ที่พิพิธภัณฑ์ทางเพศโบราณของจีน ศาสตราจารย์หลิว ได้ให้คำจำกัดความของ ศิลปะการประกอบกิจในห้อง (ฝังจงซู่:房中术) ไว้ว่า สามารถตีความหมายได้ทั้ง 'อย่างแคบ' และ 'อย่างกว้าง'
อย่างแคบ คือ เทคนิคการร่วมประเวณี
อย่างกว้าง คือ วิทยาศาสตร์ทางเพศ (古代性科学)*
แท้จริงแล้วศิลปะการประกอบกิจกาม ของชาวจีนมีประวัติศาสตร์ และพัฒนาการ ต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยยุคชุนชิว-สงครามระหว่างรัฐ (春秋战国; 770-221 ปีก่อนคริสตกาล) โดยมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับลัทธิเต๋า เรื่อยมาจนถึง สมัยฮั่น ถัง โดยชนรุ่นหลังสามารถขุดค้นและพบหลักฐานเพิ่มเติมในโบราณสถานสำคัญๆ อย่างเช่น ถ้ำหินสลักตุนหวง มณฑลกานซู่ และ สุสานหม่าหวังตุยฮั่น ที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน อย่างไรก็ตามพออย่างเข้าสู่ยุคราชวงศ์ซ่ง (宋代) ศิลปะการประกอบกิจกามก็ถูกผลักให้เข้าไปอยู่ใน ตำราทางการแพทย์ สาเหตุก็ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่าราชวงศ์ซ่งนั้นเป็นราชวงศ์ที่มีการเริ่มเข้มงวดกวดขันในเรื่องเพศอย่างหนัก และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีอย่างร้ายแรง
หนักหนาขนาดไหน?
ขนาดที่ว่า หลังพิธีการแต่งงาน ในคืนแรกของวันวิวาห์ มีความเชื่อที่ว่า เจ้าบ่าวจะต้องเห็นโลหิตเปื้อนบนผ้าปูเตียง โดยหากเจ้าบ่าวไม่เห็นคราบโลหิตอันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพรหมจรรย์ของสาวเจ้าแล้วละก็จะรู้สึกอับอายขายหน้าเป็นอย่างมาก และอาจถึงขั้นเป็นเรื่องเป็นราวมีการปฏิบัติกับภรรยาอย่างกับมิใช่มนุษย์ อย่าง จับฝ่ายหญิงเปลื้องผ้า ให้นั่งบนลาและอานอย่างพิเศษ ประจานไปตามท้องถนน
กลับมาถึงลัทธิเต๋ากันต่อ ....
ศาสดาของลัทธิเต๋านั้นมีนามว่า จางเต้าหลิง (张道陵)** กล่าวกันว่า ความมุ่งมาดปรารถนาของลัทธิเต๋านั้นก็ คือ การบำเพ็ญเพียรจนกลายเป็นเซียนและมีชีวิตอันอมตะ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ในตำราเต๋ามีบันทึกมากมายเกี่ยวกับวิธีการ และหนทางในการบำเพ็ญตนเพื่อให้ได้เป็นเซียน เหมือนกับตำนานที่เล่าว่า เหลาจื่อในมือถือ 'คัมภีร์เต้าเต๋อจิง' ขี่ควายออกนอกด่าน มุ่งไปทางทิศตะวันตกแล้วก็สาบสูญจากโลกแล้วกลายร่างเป็น 'เซียน' ไป
ความเชื่อใน การไม่แก่ไม่ตายมีชีวิตเป็นอมตะ นั้นถือได้ว่า เป็นความใฝ่ฝันของบรรดาผู้ปกครอง จักรพรรดิ ฮ่องเต้ของจีนในสมัยโบราณที่เมื่อได้ครองแผ่นดินเสพสุขแล้วก็หวังที่ตนเองจะหนุ่มวัยใสปิ๊งไปตลอดกาล โดยนับตั้งแต่ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน (ฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้) ที่ส่งคนไปเสาะหายาอายุวัฒนะ เป็นต้นมา ฮ่องเต้จีนรุ่นหลังจำนวนมากมายต่างก็มีความมาดหมายเช่นเดียวกันทั้งสิ้น และก็ถือได้ว่า แนวทางของลัทธิเต๋านั้นไปสอดคล้องกันอย่างพอดิบพอดีกับ ความปรารถนาดังกล่าวของเจ้าผู้ครองแผ่นดิน
