xs
xsm
sm
md
lg

ณ ที่นี้ คือจัตุรัสเทียนอันเหมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้เรื่องเมืองจีน / จัตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门广场) ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง ความยาวตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ 880 เมตร ทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 500 เมตร พื้นที่ทั้งสิ้น 440,000 ตารางเมตร สามารถจุประชากรได้ถึง 1,000,000 คน ปัจจุบันจัตุรัสเทียนอันเหมินนับเป็นจัตุรัสใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คำว่า ‘เทียน’ แปลว่า ฟ้า   ‘อัน’ แปลว่า ผาสุก   ‘เหมิน’ แปลว่า ประตู

จัตุรัสเทียนอันเหมินล้อมรอบด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ หอประตูเทียนอันเหมินที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจัตุรัส ธงแดงดาว 5 ดวงผืนใหญ่โบกสะบัดอยู่เหนือเสาธงกลางจัตุรัส อนุสาวรีย์วีรชนใจกลางจัตุรัส มหาศาลาประชาคมด้านทิศตะวันตกของจัตุรัส ตลอดจน พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติจีนทางฝั่งตะวันออก นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ยังมี หอรำลึกท่านประธานเหมาและหอประตูเจิ้งหยางเหมิน (正阳门城楼) หรือเฉียนเหมิน

ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติมากกว่าพันๆคนมาเยี่ยมชมจัตุรัสเทียนอันเหมินและอาคารสถาปัตยกรรมบริเวณจัตุรัสแห่งนี้ทุกวัน โดยเฉพาะการชมพิธีอัญเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาและลงจากยอดเสาของกองทหารในเวลาเช้าและเย็น ซึ่งจะมีพิธีใหญ่ในวันแรงงาน (1 พ.ค.) และวันชาติ (1 ต.ค.) จัตุรัสกว้างแห่งนี้ก็จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนและตกแต่งประดับประดาไปด้วยดอกไม้และสวนหย่อม

และไม่นานมานี้ จัตุรัสเทียนอันเหมินได้กลายเป็น 1 ในจุดต้อนรับนักท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ในกรุงปักกิ่ง ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับกองทัพปลดแอกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย (อ่านข่าวประกอบ)

หอประตูเทียนอันเหมิน

  เทียนอันเหมินเฉิงโหลว หรือ หอประตูเมืองเทียนอันเหมิน (天安门城楼) ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของจัตุรัส ประตูเทียนอันเหมินเป็นที่มาของชื่อจัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่ถือว่าเป็น ‘ดวงตา’ ของเมืองปักกิ่ง และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้นท่านจึงเห็นภาพวาดของท่านประธานเหมาที่ประดับอยู่ ณ ประตูแห่งนี้เสมอในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศจีน ถึงแม้หอประตูเทียนอันเหมินจะผ่านประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังคงเต็มไปด้วยพลังแห่งชีวิตชีวา และคงความโอ่อ่าสง่างามมาจนถึงวันนี้

หอประตูแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีที่ 15 ในรัชสมัยหย่งเล่อ (ค.ศ.1417) แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เป็นประตูใหญ่ของเขตพระราชวังแห่งราชสำนักหมิง เบื้องหลังหอประตูนี้คือพระราชวังต้องห้าม (กู้กง) ในสมัยนั้นเรียก ‘ประตูเฉิงเทียนเหมิน’ (承天门) อันมีความหมายถึง ลำเลียงมาจากฟ้า เมื่อเริ่มแรกหอแห่งนี้ก่อสร้างเป็นประตูโค้งทำด้วยไม้ 5 ประตู ซึ่งแตกต่างกับรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบหอโค้งกว้างราว 90 ฟุต

ในสมัยราชวงศ์ชิงปีศักราชที่ 8 แห่งรัชกาลซุ่นจื้อ (ค.ศ.1651) จึงมีการบูรณะหอประตูนี้ใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนมาเรียก ‘ประตูเทียนอันเหมิน’

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลก็ได้มีการปรับปรุงสถาปัตยกรรมไม้บนหอประตูเทียนอันเหมินใหม่ และเพิ่มกำแพงเมืองหนาล้อมรอบ จึงกลายมาเป็นรูปแบบเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

สมัยราชวงศ์หมิงและชิง สถานที่แห่งนี้เป็นเขตต้องห้าม เข้าได้เฉพาะคนในราชสำนักเท่านั้นสามัญชนทั่วไปห้ามเข้ามาจนถึงค.ศ.1911 ปีสิ้นสุดแห่งราชสำนักชิง ประโยชน์หลักของหอแห่งนี้ใช้ในงานพิธีสำคัญๆของประเทศ เช่น จักรพรรดิขึ้นครองราชย์ พิธีแต่งตั้งฮองเฮา พิธีพระราชทานพระราชโองการ เป็นอาทิ

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 เมื่อประธานประเทศเหมาเจ๋อตงได้ประกาศต่อมวลชนก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนบนหอประตูเทียนอันเหมิน และอัญเชิญธงดาวแดงขึ้นสู่ยอดเสา หอประตูเทียนอันเหมินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีนใหม่มานับแต่นั้น

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถซื้อตั๋วราคา 15 หยวนขึ้นหอประตูเทียนอันเหมินชมทัศนียภาพโดยทั่วจัตุรัสเทียนอันเหมินได้ (เวลาเปิดให้ขึ้นชม 9.00-16.30 น.)

เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นวีรกรรมของเหล่าบรรพชนผู้มีจิตใจห้าวหาญมาหลายครั้งหลายหนในช่วงประวัติศาสตร์ยุคสาธารณรัฐจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น เหตุการณ์ ‘การเคลื่อนไหว 4 พฤษภา’ (五四运动ค.ศ.1919) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง 13 แห่ง ร่วมในการคัดค้านการประชุมสันติภาพที่แวร์ซายน์ในฝรั่งเศส ที่มีการรับรองฐานะของรัฐบาลญี่ปุ่นในมณฑลซันตงของจีน และเพิกเฉยต่อการที่จีนเรียกร้องซันตงกลับคืนจากญี่ปุ่น การเดินขบวนประท้วงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในวงกว้าง นอกกรุงปักกิ่งประชาชนยังร่วมกันนัดหยุดงานและคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นด้วย

‘กรณี 18 มีนาคม’ ในปีค.ศ.1926 (三‧一八慘案) การรวมตัวประท้วงของเหล่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการต่างๆในปักกิ่ง นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน และชาวเมือง กว่า 5,000 คน จัดการประชุมต่อกรณีกองทัพทหาร 8 ชาติยื่นคำขาดให้รัฐบาลภายใต้ ต้วนฉีรุ่ย ( 段祺瑞 1865-1936) ถอนกำลังทหารออกจากฐานกำลังที่เทียนจิน

ภายหลังการตอบโต้คำขาดดังกล่าวนำมาซึ่งการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงด้วยกำลังอาวุธโดยการยุยงของต้วน มีผู้เสียชีวิต 47 คน บาดเจ็บสาหัส 155 คน หลู่ซวิ่น นักเขียนผู้ลือลั่นของจีนในยุคนี้ได้จารึกไว้ว่า ‘เป็นวันที่มัวหมองที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งยุคสาธารณรัฐ’

‘การเคลื่อนไหว 9 ธันวา’ ค.ศ.1935 (一二‧九运动) ของกลุ่มนักศึกษาในเป่ยผิง (กรุงปักกิ่ง) และประชาชนโดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน มีการนัดหยุดเรียนและหยุดงานมาชุมนุมประท้วงกันกว่า 30,000 คน เพื่อขับไล่การรุกรานจีนของกองทัพทหารญี่ปุ่น เป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามจีนต่อต้านญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945) การประท้วงต่อต้านทัพญี่ปุ่นได้จุดไฟรักชาติในจิตวิญญาณชาวจีนทั่วประเทศ โดยหลังจากนั้นก็มีการชุมนุมกันทั้งในเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน หนันจิง (นานกิง) ซีอัน อู่ฮั่น ฯลฯ

2 เหตุการณ์ท้ายเกิดขึ้นในยุคจีนใหม่ คือ ‘การเคลื่อนไหว 5 เมษา’ (四‧五运动) ในปี 1976 (ปีแห่งการสูญเสียของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) เนื่องจากประชาชน นักศึกษา ข้าราชการ รวมทั้งผู้ใช้แรงงาน ซึ่งนำโดย เติ้งเสี่ยวผิง ต่างพร้อมใจกันหลั่งไหลมาวางพวงหรีดและกล่าวบทกวีสดุดี เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม ของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นที่รักในหัวใจของมวลชน นายโจวเอินไหล ทั้งนี้โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของ ‘แก๊งสี่คน’(四人帮) ในเวลานั้น

เช้าวันที่ 5 เมษายน แก๊งสี่คนใช้อำนาจกวาดล้างกองทัพพวงหรีดที่มาแสดงความไว้อาลัยต่อนายกฯโจว ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจนราบ นำความแค้นเคืองมาสู่ประชาชน จนทำให้ประชาชนร่วมกันประณาม ‘แก๊งสี่คน’ ด้วยความโกรธแค้น ซึ่งในที่สุดเหตุการณ์ประท้วงบานปลายกลายเป็นการจลาจลปะทะกันระหว่างประชาชนมือเปล่ากับกำลังตำรวจ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เติ้งเสี่ยวผิงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดการจลาจลและต้องหลุดจากตำแหน่งต่างๆในพรรคฯ

และเหตุการณ์ล่าสุด คือ การชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตย ในปีค.ศ.1989 (六四天安门事件) ปลายสมัยผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง เหตุการณ์ประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน และจบลงอย่างเศร้าสลดด้วยการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงด้วยกำลังทหารในวันที่ 3-4 มิถุนายน และการลงจากอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าจื่อหยาง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินได้จารึกไว้ด้วยน้ำตาและหยดเลือดของเหล่าวีรชนนักต่อสู้ต่างยุคสมัย ที่จนถึงวันนี้เรื่องราวของพวกเขาก็ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลมเหนือท้องฟ้ากลางจัตุรัสแห่งวิญญาณนักปฏิวัติ ... และทั้งหมดนี้คือบันทึกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่งของจีนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน...

เรียบเรียงจาก  cts.com.cn / people.com.cn / www.fokas.com.tw / http://129.china1840-1949.net.cn และ หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์จีน’ โดย ทวีป วรดิลก
กำลังโหลดความคิดเห็น