xs
xsm
sm
md
lg

เมืองท่าฝูโจว บ้านเกิดของชาวจีนโพ้นทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มืองฝูโจว(福州) ชื่อเดิม หรงเฉิง (榕城) หรือเมืองต้นมะเดื่อ ถิ่นกำเนิดของชาวจีนผู้กล้าที่เดินทางออกนอกประเทศในยุคแรกๆ เพื่อแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าในต่างแดน มีชาวฝูโจวจำนวนไม่น้อยที่เกิดบนแผ่นดินแม่แต่ไปตายในแผ่นดินอื่น ดังเช่น ชะตาชีวิตของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนอีกจำนวนมาก

กล่าวกันว่า ชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 2.5 ล้านชีวิต ที่กระจายอยู่ใน 50 กว่าประเทศและเขตแดนทั่วโลก เดินทางมาจากเมืองท่าริมทะเลเล็กๆแห่งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นความภาคภูมิใจของมวลชนสายเลือดจีนอย่างล้นเหลือ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งวงการวิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในวงการวิสาหกิจระดับโลก ตัวอย่างเช่น เจ้าพ่อการเงินและการคลัง หลินเส้าเหลียง (林绍良) เจ้าพ่อน้ำตาลโลก กัวเฮ่อเหนียน (郭鹤年) ราชาบุหรี่ ไช่หยวนฮุย (蔡元辉) และพ่อค้าไม้ผู้ยิ่งใหญ่ หวงซวงอัน (黄双安)

ศูนย์กลางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมของมณฑลฝูเจี้ยนแห่งนี้ ตั้งอยู่ติดชายทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ถือกำเนิดมาเมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 12,000 ตร.กม. เป็นเขตพื้นที่ของเมือง 1,043 ตร.กม.

ฝูโจว ยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนเชื่อมสัมพันธ์สองจีน(ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่) เพราะเป็นเขตที่อยู่บนดินแดนแผ่นดินใหญ่ที่มีอาณาเขตทางทะเลติดกับเกาะไต้หวันที่สุด โดยใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินเพียง 20 นาที ทั้งสองเมืองยังมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า วัฒนธรรม ฯลฯ อย่างลึกซึ้งแนบแน่น ซึ่งชาวไต้หวันกว่า 600,000 คน ยังมีบ้านเดิมมาจากเมืองฝูโจวด้วย ด้านชาวฝูโจวก็มีการเดินทางเข้าไปทำธุรกิจในไต้หวันจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

ประวัติความเป็นมาของเมือง

เมื่อราว 202 ปีก่อนคริสต์ศักราช(สมัยฮั่นตะวันตก) ลูกหลานของกษัตริย์เยี่ยว์หวังโก้วเจี้ยน (越王勾践) ได้สร้างบ้านเรือนในถิ่นนี้และให้ชื่อเมืองนี้ว่า 'จื้อเฉิง' มาถึง 'ยุค 5 ราชวงศ์และยุค 10 แคว้น' ช่วงปลายสมัยราชวงศ์ถัง เมืองนี้ก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นราชธานีของแคว้นหมิ่น(หมิ่นกั๋ว -闽国)

เมืองนี้ยังเป็นที่สถานที่สถาปนาจักรพรรดิองค์ใหม่ถึงสองครั้ง คือในปลายราชวงศ์ซ่งและปลายราชวงศ์หมิง และเป็นเมืองชุมทางและท่าเรือแวะพักระหว่างการเดินทางที่สำคัญ

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ฝูโจวก็เป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือของชาวจีนกับชาวต่างชาติ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่องแห่งนี้เจริญขึ้นถึงขั้นเป็นเมืองท่าเรือใหญ่ของแผ่นดินจีน และในยุคที่การค้าทางทะเลกับประเทศตะวันตกเริ่มรุ่งเรืองขึ้น เมืองท่าหรงเฉิง(ฝูโจว)ก็มีบทบาทสำคัญโดยเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเดินเรือทางทะเลสู่กรุงโรม (คือเส้นทางสายแพรไหมทางทะเล) ด้วย

