xs
xsm
sm
md
lg

กว่างโจว : เปิดประตูเมืองแพะสู่แดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่างโจว (广州) เป็นเมืองเอกของมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) จัดเป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งอยู่ใกล้เกาะไห่หนัน(ไหหลำ) มาเก๊า และฮ่องกง อีกทั้งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มน้ำจูเจียง(จูซันเจี่ยว) ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและ ‘ประตูการค้า’ ที่สำคัญของจีนตอนใต้

ประวัติศาสตร์เมือง

เมืองกว่างโจวมีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 2,200 ปี แรกเริ่มเดิมทีชื่อว่า ‘ฉู่ถิง(楚庭)’ เพราะชนพื้นเมืองชาว ‘ ไป่เยี่ยว์(百越) ’มีการติดต่อไปมาหาสู่กับแคว้นฉู่ สมัยฉินสื่อหวง(秦始皇) หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ (214 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้รวบรวมพื้นที่แถบ ‘หลิ่งหนัน (岭南)’ แล้วตั้งเป็น ‘เขตปกครองหนันไห่จวิ้น (南海郡)’ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเขตพันอี๋ว์ในกว่างโจว

ต่อมาสมัยสามก๊ก ซุนกวนได้แบ่งเขตปกครองใหม่ จึงได้ชื่อ‘กว่างโจว’เมื่อปี ค.ศ.226 และได้รับการสถาปนาเป็นเมืองกว่างโจวอย่างเป็นทางการตามระบบแบ่งเขตการปกครองใหม่เมื่อปี ค.ศ.1921

กว่างโจวยังมีชื่อเล่นว่า ‘หยังเฉิง (羊城) หรือ เมืองแพะ’ และ ‘ซุ่ยเฉิง (穗城) หรือ เมืองแห่งรวงข้าว’

เล่าขานกันว่า สมัยราชวงศ์โจว(ศตวรรษที่11 ก่อนคริสตกาล -771 ปี ก่อนคริสตกาล) เทวดา 5 องค์ทรงแพะประทับบนก้อนเมฆหลากสี เสด็จมาเหนือท้องฟ้าทะเลจีนใต้ แต่ละองค์ทรงถือรวงข้าวไว้ในพระหัตถ์ และประทานเป็นของขวัญแก่ทวยราษฎร์ พร้อมประทานพรให้ดินแดนแห่งนี้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์ แคล้วคลาดจากความอดอยากยากแค้น จากนั้น ก็เสด็จหายไป คงเหลือไว้แต่เพียงแพะทั้ง 5 ตัว อันกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมืองกว่างโจวมาจนทุกวันนี้ โดยมีอนุสรณ์ ‘หินสลักแพะทั้ง 5 ตัว’ อยู่ในสวนสาธารณะเยี่ยว์ซิ่ว

กว่างโจวเป็นเมืองเจริญรุ่งเรื่องมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินและฮั่น จนกลายเป็นเมืองท่าตั้งต้นของ ‘เส้นทางสายไหม’มาถึงยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งถือเป็นเมืองท่าแห่งแรกของแดนมังกรที่มีการติดต่อการค้ากับต่างประเทศและยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น กว่างโจวยังเป็นพื้นที่ส่วนแรกๆ ที่รัฐบาลจีนเริ่มใช้ ‘นโยบายเปิดกว้าง’ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยถือเป็นเมืองที่มีศักยภาพเป็นอันดับ 3 จากบัญชีรายชื่อ 10 เมืองใหญ่ของจีน ตลอดจนเป็นเมืองแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติที่สำคัญอีกด้วย

ยุทธศาสตร์การพัฒนา

หลังรัฐบาลมังกรดำเนินนโยบายเปิดกว้าง ปี 1985 ได้ตั้ง เขตพัฒนากว่างโจว(广州开发区) ขึ้นทางตะวันออกของเมือง ซึ่งเป็นภูมิยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของ 3 ดินแดน คือ เมืองกว่างโจว ฮ่องกง และมาเก๊า ใช้เวลาเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วเขต จูซันเจี่ยวไม่เกิน 1 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเดินทางจากท่าเรือเมืองกว่างโจวไปยังท่าเรือฮ่องกง

สำคัญเขตพัฒนาแห่งนี้ยังใกล้กับ ‘สนามบินซินไป๋หยุน’ ของกว่างโจว ซึ่งถือเป็นฮับทางอากาศระดับภูมิภาค ที่รองรับผู้โดยสารได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี ขนส่งสินค้าได้ถึง 2.5 ล้านตันต่อปี พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปยังสนามบินนานาชาติทั่วโลก อาทิ กรุงมะนิลา กรุงโตเกียว โอซาก้า กรุงเทพฯ สิงคโปร์ ซิดนีย์ เมลเบิร์น นิวยอร์ก และ ลอสแองเจลลิส ฯลฯ

