xs
xsm
sm
md
lg

หมั่นโถวร้อนๆ อาหารนิยมของคนจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้เรื่องเมืองจีน / ‘หมั่นโถว’ หรือเจ้าแป้งนึ่งก้อนกลมๆสีขาวนวลเนียน ที่คนไทยนำมารับประทานกับขาหมูนั้น ในจีนมีหลากหลายประเภทคล้ายอย่างในบ้านเรา ทั้งแบบหวาน เค็ม ใส่นมวัว และที่ใส่ไส้เหมือนซาลาเปาที่เรารู้จักดี เช่น ไส้ครีม ถั่วแดง หมูแดง หมูสับ และแบบมังสวิรัติ ก็ถือเป็นหมั่นโถวชนิดหนึ่งด้วย

ในอดีต ‘หมั่นโถว’ หรือ ‘หมันโถะ’ (馒头 ออกเสียงในภาษาจีนกลาง) แบบมีไส้และมีขนาดใหญ่ ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ หรือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนของปีใหม่ เพื่ออธิษฐานขอพรให้ฟ้าฝนดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์

ที่มาของหมั่นโถวมีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า กำเนิดมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก (ค.ศ.220-280)  เรื่องเล่ามีอยู่ว่า.....สมัยนั้นชนพื้นเมืองทางใต้ของแคว้นสู่ที่เรียกตนเองว่า พวกหนันหมัน (南蛮) ชอบก่อความวุ่นวายโดยยกทหารมาโจมตีแคว้นสู่อยู่บ่อยครั้ง  คราหนึ่งหัวหน้าเผ่านามว่า เมิ่งฮั่ว นำทัพมา  ร้อนถึงจูเก๋อเลี่ยง หรือ ขงเบ้ง(ค.ศ.181-234) ที่ต้องนำทหารออกปราบปรามด้วยตนเอง

เมื่อขงเบ้งรบชนะและกวาดต้อนเชลยศึกผ่านมาถึงแม่น้ำหลูซุ่ย (แม่น้ำจินซาเจียงในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นแดนเถื่อน ไร้เงามนุษย์ ซ้ำอากาศก็เป็นพิษไม่สะอาด แต่เป็นเส้นทางที่เหล่าทหารจำต้องข้ามไป เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหาร ลูกน้องของขงเบ้งเสนอความคิดขึ้นว่า ให้บั่นหัวเชลยศึกเผ่าหนันหมัน นำมาเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าประจำแม่น้ำสายมรณะนี้

แต่ขงเบ้งผู้ปราดเปรื่องไม่เห็นด้วยที่จะตัดคอคนจริงๆ จึงคิดอุบายนำแป้งมาปั้นเป็นรูปหัวคนห่อไส้เนื้อแกะและวัว หลังจากนั้นเอาไปนึ่ง แล้วนำไปเซ่นไหว้บูชาแม่น้ำแทน ครั้งนั้นทหารแคว้นสู่จึงเดินทางข้ามแม่น้ำมาได้โดยปลอดภัย

นับแต่นั้นมา แป้งนึ่งก้อนกลมนี้ก็ถูกเรียกว่า ‘หมันโถว’ (蛮头) ซึ่งแปลได้ความว่า หัวเชลยเผ่าหมัน และทำตกทอดกันมาจนแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะขึ้นมาทางภาคเหนือ ได้กลายมาเป็นอาหารที่ชาวจีนเหนือนิยมรับประทานกันเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่าง ( คนจีนทางภาคเหนือนิยมเรียก ‘เปาจึ’ -包子หรือซาลาเปา ) ว่ากันว่า หมั่นโถวแต่ละท้องถิ่นก็มีกลเม็ดการปรุงแต่งแตกต่างกันไปสารพัดแบบ

และเนื่องจากความหมายของคำเรียกดั้งเดิมฟังดูโหดร้ายเกินไป ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรที่บ่งชี้ว่าเป็นอาหาร (馒) แทนตัวอักษรที่หมายถึงพวกหนันหมัน (蛮) อย่างเช่นในอดีต

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อรูปร่างของหมั่นโถวเปลี๊ยนไป๋ ไม่ปั้นเหมือนรูปหัวคนและยังมีขนาดเล็กลง  ผู้คนจึงตั้งชื่อให้หมั่นโถวมีไส้ประเภทนี้ว่า ‘เปาจึ’ ในเวลาต่อมา (ที่มาของซาลาเปานี้ บางแหล่งก็ว่าเป็นอาหารที่ฮ่องเต้คิดขึ้นมา)