และยุคที่การค้าทางทะเลและการเดินเรือในมหาสมุทรเฟื่องฟูที่สุดต้องยกให้ในสมัยราชวงศ์หมิง เมืองท่าแห่งนี้ก็ได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เมื่อแม่ทัพ เจิ้งเหอ(ซำปอกง) ผู้นำกองเรือขององค์จักรพรรดิหย่งเล่อ สู่ดินแดนตะวันตกเยือนประเทศต่างๆ 30 ประเทศ ถึง 7 เที่ยว ซึ่งเป็นการเดินเรือครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน ก็ได้มาหยุดแวะพักระหว่างการเดินเรือทั้ง 7 เที่ยวที่นี่ โดยใช้ท่าเรือเมืองฝูโจวเป็นแหล่งซ่อมเรือและรวบรวมเสบียงอาหารก่อนชักใบเรือออกทะเลต่อไป

ท่าเรือประวัติศาสตร์ที่แม่ทัพเจิ้งเหอมาแวะพักกองเรือในเมืองฝูโจว คือท่าเรือหมาเหว่ย(马尾)และฉางเล่อ(长乐) ในสมัยราชวงศ์ชิงได้กลายเป็นอู่ต่อเรือและฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนอีกด้วย

'ภูเขากลางเมือง เมืองกลางภูเขา'

เมืองฝูโจวเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำหมิ่นเจียงไหลผ่ากลางเมืองและยังแยกเป็นสองสายก่อนไหลมาบรรจบกันที่ปากแม่น้ำเมื่อลงสู่ทะเล รวมความยาว 150 กม.

นอกจากนี้ ยังได้สมญานามว่า 'ภูเขากลางเมือง เมืองกลางภูเขา' ทั้งนี้เป็นเพราะมีภูเขา 3 ลูกตั้งอยู่ได้ดุล 3 ทิศ ลักษณะที่ตั้งดังนี้ทำให้เมืองฝูโจวมีชัยภูมิที่ดีเลิศ กล่าวคือ 'เป็นเมืองพิงภูเขา เลียบฝั่งน้ำ และหันหน้าออกสู่ทะเล' ซ้ำยังมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 1,137 กม. คิดเป็น 1 ใน 3 ส่วนของความยาวของชายฝั่งทะเลทั้งหมดในมณฑลฝูเจี้ยน จึงเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกกว่า 100 ท่าในเมือง

สภาพอากาศและสถานที่เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน

เมืองฝูโจวซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำเมือง มีสภาพอากาศร้อนชื้นชายฝั่งทะเล เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนมีพายุไต้ฝุ่น ตลอดปีมีสี่ฤดูกาล อากาศอบอุ่นชุ่มชื้น อุดมด้วยพืชเศรษฐกิจอันหลากหลาย จนได้รับคำชื่นชมว่าเป็น 'เมืองแห่งข้าวปลาดอกผล'(花果鱼米之乡) ทั้งผลส้มและดอกมะลิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองล้วนสร้างผลิตผลทางการเกษตรตลอดปี และที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เมืองฝูโจว คือ ชามะลิ(茉莉花茶) พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ลิ้นจี่ ลำใย ลูกสมอ ส้มฝูเจี้ยน(ส้มฮกเกี้ยน)

เมืองฝูโจวมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณสถานถึง 52 แห่ง ที่มีชื่อเสียงคือ วัดหัวหลิน(华林寺) ซึ่งมีสถาปัตยกรรมไม้โบราณเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำฉางเจียงตอนใต้(แยงซีเกียง) อายุกว่า 1,000 ปี และศิลาจารึกเก่าแก่กว่า 1,200 ปี จารึกลายสือศิลป์ 'จ้วนซู' สมัยถัง กล่าวถึงลำดับวงศ์ตระกูลและสรรเสริญคุณูปการในด้านการปกครองและการทหารของกษัตริย์แห่งหลังหยา (琅琊郡王)

นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านโบราณสมัยยุคหินใหม่ คือ หมู่บ้านถันสือ (昙石村) ในอำเภอหมิ่นโหว (闽侯县) และโบราณสถานที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง อาทิ วัดหย่งเฉวียน (涌泉寺) ที่มีเจดีย์เคลือบดินเผาทรงแปดเหลี่ยมสลักพระพุทธรูป 1,038 องค์ วัดซีฉาน (西禅寺) วัดพุทธที่สร้างในสมัยราชวงศ์ถัง ประดิษฐานพระแก้วมรกตแบบพม่าองค์ใหญ่ที่ชาวจีนโพ้นทะเลบริจาคเงินสร้างขึ้น  นอกจากนี้ยังมี วัดชิงจือ(青芝寺) วัดสมัยหมิงบนเขาชิงจือซัน ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น เขาสือจู๋ซัน (石竹山) เขตทิวทัศน์เขากู่ซัน (鼓山) 'ทะเลสาบ 36 ขา' (36脚湖) ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนตัวของพื้นผิวโลก กอปรกับทรายมาทับถมเป็นเขื่อนรอบริมฝั่ง ทำให้ริมฝั่งขยายอาณาเขตยืดยาวออกไปรอบทิศทางคล้ายขา 36 ข้างยื่นออกมาจากแนวทะเลสาบ เป็นทิวทัศน์ธรรมชาติที่พิศวงน่าชม และเป็น สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง

อาหารการกินของชาวเมืองเรียกว่า อาหารฮกเกี้ยนตอนใต้ ที่โดดเด่นด้วยอาหารประเภทน้ำแกง และที่ขึ้นชื่อคือลูกชิ้นปลาที่มีขายโดยทั่วไป ทั้งนี้ อาหารสูตรไต้หวันก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

ทิศทางเศรษฐกิจ

ขณะนี้เมืองฝูโจวกำลังพุ่งเป้าไปที่ยุทธศาสตร์การพัฒนา 'เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำหมิ่นเจียง' (闽江口经济圈) และโครงการพัฒนา 'เมืองฝูโจวในทะเล' (海上福州) เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจในแถบนี้เจริญรุดหน้าเป็นหัวขบวนของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำหมิ่นเจียง

หลังจากจีนเปิดประเทศเป็นต้นมา (ค.ศ.1984) รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เมืองฝูโจวนับเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความพยายามในการส่งเสริมและปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อเตรียมรับนักลงทุนจากต่างแดน โดยมีการเปิดเขตเสรีทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 6 อำเภอและ 2 เมืองย่อยในเมืองฝูโจว อันได้แก่ การจัดตั้งเขตบุกเบิกและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขตปลอดภาษี เขตส่งเสริมการลงทุนในระดับต่างๆ สวนวิทยาศาสตร์ รวมถึงเปิดเสรีและปฏิรูประบบการเงิน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนชาวไต้หวัน

ตัวอย่างเช่น มีการส่งเสริมเขตบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นโครงการระดับประเทศ อยู่ในเขตหมาเหว่ยชิงโจว ซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยรัฐบาลเมื่อเดือนมกราคม 1985 และเขตบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพาณิชย์ ที่เป็นแหล่งลงทุนของเหล่าชาวจีนโพ้นทะเลที่นำเงิน นำเทคโนโลยี วัสดุ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆกลับมาลงทุนและสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับบ้านเกิดด้วย

ถึงวันนี้เมืองฝูโจวติดอันดับ 1 ใน 50 เมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมแข็งแกร่งของจีน และติด 1 ใน 40 เมืองที่พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนระดับประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ อาทิ การผลิตเครื่องจักรกลอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมี ทอผ้า วัสดุก่อสร้าง ผลิตผลจากทะเล ฯลฯ

สำหรับการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ เนื่องจากฝูโจวเป็นเมืองที่มีท่าเรือสำคัญๆจึงมีการติดต่อการค้าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกับเมืองในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบราซิลอย่างแนบแน่น สินค้าส่งออก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและงานศิลปหัตถกรรมต่างๆ เช่น งาน แกะสลักไม้ หิน ภาพวาด เครื่องเคลือบ ชุดน้ำชา เป็นต้น.

เรียบเรียงจาก et-china.com / chinacity.net
กำลังโหลดความคิดเห็น