xs
xsm
sm
md
lg

โจวเอินไหล สุภาพบุรุษนักการทูต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


1
ย้อนมองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนที่แล้วมา หากไม่นับรวมการขยายอำนาจทางทะเล และการเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมตามเส้นทางสายแพรไหมในอดีต จะพบว่า ประเทศจีนภายใต้ระบอบการปกครองแบบไร้จักรพรรดิได้เริ่มติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศมานมนานตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20 แห่งศตวรรษที่แล้ว


หลักฐานชิ้นสำคัญคือ ตัวอักษรจีนกว่า 250,000 ตัวใน 'ข่าวสารท่องยุโรป' 《旅歐通訊》 ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในต้นทศวรรษที่ 20 เมื่อ โจวเอินไหล ขณะนั้นเป็นนักข่าวพิเศษของ หนังสือพิมพ์ ‘อี้ซื่อเป้า’《益世報》ในเทียนจิน ได้มีโอกาสไปทำงานข่าวในประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน

โจวเอินไหลให้ความสนใจกับปัญหาทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดสงครามยุโรป (ความขัดแย้งในยุโรปที่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ค.ศ.1914-1919) ที่มีต่อภาวการณ์และฐานะของประเทศจีนในระบบการเมืองสากล และได้บันทึกผลการศึกษาวิจัยออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นดังกล่าว  นี่เองได้กลายเป็นมุมมองของท่านที่มีต่อประเด็นการทูตที่น่าสนใจ

ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ท่านได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา  โดยตั้งแต่ปีค.ศ.1937 โจวเอินไหลได้เข้าทำงานรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังมีโอกาสติดต่อกับผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียงต่างๆอย่างไม่ขาดสาย  เมื่อถึงปีทศวรรษที่ 40 โจวเอินไหลผู้นี้ก็ได้ขึ้นสวมบทบาทผู้แทนประเทศจีนคนสำคัญในเวทีการทูต  ซึ่งทั้งนี้รวมไปถึงความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตอย่างยาวนานและสลับซับซ้อนในปีค.ศ.1945 และ 1946 กับท่านทูตมาร์แชล ทูตพิเศษของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน (อยู่ในตำแหน่งปีค.ศ.1945-1947)

หลังจีนสถาปนาประเทศก้าวเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ (1 ต.ค.1949)  โจวเอินไหลคือผู้กุมบังเหียนด้านการทูตของจีนทั้งในด้านโยบายและในทางปฏิบัติ  นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว (ค.ศ.1949-1976) โจวยังรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย (ค.ศ.1949-1958)  ท่านได้รับความไว้วางใจจากประธานเหมาให้เป็นผู้แทนในการเจรจาระดับสำคัญ อาทิ การปรับความเข้าใจระหว่างจีนกับอดีตสหภาพโซเวียต ในการแก้ไขสนธิสัญญาอยุติธรรมที่จีนเคยเซ็นกับโซเวียตเมื่อปีค.ศ.1945

หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง(ค.ศ.1950-1953) โจวเอินไหลสนับสนุนนโยบายทางการทูตแนวสันติวิธี โดยได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเจรจาทางการทูตกับนานาประเทศที่กรุงเจนีวา หรือ Geneva Conference ในปีค.ศ.1954 ในฐานะผู้นำคณะตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน การประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมนานาชาติที่จีนได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเจรจา ปัญหาเกาหลีและแสวงหาความสงบสุขในแหลมอินโดจีน

หลังปี 1958 ถึงแม้ชายผู้นี้จะมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนแล้วก็ตาม ทว่าโจวเอินไหลก็ยังคงเป็นมีบทบาทสำคัญในการบัญชาการรบใน 'หมาก' ทางการทูตของจีน และยังเข้าร่วมอยู่ในการเจรจาทางการทูตวาระสำคัญๆทั้งหมดด้วย

โจวเอินไหลกระตือรือร้นในการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศกลุ่มทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส โดยเฉพาะการเปิดสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในปีค.ศ.1964 นั้นนับเป็นการเปิดม่านไม้ไผ่สู่ดินแดนยุโรปอย่างจริงจัง รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งท่านเป็นผู้เตรียมแผนฟื้นฟูและร่วมอยู่ในกระบวนการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาอย่างใกล้ชิดทุกระยะ