ทั้งนี้ ในเขตพัฒนากว่างโจว แบ่งเป็น 4 เขตย่อย คือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี(GETDD) เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค(GHIDZ) เขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก(GEPZ) และเขตปลอดภาษี(GFTZ)

เขตบุกเบิกเศรษฐกิจแห่งนี้เป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการผลิตกว่า 700 ราย อาทิ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับจอภาพ(Optoelectronics) ชีวเวชศาสตร์ (Biomedical ) เหล็กชนิดพิเศษ รถยนต์ อาหาร-เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ละเอียด(Fine Chemical) รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จนเกิดเป็นสายการผลิตที่ยิ่งใหญ่ เป็นปัจจัยหนุนให้กว่างโจวทันสมัยก้าวหน้าก่อนพื้นที่อื่นๆ ของจีน

การตัดกันของลำน้ำสายหลักและสายรองของแม่น้ำจูเจียงยังก่อให้เกิดเกาะเล็กๆ ขึ้น ภายในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งถูกพัฒนาเป็น ‘เกาะชีววิทยานานาชาติ(广州国际生物岛-GIBI)’ มีพื้นที่เกาะรวม 1.8 ตารางกิโลเมตร ทางเหนือเป็นศูนย์นิทรรศการนานาชาติ ทางใต้ติด ‘เมืองมหาวิทยาลัย’ บนเกาะมีสภาพแวดล้อมทางชีววิทยาชั้นยอด เหมาะแก่การพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างทางพันธุ์กรรม แพทย์แผนจีนทั้งแบบโบราณและยุคใหม่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และชีววิทยาที่ทันสมัย

นอกจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม 1993 รัฐบาลกลางยังมีมติตั้ง ‘เขตพัฒนาหนันซา(广州南沙开发区)’ ขึ้นอีกแห่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของกว่างโจว บริเวณปากทางออกทะเลของแม่น้ำจูเจียง สามารถเดินทางถึงเมืองต่างๆ ของจูซันเจียวได้ในรัศมี 100 กิโลเมตร มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะดวกสบาย โดยห่างจากฮ่องกงเพียง 38 ไมล์ทะเล(70.3 กิโลเมตร) ห่างจากมาเก๊า 41 ไมล์ทะเล(75.85 กิโลเมตร) แถมยังรายล้อมด้วยสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ 5 แห่งในเมืองกว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฮ่องกง และมาเก๊า

ดังนั้น จึงถือเป็นฐานยุทธศาสตร์การค้าสำคัญอีกแห่ง ที่มีศักยภาพขยายตลาดได้สูง ด้วยประชากรที่มากถึง 40 ล้านคน ทั้งยังเป็นประตูเชื่อมไปสู่การเจาะตลาดในแผ่นดินมังกร

อุตสาหกรรมและการค้า

ที่ผ่านมา กว่างโจวได้ชื่อว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมที่รุดหน้ากว่าพื้นที่อื่นของประเทศในหลายด้าน โดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพการแข่งขันของ 7 อุตสาหกรรมหลักให้เจริญรุดหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อันได้แก่ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่ง (รถยนต์-เรือ-โลจีสติกส์) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ละเอียด อิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ เหล็กและเหล็กกล้า เวชภัณฑ์ และสิ่งทอ

นอกจากนั้น กว่างโจวยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นที่เชิดหน้าชูตา คือ รถกระบะ-รถจักรยานยนต์-เรือขนส่งสินค้า อุปกรณ์ไฟฟ้า โลหะหลอม เครื่องจักรกล อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมเบาต่างๆ

กว่างโจวได้ชื่อว่าเป็น ‘ถิ่นผลไม้’ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนระดับแนวหน้าของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นจี่ ลำไย กล้วยหอม มะละกอฮาวาย และมะเฟือง ฯลฯ

พร้อมกันนั้น ‘บอนไซ ดอกไม้และหญ้าประดับ’ ของกว่างโจวยังมีชื่อเสียงโด่งดังไม่น้อย โดยเน้นที่ ต้นไม้ใบสวย-ไม้กระถางสำหรับปลูกในอาคาร ดอกไม้สด และบอนไซสไตล์กวางตุ้ง โดยไม้ร่มใบสวยกว่าครึ่งค่อนประเทศจีนล้วนมาจากที่กว่างโจว ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งออกไปยังยุโรป

งานเจรจาการค้าสุดมโหฬาร

ตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา กว่างโจวมีการจัดงานเจรจาธุรกิจและแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่ยักษ์ที่เรียกว่า ‘กว่างเจียวฮุ่ย(广交会)’ หรือ Canton Fair ซึ่งเป็นเวทีพบปะสำหรับผู้ประกอบการหลากหลายประเภททั้งจีนและต่างชาติ เปิดโอกาสให้พูดคุยทางธุรกิจ เจรจาระดมทุน แนะนำองค์กร และนำเสนอสุดยอดสินค้า นวัตกรรม การค้นคว้าและวิจัยสู่สาธารณะชน

