xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตอดีตนายกฯเจ้าจื่อหยาง ‘บทเรียน’ ของประชาธิปไตยในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้เรื่องเมืองจีน / ผู้เฒ่าวัย 86 ปี อาศัยอยู่ในบ้านเก่าสมัยราชวงศ์ชิงในกรุงปักกิ่ง ที่ล้อมด้วยกำแพงปูนสูงพร้อมยามรักษาความปลอดภัยประจำตามจุดสำคัญ ประตูหน้าบ้านที่ปราศจากร่องรอยการเข้าออกถูกปิดตายซ้ำด้วยแถวจักรยานที่จอดเรียงรายของผู้ขับขี่ ชาวบ้านที่สัญจรไปมาละแวกนั้นเล่าว่า เคยเห็นผู้เฒ่าออกมาเดินเล่นที่สนามและออกกำลังกายเบาๆบ้างเป็นครั้งคราว และแทบจำไม่ได้ว่าท่านคือ อดีตนายกฯ เจ้าจื่อหยาง

ชีวิตของอดีตผู้นำที่เคยมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองจีนในวันนี้ ใช้เวลาไปกับการฟังเพลง อ่านหนังสือและเขียนบทความ และถึงแม้ท่านจะห่างหายไปจากวงการเมืองจีนนานแล้ว แต่ข่าวคราวของท่านยังคงเป็นหัวข้อสนทนากันในเว็บไซต์ต่างๆทั้งของจีนและต่างประเทศ

...................................................

เจ้าจื่อหยาง (赵紫阳) เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1919 เป็นนักการเมืองคนสำคัญในรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรี ในปี ค.ศ.1980-1987 และเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน ในปีค.ศ.1987-1989   หลายคนเชื่อว่า หากไม่มี ‘ข้อผิดพลาด’ เกิดขึ้น เจ้าจื่อหยางคนนี้จะเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากนายเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในที่สุดชะตาชีวิตของเขากลับตรงกันข้ามจากคำกล่าวนั้นราวฟ้ากับดิน

เจ้า เกิดในครอบครัวเจ้าที่ดินผู้มีอันจะกินในมณฑลเหอหนันทางตอนกลางของประเทศ เขาเข้าร่วมในสันนิบาติเยาวชนลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเมื่อปีค.ศ.1932 และเคยทำงานให้กับพวกใต้ดินต่อต้านทหารญี่ปุ่นระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในปีค.ศ.1937-1945

เจ้าจื่อหยาง เริ่มมีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงที่อยู่ในกว่างตง (มณฑลกวางตุ้ง) หลังปีค.ศ.1951 โดยในช่วงทศวรรษปี 1960 เขาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯประจำมณฑลกว่างตง

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) เจ้า ต้องลงจากตำแหน่งผู้นำระดับสูงในพรรคเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุน หลิวเส้าฉี ผู้ถูกใส่ร้ายว่าเป็นหนึ่งในขบวนการปฏิวัติ เจ้ายังถูกประจานไปทั่วเมืองกว่างโจว(กวางเจา) และถูกขับให้ออกไปทำงานในชนบทที่มองโกเลียใน เมื่อปีค.ศ.1971

ราวปีค.ศ.1973 เจ้าจื่อหยาง ได้กลับเข้าสู่วงการเมืองและกู้ฐานะกลับคืนมาอีกครั้งโดยการช่วยเหลือของอดีตนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล โดยเขาถูกส่งไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯระดับหนึ่งที่มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ในปี 1975 มณฑลใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาส เนื่องจากในเวลานั้นซื่อชวนเป็นที่อาศัยของประชากรกว่า 100 ล้านคนที่กำลังอดอยากแร้นแค้น

ที่นี่เองที่ เจ้า ได้สร้างผลงานไว้อย่างสวยงาม เขาประสบความสำเร็จจากการเสนอให้มีการปฏิรูปการเกษตรในระดับมูลฐานที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนับล้านคนให้ดีขึ้น เกษตรกรแต่ละครัวเรือนมีผลผลิตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปลดเปลื้องความยากจนให้แก่ชาวบ้านภายหลังได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม

เจ้า ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการกลางพรรคฯ ตั้งแต่ปีค.ศ.1973 และได้รับความไว้วางใจจากผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 2 ของจีน เติ้งเสี่ยวผิง ให้เป็นสมาชิกสำรองในกรมการเมืองในปีค.ศ.1977 และเลื่อนเป็นสมาชิกเต็มตัวในปี 1979 จนกระทั่งในปี 1982 จึงได้เข้าเป็นสมาชิกในคณะกรรมการของกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์

หลังเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียง 6 เดือน เจ้าจื่อหยาง ก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ต่อจาก นายหัวกั๋วเฟิง ตามมติของสมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติชุดที่ 6 ในปีค.ศ.1980 ในสมัยของประธานาธิบดี หลี่เซียนเนี่ยน  นอกจากนี้ เขายังถูกวางตัวให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และได้เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ.1987

เติ้งเสี่ยวผิง มอบหมายให้ เจ้าจื่อหยาง ดูแลรับผิดชอบดำเนินงานด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจร่วมกับ หูเหยาปัง ทั้งสองต่างยืนกรานที่จะสนับสนุนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศสู่นานาชาติของ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของพวกเขาในสมัยนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นผลให้ เจ้า สูญเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ หลี่เผิง ในสมัยต่อมา (ค.ศ.1988)

...................................................................

ด้านนโยบายทางเศรษฐกิจของเขานั้น บัดนี้ก็ก้าวหน้าไปตามจังหวะเวลาตามแต่สถานที่ ดังที่กล่าวแล้วว่า เจ้าจื่อหยาง ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำ เติ้ง ให้รับผิดชอบเป็น 'จอมทัพ' ในแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เขาได้ใช้ประสบการณ์การปฏิรูปด้านการเกษตรในซื่อชวน โดยสนับสนุนแนวคิดการพัฒนาที่เป็นวิถีทางของการปฏิรูประบอบสังคมนิยมและยอมให้มวลชนทุกระดับชั้นได้กินดีอยู่ดีโดยถ้วนหน้า ซึ่งเราอาจเห็นว่าสังคมจีนได้มาถึงจุดนั้นแล้วในวันนี้

เจ้า มีแนวคิดคล้ายคลึงกับ วั่นหลี่ รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านการเกษตร พวกเขาร่วมกันทำลายระบบการเกษตรแบบคอมมูน และส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละครัวเรือนเป็นหน่วยการผลิตที่เข้มแข็งและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งในขณะนั้น รองนายกฯ วั่นหลี่ ก็ได้รับคำชมเชยในการปฏิรูปการเกษตรควบคู่ไปกับนายกฯ เจ้าจื่อหยาง

ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 1970 เจ้าจื่อหยาง ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนด้วยการแสดงความโปร่งใสของรัฐบาลและชูคำขวัญที่ผนวกเอาชาวบ้านธรรมดาๆทั่วไปเข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างนโยบายแห่งชาติ ดังเช่นในซื่อชวนที่เขาประสบความสำเร็จจากการชูคำขวัญ 'อยากมีข้าวกิน หาจื่อหยาง' แต่ทว่า ช่วงทศวรรษที่ 1980 เจ้าจื่อหยาง กลับถูกตราหน้าจากหลายฝ่ายว่าเป็นผู้หันเหจากหลักการของมาร์กซิสม์

นายเจ้าจื่อหยาง เคยกล่าวไว้ว่า การปฏิรูปทางการเมืองคือ ‘บททดสอบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบอบสังคมนิยม’ เขายังเชื่อว่า ‘การพัฒนาเศรษฐกิจแยกไม่ออกจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบอบประชาธิปไตย’

ช่วงต้นค.ศ.1986 เจ้า กลายเป็นผู้นำระดับสูงคนแรกของจีนที่ออกมาแสดงทัศนะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองของประเทศ โดยการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้แทนในระดับหมู่บ้านและระดับต่างๆทั้งหมดจนมาถึงสมาชิกในคณะกรรมการกลางฯ

...................................................................