ทางด้านความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นนั้น ท่านก็เป็นคนเสนอทิศทางการฟื้นฟูมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น โดยยึดหลักการการทูตประชาชาติอาศัยการติดต่อระหว่างกลุ่มเอกชนนำราชการ “國民外交,民間先行,以民促官” ส่งเสริมให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างกลุ่มบุคคลในระดับต่างๆโดยเฉพาะด้านการค้า ซึ่งภายหลังก็เกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

นอกจากนี้  โจวเอินไหลยังมีการติดต่อกับประเทศแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆในแถบนี้กว่า 24 ประเทศ และในขณะเดียวกัน โจวเอินไหลผู้นี้เช่นกันที่เจรจาปัญหาชายแดนระหว่างจีนกับพม่าและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆได้เป็นผลสำเร็จด้วย

ช่วงระหว่าง 10 ปี ของการปฎิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) กิจการระหว่างประเทศของจีนตกอยู่ใต้อิทธิพลของกระแสนิยมซ้ายจัด  งานด้านการเสริมสร้างสันถวไมตรีกับนานาชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก  ถึงกระนั้น โจวเอินไหลยังคงมุมานะเดินหน้าจับมือสร้างสัมพันธ์กับมิตรประเทศมาตลอด  จนเมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปีค.ศ.1976  จีนได้มีการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆจากเดิม 49 ชาติเพิ่มขึ้นเป็นถึง 107 ชาติ 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถฟื้นฟูสมาชิกภาพในองค์การสหประชาชาติได้อย่างเป็นทางการอีกด้วย ซึ่งฐานะของจีนในเวทีโลกทั้งหมดนี้ไม่อาจมองข้ามความสามารถและความบากบั่นของบุรุษที่ชื่อโจวเอินไหลผู้นี้ไปได้

2
เดือนเมษายน ปีค.ศ.1955 ในการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกาที่เมืองบันดง ประเทศอินโดนีเซีย (Bandung Conference) โจวเอินไหลได้เสนอหลักการเพื่อสันติภาพ 5 ประการ (อันได้แก่ เคารพในอธิปไตยเหนือดินแดนของกันและกัน ไม่รุกรานกันและกัน ไม่ล่วงล้ำการเมืองภายในประเทศของกันและกัน อำนวยประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ) โดยยึดแนวทางการปฏิบัติแบบ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' หรือ “求同存異” (ฉิวถงฉุนอี้)

กล่าวคือ  การค้นหาจุดร่วมในการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม ในขณะเดียวกันก็รักษาจุดต่างของแต่ละประเทศภายใต้ระบอบที่แตกต่าง คือฝ่ายสังคมนิยมและทุนนิยม

สถานการณ์ก่อนการประชุมครั้งนั้นไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในการประชุม แต่ในขณะนั้นตระหนักดีว่าหากการประชุมประสบผลสำเร็จอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อนานาประเทศอย่างรุนแรง และอาจไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯเอง  ถึงขนาดก่อนการประชุมจะเปิดฉากขึ้นสหรัฐฯได้จัดประชุมหารือกับประเทศในแถบเอเชีย เพื่อโน้มน้าวให้เบนประเด็นในการหารือมาที่เรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แทนที่จะถกกันในเรื่องการเมืองตามที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม  เมื่อการประชุมเริ่มเปิดฉากขึ้นตัวแทนจากบางประเทศตั้งข้อกังขาต่อจุดประสงค์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน  ตัวแทนจากบางประเทศยังเปิดฉากโจมตีจีนอย่างร้อนแรง  กระนั้นในวันที่ 2 ของการประชุม (19 เมษายน) โจวเอินไหลได้ลุกขึ้นแสดงเจตจำนงของจีนในการสร้างความสมานฉันท์ในกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกาด้วยหลักการ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง'

