xs
xsm
sm
md
lg

‘งิ้ว’ แหล่งความรู้นอกตำรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อกล่าวถึงคำว่า ‘จีน’ หลายคนคงนึกถึง ภาษาจีน ในขณะที่บางคนคงนึกถึง ประวัติศาสตร์อันยาวนานเป็นพันๆ ปี แต่เชื่อว่า คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะนึกถึง ‘งิ้ว’ หรืออุปรากรจีน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่คนทั่วโลก รวมทั้งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกยอมรับและยกย่องให้เป็น ‘มรดกโลก’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อุปรากรจีนเป็นศิลปะที่มีความหลากหลาย แต่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ซึ่งจะเป็นการประกอบกันระหว่างการร้อง และการแสดงลีลา หรือระบำรำฟ้อน ควบคู่กัน ซึ่งจะแตกต่างกับอุปรากรฝรั่งที่จะเน้นไปที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ละครพูด ก็จะไม่มีการขับร้อง หรือหากเป็นละครร้อง ‘โอเปร่า’ ก็จะมีแต่การขับร้องเพียงอย่างเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ ‘งิ้วในเมืองไทย’ ที่ศูนย์วัฒนธรรมขึ้น ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรทรงคุณวุฒิ คือ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล และอาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้อธิบายถึงการแต่งหน้า พร้อมๆ กับมีการสาธิตการแต่งหน้า และการแต่งกายของตัวละครงิ้วมาให้เห็นกันสดๆ ถึงที่

“ฝรั่งให้คำว่า ‘โอเปร่า’ แก่งิ้ว เพราะงิ้วนั้นจะต้องออกมาร้องตั้งแต่ต้นจนจบ ชาวจีนเป็นชนชาติที่ร้องเพลงเก่ง แต่เต้นไม่เก่ง จึงไม่ได้รับคำว่า ‘บัลเล่ต์’ จากฝรั่ง” อาจารย์วิโรจน์ได้กล่าวเกริ่นนำ พร้อมเสริมอีกว่า นักแสดงงิ้วที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 3 ประการถึงจะรุ่ง อันได้แก่ เสียง รูปร่าง และลีลา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สวรรค์มอบมาให้เท่านั้น “คนเรามีตาชั้นเดียว อยากมีตา 2 ชั้น ก็สามารถผ่าตัดได้ แต่เสียงคนเรา ไม่สามารถผ่าได้ หลอดเสียงใครก็หลอดเสียงคนนั้น”

ในขณะที่นักแสดงงิ้วกำลังแต่งองค์ทรงเครื่องอยู่นั้น อาจารย์วิโรจน์ก็ได้เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการแสดง ‘งิ้ว’ ที่มีต่อคนรุ่นก่อนๆ ว่า โดยแจงว่า หากลองแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 ยุคสมัย คือ มีรุ่นอาเหล่าม่า อาม่า แม่ และตัวอาจารย์เอง รุ่นอาเหล่าม่า และอาม่า จะเป็นรุ่นที่อ่านหนังสือไม่ออก ในขณะที่รุ่นแม่ของอาจารย์จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวอาจารย์เองก็เป็นคนมีการศึกษา

แต่หากทั้ง 4 คน ได้ลองนั่งลงเป็นวงกลม และเริ่มเสวนากันถึงเรื่องคุณธรรม ปรัชญาจีน ทั้งหมดสามารถคุยกันรู้เรื่อง หรือเมื่อคุยถึงเรื่องปรัชญาของขงจื๊อที่บันทึกอยู่ในหนังสือ ก็สามารถเข้าใจได้ตรงกัน ทั้งที่อาเหล่าม่ากับอาม่าอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คำตอบก็คือ ได้มาจากการดู ‘งิ้ว’

“งิ้ว คือ มหาวิทยาลัยของคนที่อ่านเขียนไม่ออก”

ดังนั้น อาจารย์วิโรจน์จึงสรุปให้เราฟังว่า หากโรงงิ้วในเยาวราชถูกปิดไป ก็ถือว่า มหาวิทยาลัยของคนที่อ่านเขียนไม่ออกได้ถูกปิดลงแล้วเช่นกัน และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้องค์การยูเนสโกยอมรับ และยกระดับงิ้วให้เป็น ‘มรดกโลก’

“งิ้วแฝงด้วยคุณธรรม จึงสมภาคภูมิที่เป็นมรดกโลก”

ด้านอาจารย์ถาวร สิกขโกศล วิทยากรร่วมงานสัมมนาอีกท่านหนึ่ง ได้แสดงมุมมองอนาคตของ ‘อุปรากรจีน’ ในไทยว่า “งิ้วคงจะอยู่ได้อีกสักระยะหนึ่ง ตราบใดที่ศาลเจ้ายังคงเอางิ้วไปแสดง ถ้าไม่มีศาลเจ้า งิ้วก็จะสูญสิ้นไป เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์มอญ หากไม่มีงานศพ วงดนตรีประเภทนี้ก็จะหมดไปเช่นกัน”