ชีวิตทางการเมืองของ เจ้าจื่อหยาง ดำเนินมาจนถึงทางตัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุงปักกิ่ง ในปีค.ศ.1989 ผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ปิดฉากชีวิตทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ลงอย่างถาวร เจ้าจื่อหยาง ถูกลดบทบาทและห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดใด

โดยก่อนหน้าที่บรรดาผู้นำของพรรคฯ อาทิ นายเติ้งเสี่ยวผิง หยางสั้งคุน(ประธานาธิบดีในขณะนั้น) หลี่เผิง และหูฉี่ลี่ จะตัดสินใจแถลงการณ์ใช้กำลังทหารเข้าล้อมปราบกลุ่มผู้ประท้วงในนาทีสุดท้าย เจ้าจื่อหยาง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนได้ตะลุยเข้าไปเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังอดอาหารประท้วง ณ กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อวิงวอนให้ทุกคนผละจากสถานการณ์ดังกล่าวก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ผลที่ตามมาจากการดิ้นรนอย่างเต็มกำลังของเจ้า ทำให้เขาถูกมองว่าเห็นอกเห็นใจนักศึกษา และถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดที่ดำรงอยู่ คำถามที่หลายคนยังคงติดค้างอยู่ในใจก็คือ ‘แรงดลใจอะไรที่ผลักดันให้เขาทำเช่นนั้น ?’ จนถึงวันนี้คำถามดังกล่าวยังคงเป็นที่กังขาและวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบสิ้น บ้างก็ว่าการที่ เจ้า เข้าไปแสดงท่าทีไกล่เกลี่ยในกลุ่มผู้ประท้วงครั้งนั้นเพราะหวังผลทางจิตวิทยา เพราะเขาหวังจะได้รับความนิยมเหนือนักการเมืองอนุรักษ์นิยมผู้ยึดมั่นในหลักการอย่าง หลี่เผิง

หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เจ้าจื่อหยาง ถูกควบคุมบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักในกรุงปักกิ่ง และถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลเป็นต้นมา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่ชีวิตของผู้เฒ่า เจ้าจื่อหยาง ต้องดำเนินไปภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐทุกย่างก้าว

อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้รับความเห็นใจจากเพื่อนข้าราชการในวงการเมืองและบุคคลต่างๆ ที่ต่างหวังว่าเขาจะได้รับอิสรภาพตามสิทธิมนุษยชนในที่สุด

...................................................................

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 นายเจ้าจื่อหยางป่วยด้วยโรคปอดบวม ซึ่งส่งผลให้ปอดทำงานบกพร่อง เขาต้องอยู่ในความดูแลอย่างเข้มงวดโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนปีที่แล้ว

หลังจากที่ข่าวลือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าจื่อหยาง แพร่สะพัดในสื่อฮ่องกงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(8 ม.ค.) คนในครอบครัวของเขาออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ก็ยอมรับว่า ตลอดหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ เจ้า เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งจริง แต่อาการป่วยไม่หนักหนานัก

สื่อไต้หวันและสื่อตะวันตกบางแหล่งต่างวิเคราะห์ว่า ข่าวลือดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลต้องการปิดบังข่าวเกี่ยวกับ เจ้าจื่อหยาง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่สงบตามมาหลังการเสียชีวิตของเขา เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับการเสียชีวิตของอดีตเลขาธิการพรรคฯ หูเหยาปัง ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปีค.ศ.1989 มาแล้ว.

ข้อมูลจาก wikipedia.org / chinesenewsnet.com / sokamonline.com
กำลังโหลดความคิดเห็น