ซึ่งเขาย้ำว่า หลักการดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในประเทศเอเชียและแอฟริกาทั้งหลาย ที่ในด้านหนึ่งก็เคยเป็นประเทศที่เคยได้รับความยากลำบากจากลัทธิล่าอาณานิคมมาแล้วไม่มากก็น้อย  ซึ่งสภาพดังกล่าวทุกฝ่ายน่าที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันดีอย่างลึกซึ้ง  เขายังวิงวอนในทุกฝ่ายเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย

ที่ประชุมเห็นพ้องในหลักการของโจวเอินไหล ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศการประชุมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  และสามารถบรรลุข้อตกลงในการร่วมกันต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมในที่สุด

อ่านต่อหน้า 2

แนวคิดในการ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง'  คือ ความพยายามในการค้นหาจุดที่เหมือนร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และสร้างเสริมจุดนั้นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการผูกมิตรใหม่ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสลายจุดที่แตกต่างหรือแตกแยกของทั้งสองฝ่ายให้เบาบางลง และเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน พูดจากันและร่วมงานกันได้

ต่อมา หลักการประสานความร่วมมือแบบ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' ของโจวเอินไหลถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง  ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสัมพันธไมตรีในกลุ่มประเทศสังคมนิยมด้วยกัน

หลายครั้งที่นายกฯนักการทูตโจวเอินไหลต้องใช้ความอดทนและอดกลั้นอย่างมากในการเผชิญหน้ากับมุมมองในด้านลบของนานาประเทศที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน  บางครั้งต้องเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ล่วงล้ำไปถึงนโยบายภายในประเทศของจีน  โจวเอินไหลต้องใช้ทั้งปฏิภาณไหวพริบและความสุขุมเยือกเย็นโต้ตอบไปด้วยความจริงใจ  บนจุดยืนที่ท่านยึดถืออย่างแน่วแน่มาตลอดที่ว่า ‘จะไม่นำมุมมองของเราที่แตกต่างจากเขาไปตัดสินผู้อื่น’

3
ว่าด้วย ความพยายามสร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง อันนำไปสู่การเจรจาคืนเอกราชเหนือเกาะฮ่องกงอย่างสันติ ในปีค.ศ.1997


ปัญหาเกาะฮ่องกงได้ถูกกำหนดให้อยู่ในวาระแห่งชาติของผู้นำจีนมาตั้งแต่แรกเริ่มการก่อตั้งจีนใหม่ เนื่องจากข้อกำหนดตามธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเวลานั้นไม่เอื้อต่อการคืนเอกราชให้กับเกาะฮ่องกง และเมื่อพิจารณาจากสนธิสัญญาที่ราชสำนักชิงทำไว้กับสหราชอาณาจักรแล้ว (สนธิสัญญาปักกิ่งและสันธิสัญญานานกิง) จีนเองก็ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบเต็มประตู  ฉะนั้น ความท้าทายของปัญหาดังกล่าวนอกจากในแง่ของกฎหมายแล้ว ยังรวมไปถึงการเดินเกมทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่าย และในเวทีโลกด้วย

แม้ว่าภารกิจในการเจรจาคืนเอกราชเกาะฮ่องกงจะตกมาถึงมือของเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำจีนรุ่นที่สอง (อ่านบทความประกอบ เติ้งกับการเจรจาคืนเกาะฮ่องกง)  ทว่าก่อนหน้านั้น ประธานเหมาและอดีตนายกฯโจวเอินไหลก็ได้ใช้ประโยชน์จากการพบปะเจรจากับผู้นำและตัวแทนจากสหราชอาณาจักร  และการได้เข้าร่วมในเวทีการเจรจาระดับนานาชาติในโอกาสต่างๆ  เพื่อวางรากฐานความสัมพันธ์อันดี ตลอดจนแสดงจุดยืนในการคืนเอกราชอย่างสันติ  ดังจะเป็นประโยชน์ตกมาถึงในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ผู้รับหน้าที่นำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์จริงเมื่อถึงกำหนดเวลาในปีค.ศ.1997

