起来!不愿做奴隶的人们!ลุกขึ้นเถิด ! มวลชนผู้ไม่ยอมเป็นทาสทั้งหลาย !
把我们的血肉筑成我们新的长城!ให้เลือดเนื้อของพวกเราสร้างเป็นกำแพงเมืองจีนขึ้นใหม่ !
中华民族到了最危险的时候,ถึงเวลาอันเป็นวิกฤตยิ่งของชนชาวจีนแล้ว
每个人被迫着发出最后的吼声。ทุกผู้คนล้วนต้องแสดงพลังเป็นครั้งสุดท้าย
起来!起来!起来!ลุกขึ้นเถิด ! ลุกขึ้น ! ลุกขึ้น !
我们万众一心,冒着敌人的炮火前进!จิตใจหมื่นดวงของพวกเรารวมเป็นหนึ่งเดียว บุกเข้าฟันฝ่าปืนไฟของศัตรู !
冒着敌人的炮火前进!前进!前进!进!บุกเข้าฟันฝ่าปืนไฟของศัตรู !
บุกเข้าไป !บุกเข้าไป ! บุกเข้าไป !
นี่คือเนื้อเพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสา (义勇军进行曲) หรือเพลงชาติประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน....
บทเพลงนี้ ประพันธ์เนื้อร้องโดยเถียนฮั่น และแต่งทำนองโดยเนี้ยเอ่อร์ เมื่อ 70 ปีที่แล้ว คือในปีค.ศ. 1935 ซึ่งเป็นปีที่จีนอยู่ในยุคสาธารณรัฐ การเมืองกำลังปั่นป่วนและต้องเผชิญทั้งศึกนอกศึกใน เพลงนี้ปลุกเลือดรักชาติในร่างกายชาวจีนให้ยืนหยัดขึ้นขับไล่ผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น และนายพลเจียงไคเช็ค พร้อมกับร่วมสร้างจีนยุคใหม่ขึ้นไปพร้อมๆ กัน
ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1934 เถียนฮั่น ซึ่งเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนหน้านั้นไม่นาน ถูกทหารของก๊กมินตั๋งจับตัวไปเข้าคุกระหว่างเขียนบทภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านนักรบแดนซามูไรไปได้คร่าวๆ และตอนนั้นเขาเพิ่งเขียนเพลงเอกของละครเรื่องนี้จบ เนี้ยเอ่อร์ ซึ่งเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ของเถียนฮั่นได้อ่านเนื้อเพลงดังกล่าว บังเกิดความฮึกเหิมใจเป็นอย่างมาก จึงเสนอตัวรับเพลงของเถียนฮั่นไปแต่งทำนองต่อ ซึ่งเขาก็สามารถแต่งทำนองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในระหว่างช่วงหนีทหารญี่ปุ่นหัวซุกหัวซุน บทเพลงปลุกใจนี้ได้กลายเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเนี้ยเอ่อร์
มาร์ชกองกำลังทหารอาสา (义勇军进行曲) กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมไปทั่วแผ่นดินใหญ่ กระทั่งเล็ดลอดออกไปนอกประเทศ และได้รับการนำไปขับร้องโดยพอล โรบีสัน นักร้องผิวดำชาวอเมริกัน ผู้นำด้านการต่อต้านสงครามและลัทธิฟาสซิสม์ ซึ่งในที่สุดก็ได้ออกแผ่นเสียงเพลงปลุกใจจีนชื่อว่า ลุกขึ้นเถิด ! (起来!) โดยได้รับเกียรติจากมาดามซ่งชิ่งหลิง ภรรยาของดร.ซุนยัดเซ็นเขียนคำนิยมให้ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ท่ามกลางทหารฝ่ายพันธมิตรที่ได้รับชัยชนะ บทเพลงนี้ก็ยิ่งกระหึ่มไปไกล....
