xs
xsm
sm
md
lg

เรียน...อยู่ในเมืองจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไปเรียนเมืองจีน เรียนมหาวิทยาลัยไหนดี? การใช้ชีวิตในเมืองจีนเป็นอย่างไร ? ยังเป็นคำถามที่ได้ยินกันหนาหูในปัจจุบัน ที่กระแสบทบาทและอนาคตที่รุ่งโรจน์ของจีนยังเป็นที่จับตามองของผู้คน

อย่างที่รู้ๆกัน จีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล มีเมืองหรือเขตใหญ่หลายแห่งที่มีความโดดเด่นต่างกันไป สำหรับเมืองหลวงคือกรุงปักกิ่งนั้น ก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของทุกด้าน เพียงเป็นศูนย์การปกครอง เมืองวัฒนธรรม ขณะที่เซี่ยงไฮ้แห่งชายฝั่งตะวันออกเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการพาณิชย์ ความทันสมัย หนันจิงของ มณฑลเจียงซูเมืองหลวงเก่าก็มีความโดดเด่นด้านการศึกษา ส่วนกว่างตง ฝูเจี้ยนเป็นเขตเศรษฐกิจ ด้านฉงชิ่ง และคุนหมิงแห่งหยุนหนัน ก็เป็นเมืองใหญ่และเป็นที่คุ้นเคยของคนไทย เป็นต้น ตามเมืองเหล่านี้ ต่างก็มีสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ

สำหรับคนที่ไม่มีเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เคยเรียนหรือกำลังเรียนอยู่ในเมืองจีน คอยให้คำแนะนำ การหาข้อมูลที่ง่ายที่สุดคือ การสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันมหาวิทยาลัยใหญ่ๆของจีน ต่างมีหลักสูตรชั้นเรียนสำหรับชาวต่างชาติ พร้อมเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเช่นว่า ประวัติความเป็นมา การเรียนการสอน ระเบียบการต่างๆ หลักสูตรชั้นเรียนสำหรับชาวต่างชาติ ที่พักในมหาวิทยาลัย อัตราค่าเล่าเรียน-ที่พัก พร้อมใบสมัคร เป็นต้น

สำหรับที่อยู่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆในจีนนั้น สืบค้นได้ที่หน้า “มุมจีน”ของผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th/China) แล้วไปที่คอลัมน์ “รู้เรื่องเมืองจีน” จากนั้นเลือก “หมวดการศึกษา” เรื่อง: 100 มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน

นอกจากนี้ ในเมืองไทยยังมีศูนย์แนะแนวการศึกษาที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศจีน เช่น Oriental Educationหรือ OREN ,ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพฯ, วิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก(โอซีเอ), โรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก OKLS เป็นต้น ซึ่งจะมีบริการรับเหมาดำเนินการสมัครเรียน จัดทำวีซ่า จัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน รถที่จะมารับและไปส่งถึงมหาวิทยาลัยที่เราจะไปเรียน

สถาบันเหล่านี้ บางแห่งจะมีสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยในจีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ทางสำนักงานฯก็จะไม่คิดค่าบริการใดๆสำหรับการเป็นธุระจัดการเรื่องไปเรียนเมืองจีน เราเพียงแต่จ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างเช่น ค่าสมัคร ค่าเล่าเรียน ค่าทำวีซ่า เป็นต้น ให้แก่สำนักงานฯไปดำเนินการแทนเราเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการเรียนในสถาบันที่ทางสำนักงานฯไม่มีสัญญาด้วย ก็อาจต้องเสียค่าบริการจำนวนหนึ่ง

ค่าใช้จ่าย-ค่าครองชีพ
ค่าครองชีพในเมืองจีนนั้น สูงกว่าเมืองไทยไม่มากนัก โดยอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน ประมาณ 5 บาท นอกจากนี้ แต่ละเมืองแต่ละพื้นที่ยังมีค่าครองชีพสูงต่ำต่างกัน เมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เป็นต้น สำหรับการเรียนในบางเมืองนั้น ถ้าบริหารการใช้จ่ายดีๆ ก็อาจใช้จ่ายพอๆกับอยู่ในเมืองไทย

ค่าเล่าเรียน...ในส่วนของค่าเล่าเรียนนั้น แน่นอน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อัตราค่าเล่าเรียนก็จะสูงตามไปด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งปักกิ่ง http://www.blcu.edu.cn ซึ่งจัดเป็นอันดับหนึ่งด้านการสอนภาษาสำหรับชาวต่างชาติ หรือมหาวิทยาลัยระดับหัวแถวอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยคุรุศาสตร์ เป็นต้น ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนไปเรียนซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้น ค่าเล่าเรียนสำหรับภาคการศึกษาหนึ่งเท่ากับ 1,400 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 54,600 บาท

