xs
xsm
sm
md
lg

แม่น้ำเหลือง (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


.................

อา เพื่อน! ความโอ่อ่าห้าวหาญเยี่ยงนักสู้ของหวงเหอ ปรากฏขึ้นเหนือดินแดนที่ราบเอเชีย

มันแสดงถึงจิตวิญญาณของชนชาติ ทั้งยิ่งใหญ่เกริกก้องและแข็งแกร่งน่ายำเกรง

ณ ที่นี้ ข้าจะร่ำร้องบทเพลงสรรเสริญแด่เธอ......หวงเหอ......


(เนื้อร้อง)

ข้ายืนอยู่ ณ ยอดเขาสูง มองเห็นคลื่นหวงเหอซัดสาด ไหลลิ่วสู่อาคเนย์
คลื่นโหมซัดสาด ลูกแล้วลูกเล่าพลิกตัวอย่างบ้าคลั่ง กลิ้งไปกลิ้งมา
จากตอนล่างของเทือกเขาคุนหลุน ไหลลงสู่ผืนน้ำเคียงข้างทะเลเหลือง
แบ่งแยกผืนดินจงหยวนเป็นเหนือใต้
..............

อา หวงเหอ!เธอคือแหล่งกำเนิดของมวลหมู่ชนเชื้อสายจีน!
วัฒนธรรมของชาติกว่าห้าพันปี ได้ถือกำเนิดขึ้นจากเธอถิ่นนี้
อีกเรื่องราวเล่าขานแห่งวีรบุรุษผู้กล้านานานาม ก็โลดแล่นอยู่รอบล้อมตัวเธอ!
..............

อา หวงเหอ! เธอช่างยิ่งใหญ่เกรียงไกรและแข็งแกร่งน่ายำเกรง
.............

วีรบุรุษและวีรสตรีทั้งมวลแห่งมาตุภูมิ จงเอาอย่างความยิ่งใหญ่ไพศาลและความหยัดยืนมิย่อท้อ
.....เยี่ยงหวงเหอ.....


บางตอนจาก บทเพลงสดุดีแม่น้ำเหลือง ‘หวงเหอซ่ง’ (黄河颂) ประพันธ์คำร้องโดย กวงเว่ยหรัน ประพันธ์ทำนองโดย สี่ซิงไห่ เมื่อ มีนาคม ค.ศ.1939 ณ เมืองเหยียนอัน

รู้เรื่องเมืองจีน / การขับร้องหมู่บทเพลงแห่งแม่น้ำเหลือง หรือหวงเหอ 《黄河大合唱》 มีกำเนิดมาราว 60 กว่าปีก่อน โดยถูกนำไปขับกล่อมผู้คนตามเมืองต่างๆในประเทศจีนและยังแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย

บทเพลงอันทรงคุณค่าที่บอกเล่าถึงความยิ่งใหญ่ไพศาล และความหนักแน่นมั่นคงแห่งสายน้ำหวงเหอ เต็มไปด้วยมนตร์ขลังของความภาคภูมิใจและจิตวิญญาณแห่งวีรบุรุษผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์จีนและวัฒนธรรมจงหยวน จากบุญคุณอันยิ่งใหญ่ในฐานะถิ่นกำเนิดที่หล่อเลี้ยงแดนดินจงหยวนให้อุดมสมบูรณ์ จนกลายมาเป็น 'บ้าน' ของลูกหลานจีนในวันนี้

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า บทเพลงสรรเสริญแห่งแม่น้ำเหลืองยังเป็นสายใยแห่งความผูกพันระหว่างลูกหลานเชื้อสายจีนในที่ต่างๆกับมาตุภูมิอีกด้วย

ผู้ให้กำเนิด 'หวงเหอซ่ง'

หากหวนรำลึกถึงกำเนิดของบทเพลงอมตะชิ้นนี้แล้ว คงต้องกล่าวถึงนามผู้สร้าง 2 ท่านด้วยกันคือ กวีชื่อ กวงเว่ยหรัน กับนักดนตรีและนักแต่งเพลง สี่ซิงไห่ โดยครั้งแรกที่มีการบรรเลงบทเพลง 'หวงเหอซ่ง' นี้มี อูซีหลิง ผู้เป็นเพื่อนเก่าของกวงและสี่ทำหน้าที่เป็นวาทยกร อูซีหลิงเล่าถึงบุคคลทั้งสองว่า

เขารู้จักกับสี่ซิงไห่ (ค.ศ.1905-1945) ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1936 ขณะนั้นอายุเพียง 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ในเซี่ยงไฮ้ อูร่วมอยู่ในกลุ่มนักร้องประสานเสียงสมัครเล่น ที่แสดงดนตรีเพื่อปลุกใจต่อต้านทหารญี่ปุ่น ซึ่งสี่ซิงไห่ได้มีโอกาสมาฝึกสอนการร้องเพลงให้กับกลุ่ม อูยังได้เรียนรู้วิธีการเป็นวาทยกรครั้งแรกจากสี่ด้วย หลังจากนั้นทั้งสองก็ยังได้ร่วมในกิจกรรมดนตรีเพื่อชาติหลายครั้ง

