่องเคลือบดินเผา สถาปัตยกรรม และศิลปะการวาดภาพที่เป็นหน้าตาของชนชาติมาตั้งแต่ยุคโบราณ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่างๆที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วด้วย  และที่ลืมไม่ได้ก็คือ การเป็นชนกลุ่มแรกของโลกที่ค้นพบและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ 4 อย่าง คือ กระดาษ เทคนิคการพิมพ์ เข็มทิศ และดินปืน

บุคคลสำคัญเชื้อสายฮั่นในแผ่นดินจีนไม่ว่าจะเป็นนักทฤษฎี นักปฏิวัติ นักการเมือง กวี ศิลปินต่างๆที่ถูกจารึกนามในหน้าประวัติศาสตร์จีนและของโลกที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ ดร.ซุนยัตเซ็น เหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล หลิวเส้าฉี จูเต๋อ เติ้งเสี่ยวผิง หลู่ซวิ่น ฯลฯ ล้วนเป็นชาวฮั่นที่สร้างคุณูปการต่อลูกหลานชนชาวฮั่นในวันนี้

และยังรวมถึง ขงจื๊อ ปรัชญาเมธีผู้เรืองนามของจีน  เป็นเวลาเนิ่นนานหลายร้อยปีที่แนวคิดของขงจื๊อซึ่งเป็นรากฐานคุณธรรมคำสอนของชาวฮั่นยังโด่งดังแผ่อิทธิพลไปทั่วทวีปเอเชียด้วย

ชาวฮั่นมีวันสำคัญทางประเพณีได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลหยวนเซียว เช็งเม้ง เทศกาลไหว้พระจันทร์(จงชิวเจี๋ย) เป็นต้น

ชาวฮั่นมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองเรียกว่า ภาษาฮั่น (ฮั่นอี่ว์) มีตัวอักษรเรียกว่า อักษรฮั่น (ฮั่นจื้อ) ซึ่งยังแบ่งเป็นภาษาถิ่นอีกหลายภาษา อาทิ ภาษาถิ่นทางภาคเหนือ (北方话) ภาษากวางตุ้ง (粤语) ภาษาแคะ (客家话) ภาษาถิ่นแถบเซี่ยเหมิน (闽南话) ภาษาถิ่นฮกเกี๊ยน (闽北话) ภาษาถิ่นแถบเซี่ยงไฮ้-เจียงซู-เจ้อเจียง (吴语) ภาษาถิ่นแถบหูหนัน (湘语) และภาษาถิ่นแถบเจียงซี (赣语)

บิดาของชาวฮั่นกับชุดประจำชนชาติ

ตามที่เราๆท่านๆรู้จักกันดีว่า ชุด 'จงซัน' (中山装) เป็นชุดที่ได้นามมาจากนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของชาวจีน 'ดร.ซุนยัตเซ็น'

ในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย เป็นยุคสมัยที่สัญญาขายชาติหลายฉบับได้รับการลงนามโดยข้าราชการผู้โกงกินที่สงครามฝิ่นปะทุขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1840 และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ลัทธิจักรวรรดินิยมยาตราเข้าสู่ดินแดนจงหยวน เมื่อกองทัพทหาร 8 ชาติบุกเข้าประเทศจีนในปี 1900  และเป็นยุคเข็ญของชาวจีนที่ถูกตราหน้าจากชาวโลกว่าเป็น 'ขี้โรคแห่งเอเชีย' บ้าง 'ทหารผมเปีย' บ้าง หรือแม้แต่ล้อเลียนการแต่งกายชุดยาวกลอมข้อเท้ากับชุดขี่ม้าแบบชาวแมนจู

การรุกรานจากมหาอำนาจตะวันตก ความฟอนเฟะของราชสำนักชิง กอปรกับความอ่อนแอของชาวจีนได้สร้างความคับแค้นใจให้แก่ ดร.ซุน อย่างใหญ่หลวง ท่านได้รวบรวมกลุ่มคนผู้รักชาติขึ้นเพื่อขับไล่ต่างชาติ และปรารถนาที่จักเสริมสร้างความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ (อ่านบทความประกอบ 'บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด' )

ภายหลังการเสียสละเลือดเนื้อของเหล่าวีรชนทั้งหลาย ชาวจีนก็ประสบชัยชนะสามารถล้มล้างราชสำนักชิงในการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เมื่อปีค.ศ.1911 และก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐ โดยมีท่านดร.ซุนยัตเซ็นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก นับจากนั้น ดร.ซุนได้ริเริ่มระบบการปกครอง ปฏิรูปเศรษฐกิจและกฎหมายต่างๆ และให้ตัดหางเปียที่ชาวจีนเคยไว้ออกเสีย ทั้งยังออกแบบชุดประจำชนชาติเสียใหม่ โดยมอบหมายให้ร้านเสื้อที่เซี่ยงไฮ้ (上海亨利西服店 ) เป็นผู้ตัดเย็บ และให้ชื่อชุดตามชื่อของท่านว่า 'จงซัน' ซึ่งได้กลายเป็นชุดที่ยอมรับในสมัยนั้นว่าเป็นชุดของชนชาวฮั่น

ชุดจงซันนี้ออกแบบโดยรับอิทธิพลมาจากชุดของตะวันตก เสื้อเป็นเสื้อคอปกตั้ง กระดุม 5-7 เม็ด มีกระเป๋า 4 ใบ ทั้งบนล่างซ้ายขวา กระเป๋าล่างขยายได้สามารถใส่หนังสือหรือสิ่งของได้ตามชอบใจ ส่วนกางเกงผ่าด้านหน้ามีกระดุมลับ ด้านข้างซ้ายขวามีกระเป๋าลับ และจับจีบที่เอว

ดร.ซุนเป็นผู้นำการสวมใส่ชุดจงซันนี้ด้วยตัวท่านเองไม่ว่าในโอกาสไหนๆ และได้รับความนิยมจากชาวฮั่นอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีความเป็นสากล สง่างาม เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย และสวมใส่สะดวกสบาย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วัสดุในการตัดเย็บได้หลายแบบเพื่อโอกาสใช้สอยต่างๆกัน

ปัจจุบัน ชุดจงซันยังเป็นชุดทางการที่นิยมในหมู่สุภาพบุรุษนักการเมือง และประชาชนจีนทุกสาขาอาชีพ (สำหรับสตรีนิยมสวมชุดกี่เพ้า (旗袍) ของชาวแมนจู)

ข้อมูลจาก Science Museums of China
กำลังโหลดความคิดเห็น