โจวเอินไหลได้มีดำริอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับปัญหาเกาะฮ่องกงมาตั้งแต่ ปีค.ศ.1957 โดยในวันที่ 28 เมษายน ปีนั้น ท่านได้กล่าวปราศรัยระหว่างการพบปะกลุ่มนักธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้ ตอนหนึ่งว่า  "สักวันหนึ่งเกาะฮ่องกงจะต้องกลับคืนสู่แผ่นดินแม่  แต่เราไม่สามารถมองฮ่องกงเป็นเหมือนเมืองอื่นๆในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ววางนโยบายบริหารตามอย่างกันได้  หากว่าทำเช่นนั้นผลที่ออกมาคงไม่ดีแน่ เนื่องจากตอนนี้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  เป็นตลาดทุนนิยมอย่างแท้จริง ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมได้  และไม่ควรเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมด้วย"

"ฮ่องกงจำต้องคงไว้ซึ่งระบบตลาดแบบทุนนิยม จึงจะดำรงอยู่และพัฒนาต่อไปได้  สิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อเรา  ในที่สุดเกาะฮ่องกงก็จะกลายเป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของเรา  และเป็นฐานติดต่อการค้ากับต่างชาติ และเป็นช่องทางดึงดูดเงินทุนของประเทศ"

ปลายปี 1958 ในขณะที่ฮ่องกงกำลังเนื้อหอมและเป็นที่หมายปองของประเทศมหาอำนาจต่างๆ  โจวเอินไหลมุ่งความสนใจไปที่ความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติชาวฮ่องกงมากกว่า  ตามแนวคิดดังกล่าวจีนแผ่นดินใหญ่ได้ให้ความช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดบนเกาะ  ทั้งนี้เมื่อ โครงการสือหม่าเหอ ที่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลจีนลุล่วงลงในปี 1965  ก็สามารถระบายน้ำจืดเข้าสู่เกาะและช่วยบรรเทาทุกข์ของชาวฮ่องกงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดที่ยืดเยื้อมานานได้

และเมื่อจีนสามารถฟื้นฟูสถานภาพตามกฎหมายในองค์การสหประชาชาติเมื่อปีค.ศ.1971 โจวเอินไหลก็ได้แสดงจุดยืนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการคัดค้านมติของคณะกรรมการปลดปล่อยเมืองอาณานิคมแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่จัดฮ่องกงและมาเก๊าเข้าอยู่ในรายชื่อเมืองขึ้นหรือดินแดนภายใต้อาณานิคม

โดยท่านได้สั่งการให้ผู้แทนประเทศจีนในยูเอ็นทำจดหมายถึงคณะกรรมการชุดดังกล่าว  ระบุถึงอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกงและมาเก๊าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ถูกรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลโปรตุเกสยึดครองไปตามลำดับ ทั้งนี้การคัดค้านดังกล่าวถือเป็นการทวงสิทธิ์ดั้งเดิมของจีนบนเกาะทั้งสอง และถือเป็นการส่งสัญญาณว่าฮ่องกงและมาเก๊าเป็นปัญหาภายในประเทศจีน

นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องแสดงว่า ปัญหาฮ่องกงและมาเก๊าไม่จัดอยู่ในการคืนเอกราชแบบปรกติ และยิ่งมิได้หมายความถึงการปลดปล่อยหรือประกาศอิสรภาพดังเช่นเมืองขึ้นอื่นๆ

ที่ประชุมผ่านการหารือและถกเถียงจนถึงที่สุด แล้วคณะกรรมการฯก็ได้ถอดชื่อฮ่องกงและมาเก๊าออกจากรายชื่อเมืองขึ้น ซึ่งเป็นผลให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสิทธิ์อย่างชอบธรรมในการดำเนินการเจรจาปัญหาฮ่องกงมาเก๊าด้วยตนเองในวาระต่อมา

อาจกล่าวได้ว่า วิสัยทัศน์อันกว้างไกลและการความหลักแหลมลุ่มลึกในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโจวเอินไหลที่ผ่านมานั้น ได้นำคุณูปการมาสู่การรวมเกาะทั้งสองเข้าสู่อ้อมอกมาตุภูมิอย่างราบรื่นได้ในอีก 26 ปีต่อมา.

ตัดตอนมาจาก 'โจวเอินไหลกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ' (周恩来与外交关系) โดยศูนย์วิจัยโจวเอินไหลแห่งมหาวิทยาลัยหนันไค (南开大学周恩来研究中心)
กำลังโหลดความคิดเห็น