หญิงสาวผู้มีชีวิตอยู่ใกล้กับศูนย์กลางแห่งอำนาจบนแผ่นดินมังกรในฐานะของลูกสะใภ้ของเจี่ยงเจี้ยสือ หรือที่รู้จักกันในนามของเจียงไคเช็ก อีกทั้งยังเป็นมารดา ผู้ให้กำเนิดลูกน้อยถึง 4 ชีวิต แต่ช่วงบั้นปลายชีวิต ใครจะนึกว่า อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของไต้หวันกลับต้องสิ้นลมอยู่ในกรุงไทเปอย่างเดียวดาย
เรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับ ‘ตำนานและชีวิตที่ทุกข์ทน’ ของไฟน่าเจี่ยง หรือเจี่ยงฟางเหลียง ลูกสะใภ้ของเจียงไคเช็ก และภรรยาของเจี่ยงจิงกั๋ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ได้ถูกรื้อฟื้นนำมาเล่าสู่กันฟังกันอีกครั้ง หลังจากที่หล่อนได้เสียชีวิตในกรุงไทเปด้วยวัย 88 ปีเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ชีวิตที่เงียบสงบและสันโดษของหญิงสาวสัญชาติรัสเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อจีนว่า ‘เจี่ยงฟางเหลียง’ ทำให้น้อยคนนักจะรู้จักและยิ่งน้อยคนลงไปอีกที่จะรู้ว่าหล่อนเคยอาศัยอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ในบ้านพักสีขาวบนถนนสายหวยไห่ ที่เงียบสงบ
ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.1948 ซึ่งเป็นวันที่เจี่ยงจิงกั๋วถูกเจียงไคเช็ก ผู้เป็นพ่อส่งตัวไปรับราชการฝ่ายการคลังในนครเซี่ยงไฮ้ เจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋งก็ได้จัดเตรียมบ้านพักทรงสเปน ตึกที่ 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบ้านพัก 8 หลังที่ตั้งอยู่บนถนนหวยไห่ 1610 หรือที่เรียกว่า ‘อี้ชุน’ ให้กับครอบครัวของเจี่ยงจิงกั๋วและภรรยา
บ้านหลังดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในปี 1942 ด้วยก้อนอิฐและไม้ที่เรียบง่ายแต่ดูดี มีเพียงกรอบหน้าต่างเท่านั้นที่มีการแกะสลักบ้างเล็กน้อย เมื่อเปิดประตูบ้านเข้าไป จะพบห้องนั่งเล่นซึ่งถูกตกแต่งอยู่ที่ชั้นหนึ่ง ในขณะที่ห้องนอน ห้องอ่านหนังสือ และห้องทำงานของเจี่ยงจิงกั๋วจะอยู่บนชั้นสอง
หากมองจากระเบียงชั้นสองที่ตกแต่งสวยงามลงไปด้านล่าง จะแลเห็นสวนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยใบของต้นการบูร และร่มกันแดดแบบจีนๆ ส่วนด้านข้างของบ้าน จะมีห้องเล็กๆ สำหรับตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นยามประจำตระกูล แต่ปัจจุบันนี้ บ้านหลังดังกล่าวได้ตกเป็นของนักธุรกิจสัญชาติไต้หวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1910 หนูน้อยเจี่ยงจิงกั๋ว ลูกภรรยาคนแรกของเจียงไคเช็กได้ถือกำเนิดขึ้น ใกล้มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน และเมื่อวันเวลาผ่านไป 15 ปี หนุ่มเจี่ยงก็ได้เดินทางไปเรียนที่กรุงมอสโค อดีตสหภาพโซเวียต และเรียนหนังสือที่นั่นเป็นเวลา 12 ปี
ระหว่างที่เจี่ยงน้อยทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในแดนหมีขาว ก็ได้พบและตกหลุมรักกับแม่นางไฟน่า หญิงสาวที่เกิดในไซบีเรีย พวกเขาแต่งงานกันในปี 1935 ตามที่ปรากฏในหนังสือของเจ้าหงที่มีชื่อว่า “หญิงสาวในครอบครัวตระกูลเจี่ยง”
ต่อมา เจียงไคเช็กใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการทำความรู้จักกับหญิงสาวร่างสูง นัยน์ตาสีฟ้า ผู้เป็นลูกสะใภ้ของตน และพบว่าหล่อนเป็นผู้หญิงที่สุภาพ มีนิสัยเอาใจใส่ดูแล และครบครันในสิ่งที่ภรรยาชาวจีนที่ดีควรจะมีกัน พร้อมตั้งชื่อจีนให้กับหล่อนว่า ‘เจี่ยงฟางเหลียง’
แม่นางเจี่ยงได้กำเนิดบุตรธิดาให้กับตระกูลเจี่ยงจำนวน 4 คน ซึ่งเป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน พวกเขามีรูปร่างสูงโปร่งแบบแม่ ปัจจุบันนี้ ลูกชายทั้ง 3 คนได้เสียชีวิตแล้ว เหลือเพียงเจี่ยงเซี่ยวจาง ลูกสาวคนเดียวที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในประเทศสหรัฐอเมริกา
“เจี่ยงจิงกั๋วมีชีวิตที่เรียบง่าย” หวงกั๋วซิน นักประพันธ์ร่วมในหนังสือ “บุคคลผู้มีชื่อเสียง บ้านและเรื่องราว” เล่าให้ฟังว่า “เจี่ยงน้อยมักจะตื่นนอนเวลา 6 โมงเช้า และออกวิ่งไปตามถนนหลินเซินกลาง (ซึ่งปัจจุบันคือ ถนนหวยไห่กลาง) บ่อยครั้งที่เขาออกไปข้างนอกซื้อปาท่องโก๋เพื่อมาทานกับโจ๊ก”
หวงได้กล่าวเสริมว่า “ ในช่วงเวลาที่เจี่ยงจิงกั๋ว ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ควบคุมเศรษฐกิจของนครเซี่ยงไฮ้ ผ่านนโยบายควบคุมราคา เขาต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หลังจากดำเนินไปได้เพียง 3 เดือน นโยบายของเขาก็ล้มเหลว เขาพบว่านครเซี่ยงไฮ้เป็นสังคมของคนขูดรีดเอากำไรและนักเลงหัวไม้ “ เจี่ยงจิงกั๋วมักกลับไปซับน้ำตาแห่งความผิดหวัง ที่บ้านอี้ชุน สถานที่ที่เจี่ยงฟางเหลียง เสกให้เป็นรังนกที่แสนอบอุ่นและสุขสบายสำหรับครอบครัวเสมอ
ณ ที่นี้ หญิงสาวชาวรัสเซียสามารถใช้ภาษาท้องถิ่นหนิงปอ ได้อย่างคล่องแคล่ว หนำซ้ำยังทำอาหารถิ่นหนิงปอ ให้กับสมาชิกในครอบครัวได้รับประทาน ในปี 1948 ครอบครัวเจี่ยงพำนักอาศัยอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้นานหลายเดือน และออกเดินทางจากเซี่ยงไฮ้อย่างไม่มีวันกลับก่อนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสถาปนาขึ้นในปี 1949
ระหว่างที่อยู่ในไต้หวัน เจี่ยงฟางเหลียง มีชีวิตที่ตรงข้ามกับซ่งเหม่ยหลิง ผู้มีศักดิ์เป็นแม่สามี เพราะเธอมักเก็บตัวเงียบๆ จะปรากฏตัวในที่สาธารณะเฉพาะเมื่อเดินทางไปรับสามีที่สนามบินเป็นครั้งคราวหรือเมื่อออกเดินทางไปกับสามีเพื่อหาเสียงเท่านั้น
สะใภ้ชาวต่างชาติตระกูลเจี่ยง มีนิสัยเชื่อฟังสามีเฉกเช่นหญิงสาวชาวจีนพึงปฏิบัติ หล่อนยอมเลิกเล่นไพ่นกกระจอกและกอล์ฟที่โปรดปราน เพราะสามีไม่ชอบ เส้นทางจากไซบีเรียสู่มอสโคสู่นครเซี่ยงไฮ้ และจากเซี่ยงไฮ้สู่กรุงไทเป ไฟน่าเจี่ยงได้อยู่เคียงข้างกับศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองตลอดเวลา แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยสนใจในการเมืองเลย และต้องการที่จะดูแลครอบครัวของตนให้ดีที่สุดเท่านั้น
เจี่ยงฟางเหลียงอยู่เพียงลำพังผู้เดียวในช่วงบั้นปลายชีวิต หลังจากเจี่ยงจิงกั๋วได้สิ้นลมไปในปี 1988 และตามด้วยบุตรชายทั้ง 3 คนที่เสียชีวิตในปี 1989 1991 และ 1996 ตามลำดับ การตายของบุตรชายส่งผลเลวร้ายทำให้สุขภาพร่างกายของเจ้าหล่อนที่อ่อนแออยู่แล้ว กลับทรุดหนักลงไปอีก
มีผู้คนกล่าวว่า ไฟน่าเจี่ยงเป็นผู้หญิงที่สันโดษที่สุดในกรุงไทเป เธอไม่มีเพื่อนแท้ ไม่มีผู้สืบสายโลหิตที่อยู่ใกล้ชิด ญาติที่สนิทที่สุดก็ล้วนอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และแม้แต่หลังจากที่เธอหมดลม ลูกสาวเพียงคนเดียวของเธอก็ยังไม่สามารถมาเข้าร่วมงานศพได้ เพราะตัวของเธอเองก็กำลังล้มป่วยหนักเช่นกัน
หลังจากสามีได้ตายจากไป ไฟน่าเจี่ยงจำต้องทนทุกข์ทรมานกับข่าวที่ทำให้หัวใจเธอสลายเมื่อรู้ว่าสามีอันเป็นที่รักได้แอบมีหญิงสาวอีกคนอย่างลับๆ ระหว่างที่ทำงานในมณฑลเจียงซีในปี 1939 อย่างไรก็ตาม จางย่ารั่ว ภรรยาลับของเจี่ยงจิงกั๋ว ก็ได้เสียชีวิตหลังจากให้กำเนิดจางเซี่ยวฉือและจางเซี่ยวเหยียน ลูกชายฝาแฝดเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งภายหลังจางเซี่ยวเหยียนได้เข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในไต้หวัน และได้เดินทางไปยังมณฑลเจ้อเจียง บ้านเกิดของเจียงไคเช็กเพื่อถวายความเคารพบรรพบุรุษของตน
“ตำนานและชีวิตที่ทุกข์ทน“ เป็นคำที่มักใช้บรรยายชีวิตของไฟน่าเจี่ยง ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง อ่อนโยน และอดทน ของหญิงสาวจากดินแดนที่แสนห่างไกลผู้นี้ แต่ยังสะท้อนถึงความเจ็บปวดและขมขื่นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนัยน์ตาสีฟ้าคู่นั้น