ในยุคแรกที่ จางเต้าหลิง เผยแพร่ ลัทธิเต๋านั้นก็ใช้วิธีการนำเอา วิถีแห่งเต๋าในการรักษาสุขภาพ (หย่างเซิง:养生) ไม่ให้แก่ไม่ให้เฒ่ามารักษาอาการป่วยของผู้คน โดยวิธีการดังกล่าวประการหนึ่งก็คือ เทคนิคในการมีเพศสัมพันธ์ (เดิมเรียกว่า 玄素之道) ต่อมา เทคนิคหรือวิชาดังกล่าว จึงถูกนำไปใช้เป็นครั้งแรกในราชสำนัก ก่อนที่จะแพร่หลายออกมาสู่ประชาชนในภายหลัง*
ด้วยเหตุนี้ จะสังเกตได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์สายตาของชาวจีนในสมัยโบราณนั้นมิเป็น กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายแต่เพียงการสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงปรัชญา ความเชื่ออื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ในเวลาต่อมาได้มีการสรุปคุณประโยชน์ของ เพศสัมพันธ์ไว้ว่า มีอยู่สามประการคือ
หนึ่ง เพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์
สอง เพื่อความสุข ความสนุก
และ สาม เพื่อการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
จากอิทธิพลของลัทธิเต๋า ชาวจีนตั้งแต่อดีตจึงให้ความสำคัญ กับ เพศสัมพันธ์เพื่อการรักษาสุขภาพร่างกายให้เแข็งแรง หรือ ที่เรียกว่า 养生 เป็นพิเศษ โดย การบ่มเพาะร่างกายดังกล่าวตามความเชื่อของเต๋านั้นมิใช่ การมีเพศสัมพันธ์ให้จำนวนมากเข้าไว้ แต่เป็นการมีเมื่อต้องมี และต้องอดกลั้นเมื่อถึงเวลาต้องอดกลั้น หรือเรียกกันว่า 'การบังคับความกำหนัด (节制情欲)' นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามตำรา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามใจปรารถนา ยกตัวอย่างเช่น
- ตามความเชื่อที่ว่า เพศชายคือ หยาง (阳) เพศหญิงคือ ยิน (阴) หยางและยินจะคงความสมดุลอยู่ได้ต้องมีการแลกเปลี่ยน ดังนั้นการปิดกั้น บังคับไม่ให้ชาย-หญิงมีเพศสัมพันธ์กัน อันหมายความว่า โดดเดี่ยวหยาง และ ยิน นั้นทางเต๋าถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยในข้อนี้อาจถือได้ว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อ การกดขี่สตรีเพศของสาวกลัทธิขงจื๊อในยุคหลัง อย่างเช่น สมัยซ่ง ที่ได้กล่าวไปแล้ว
- แนวความคิดที่ว่า เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้โดยธรรมชาติ ไม่สอนก็เป็นนั้นไม่ถูกต้อง ดังคำกล่าวในตำราทางการแพทย์จีนโบราณเล่มหนึ่งที่ระบุไว้ท่อนหนึ่งว่า "ความรัก เปรียบเสมือนการบ่มเพาะจิต อาหารแท้จริงแล้วก็คือยา การรักษาสุขภาพหากไม่รู้วิถีแห่งการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็เปรียบได้กับการใช้ยาแล้วแต่ไร้ซึ่งผลแห่งการบำบัด .... " (ไว้ตอนหน้า ผมจะเล่าเรื่อง Sex Education ของจีนในอดีตต่อ)