สำหรับผู้ที่มีงบฯน้อย ก็มีทางเลือกอื่นๆ เช่น เลือกเรียนในมหาวิทยาลัย หรือเมืองอื่นๆ เช่น เทียนจินซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่งราว 1 ชั่วโมงนั่งรถไฟ หรือสถาบันภาษานอกระบบมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในปักกิ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษานั้นด้วย โดยประสบการณ์ผู้เขียน เคยไปเรียนที่สถาบันสอนภาษาของเอกชนแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ซึ่งคิดอัตราค่าเล่าเรียนเพียงชั่วโมงละ 20-25 หยวน (100 กว่าบาท) เท่านั้น ส่วนคุณภาพการสอนของอาจารย์ ก็จัดว่าดีทีเดียว

ค่าที่พักอาศัย... ก็มีทั้งแบบอัตราถูกแพง ที่พักภายในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนไปเรียนนั้น มีตั้งแต่กลุ่มอัตราประหยัด 30 หยวน(150 บาท) 40 หยวน(200 บาท) ไปถึงกลุ่มอัตราแพง 65 หยวน(325 บาท), 85หยวน(425 บาท) โดยคิดเป็นรายวันและต่อคน ฉะนั้น ถ้าเลือกที่พักในอัตรา 40 หยวนต่อวัน เดือนหนึ่งก็เท่ากับ 1,200 หยวน หรือราว 6,000 บาท

ด้านที่พักก็เช่นกัน มีห้องเช่าที่พักนอกมหาวิทยาลัยมากมาย ซึ่งอัตราค่าเช่ามักถูกกว่า โดยที่สภาพเครื่องอำนวยความสะดวกอาจดีกว่าด้วย แต่การหาที่พักนอกมหาวิทยาลัยนั้น ต้องระวังมาก เพราะอาจต้องผจญเล่ห์กลโกงของเจ้าของบ้านเอาง่ายๆ การหาที่พักนอกมหาวิทยาลัย ควรขอคำแนะนำจากเพื่อนฝูงที่รู้ข้อมูลหรือรู้สภาพในแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นๆดี หรือไม่ก็พักอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัยสักเทอม จากนั้น ค่อยหาลู่ทางหาที่พักเหมาะๆราคาถูกกว่านอกมหาวิทยาลัย

ค่ากินค่าใช้จ่ายประจำวัน...ค่าครองชีพปักกิ่ง หากอยู่อย่างประหยัด ก็สามารถใช้จ่ายเงินวันละ 30-50 หยวน ค่ากินค่าใช้จ่ายประจำวันก็จะตกเดือนละประมาณ 5,000 – 6,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบาก แต่หากมีกิจกรรมสังสรรค์เพื่อนฝูงมาก ซื้อข้าวของมือเติบ งบฯก็จะบานปลาย

ฉะนั้น การไปเรียนเมืองจีน โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในปักกิ่งเป็นหลักในการประมาณ ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก กินอยู่ประจำวันอย่างประหยัดเดือนหนึ่งๆ ก็ตกราว 10,000-12,000 บาท (ไม่รวมค่าเล่าเรียน) แต่หากมีงบฯน้อย ก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เลว อาทิ เลือกเรียนสถาบันการศึกษาที่อัตราค่าเล่าเรียนถูกกว่า เมืองที่มีค่าครองชีพถูกกว่า ด้านที่พัก ก็อาจสืบเสาะหาบ้านเช่านอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น

เรียนเมืองไหนดี
แน่นอนถนนทุกสายย่อมมุ่งสู่ศูนย์กลางของประเทศ ปักกิ่งจึงเป็นเมืองที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในประเทศ เนื่องด้วยเงื่อนไข ความเป็นเมืองหลวง ความเจริญของบ้านเมืองย่อมจัดอยู่ในระดับดี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมาตรฐานสากล ความสะดวกด้านการสื่อสาร การเดินทาง เป็นต้น และยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาใหญ่ มีมหาวิทยาลัยระดับหัวแถวของประเทศจำนวนมาก ตลอดจนห้องสมุด ร้านหนังสือใหญ่มากมาย