ปี 1949 ขณะที่กองทัพนายพลเจียงไคเช็คกำลังจะหมดลมหายใจ งานสร้างจีนยุคใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ก็กำลังเดินหน้า เดือนมิถุนายนปีนั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมืองเตรียมการว่าจะเปิดประชุมครั้งแรกที่เมืองเป่ยผิง(ปัจจุบันคือปักกิ่ง) และมอบหมายให้กลุ่มย่อยที่ 6 ที่มีหม่าซี่ว์หลุนเป็นหัวหน้ากลุ่ม และเยี่ยเจี้ยนอิง เหมาตุ้น(เสิ่นเยี่ยนปิง) เป็นรองหัวหน้ากลุ่ม รับหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดธงชาติ ตราสัญลักษณ์ประเทศ และเพลงชาติจีน
4 กรกฏาคม 1949 เยี่ยเจี้ยนอิงจัดการประชุมกลุ่มเป็นครั้งแรก และได้เลือกกัวมั่วรั่ว เถียนฮั่น เหมาตุ้น เฉียนซันเฉียง โอวหยังจี้เชี่ยน เป็นผู้คัดเลือกเนื้อเพลงชาติ และในเวลาถัดมาก็ได้เชิญหม่าซือชง เฮ่อลี่ว์ทิง หลี่ว์จี้ เถาจิ่นซิน ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีมาเป็นที่ปรึกษาประจำคณะทำงานด้วย
หลังจากนั้น การดำเนินงานค้นหาเพลงชาติก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ในเบื้องต้น กัวมั่วรั่วก็ได้เขียน “ประกาศขอความเห็นเกี่ยวกับธงชาติ ตราสัญลักษณ์ประเทศ และเนื้อเพลงชาติ” โดยผ่านการเห็นชอบจากทั้งเหมาเจ๋อตุง โจวเอินไหล 2 ผู้นำประเทศระดับสูง แล้วจึงส่งไปลงในหนังสือพิมพ์หลักของประเทศในขณะนั้น เช่น พีเพิลเดลี่ (人民日报) เทียนจินเดลี่ (天津日报) กวงหมิงเดลี่ (光明日报) ติดต่อกันถึง 8 วัน ทั้งยังเป็นข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอีกหลายฉบับ ซึ่งการสรรหาเพลงชาติลักษณะนี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นเลย และทำให้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
กระทั่งวันที่ 24 สิงหาคม ก็สามารถรวบรวมต้นฉบับเพลงชาติจากสารทิศได้ถึง 350 ชิ้น อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงที่เข้าตากรรมการยังคงไม่เพียงพอ จนต้องประกาศขอเวลารวบรวมใหม่อีกครั้ง
21 กันยายน 1949 การประชุมครั้งแรกของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นที่เป่ยผิง ในวันนั้น คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 6 รวบรวมเพลงได้ถึง 632 บทแล้ว หลังจากนั้น 4 วัน เหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล จึงได้เปิดประชุมเรื่องธงชาติ ตราสัญลักษณ์ประเทศ และเพลงชาติจีน หม่าซี่ว์หลุนก็ได้เสนอว่าให้ใช้เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาแทนเพลงชาติชั่วคราว ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการมากมาย เนื่องจากเพลงบทนี้ มีใจความช่วงหนึ่งที่เขียนว่า "中华民族到了最危险的时候 ถึงเวลาอันเป็นวิกฤตยิ่งของชนชาวจีนแล้ว” ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าเป็นประโยคที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม พร้อมกันนี้บางเสียงในที่ประชุมก็เสนอว่า น่าจะเปลี่ยนเนื้อเพลงให้เข้ากับยุคสมัยกว่าเดิม แต่ก็มีเสียงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าเพลงนี้เป็นประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับ ลา มาร์เซยแยส (La Marseillaise) เพลงชาติฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นเพลงปลุกใจเช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแก้ไขอีก ประกอบกับเพลงนี้เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศในฐานะเพลงปลุกใจชาวจีนทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว จึงมีเหตุผลเพียงพอสำหรับการเป็นเพลงชาติ
ทั้งเหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหลฟังแล้วก็ยอมรับเหตุผลดังกล่าว พร้อมเสริมว่า แม้ขณะนี้ศึกในประเทศจะสงบแล้ว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับศัตรูนอกประเทศอีก ซึ่งเพลงชาติควรทำหน้าที่สะท้อนถึงพลังและจิตวิญญาณของประชาชนในประเทศ และเนื้อเพลงเดิมก็ให้ความรู้สึกถึงความฮึกเหิม ไม่กลัวที่จะบุกไปข้างหน้าอยู่แล้ว จึงเห็นชอบใช้เนื้อเพลงเดิม ที่ประชุมจึงมีมติใช้เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาเป็นเพลงชาติจีนตั้งแต่วันนั้นมา....