‘กว่างเจียวฮุ่ย’ จัดขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ในฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ราวกลางเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี ที่ศูนย์แสดงสินค้าผาโจว ถ.ซินกั่งตะวันออก ในเขตไห่จู ซึ่งมีเนื้อที่จัดงานถึง 540,000 ตารางเมตร โดยสถิติฤดูใบไม้ผลิปี 2004 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน 12,224 ราย 27,500 บูธ ครอบคลุมสินค้ากว่า 150,000 ชนิด มียอดตกลงซื้อขายกันกว่า 24,510 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมืองมหาวิทยาลัย

‘เมืองมหาวิทยาลัย’ หรือ CID -Central Intelligence District ตั้งอยู่ที่เขตพันอี๋ว์ บนเกาะเสี่ยวกู่เหวยเต่า ครอบคลุมอาณาบริเวณกว่า 43 ตารางกิโลเมตร รวมสถาบันอุดมศึกษาระดับหัวกะทิของเมืองกว่างโจวไว้ด้วยกัน
อาทิ มหาวิทยาลัยจงซัน มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกว่างตง มหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมกว่างตง มหาวิทยาลัยแพทย์จีนกว่างโจว มหาวิทยาลัยกว่างโจว ฯลฯ สามารถรับนักศึกษาได้ราว 1.8 – 2 ล้านคน มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ 15,000 – 20,000 คน และมีเจ้าหน้าที่ 30,000-50,000 คน โดยเปิดรับนักศึกษาภาคเรียนแรกเมื่อเดือนกันยายน 2003

ใครสนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของเมืองมหาวิทยาลัย

แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

สวนย่อมใจกลางเมืองกว่างโจวชื่อดังคือ สวนสาธารณะเยี่ยว์ซิ่ว (越秀公园) ใกล้กับอนุสรณ์สถานดร.ซุนยัดเซ็น เป็นที่ตั้งของสัญลักษณ์ประจำเมืองกว่างโจว นั่นคือ ‘หินสลักแพะทั้ง 5 ตัว’

นอกจากนั้น ยังมี ไป๋หยุนซัน(白云山) ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือ 17 กิโลเมตร เปรียบเสมือนปอดของคนกว่างโจว วิวทิวทิศน์สวยงามสุดสายตาด้วยขุนเขาใหญ่น้อยกว่า 30 ลูก ว่ากันว่าฟ้าหลังฝน บนเขาจะมีหมู่เมฆขาวเคล้าเคลีย งดงามดุจแดนสวรรค์ อันเป็นที่มาของชื่อ ‘เขาเมฆขาว’ แห่งนี้

สำหรับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความใกล้ชิดกับเมืองกว่างโจว คือ อดีตผู้นำนักปฏิวัติดร.ซุนยัดเซ็น ที่พาชาวจีนพ้นจากการครอบงำของชนชั้นศักดินา ครั้งหนึ่งใช้กว่างโจวเป็นฐานทำงานของพรรคก๊กมินตั๋งและเมื่อตั้งรัฐบาลแล้วในช่วงทศวรรษ 1920 ตลอดจนได้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมทหารหวงผู่ มหาวิทยาลัยกว่างตง ไว้ที่เมืองนี้ด้วย

เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ (ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนจากถ.เยี่ยว์ซิ่วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1911) ซึ่งทำจีนหลุดพ้นจากระบอบการปกครองโดยจักรพรรดิ เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ จึงมีการสร้าง อนุสรณ์สถานจงซัน (中山纪念堂) ขึ้น และได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ภายในสถาปัตยกรรมจีนโบราณซึ่งเป็นตึกแปดเหลี่ยมนี้ มีรูปหล่อของดร.ซุนตั้งอยู่ด้วย

ส่วนผู้ที่ชื่นชอบการชอปปิ้ง แนะนำที่ ถ.เป่ยจิง(北京路) ซึ่งจะคล้ายสยามเซ็นเตอร์บ้านเรา เป็นที่นิยมของวัยรุ่นกว่างโจว หรือที่ ถ.ซ่างเซี่ยจิ่ว(上下九路) ซึ่งเป็นถนนคนเดินกว่า 800 เมตร ในย่านดาวน์ทาวน์เก่าแก่ สองข้างทางยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชาวท้องถิ่นในชมด้วย.

เรียบเรียงจาก www.eastday.com, www.sina.cbiq.com, www.gz-gov.org, www.newsgd.com
กำลังโหลดความคิดเห็น