xs
xsm
sm
md
lg

&'ดร.เขียน&'เตือนไทย-จีนอย่าวางก้าม ยึดแม่น้ำโขงบีบ ปท.เพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์/ปักกิ่ง - ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ นักวิชาการผู้บุกเบิกจีนศึกษาในประเทศไทย กล่าวเตือนทั้งประเทศไทยและจีน ในการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ว่าให้ควรยึดคุณธรรมเป็นหลักในการพัฒนาภูมิภาคนี้ และไม่ควรทำตัวเป็นจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจบังคับให้ประเทศเพื่อนบ้านล้าหลังเกาะกระแสโลกาภิวัตน์ตาม ด้านนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ชี้สัมพันธ์ศก.ไทยจีนแนบแน่นเป็นประวัติการณ์

วันนี้ (4 เม.ย.) ในการสัมมนาทางวิชาการความสัมพันธ์ ไทย-จีน ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสการฉลองครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ศ.ดร.เขียน ธีระวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวบรรยายในหัวข้อ "ความร่วมมือไทย-จีน ด้านการพัฒนาแถบลุ่มแม่น้ำโขง"

ศ.ดร.เขียน กล่าวว่า อาณาบริเวณลุ่มน้ำโขงหมายถึงมณฑลหยุนหนันของจีน ไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ส่วนนี้ไทยและจีนต่างมีผลประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน การค้าการลงทุนและการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ในด้านพลังงานจีนต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขาย ส่วนไทยต้องการซื้อ รวมทั้งในด้านความมั่นคงทางการเมืองซึ่งไทยและจีนต่างต้องการความเป็นเอกราชและมีเสถียรภาพ

ความร่วมมือด้านการสร้างเขื่อนกระแสไฟฟ้าพลังน้ำนั้น ศ.ดร.เขียน กล่าวว่า แม้ว่าไทยและจีนจะมีทีท่ากระตือรือร้นมากกว่าประเทศอื่น  ทว่าการดำเนินการในประเทศไทยยังมีอุปสรรคเนื่องจากการระเบิดโขดหินถูกประชาชนและองค์กรเอกชนบางแห่งต่อต้าน ส่วนทางด้านประเทศจีนนั้นการดำเนินงานมีความคืบหน้า แม้ว่าจะมีองค์กรเอกชนออกมาต่อต้านกันบ้างว่าเป็นการทำให้น้ำใต้เขื่อนแห้ง และทำลายระบบนิเวศ

ทั้งนี้ศ.ดร.เขียนได้เสนอทัศนะและข้อคิดเพื่อความก้าวหน้าของความร่วมมือไทย-จีน ดังนี้คือ

ประการแรก ไทยและจีนเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติคือลุ่มน้ำโขง ทำให้จีนมีชะตากรรมร่วมกับเอเชียอาคเนย์
ประการที่สอง ด้วยสาเหตุทางการเมืองทำให้ไทย-จีน เพิ่งได้ใช้ทรัพยากรนี้เป็นประโยชน์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
ประการที่สาม แม้ว่าสองประเทศจะบุกเบิกเกี่ยวกับลุ่มน้ำโขงมาพอควร แต่ยังมีอีกหลายประการต้องทำ
ประการที่สี่ ควรเร่งให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเรื่องระดับน้ำและการกักเก็บน้ำโดยการทำวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ประการสุดท้าย ทั้งไทยและจีนต้องมีคุณธรรมในการดำเนินงานเพราะพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเกี่ยวพันกับหลายประเทศ

โดย ศ.ดร.เขียนได้เน้นย้ำและขยายความในเรื่องของความมีคุณธรรมในการดำเนินงานว่า ประเทศไทยและจีนไม่ควรแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในภูมิภาค ไม่ควรทำตัวเป็นจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ควรคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและการกำจัดมลพิษ ภายใต้ระบบการค้าเสรีอย่าทำให้ผู้ด้อยกว่าเดือดร้อน การกระทำใดๆ ต้องคำนึงถึงคนระดับรากหญ้าเป็นสำคัญ โครงการที่มีผลกระทบต่อประเทศอื่นต้องมีการหารือเพื่อหาทางออกหรือล้มเลิกโครงการ และสุดท้ายไม่ควรบีบบังคับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่พร้อมให้เกาะกระแสโลกาภิวัตน์โดยสร้างหนี้สินให้คนรุ่นหลัง