27 กันยายนปีเดียวกัน ในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองเต็มคณะครั้งแรกของประเทศ ได้ผ่านมติ 4 ประการ ได้แก่ 1. กำหนดเมืองหลวงอยู่ที่เป่ยผิง และให้แก้ชื่อเป็นเป่ยจิง(ปักกิ่ง) 2. กำหนดใช้ปีคริสตกาลเป็นปีเรียกในจีน 3. หากยังไม่มีการกำหนดเพลงชาติจีนอย่างเป็นทางการ ก็ให้ใช้เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาไปก่อน 4. กำหนดธงชาติจีนเป็นธงแดงที่มีดาว 5 ดวงประดับ อันมีความหมายถึงความสามัคคีในชาติ
บ่าย 3 โมงของวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานเหมาเจ๋อตงประกาศด้วยเสียงอันทรงพลังว่า “รัฐบาลประชาชนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้นแล้วในวันนี้ 中华人民共和国人民政府今天成立了。” หลังจากนั้นก็ทำพิธีชักธงขึ้นเสา พร้อมไปกับเสียงเพลงชาติที่บรรเลงเป็นครั้งแรกที่บริเวณลานจัตุรัสเทียนอันเหมิน
15 พฤศจิกายนปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ก็ได้ลงบทความอธิบายเกี่ยวกับเพลงชาติจีนไว้ว่า “ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้ เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคปฏิวัติของจีน ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การใช้เนื้อเพลงเดิมโดยไม่แก้ไข ก็เพื่อให้ชนชาติจีนระลึกถึงความยากลำบากในช่วงก่อร่างสร้างจีนยุคใหม่ ปลุกเลือดรักชาติให้เดือดในการต่อสู้กับการรุกรานของต่างชาติ และเพื่อการปฏิรูปเดินหน้าได้อย่างถึงที่สุด ซึ่งเป็นในแนวทางเดียวกันกับการนำเพลงลา มาร์เซยแยสมาเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส ”
หลังจากที่เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาเป็นเพลงประจำชาติจีนได้ 17 ปี ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม(ค.ศ.1966-1976) เถียนฮั่น ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลงกลับถูก ‘แก๊งสี่คน‘ ป้ายสี เพลงที่เขาแต่งจึงไม่สามารถนำมาร้องได้อีก เพลงชาติในช่วงนั้นจึงทำได้แค่เพียงการบรรเลงดนตรี
กระทั่งเมื่อแก๊งสี่คนถูกโค่นลงไป ก็มีการเสนอขึ้นมาว่า ประเทศชาติเข้าสู่โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์แล้ว และเพลงชาติเนื้อเดิมที่แต่งโดยเถียนฮั่นไม่สามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงควรเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ ในการประชุมสมัชชาประชาชนสมัยที่ 5 ครั้งที่ 1 คือในเดือนมีนาคม 1978 ก็มีมติอนุมัติเนื้อร้องเพลงชาติฉบับใหม่ และระบุชื่อผู้แต่งว่า ‘ทำนองโดยเนี้ยเอ่อร์ คำร้องโดยหมู่คณะ ‘
อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงใหม่นี้ก็ยังมีคนไม่พอใจ โดยชี้ว่าบางประโยค ใช้ศัพท์ธรรมดาเกินไป ไม่สละสลวย และฟังแล้วไม่ให้ความรู้สึกฮึกเหิมเท่าเพลงเก่า
หลังการประชุมสมัยที่ 11 วาระที่ 3 ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาจัดการสะสางความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ฟื้นฟูนโยบายที่มีส่วนต่อการนำประเทศเข้าสู่ความทันสมัย พร้อมเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ช่วงนี้เอง พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลก็ได้คืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกใส่ร้าย ซึ่งเถียนฮั่นก็ได้รับการกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลาช่วง 1980-1982 คณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับคำทักท้วงจากหลายฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันว่า เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาสะท้อนจิตใจนักปฏิวัติได้ดีกว่าเพลงใหม่ ทั้งยังแสดงออกถึงความไม่ประมาทต่ออันตรายแม้จะอยู่ในภาวะสงบสุขก็ตาม นอกจากนั้นยังเป็นเพลงที่อยู่ในใจชาวจีนมานาน จึงเสนอให้ยกเลิกเพลงใหม่ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1978
กระทั่ง 4 ธันวาคม 1982 ที่ประชุมสมัชชาประชาชนสมัยที่ 5 วาระที่ 5 อนุมัติให้กลับมาใช้เพลงชาติเพลงเดิมอย่างเป็นทางการ และยกเลิกเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นในปี 1978
และภายหลังผ่านคลื่นลมทางประวัตศาสตร์มานับครั้งไม่ถ้วน เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสาก็ได้รับการบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่ประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนสมัยที่ 10 วาระที่ 2 เมื่อกลางเดือนมีนาคมปี 2003 นี่เอง ซึ่งแสดงถึงการยอมรับตามกฎหมายในฐานะเพลงประจำชาติแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างแท้จริง.
เรียบเรียงจาก ซินหัวเน็ต