นอกจากนี้ การศึกษา การใช้ชีวิตอยู่ในปักกิ่ง ยังเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีในการศึกษาภาษาจีนกลาง เนื่องจากภาษาจีนกลางนั้น ใช้ภาษาจีนปักกิ่งเป็นฐานในการพัฒนาสร้างภาษาขึ้นมา ดังนั้น คนที่เรียนในปักกิ่งจะไม่ต้องผจญกับความแตกต่างของภาษาถิ่นมากนัก ทั้งนี้ ภาษาที่ชาวปักกิ่งพูดกันก็นับเป็นภาษาถิ่นเรียกว่า เอ๋อร์ฮว่า ซึ่งท้ายคำจะต้องม้วนลิ้นออกเสียงคล้ายๆตัว “ร” ของบ้านเรา

สำหรับในแต่ละภาคมณฑลอื่นๆของจีนนั้น ต่างมีภาษาถิ่นของตัวเองที่แข็งแกร่งไม่เบา คำศัพท์ เสียง สำเนียงของภาษาถิ่นเหล่านี้ บางแห่งมีความแตกต่างจากภาษาจีนกลางมาก เช่น ในเซี่ยงไฮ้ที่มีความทันสมัยมากกว่าปักกิ่ง เมืองหนันจิงแห่งมณฑลเจียงซูซึ่งก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่น่าสนใจ กว่างโจวและฝูเจี้ยนแห่งเขตเศรษฐกิจแดนใต้ซึ่งมีความน่าสนใจในแง่ที่เป็นขุมเศรษฐกิจการพาณิชย์ของจีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ภาษาจีนกลางก็แพร่หลายไปทั่วประเทศ ตามเมืองใหญ่หรือหัวเมืองต่างๆ ก็ใช้ภาษาจีนกลางสื่อสารกัน และไม่เป็นอุปสรรค์สำหรับชาวต่างชาติในการพูดคุยกับชาวจีนที่นั่น เพียงแต่อาจต้องปรับหูให้ชินกับสำเนียงภาษาจีนกลางของคนท้องถิ่นนั้นๆ อีกอย่างในแวดวงมหาวิทยาลัยเอง ก็ใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสารกัน

นอกเหนือจากปักกิ่ง ในเมืองอื่นๆของจีนนั้น มีคนไทยเรียนอยู่จำนวนน้อย มหาวิทยาลัยแถวหน้าในเซี่ยงไฮ้อย่างฟู่ตั้น เดี๋ยวนี้ ก็ยังมีคนไทยเรียนอยู่ราว 5-6 คน ในสถาบันการศึกษาในกว่างโจว ฝูเจี้ยน ซึ่งค่าเล่าเรียนถูก ก็มีคนไทยอยู่แห่งละไม่กี่สิบคน คนไทยที่ไปเรียนภาษาในแผ่นดินใหญ่ จำนวนหนึ่ง มีวิธีคิดหนีแหล่งการศึกษาที่มีคนไทยหรือชาวต่างชาติอื่นๆจำนวนมาก เพราะต้องการฝึกภาษาอย่างเต็มที่ เนื่องจากการเรียนรู้ภาษานั้น ห้องเรียนเพียงแต่ให้หลักแนวของทักษะต่างๆ แต่ความคล่องแคล่ว และการเรียนรู้วัฒนธรรมจริงๆนั้น อยู่ที่การได้ออกไปปฏิสัมพันธ์กับชาวจีน

ทางเลือกสถาบันศึกษา
ปัจจุบันกระแสเรียนภาษาจีนของชาวต่างชาติ ยังคงทะยานสูงไม่ลดละ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆในเมืองจีน ต่างประชันกันเปิดชั้นเรียนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติกันคึกคัก และมีการเปิดเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเรียนการสอนดังกล่าว นอกไปจากชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยในระบบเหล่านี้แล้ว ในเมืองจีนโดยเฉพาะปักกิ่ง ยังมีสถาบันสอนภาษาจีนไม่น้อย ซึ่งนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีงบฯน้อยดังได้กล่าวในหัวข้อก่อน แต่ระบบการเรียนการสอน จะไม่เข้มงวดสมบูรณ์เท่ากับกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ดังนั้น การเรียนในสถาบันสอนภาษาเหล่านี้ จึงเหมาะสำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการเรียนรู้ค้นคว้าอะไรและมีวินัย

