xs
xsm
sm
md
lg

หนันจิง: นครแห่งประวัติศาสตร์โลกไม่ลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนันจิง เมืองเอกของมณฑลเจียงซู มีชื่อย่อว่าหนิง (宁) แบ่งออกเป็น 10 เขต และ 5 อำเภอ มีพื้นที่ทั้งหมด 6,598 ตารางกิโลเมตร เมืองเอกแห่งนี้มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมายาวนาน โดยมีศักดิ์เป็นเมืองหลวงเก่า 1 ใน 7 แห่งของจีน เช่นเดียวปักกิ่ง อันหยัง ซีอัน ลั่วหยัง ไคเฟิง และหังโจว โดยการเป็นเมืองหลวงของหนันจิง เริ่มต้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมาในสมัยสามก๊กเรื่อยมาจนถึงจิ้นตะวันออก และราชวงศ์ซ่ง ฉี เหลียง เฉินในยุคราชวงศ์ใต้ รวมถึงราชวงศ์ถังในช่วงเริ่มต้น หมิง และยุคไท่ผิงเทียนกั๋วที่วางแผนล้มล้างราชวงศ์ชิง รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง

นอกจากนั้น ในปี 1993 ที่บริเวณภูเขาทังซาน ยังเป็นแหล่งค้นพบกะโหลกของมนุษย์วานรที่มีอายุ 350,000 ปีก่อน อันเป็นตัวบอกว่า ณ เมืองแห่งนี้เคยเป็นชุมชนมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

สำหรับนาม หนันจิง ไม่ใช่ชื่อแรกที่ใช้เรียกดินแดนแห่งนี้ ก่อนหน้านี้ในอดีต ที่นี่เคยใช้ชื่อว่า จินหลิง ม่อหลิง เจี้ยนเยี่ย เจี้ยนคัง ไป๋เซี่ย เซิ่งโจว เจียงหนิง จี๋ชิ่งและอิงเทียน กระทั่งในราชวงศ์หมิงที่มีการย้ายเมืองหลวงไปยังภาคเหนือ เมืองอิงเทียนในสมัยนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหนันจิงเป็นครั้งแรก ต่อมา ในยุคไท่ผิงเทียนกั๋ว มีการรวมตัวของกลุ่มผู้คิดก่อการกบฏต่อราชวงศ์ชิงที่นี่ และเปลี่ยนชื่อเมืองแห่งนี้เป็นเทียนจิง ขณะเดียวกัน ทางการราชวงศ์ชิงในยุคนั้นกลับเรียกเมืองนี้ว่าเจียงหนิง

สุดท้าย ในยุคหลังปฏิวัติซินไห่เก๋อมิ่ง (ค.ศ.1911) จึงกลับมาเรียกว่าหนันจิงตั้งแต่นั้น และไม่ได้เปลี่ยนอีกเลย

เศรษฐกิจนำสมานฉันท์นานาชาติ

นอกเหนือจากความสำคัญด้านประวัติศาสตร์แล้ว หนันจิงยังมีความสำคัญทางการค้ามาแต่อดีต เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำฉินหวยและแม่น้ำจินชวนไหลผ่าน ซึ่งทั้งสองสายจะไปรวมกับฉางเจียง จึงทำให้เหมาะกับการเป็นท่าเรือภายในประเทศ ทั้งยังเป็นสถานที่เริ่มต้นการออกไปท่องทะเลของกองเรือสำเภาหลวงที่นำทัพโดยเจิ้งเหอ หรือซำปอกง ผู้พิชิตทะเลทั่วโลกถึง 7 ครั้ง ตลอดจนผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างแนบแน่น

อย่างไรก็ตาม แม้หนันจิงจะเฟื่องฟูในยุคโบราณก็ตาม แต่ข้อมูลของทางการก็ระบุว่า ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาคการผลิตของเมืองนี้กลับตกต่ำ ดังที่มูลค่าผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปี 1948 มีมูลค่าเพียง 40 ล้านหยวน ในขณะที่มีพลเมืองกว่า 1 ล้านคน