ตัวละครงิ้วแต่งหน้ากันอย่างไร

“ก่อนอื่นต้องลงสีขาว และกดหน้าให้เป็นแผ่นราบ หลังจากนั้นจึงดึงคิ้ว จมูก ปากขึ้นมา” อาจารย์วิโรจน์กล่าวแนะนำถึงขั้นตอนของการแต่งหน้างิ้วอย่างคร่าวๆ พร้อมอธิบายถึงใบหน้างิ้วที่สมบูรณ์แบบว่า ใบหน้าที่จะแต่งงิ้วได้สวยนั้น ต้องเป็น ‘หน้ารูปไข่’ หรือ ‘เม็ดกะจี๊’ เพราะจะสามารถเห็นตรงส่วนเรียวของคางได้ชัดเจน ‘แก้ม’ ก็ต้องทาสีแดงให้เหมือนลูกท้อ ‘จมูก’ ก็ทาให้เหมือนลูกแอปริคอต หรือลูกมะปรางของไทย นักแสดงงิ้วทั้งชายและหญิงจะเอาสีแดงป้ายตัดสันจมูก เพื่อเน้นให้เห็นสันชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับ ‘คิ้ว’ นั้น อาจารย์แจกแจงว่า ตัวนางจะวาดเป็นต้นหลิว เก็บเรียวพร้อมรับสายลม จะได้สะบัดอารมณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว ในขณะที่ตัวพระจะวาดเป็นรูปกระบี่ทื่อๆ ‘ดวงตา’ ทั้งคู่จะวาดเป็นตาหงส์ที่เฉียบคมเหมือนกัน และท้ายที่สุดคือ ‘ปาก’ ซึ่งในอดีตนั้น นักแสดงงิ้วจะใช้สีกุหลาบวาดปากเป็นรูปเชอรี่ แต่ปัจจุบันได้หันมานิยมวาดเป็นปากกระจับแทนแล้ว

นอกจากใบหน้าที่เป็นจุดดึงดูดความสนใจจากคนดูแล้ว การจัดทรงผมของนักแสดง ก็ถือเป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่อีกหลายคนอาจจะยังไม่รู้กัน อาจารย์วิโรจน์กล่าว

เริ่มจากด้านหน้าของหน้าผาก บริเวณที่เป็นลูกผม จะใช้ผ้าขาวบางที่นำไปย้อมเป็นสีดำมาโพกไว้ เพื่อเป็นที่ยึดของเครื่องแต่งผม สำหรับตัวนางจะมีการติดลูกผมปลอม โดยวัสดุที่ใช้ทาแทนกาวจะเป็นกากไม้ที่เรียกว่า ‘หล่าเต๊า’ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เมื่อนำไปแช่น้ำแล้ว จะเหนียวเหมือนกาวแป้งเปียก และที่ไม่ใช้กาวแป้งเปียก เพราะเมื่อแห้งแล้วจะแข็งทื่อ และไม่เงางามเหมือนหล่าเต๊า

อาจารย์วิโรจน์บรรยายต่ออีกว่า ตัวนางส่วนใหญ่จะมีปิ่นปัก หรือไม่ก็มีดอกไม้ประดับ เพื่อแสดงถึงความร่ำรวย หากตัวนางกำลังตกทุกข์ เครื่องประดับบนหัวจะเป็นสีเงิน แต่หากชีวิตมีความสุขเบิกบานใจ เครื่องประดับบนหัวก็จะใช้สีทอง ซึ่งทรงผมและเสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องใช้บนเวที ล้วนอิงมาจากราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มักจะเสริมแต่งความโอเว่อร์ลงไปเล็กน้อย

งิ้วปักกิ่ง
หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต งิ้วที่ยอมรับกันว่าเป็นงิ้วที่สมบูรณ์แบบชนิดแรกคือ ละครใต้ (หนันซี่) ของสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ แถบเมืองเวินโจว จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง จึงเกิด ‘งิ้วปักกิ่ง’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติ และมีความโดดเด่นมาก เพราะเป็นการแสดงที่เอาความเด่นของงิ้วทุกชนิดมารวมเข้าด้วยกัน มีการแสดงที่โลดโผนกว่างิ้วแต้จิ๋ว มีการร้องโอเปร่า ร้องลากเสียงเพื่อแสดงพลังเสียง และมีการใช้เสียงบีบเพื่อแสดงศิลปะการใช้เสียงที่หลากหลายด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น