- เคล็ดลับในการมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ได้ ลูกชาย ทำอย่างไรให้ลูกฉลาด อายุยืน โตขึ้นมีลาภและมียศ
- ในการมีเพศสัมพันธ์ตามความเชื่อที่ว่า 'เอายินของหญิงมาเสริมหยางของชาย (以阴补阳)' นั้นมีการอธิบายไว้ด้วยว่า กิจกรรมเพื่อการชดเชยกันของทั้งสองฝ่ายจะต้องสอดคล้องกับ ความยินยอมพร้อมใจ ความปรารถนาและความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วย โดยหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อม เช่น ฝ่ายหญิงไม่ยอม หรือฝ่ายชายไม่พร้อม การถ่ายเทแลกเปลี่ยนของ ยิน และ หยาง ก็จะไม่ประสบผล (แน่นอนว่า ตั้งแต่ดั้งเดิม ก็ไม่ได้มีคำสอนให้ หญิง-ชาย ร่วมประเวณีกันโดยไม่เลือก)***
ฯลฯ
ทั้งนี้จากตัวอย่างแรกและสุดท้ายที่ผมยกขึ้นมานี้ Joseph Needham นักวิชาการด้านจีนศึกษาผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษเคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า จากแนวคิดเรื่องศิลปะของการมีเพศสัมพันธ์ (ฝังจงซู่) ดังกล่าวของลัทธิเต๋า แสดงให้เห็นว่าลัทธิเต๋ายอมรับในสถานะอันเท่าเทียมกันของผู้ชายและผู้หญิง ยอมรับถึงความสำคัญในฐานะของผู้หญิง โดยเห็นได้จากความคิดที่ว่า การมีเพศสัมพันธ์จะต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองเพศ ไม่ส่งเสริมการปิดกั้นความต้องการและการบังคับทางชนชั้นวรรณะ โดย Needham เห็นว่าประเด็นความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่พบเห็นได้แต่ในลัทธิเต๋า แต่ไม่มีใน ลัทธิขงจื๊อ และ ศาสนาพุทธ* (เต๋า ขงจื๊อ และพุทธ เป็นสามลัทธิ/ศาสนา ที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพัฒนาการมาได้ถึงช่วงเวลาหนึ่ง ศิลปะการประกอบกิจกามของเต๋า ก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ โดยมีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ตกต่ำนั้นเกิดมาจากทั้ง ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน****
ปัจจัยภายนอกนั้นประกอบขึ้นด้วยสาเหตุสองประการ คือ หนึ่ง อิทธิพลและการแพร่ขยายของศาสนาพุทธที่คำสอนในประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์นั้นขัดแย้งกับคำสอนของลัทธิเต๋าอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อถึงยุคที่พุทธรุ่งเรือง เต๋าก็ตกต่ำ สอง การปิดกั้นและการกดเรื่องเพศในสมัยซ่ง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อที่ได้กล่าวไปแล้ว