แต่เมืองสำคัญในอดีตแห่งนี้ก็กลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง และปัจจุบัน หนันจิงกลายเป็นเมืองแห่งการผลิตที่ทันสมัยและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ จนสามารถดำรงสถานภาพเมืองศูนย์กลางการผลิตแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกของจีน และเป็นศูนย์การศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง 1 ใน 4 ของประเทศ

หนันจิงยังเป็นแหล่งการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของจีน โดยมีขนาดของการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ผลิตภัณฑ์สำคัญได้แก่เรดาร์ อุปกรณ์สื่อสาร โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ไฟเบอร์ออฟติก เครื่องพริ้นเตอร์ อุปกรณ์สุญญากาศ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับยักษ์ต่างชาติเช่น ฟูจิจากญี่ปุ่น ฟิลิปป์จากเนเธอร์แลนด์ ซีเมนส์แห่งเยอรมนีด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าที่ผลิตจากที่นี่ได้มาตรฐานระดับสากล

พร้อมกันนี้ ในด้านอื่นๆ เช่นวัฒนธรรม หนันจิงก็ยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเมืองต่างๆ ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟลอเรนซ์ในอิตาลี เซนต์หลุยส์ในสหรัฐฯ Eindhovenแห่งเนเธอร์แลนด์ Leipzig ในเยอรมนี เม็กซิกาลิแห่งเม็กซิโก ลิมาซอลในไซปรัส เมืองนาโงย่าแห่งแดนซามูไร และไดจุนในเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีตามมาอย่างใกล้ชิดด้วย

แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

สำหรับชาวจีนแล้ว เมื่อพูดถึงหนันจิงย่อมนึกถึงเมืองที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สุสานราชวงศ์หมิง(明孝陵) ของจูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นต้นแบบสุสานของกษัตริย์จีนในยุคต่อๆ มาและได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเมื่อปี 2003

โดยในบริเวณเดียวกันนี้ ยังมีวัดหลิงกู่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ค.ศ.515 และทิ้งวิหารไร้คานทรงยุโรปไว้เป็นอนุสรณ์แห่งศิลปะยุคเก่า ขณะเดียวกัน ภายในก็มีป้ายสลักชื่อทหาร 33,224 คน ของพรรคก๊กมินตั๋งที่เสียชีวิตในสงครามปฏิวัติที่สู้กับขุนศึกภาคเหนือ ทั้งยังมีหอหุ่นขี้ผึ้งที่ระลึกการปฏิวัติซินไฮ่เก๋อมิ่ง (辛亥革命腊像馆) โดยมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ยุคสงครามฝิ่นที่นำมาสู่สนธิสัญญานานกิง จนถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐอีกด้วย

นอกจากนั้น เมื่อมาถึงเมืองหนันจิงแล้ว ยังต้องมาเยือนสุสานดร.ซุนยัตเซ็น (中山陵) ที่พักสุดท้ายของบิดาแห่งจีนยุคใหม่ ณ บริเวณทิศใต้ของภูเขาจงซาน ซึ่งมีการกล่าวถึงสาเหตุที่เลือกบริเวณนี้ว่า ดร.ซุนยัตเซ็นเคยเปรยอย่างไม่จริงจังว่า ภูมิประเทศนี้เหมาะกับการสร้างสุสานของเขา โดยไม่นึกว่ามีการจดบันทึกไว้และสร้างขึ้นมาจริง