เจ้าหมั่นโถวก้อนอ้วนๆขาวๆนี้ยังมีบันทึกในประวัติศาสตร์ที่เล่าต่างไปจากตำนานข้างต้นอีกว่า เป็นอาหารในแคว้นสู่ที่มีมาก่อนสมัยสามก๊กเสียอีก และอ้างว่า การมาให้ชื่อ ‘หมันโถว’ ตามเหตุการณ์ตัดคนเชลยหนันหมันนั้น เป็นแค่เรื่องแต่งขึ้นตามจินตนาการเท่านั้น

โดยนักโบราณคดีจีนมีข้อพิสูจน์ว่า หมั่นโถวไร้ไส้มีมาตั้งแต่ยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว (770-221 ปี ก่อนคริสตกาล) เพราะเวลานั้นชาวจีนรู้จักการใช้ครกสากและโม่ และมีการนำรำข้าวสาลีมาผลิตเป็นอาหารแล้ว

และที่หลายคนทราบแล้วอาจจะแปลกใจก็คือ ในบันทึกเรื่องการค้นคว้าเรื่องนามต่างๆ(名义考) และบันทึกเกี่ยวกับมาตรฐานอักขระ(正字通) กล่าวว่า คำ ‘ขนมเปี๊ยะ’ หรือปิ่ง (饼) ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ ‘เจิงปิ่ง’ (蒸饼 - เปี๊ยะนึ่ง) ‘หลงปิ่ง’ (笼饼) ‘ชุยปิ่ง’ (炊饼) และ ‘ฉี่เจียวปิ่ง’ (起胶饼 – เปี๊ยะที่นึ่งแล้วพองฟู) ล้วนเป็นคำใช้เรียกหมั่นโถวมาก่อนด้วย

ในสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) หมั่นโถวกลายเป็นหนึ่งในสำรับฮ่องเต้ ทำหน้าที่เป็นอาหารประดับหรืออาหารตาเพื่อความสวยงาม ซึ่งต้องทำให้มีขนาดเล็กลง(คล้ายติ่มซำ) มิฉะนั้นกินเข้าไปแล้วจะอิ่มเกินไป และยังมีการประดิษฐ์ไส้หลากหลายขึ้นด้วย (บางชนิดพัฒนามาเป็น ‘เสี่ยวหลงทังเปา’ หรือซาลาเปาไส้เนื้อสับมีน้ำซุปขลุกขลิกอยู่ข้างใน)

ที่อดกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ ‘หมั่นโถวไท่เสียว์’ (太学馒头) หมั่นโถวที่โด่งดังแห่งราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ.960-1127) ตามที่ทราบกันดีว่า คำ ‘ไท่เสียว์’ ใช้เรียกสำนักศึกษาระดับสูงของจักรพรรดิ  ดังนั้นหมั่นโถวชนิดนี้ก็ย่อมต้องมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับสถานศึกษานี้เอง

กล่าวคือ ต้นรัชกาลหยวนเฟิง จักรพรรดิซ่งเสินจง ได้เสด็จเยือนสถานศึกษาไท่เสียว์  ขณะนั้นเป็นเวลาอาหารของบรรดาอาจารย์และศิษย์ ซึ่งกำลังหม่ำหมั่นโถวกันอย่างเอร็ดอร่อย  พระองค์จึงถือโอกาสนี้ร่วมเสวยหมั่นโถวด้วย  หลังจากลองชิมแล้วก็ติดพระทัยในหมั่นโถวรสโอชาเป็นอย่างมาก  ถึงกับรับสั่งด้วยความพอพระทัยว่า  “ใช้สิ่งนี้(หมั่นโถว)บำรุงเลี้ยงปัญญาชน  ก็มิมีสิ่งใดต้องละอายแก่ใจแล้ว”

สำนักไท่เสียว์จึงนำหมั่นโถวแสนอร่อยมามอบเป็นของกำนัลแด่ญาติมิตร และได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและจิตสำนึกในบุญคุณต่อองค์จักรพรรดิ  ซึ่งหลังจากนั้น ชื่อเสียงของหมั่นโถวแห่งไท่เสียว์ก็ขจรขจายไปทั่ว  และแม้ว่าราชวงศ์ซ่งจะเสื่อมสลายลงไปนานแล้ว  หมั่นโถวไท่เสียว์ก็ยังเป็นที่รู้จักกันในสมัยต่อๆมาจนถึงวันนี้.

ที่มา : longfong.com / ซีน่าเน็ต / หนังสือประวัติอาหาร ‘สือหลินไว่สื่อ’《食林外史》ผู้แต่ง จูเจิ้นฟาน (朱振藩)
กำลังโหลดความคิดเห็น