xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็นตราสัญลักษณ์แห่งประเทศจีน...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายใต้ตราสัญลักษณ์ประเทศสีทองและสีแดงอันสวยเด่นเป็นสง่าบนประตูเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง จะมีกี่คนที่รู้ว่า ความเป็นมาของตราสัญลักษณ์ดังกล่าว มีกำเนิดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1949 ก่อนที่จะสถาปนาความเป็นสาธารณประชาชนจีน (1 ตุลาคม) สภาที่ปรึกษาทางการเมือง เปิดรับการออกแบบตราสัญลักษณ์ เพลงชาติและธงชาติจากทั่วประเทศ ผ่านหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องแสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศ ถ่ายทอดรูปแบบอำนาจการปกครอง ตลอดจนมีความเข้มแข็ง และสวยงาม พร้อมกันนั้น ก็ได้จัดตั้งผู้รับผิดชอบ คือภาควิชาโยธา มหาวิทยาลัยชิงหัว และวิทยาลัยศิลปะเป่ยผิง(ปัจจุบันคือวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ)

จนกระทั่งวันที่ 20 สิงหาคมปี 1949 คณะทำงานก็ได้รับภาพตราสัญลักษณ์รูปแบบต่างๆ จากทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 900 ชิ้น แต่ทว่าผลงานมากมายเหล่านั้นก็ยังไม่ได้ดั่งใจ ดังนั้น ในการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองในปลายเดือนกันยายนจึงมีมติผ่านเพียงเนื้อเพลงชาติ และรูปแบบของธงชาติ

หลังจากนั้น ในการประชุมสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติครั้งที่ 1 ก็ได้อนุญาตให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งสองแห่ง ร่วมมือกันออกแบบตราสัญลักษณ์ของประเทศขึ้น
ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยชิงหัวมีศาสตราจารย์เหลียงซือเฉิง สถาปนิกชื่อดังของจีนเป็นหัวหน้ากลุ่ม และยังมีสมาชิกอันประกอบด้วย หลินฮุยอิน-สถาปนิก หลีจงจิน-ช่างศิลป์ ม่อจงเจียง-ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตย์ จูชั่งจง-นักออกแบบตึก ร่วมด้วยวังกั๋วอี้ว์ หูชงจิ้ง จางชังหลิงและหลัวเจ๋อเหวิน นักวิจัยด้านสถาปัตยกรรมโบราณ

ด้านทีมวิทยาลัยศิลปะเป่ยผิง ก็ร่วมด้วยศาสตราจารย์จางติง-ศิลปินผู้มีชื่อเสียง จางกวงอี่ว์ โจวหลิงจาว จงหลิง เป็นต้น

เพื่อให้ตราสัญลักษณ์ประเทศได้อวดโฉมทันกับวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือวันชาติจีน 1 ตุลาคม 1950 ทั้งสองทีมจึงต้องเร่งมือศึกษาและออกแบบ จนในที่สุด สัญลักษณ์ของประเทศก็เสร็จสิ้น และมีความหมายดังนี้

“การใช้เฟือง รวงข้าว ดาว 5 ดวง เป็นหลัก เป็นการแสดงถึงความสามัคคีของสหภาพแรงงานเกษตรกร และประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนั้น ประตูเทียนอันเหมินที่เป็นองค์ประกอบหลักอีกส่วนหนึ่ง ก็สะท้อนถึง ‘เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม(五四运动)’ ซึ่งเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ อันเป็นจุดกำเนิดของยุคจีนใหม่ ที่มีเทียนอันเหมินเป็นสัญลักษณ์ของพลังชนชาติจีน”

คุณทราบหรือไม่ว่า ใครคือผู้กำหนดว่าควรจะมีรวงข้าวอยู่บนตราสัญลักษณ์ประเทศ ?

การตอบคำถามนี้ต้องไล่ย้อนไปยังเมื่อฤดูหนาวของปี 1942 ที่เมืองฉงชิ่ง เมืองแห่งหุบเขา ท่ามกลางสายลมที่หนาวยะเยือก เพื่อส่งสหายต่งปี้อู่กลับเหยียนอัน มาดามซ่งชิ่งหลิง ภรรยาของดร.ซุนยัดเซ็นจึงได้จัดงานเลี้ยงน้ำชาขึ้น โดยมีโจวเอินไหลพร้อมเติ้งอิงเชา ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากร่วมงานด้วย บนโต๊ะน้ำชามีรวงข้าวสีเหลืองทองอร่ามที่ชาวบ้านมอบให้อยู่ 2 รวง ในเวลานั้นก็มีคนเอ่ยขึ้นว่า รวงข้าวนี้สวยงามราวกับเป็นทองคำ

แต่มาดามซ่งกลับตอบว่า “รวงข้าวนี้มีค่ายิ่งกว่าทองคำ เพราะพลเมืองบนแผ่นดินจีน 80% ล้วนเป็นเกษตรกร หากผลผลิตทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ทุกปี ประชาชนก็ย่อมอิ่มท้องและมีเสื้อผ้าใส่อบอุ่น”

นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ยินดังนั้น จึงตอบด้วยความรู้สึกเต็มตื้นว่า “รอจนประเทศได้รับการปลดปล่อยแล้ว พวกเราต้องนำรวงข้าวไปประดับอยู่บนตราสัญลักษณ์ประเทศ”

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปลดเปลื้องความทุกข์เข็ญของประชาชนได้ทั่วประเทศแล้ว พวกเขาก็มิได้ลืมเลือนคำพูดในงานน้ำชาครั้งนั้น .

เรียบเรียงจาก ซินหัวเน็ต, ไชน่ายูธเน็ต

รู้จักประเทศจีนโดยสังเขป
กำลังโหลดความคิดเห็น