นอกจากนี้ ข้อดีอีกประการของสถาบันสอนภาษาดังกล่าวคือ ระบบการจัดชั้นเรียนทำให้ผู้เรียนมีอิสระสูงในการบริหารเวลาเรียนและกิจกรรมอื่นๆ เช่น หากผู้เรียนต้องการลาพักเรียนเพื่อไปทำธุระอื่นหรือไปเดินทางเที่ยวท่องไปยังมณฑลต่างๆ ก็ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนในชั่วโมงที่ลาพักเรียนไป และสามารถกลับมาเรียนชดเชยบทเรียนที่ไม่ได้เรียน

การเลือกสถาบันการเรียน จุดใหญ่ที่ควรพิจารณาคือ การจัดระบบชั้นเรียน หลักสูตรซึ่งแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป เท่าที่ทราบตามมหาวิทยาลัยชั้นนำมีการจัดทำหลักสูตรชั้นเรียนสำหรับชาวต่างชาติของตัวเอง อย่างไรก็ตาม หลักสูตรของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งปักกิ่งซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่งในด้านการสอนภาษาจีนแก่ชาวต่างชาตินั้น ก็แพร่หลายที่สุด มหาวิทยาลัยและสถาบันสอนภาษาในปักกิ่งหลายแห่ง ก็ใช้ตำราของมหาวิทยาลัยแห่งนี้กันไม่น้อย

เปิดเทอมตอนไหน
การไปเรียนต่อเมืองจีน ต้องจบการศึกษาระดับไหนนั้น โดยทั่วไปจบมัธยมปลายก็ได้ จะมีพื้นฐานภาษาจีนมาก่อนหรือไม่ก็ได้ แต่กลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานเลย จะลำบากหน่อย เพราะอาจารย์จะบรรยายเป็นภาษาจีนล้วน

ที่เมืองจีน ในปีหนึ่งๆ มี 2 ภาคการศึกษา แต่ละภาคฯกินเวลา 3 เดือนกว่า ถึง 4 เดือน ภาคแรกนั้น จะเปิดการเรียนการสอนในราวเดือนกุมภาพันธ์ ไปสิ้นสุดราวกลางเดือนมิถุนายน ช่วงนี้ ที่เมืองจีนเขาเรียกว่า ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงนี้ เป็นปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงอากาศดีของภาคเหนือจีน เสียแต่ว่า มักมีลม พายุทรายจากมองโกเลียแวะมากวนอยู่เนื่องๆ ใครที่ไปเริ่มเรียนในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ก็ทนหนาวทนลมทนบรรยากาศทึมๆใส่ชุดเสื้อผ้าเครื่องกันหนาวหนาเตอะอยู่สักเดือนกว่า อากาศก็จะเริ่มอุ่นขึ้น และได้เห็นสีเขียวใบไม้ สีสันต่างๆของหมู่ดอกไม้เมืองจีน

จากนั้น ก็เป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ซึ่งกินเวลายาวราว 2 เดือนกว่า ช่วงนี้ ตามมหาวิทยาลัยบางแห่ง อาจมีชั้นเรียนภาคฤดูร้อน ฤดูร้อนของเมืองจีน โหดไม่เบา ในปักกิ่งแม้อุณหภูมิสูสีกับเมืองไทย แต่ความที่แดดแรง อากาศแห้ง ผสมโรงกับคลื่นประชากรมหาศาล ทำให้รู้สึกว่า หน้าร้อนเมืองจีนโหดกว่าเมืองไทย จีนมีเมือง 4 เมือง ที่เรียกว่า “สี่เตาใหญ่” คือ หนันจิง ซีอัน อู่ฮั่น และฉงชิ่ง ซึ่งอุณหภูมิอาจกระฉูดถึง 40 กว่าองศาเซลเซียส ใครที่ไม่กลับบ้าน และคิดเดินทางเที่ยวท่องไปตามเมืองต่างๆของแผ่นดินใหญ่ ถ้าไม่อยากเป็น “สีดาลุยไฟ” พึงหลีกเลี่ยงเมืองเหล่านี้ ไปเมืองอื่นๆก่อนดีกว่า

ภาคเรียนที่สองหรือภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วง จะเริ่มในเดือนกันยายน ไปถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป ช่วงนี้ จะตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาวซึ่งจะเริ่มมาเยือนในปลายเดือนตุลาคม ใครที่ไปเริ่มเรียนในฤดูใบไม้ร่วง ก็จะได้อุ่นเครื่องกับอากาศเย็นๆ กระทั่งค่อยๆหนาวขึ้น จนเข้าสู่ฤดูหนาว ที่ต้องสวมชุดเสื้อผ้ากันหนาวกันเต็มยศ จากนั้น ก็เป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูหนาวที่ตรงกับช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนด้วย ซึ่งจะเป็นช่วงสั้นๆราวเดือนเดียวเท่านั้น

