นับตั้งแต่ประกาศให้ปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกปี 2008 เป็นต้นมา ทางคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกแห่งปักกิ่งก็ทยอยผุดสินค้าหน้าใหม่ ที่มีตราสัญลักษณ์ “ปักกิ่งเริงระบำ” ออกมาตีตลาดอยู่เนืองๆ และล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวสินค้าตัวใหม่ นั่นคือ “ปากกาถังหูลู่”
“ถังหูลู่” ฟังแล้วอาจไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้ แต่ถ้าพูดว่า “พุทราเชื่อมเคลือบน้ำตาล” ล่ะก็ หลายคนคงร้องอ๋อกันเป็นแน่ สำหรับเมืองปักกิ่ง มีหลายสิ่งที่สะท้อนถึงกลิ่นอายโบราณของเมืองหลวงมังกรได้อย่างชัดเจน อาทิ งิ้วปักกิ่ง ลูกคิด รวมทั้งถังหูลู่ด้วย
พุทราเชื่อมเคลือบน้ำตาล มีรสชาติออกหวานอมเปรี้ยว สีแดง เสียบบนไม้ไผ่ยาวประมาณ 20 ซ.ม. เป็นของกินที่อยู่คู่กับชาวปักกิ่งมาช้านานและไม่เคยถูกทอดทิ้ง แม้จะโดนกระแสรุกไล่ของขนมขบเคี้ยวรุ่นใหม่ อย่างมันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว และช็อคโกแลตก็ตามที แม้แต่ร้านขายอาหารข้างทาง และซูเปอร์มาร์เก็ต ยังต้องเสริมเมนู “ถังหูลู่” เข้าไปด้วย
หม่าหลง หนุ่มปักกิ่งวัย 27 ปี ผู้คลั่งไคล้ไหลหลงในถังหูลู่เล่าว่า “ถังหูลู่เป็นของหวานที่ผมโปรดปรานมากที่สุดตั้งแต่เด็กแล้ว สมัยนั้นถังหูลู่ตกราคาไม้ละ 1 เจี่ยว (50 สตางค์) ระหว่างทางกลับจากโรงเรียนทุกวันผมมักแวะซื้อมากิน”
แม้ว่าของกินเล่นทุกประเภท ทั้งจากผู้ผลิตในและนอกประเทศ สามารถหาได้ในจีนวันนี้ แต่หม่ายังยืนยันว่า “ไม่มีอะไรดีเลิศไปกว่าการกินถังหูลู่ในวันที่อากาศเย็นอีกแล้ว”
ถังหูลู่ ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ถนนทุกสายของเมืองหลวงจีนจะต้องมีถังหูลู่จำหน่ายอยู่ คนขายหาบเร่จะแบกมัดฟางหรือท่อพลาสติกที่เสียบถังหูลู่อยู่เต็มออกเร่ขาย โดยแต่ละคนจะมีลีลาในการเรียกลูกค้าเฉพาะตัว
นอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ตามความเชื่อของชาวปักกิ่ง ถังหูลู่ ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล และเป็นพระเอกของงานวัด ที่จัดขึ้นในช่วงวันตรุษจีนของปักกิ่งด้วย
หม่าให้สัมภาษณ์ว่า “หากมาเที่ยวงานวัด สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ การซื้อถังหูลู่”
คนส่วนใหญ่เมื่อซื้อถังหูลู่มาแล้วจะไม่กิน แต่จะนำกลับบ้านไปเพื่อเป็นสิริมงคล โดยพวกเขาเชื่อว่า ถังหูลู่จะนำโชคดีและความมั่งคั่งมาสู่พวกเขาในช่วงปีที่ใกล้จะมาถึง
หลายคนสงสัยว่าถังหูลู่เกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร เรื่องนี้คงต้องย้อนอดีตกลับไปในสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือ ซ้อง (ค.ศ.960-1279) ภายใต้การปกครองของฮ่องเต้กวงจง (ค.ศ.1147-1200)
ในครั้งนั้น พระสนมที่ฮ่องเต้กวงจงทรงโปรดที่สุดเกิดล้มป่วยอย่างหนัก หน้าตาซีดเซียว ร่างกายผ่ายผอม และเบื่ออาหาร หมอหลวงพยายามแสวงหายาหายากสารพัดอย่างมารักษา แต่ก็ไร้ประโยชน์
และแล้ววันหนึ่งก็มีหมอจากนอกวังขันอาสาเข้าวังรักษาอาการป่วยของพระสนม หลังจากตรวจวินิจฉัยโรค “หมอชาวบ้าน” ก็เขียนใบสั่งยาอย่างง่ายๆ ระบุให้นำพุทรามาเคี่ยวกับน้ำเชื่อม และให้พระสนมเสวยวันละ 5-10 ลูกก่อนมื้ออาหารทุกมื้อ หากทำเช่นนี้ไม่เกินครึ่งเดือนอาการก็จะดีขึ้น
ในทีแรกทั้งฮ่องเต้และหมอหลวงยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับคำกล่าวของหมอคนนี้ แต่หลังจากพระสนมทำตามคำแนะนำแล้วก็มีอาการดีวันดีคืน
ที่แท้พุทรานั้นมีสรรพคุณมากมาย แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้โรคบิด บรรเทาอาการเลือดคั่ง ขับพยาธิเส้นด้าย แต่สรรพคุณที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ช่วยย่อย นั่นเอง
ต่อมาวิธีรักษาดังกล่าวได้แพร่กระจายไปในหมู่สามัญชน ทำให้คนขายอาหารเริ่มนำพุทราเชื่อมมาเสียบไม้ขายเป็นของกินเล่น และพอนำมาจุ่มกับน้ำเชื่อมร้อนๆ พุทราเสียบไม้ก็กลายเป็น “ถังหูลู่” อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
ส่วนชื่อของถังหูลู่นั้น ตามภาษาจีน แปลว่า น้ำเต้าเคลือบน้ำตาล เนื่องจากเดิมทีพุทราเสียบไม้มีแค่สองลูกเท่านั้น ลูกเล็กเสียบอยู่บน ลูกใหญ่เสียบอยู่ข้างล่าง รูปร่างคล้ายกับน้ำเต้า แม้ภายหลังถังหูลู่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 4-8 ลูก แต่ก็ยังคงชื่อเดิมมาจนถึงทุกวันนี้
เรียบเรียงจากไชน่าเดลี่