ปัจจัยภายใน ก็คือ การบิดเบือนคำสอนและตำราที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่เห็นได้ชัดก็คือ ความงมงายในเรื่องยาโป๊ว(春药) เช่น ในสมัยราชวงศ์หมิง ฮ่องเต้หมิงซื่อจง (明世宗;ค.ศ.1507-1567) หลงงมงายแต่เรื่องยาโป๊ว ซึ่งมีขุนนางผู้หนึ่งนาม เถาจงเหวิน (陶仲文) นำขึ้นทูลถวายอย่างหัวปักหัวปำ จนไม่ยอมพบขุนนาง ไม่ยอมปฏิบัติราชกิจว่าราชการประเทศ ขณะที่ เถาจงเหวินก็ได้รับความเอ็นดูและได้รางวัลจากฮ่องเต้เป็นพิเศษ จนภายหลัง ขุนนางอื่นๆ ก็เอาอย่างเถาจงเหวินบ้าง
โดย ครั้งหนึ่งมีการออกคำสั่งให้ตอนอวัยวะเพศของเด็กทารกกว่าพันคน เพียงเพื่อการทำ 'ยาโป๊ว' ให้ฮ่องเต้เสวย เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน และความวุ่นวายไปทั้งแผ่นดิน
จะกล่าวไป สภาพความล่มสลายของ 'เต๋า' ก็อาจถือได้ว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุเช่นเดียวกับ ความเสื่อมลงของ ขงจื๊อ พุทธ หรือแม้แต่ ลัทธิ/ศาสนาใดๆ ก็ตามที ที่เมื่อเวลาผ่านเลยไปนานเข้า หากคำสอนดั้งเดิมถูกปรุงแต่ง ถูกดัดแปลง ถูกตีความ ให้กลายเป็นเครื่องมือของ ฝ่ายอธรรม หรือ ผู้มุ่งหวังในลาภ ยศ อำนาจ เมื่อนั้นลัทธิ/ศาสนาดังกล่าวก็หนีไม่พ้นที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งความเสื่อมโทรม
หมายเหตุ :
*หนังสือ 浮世与春梦:中国与日本的性文化比较 โดย ศาสตราจารย์หลิวต๋าหลิน สำนักพิมพ์ 中国友谊出版公司 พิมพ์เดือนกันยายน ปี ค.ศ.2004 หน้า 254-260
**พจนานุกรม The Comtemporary Chinese Dictionary [Chinese-English Edition] จัดทำโดย Dictionary Department, Institute of Linguistics, Chinese Academy of Social Science พิมพ์ที่ Foreign Language Teaching and Research Press ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ค.ศ.2002 หน้า 400 อธิบายถึง ลัทธิเต๋า (道教) เอาไว้ว่า เป็นหนึ่งใน ลัทธิ/ศาสนา ที่ถือกำเนิดในแผ่นดินจีน (ไม่ได้รับเอาอิทธิพลมาจากชาติอื่น) ศาสดาคือ จางเต้าหลิง (张道陵) ที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคฮั่นตะวันออก ก่อนที่ลัทธินี้จะแพร่หลายในช่วงราชวงศ์เหนือ-ใต้ โดยลัทธิเต๋านี้มีชื่อเรียกอีกประการหนึ่งว่า 'ลัทธิข้าว 5 โต๋ว' (อู๋โต๋วหมี่:五斗米; โต๋ว (斗) เป็นหน่วยวัดปริมาณข้าวในสมัยโบราณของจีน โดยชื่อนี้มีที่มาจาก การที่ผู้ที่จะเข้ามาเป็นสาวกของลัทธินี้จะต้องจ่ายค่าขึ้นครู เป็นข้าวจำนวน 5 โต๋ว) โดย ศาสดาคือ จางเต้าหลิงนั้นถูกยกย่องจากศิษย์ให้เป็น ผู้เผยแพร่จากสวรรค์ (เทียนซือ:天师; ทำให้ลัทธิเต๋ามีอีกชื่อหนึ่งว่า ลัทธิเทียนซือ) ผู้ลัทธินี้นับถือ เหลาจื่อ (老子) เป็นปรมาจารย์ โดยเรียก เหลาจื่อ ว่า ไท่ซ่างเหล่าจุน (太上老君)
***หนังสือ 中国性史图鉴 (Illustrated Handbook of Chinese Sex History) โดย ศาสตราจารย์หลิวต๋าหลิน โดยสำนักพิมพ์ 时代文艺出版社 ฉบับพิมพ์เดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2003 หน้า 138-163
****หนังสือ 浮世与春梦:中国与日本的性文化比较 โดย ศาสตราจารย์หลิวต๋าหลิน สำนักพิมพ์ 中国友谊出版公司 พิมพ์เดือนกันยายน ปี ค.ศ.2004 หน้า 265-267