ควรเตรียมอะไรไปบ้าง
สำหรับในปักกิ่ง ซึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของจีน ทั้งปี มีอากาศหนาวเย็นเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนแนะนำว่า ไม่ต้องเตรียมหรือซื้อเสื้อผ้าชุดกันหนาวจากเมืองไทยไปมากนัก ควรไปซื้อที่เมืองจีนดีกว่า เนื่องจากคุณภาพการกันหนาวเหมาะสมกับท้องถิ่นมากกว่า อีกทั้งราคาถูกกว่า และมีแบบให้เลือกมากมาย อย่างเสื้อกันหนาวขนแกะมีราคาตั้งแต่ ราว 40 หยวน ไปถึง 100 กว่าหยวน เสื้อโค้ทขนแกะ ขนอูฐ ขนเป็ด สำหรับฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายน-มกราคมนั้น สนนราคาก็มีตั้งแต่ 100 ไปถึง 1,000 หยวน โค้ทขนเป็ดที่ชาวปักกิ่งสวมใส่กันในฤดูหนาว ราคา 100 หยวน 200 หยวน ก็จัดว่ากันอากาศหนาวเย็นได้ดีทีเดียว

เรื่องอาหารการกิน ในปักกิ่งมีร้านอาหารไทยไม่มากนัก ฉะนั้น ราคาย่อมสูงมาก กินอาหารไทยในปักกิ่งมื้อหนึ่ง ต้องจ่าย 50 หยวนขึ้นไป สำหรับแหล่งซื้อเครื่องปรุงนั้น แทบไม่มีเลย ผู้เขียนเคยเสาะหาได้น้ำปลาตราทิพรสที่ศูนย์กลางช้อปปิ้งใหญ่ในปักกิ่ง ราคาขวดละ 18 หยวน หรือเกือบ 100 บาท ส่วนเครื่องปรุงชนิดอื่นๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นซีอิ๊วขาว กะปิ ใบมะกูด ใบกระเพรา มะนาวไทย พริกขี้หนู เป็นต้นนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็อาจแบกเครื่องปรุงเหล่านี้ไปบ้างตามกำลังแรงที่จะแบกไปไหว สำหรับทำกินแก้คิดถึงบ้าน

สำหรับเรื่องอาหารการกินในต่างแดนนี้ มีวิธีคิดที่น่าสนใจว่า “อยู่ที่ไหนก็ควรกินอาหารของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับสุขภาพร่างกายด้วย” ในเมืองจีนนั้น อาหารส่วนใหญ่หนักไปทางน้ำมันมาก ปริมาณอาหารจานหนึ่งเยอะมาก กินชาร้อนแทนน้ำดื่ม ชาวจีนเคยอธิบายว่า การที่พวกเขาต้องกินอาหารมันๆ และปริมาณมาก เนื่องจากสภาพอากาศหนาวและแห้ง

สำหรับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ปักกิ่งก็มีทุกอย่าง โดยทั่วไปราคาสูงกว่าเมืองไทยไม่มากนัก แต่สินค้ายี่ห้อต่างประเทศในปักกิ่งนั้น แพงกว่าเมืองไทยมาก อย่างโลชั่นยี่ห้อใหญ่ของต่างประเทศ ราคาสูงกว่าเมืองไทยถึงเท่าตัว หนังสือแนะนำการท่องเที่ยวของ Lonely Planet ในปักกิ่ง แพงกว่าราคาในไทยมาก

มีเรื่องเตือนสำหรับคอกาแฟ กาแฟสำเร็จรูปธรรมดาๆอย่างเนสกาแฟ ราคาแพงกว่าเมืองไทยเท่าตัว ส่วนกาแฟต้มตามร้าน ราคาถูกสุด 18 หยวน เกือบ 100 บาท ฉะนั้น ถ้าไม่อยากสิ้นเปลืองกับการกินกาแฟที่เมืองจีนมาก หนีบกาแฟไปสักถุงสองถุงก็ดี อย่างไรก็ตาม การหอบหิ้วข้าวของไปมาก น้ำหนักกระเป๋าก็ทวีเพิ่มขึ้น ดีไม่ดีโดนค่าปรับน้ำหนักเกินพิกัดอ่วมเหมือนกัน

รวมลิงค์มหาวิทยาลัยภาษาในจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น