ความพิเศษของสถานที่นี้นอกจากจะมีความกว้างขวางถึง 80,000 ตรม.แล้ว โทนสีที่ใช้คือสีขาวและสีคราม อันเป็นสีของธงประจำพรรคก๊กมินตั๋ง และหากเดินเข้าไปยังอาคารแรกหลังประตูใหญ่ ก็จะพบกับลายมือของดร.ซุนยัตเซ็น ที่เขียนไว้ว่า " แผ่นดินเป็นของประชาชน (เทียนเซี่ยเหวยกง:天下为公)" ตลอดจนเมื่อเดินเข้าไปถึงอาคารหลังสุดท้าย ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างครอบสุสาน ก็จะพบกับลัทธิไตรราษฎร์ที่ดร.ซุนบัญญัติไว้ว่า ชาตินิยม (民族) ประชาธิปไตย (民权) และ สังคมนิยม (民生) อยู่ด้านหน้าของตัวอาคาร

ส่วนภายในอาคารนั้น เมื่อเข้าไปแล้วก็จะต้องตื่นตะลึงกับรูปปั้นในท่านั่งของดร.ซุนอันเป็นผลงานของ Paul Landowski ประติมากรชาวฝรั่งเศสที่รายล้อมไปด้วย ‘หลักการพื้นฐานในการสร้างชาติโดยสังเขป’ ของดร.ซุนเอง แล้วจึงจะเป็นสถานที่เก็บศพในห้องถัดไป

นอกจากนั้นยังมีวัดฟูจื่อ(夫子庙) ที่จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับขงจื๊อและสาวกของขงจื๊อ รวมถึงตำนานต่างๆ และนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน พิพิธภัณฑ์ประวัติการสอบเข้ารับราชการของเจียงหนัน (江南贡院历史) สถานที่จัดสอบเข้ารับราชการจริงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) และที่ลืมไม่ได้คือ หอที่ระลึกการสังหารหมู่ที่หนันจิง (南京大屠杀纪念馆) สถานที่บันทึกโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญบนแผ่นดินจีน

เหตุการณ์ความสูญเสียที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้คราวนั้นเกิดขึ้นในปีค.ศ.1928 รัฐบาลคณะชาติของนายพลเจียงไคเช็คได้ย้ายเมืองหลวงจากปักกิ่ง(เป่ยผิงในขณะนั้น) มายังเมืองหนันจิง ที่มีพลเมืองราว 250,000 คน แต่ทว่าในช่วงกลางทศวรรษที่ 30 จำนวนดังกล่าวก็ได้ขยายตัว เนื่องจากมีการอพยพจากพื้นที่ข้างเคียงที่ถูกญี่ปุ่นบุกมาก่อนหน้านี้จนเป็นกว่า 1 ล้านคน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 1937 หลังจากที่เข้ายึดเซี่ยงไฮ้ได้แล้ว กองทัพซามูไรก็เคลื่อนขบวนเข้ามายังเมืองหนันจิงจากทุกสารทิศ และในต้นเดือนธันวาคม ญี่ปุ่นก็ยึดรอบเมืองหนันจิงเอาไว้ได้หมด

วันที่ 9 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นเข้าโจมตีหนันจิงอย่างหนักหน่วง จนวันที่ 12 กองทัพป้องกันของจีนได้ตัดสินใจล่าถอยไปยังอีกด้านของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) วันถัดมา กองพลที่ 13 และ 16 ของญี่ปุ่นก็บุกเข้ามาถึงเขตจงซันและไท่ผิงหยังเหมิน ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายของวันนั้น กองทัพเรือของญี่ปุ่นก็มาถึงหนันจิง

หลังจากนั้นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ การสังหารโหดอย่างบ้าคลั่งก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักกันดีในนาม เหตุการณ์สังหารหมู่ที่หนันจิง(南京大屠杀) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่า ในช่วงนั้นมีชาวจีนต้องสิ้นชีพไปอย่างน้อย 300,000 คน และผู้หญิงราว 20,000 คนต้องถูกข่มเหง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มคาดคะเนว่าจำนวนดังกล่าวน้อยเกินไป ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูญเสียน่าจะสูงกว่า 340,000 คน และมีผู้หญิง 80,000 คนถูกข่มขืน....