ส่วนกวงเว่ยหรัน (ค.ศ.1913-2002) นั้นอูเล่าว่ามารู้จักทีหลัง เมื่อครั้งกวงคิดก่อตั้งคณะนักร้องประสานเสียงเพื่อเดินทางไปขับกล่อมบรรดาเหล่าทหารแห่งกองทัพปลดแอกที่เมืองเหยียนอัน ขณะนั้น กวงมีตำแหน่งและบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย

สำหรับบทเพลง 'หวงเหอซ่ง' ที่ยิ่งใหญ่อลังการนั้น อูเล่าว่า เดิมทีกวงแต่งบทกวีขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นสี่จึงนำมาประกอบทำนองเพลงทีหลัง ซึ่งกวงเว่ยหรันในฐานะผู้ดูแลวงปรารถนาจะใช้บทเพลงดังกล่าวเป็นการแสดงความขอบคุณต่อบุคคลระดับต่างๆและผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์

โดยเขาได้ประพันธ์บทเพลงหวงเหอเป็นบทเพลงร้องหมู่ชุดใหญ่หลายบทเพลง ทั้งที่เป็นทำนองสำหรับนักร้องชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว บทร้องคู่ ร้องหมู่ และบทร้องประสานเสียงชายหญิง และโคลงกลอน รวม 8 บท

อูรำลึกให้ฟังว่า หลังจากการแสดงคืนแรกในเหยียนอันผ่านไป 2 เดือน กวงเว่ยหรันได้นำโน้ตเพลง 《黄河大合唱》 ที่แต่งเสร็จสมบูรณ์มาบอกสี่ซิงไห่และทุกคน

'เมื่อกวงเว่ยหรันอ่านท่อนสุดท้ายของโคลงจบลง ทั้งห้องเงียบสงัด ชั่วอึดใจต่อมาทั้งห้องก็ครึกโครมขึ้นด้วยเสียงปรบมือ สี่ซิงไห่ตื่นเต้นถึงกับลุกขึ้นยืนแล้วคว้าเอาโคลงในมือของกวงไปทันที แล้วบอกกับทุกคนว่าเขาจะแต่งทำนองประกอบทันที แล้วเขาก็ทำเสร็จใน 20 วันต่อมา' ผู้เฒ่าอูย้อนอดีตในคืนวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1939

อูซีหลิงยังเล่าอีกว่า ตอนที่เขาไปเยี่ยมสี่ซิงไห่ที่บ้านเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนั้น สี่ยอมรับว่าการแต่งทำนองประกอบบทร้อง 'หวงเหอซ่ง' เป็นเรื่องที่ยากที่สุด ตอนนั้นเขาใช้เวลาเพียง 4 วันในการแต่งทำนองให้กับบทเพลงอื่นๆในชุด ยังเหลือก็แต่ 'หวงเหอซ่ง' ที่เขาแก้ไปแล้ว 3 ครั้งก็ยังไม่พอใจ

วันนั้นอูซีหลิงได้มีโอกาสพูดคุยและร่วมซ้อมร้องเพลงกับสี่ซิงไห่อยู่นาน จนในที่สุดวันที่ 31 มีนาคม ตัวโน้ตทำนองเพลง 'หวงเหอซ่ง' ก็ปรากฏขึ้นอย่างเป็นระเบียบบนกระดาษตัดขอบเรียบที่เย็บเล่มด้วยมือ

เดือนต่อมา (เมษายน) การฝึกซ้อมก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเครื่องดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีจีนเท่าที่หาได้ อาทิ ซอเอ้อหู ไวโอลิน ขลุ่ย กลอง ฆ้อง เม้าท์ออร์แกน เครื่องเคาะประกอบการสวดมนตร์ ฯลฯ รวม 11 ชิ้น โดยมีนักร้องมาร่วมซ้อม 30 คน แยกกัน 4 ระดับเสียง ซึ่งต้องซ้อมร้องเพลงเฉลี่ยวันละเพลงอย่างเอาจริงเอาจัง

เมื่อบทเพลง 'หวงเหอซ่ง' บรรเลงในคืนแรก มันคือเย็นวันที่ 13 เมษายน 1939  บทเพลงร้องหมู่แม่น้ำเหลืองก็เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ในวาระที่คณะนักร้องประสานเสียงอำลายุทธภูมิสันเป่ยที่เมืองเหยียนอัน  การแสดงจัดขึ้นในหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในเมือง

ค่ำคืนนั้น กวงเว่ยหรันเป็นผู้รับผิดชอบอ่านโคลงกลอนสดุดี 'หวงเหอ' ที่เขาแต่งขึ้นเอง อูซีหลิงรับหน้าที่เป็นวาทยกร คณะนักร้องทุกคนทุ่มเทจิตใจอย่างเต็มที่ให้กับการขับกล่อมบทเพลงอันยิ่งใหญ่ พวกเขาดื่มด่ำไปกับบทเพลงจนลืมโลก จวบจนเสียงปรบมืออันกึกก้องของผู้ชมดังขึ้นอย่างยาวนาน จึงได้ปลุกทุกคนให้ตื่นขึ้นจากภวังค์


ในกลุ่มผู้ชมที่เข้าร่วมรับฟังความประทับใจครั้งประวัติศาสตร์นั้นเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประจำที่เมืองเหยียนอัน รวมถึงสหายเหมาเจ๋อตงด้วย.

เรียบเรียงจาก ซินหัวเน็ต 05/01/05



กำลังโหลดความคิดเห็น