"สมภพ" ชี้ทุนไทยรอจ่อจีนอื้อ

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงทัศนะในหัวข้อ "การค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน" โดยกล่าวว่าไทยและจีนนั้นมีความสำพันธ์ด้านการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงค่อยๆ ชะลอตัวลงเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนและประเทศทางตะวันตก ทำให้เกิดสงครามและจีนถูกบังคับให้เซ็นสัญญาเปิดเสรีท่าเรือ ส่งผลให้การค้าที่เคยรุ่งเรืองระหว่างไทยกับจีนภายใต้ระบบบรรณาการค่อยๆ เสื่อมถอยลงไป ยิ่งต่อมาจีนได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสังคมนิยม ทำให้ช่องว่างระหว่างไทยและจีนขยายกว้างขึ้นไปอีก

รศ.ดร.สมภพ กล่าวต่อ ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีนกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง เนื่องจากในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) จีนและไทยมีการเซ็นสัญญาเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งผลให้เริ่มมีการเปิดช่องทางทางการค้าและการลงทุน กระนั้นความร่วมมือทางการค้าไทย-จีน เด่นชัดในสมัยที่ เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำจีน โดยในช่วงนั้นไทยและจีนมีการทำข้อตกลงทางการค้ากันหลายประการ ประกอบด้วย ข้อตกลงการขนส่งทางทะเล ข้อตกลงการขนส่งทางอากาศ ข้อตกลงการคุ้มครองทางการค้า ข้อตกลงเพื่อป้องกันภาษีซ้ำซ้อน ข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการเงินและการท่องเที่ยว โดยในปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่สี่ของไทย เป็นรองเพียงสิงค์โปร์ สหรัฐฯและญี่ปุ่นเท่านั้น

ด้านการลงทุน ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่าจีนมีการเปิดกว้างด้านการลงทุนตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำเช่นกัน โดยมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และไห่หนันขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่จีนจะได้รับจากการเปิดกว้างทางการลงทุนนั้น นอกจากเม็ดเงินแล้วยังประกอบด้วยความสามารถในการประกอบการสมัยใหม่ และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจไปทั่วโลก

"ซีพี ก็เป็นบริษัทแรกๆในโลกที่มาลงทุนในจีน ดูได้จากหมายเลขการลงทุนที่เซินเจิ้น ซึ่งซีพีเป็นเลขที่ 1 เลขที่ 2 (เป็นบริษัทแรกๆ ที่มาลงทุน)"

รศ.ดร.สมภพ ระบุต่อด้วยว่าปัจจุบันบริษัทของไทยได้มีการลงทุนในประเทศจีนเป็นจำนวนกว่า 3,000 รายการโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคสินค้าเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยจุดเด่นของทุนไทยในจีนที่ต่างจากทุนต่างชาติคือใช้ตลาดจีนเองเป็นแหล่งระบายสินค้า และในทางกลับกัน ทุนจีนที่มาลงทุนยังเมืองไทยก็มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 รายการโดยอยู่ในภาคสินค้าและการแปรรูปการเกษตรเช่นเดียวกัน

ด้าน ศ.หู เจียน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวเสริมว่า ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนของไทยและจีน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ.2546 ประเทศได้เริ่มก้าวแรกในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยสองฝ่ายจะเริ่มวางแผนร่วมกันไปจนถึงปี พ.ศ.2553 โดยในขั้นต้นเน้นการตั้งเขตการค้าเสรีที่มีประชากร 1,700 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการค้า 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ศ.หู กล่าวต่อว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างไทย-จีนนั้นเป็นไปอย่างมีนัยยะสำคัญโดยนับตั้งแต่พัฒนาความสัมพันธ์เป็นต้นมา การลงทุนของทั้งสองประเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี พ.ศ.2545 มูลค่าการค้าของสองฝ่ายสูงถึง 85.61 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในโลกไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 16 ของจีน และ เป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 3 ของจีนในกลุ่นอาเซียน มูลค่าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2545 สูงเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการสัมมนาทางวิชาการ ความสัมพันธ์ ไทย-จีน ในยุคโลกาภิวัตน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ระหว่างนักวิชาการไทยและจีน ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จะจัดต่อเนื่องอีกหนึ่งวันจนถึงวันอังคารที่ 5 เมษายน 2548 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น