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วกว่า 60 ปี จนกระทั่งวันนี้โศกนาฏกรรมในครั้งนั้นก็ยังคงเป็นความทรงจำอันขมขื่นของลูกหลานชาวจีน ที่ยังคงสั่นคลอนความสมานฉันท์ระหว่างสองชนชาติสืบมา

เป็ดหมักเกลือ(盐水鸭) อาหารเลื่องชื่อหนันจิง

อาหารชนิดนี้มีชื่อเสียงมานานนับพันปีแล้ว และมีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์ชิงที่มีการสอบจอหงวน หากผู้เข้าสอบต้องการติดสินบนเจ้าหน้าที่ แทนที่จะใช้ทรัพย์สินเงินทอง กลับใช้เป็ดหมักเกลือนี้ ! จึงทำให้อาหารชนิดนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วประเทศ นอกจากนั้น ในแต่ละปี ชาวเมืองหนันจิงยังต้องส่งอาหารชนิดนี้หลายร้อยตัวแก่พระนางซูสีไทเฮา ที่ทรงโปรดปรานเป็ดจานนี้ไม่น้อย

ชาวเมืองหนันจิงกล่าวกันว่า หากต้องการลิ้มรสอาหารจานนี้ให้อร่อยที่สุด จะต้องมาชิมในฤดูใบไม้ร่วงก่อนเทศกาล เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกหอมหมื่นลี้ (osmanthus) บานสะพรั่ง และเนื้อเป็ดก็ราวกับมีกลิ่นหอมของดอกไม้ด้วย ซึ่งจะกลายเป็นกับแกล้มเหล้าชั้นยอด และเป็นจานเด็ดไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน

กว่าจะมาเป็ดหมักเกลือที่มีหนังสีขาว ไม่มันจนเกินไป กลิ่นหอม เมื่อส่งเข้าปากก็ได้รสชาติกรอบ นุ่ม ทั้งยังมีกลิ่นละมุนละไม ต้องผ่านกรรมวิธีตั้งแต่การเลี้ยงเป็ดในสถานที่ธรรมชาติ ด้วยปลา กุ้งตัวเล็ก และข้าวเปลือก รอจนเป็ดมีอายุได้ 50-70 วัน น้ำหนักราว 2 กิโลกรัม ก็ได้เวลานำมาขึ้นโต๊ะแล้ว

หลังจากที่ถอนขนเป็ดด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้หนังเป็ดต้องเป็นรอย พ่อครัวจะกรีดช่องเล็กๆ 6 ช่องไว้ใต้ช่วงปีกของเป็ด แล้วดึงเครื่องในออกมาทางนี้ เมื่อทำความสะอาดทั้งภายนอกภายในเรียบร้อยแล้ว พ่อครัวจะนำเกลือร้อนที่ผัดกับพริกไทยเสฉวนที่เรียกว่า ฮวาเจียว แล้วนำมาทาทั่วตัวเป็ด หลังจากนั้นจึงนำไปหมักไว้ในอ่างปิดฝาประมาณ 2 ชั่วโมง ให้เครื่องปรุงซึมลงไปในเนื้อเป็ด แล้วนำไปแช่ในน้ำพะโล้ เมื่อนำขึ้นมาก็ผึ่งให้แห้ง หลังจากนั้นก็นำขิง ต้นหอม โป๊ยกั๊ก ใส่ลงไปภายในตัวเป็ด แล้วปิดฝาหม้อต้มเป็ดในน้ำเดือดที่มีเครื่องปรุง 3 ชนิดข้างต้นอีก 20 นาที เมื่อน้ำซึมเข้าไปในตัวเป็ดจนเดือด ก็ต้มต่ออีก 20 นาทีจึงนำขึ้น แขวนผึ่งให้แห้ง และสามารถรับประทานได้ทันที .

เรียบเรียงจาก www.chinacity.net, www.eatworld.org, www.princeton.edu
กำลังโหลดความคิดเห็น