xs
xsm
sm
md
lg

ส่งความสุขด้วย 'หยก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพชรภูมิปัญญาจีน / หลายประเทศบนโลกมีวัฒนธรรมการใช้เครื่องหยก แต่คงไม่มีชาติไหนผูกพันลึกซึ้งกับหยกได้เท่ากับชาวจีนอีกแล้ว ชาวมังกรนิยมมอบเครื่องหยกให้กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยให้ความสำคัญในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามในสังคม เราลองมาย้อนดูความเป็นมาของของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้กัน...

ตั้งแต่ครั้งโบราณ ชาวมังกรมีตำนานเล่ากันมาว่า เมื่อผานกู่ ผู้บุกเบิกฟ้าดินสิ้นชีพลง ลมหายใจของผานกู่ได้กลายเป็นสายลมและหมู่เมฆ ในขณะที่เนื้อหนังกลายเป็นดิน ไขกระดูกกลายเป็นหยกและไข่มุก ดังนั้น จึงมีความเชื่อว่าหยกมีคุณค่าเทียบได้กับคุณธรรมของมนุษย์ ทั้งความงดงามและ ความคงทน

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่า จีนมีการนำหินมีค่าชนิดนี้มาเป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับตั้งแต่ยุคหินใหม่ในกว่า 10,000 ปีที่แล้ว โดยมีการขุดพบหยกรูปทรงเหมือนงู อายุมากถึง 12,000 ปีในถ้ำเซียนโกว เมืองไห่เฉิง มณฑลเหลียวหนิง ตลอดจนหยกสำหรับแขวน อายุ 7,000 ปี ในเมืองเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเครื่องหยกที่พบในยุคดังกล่าวส่วนใหญ่นำมาเป็นเครื่องประดับส่วนตัว

ทักษะการผลิตหยกเริ่มพัฒนาอย่างชัดเจนในยุคราชวงศ์ซาง(1,700-1,100 ปีก่อนคริสตกาล) มีการใช้หยกทั้งเป็นเครื่องมือในการผลิตอาวุธ เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องประดับและภาชนะ รวมถึงเริ่มใช้เครื่องมือโลหะแกะสลักหยก ทำให้เครื่องหยกที่มีทรงกลมเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับกลายเป็นสิ่งของที่มอบให้แก่กัน

แต่ในยุคต่อมา คือยุคราชวงศ์โจว(1,066-256 ปีก่อนคริสตกาล) ชนชั้นปกครองเริ่มให้คุณค่าหยกในฐานะตัวแทนของความเมตตากรุณา ความถูกต้อง ศีลธรรมจรรยา ความซื่อสัตย์ ความฉลาดเฉลียว และความกล้าหาญ ดังนั้น หยกจึงไม่มีค่าเป็นเพียงหินสวยงามอีกต่อไป แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความดีงามในสังคม และมีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดและวัฒนธรรมของชาวจีนมาตั้งแต่ยุคนั้น

เทคนิคการแกะสลักหยกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคชุนชิว (770 -221 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งทำให้ยุคสมัยนี้เป็นที่รู้จักจากผลงานวิจิตรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายมังกร(龙)และนกฟินิกซ์(凤) ที่ปรากฏอยู่งานฝีมือยุคนั้น จนตกทอดมาเป็นสมบัติล้ำค่าจนทุกวันนี้

ในช่วงยุคราชวงศ์ฉิน (221 -206 ปีก่อนคริสตกาล) และราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 206) เครื่องหยกที่เคยจำกัดวงไว้เฉพาะชนชั้นขุนนาง ก็เริ่มนิยมในคนทั่วไป นอกจากนั้น รูปทรงของหยกก็ได้รับการดัดแปลงและสร้างสรรค์มากขึ้นจนเม็ดหยกที่เป็นทรงกลมกลายเป็นสิ่งล้าสมัย

ในยุคนั้น ชาวจีนเริ่มมีความเชื่อว่าพลังของหยกจะช่วยให้อายุของพวกเขายืนยาวขึ้น หรือแม้กระทั่งจะเป็นอมตะเหมือนเทพยดาหากได้มีไว้ในครอบครอง ดังนั้น การฝังหินมีค่าชนิดนี้กับผู้เสียชีวิตจึงเริ่มกลายเป็นสิ่งปกติในสังคม ซึ่งก็มีการขุดพบเครื่องหยกและชุดหยกที่เย็บด้วยด้ายทองคำในหลุมศพในสมัยฮั่น

อย่างไรก็ตาม ในยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-280) จนถึงสมัยซ่งและหยวน (ค.ศ.960-1368) พัฒนาการด้านเครื่องหยกของจีนไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากประเทศกลับเข้าสู่ภาวะศึกสงคราม จนมาถึงราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) จึงเริ่มเกิดช่างฝีมือที่เก่งกาจ ซึ่งสืบค้นได้จากการขุดพบแจกันหยกขาวและถ้วยหยกขาวพร้อมฝาปิดทำด้วยทองคำ ในสุสานราชวงศ์หมิง อันเป็นตัวสะท้อนถึงระดับของการแกะสลักหยกในยุคนั้น

เทคนิคการแกะสลักหยกมาถึงจุดสูงสุดในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ซึ่งเป็นยุคศิลปะเฟื่องฟูที่สุดของจีน รูปแบบของการแกะสลักเริ่มหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะค้างคาวกับน้ำเต้า ที่มีการประดิดประดอยจนมากกว่า 100 รูปแบบ เนื่องจากคำว่าค้างคาว (蝙蝠 เปียนฝู)พ้องเสียงกับคำว่า 福 ฝู ที่แปลว่าโชคดี เช่นเดียวกับน้ำเต้าที่เรียกว่า 葫芦หูหลู่ พ้องกับคำว่า 福禄ฝูลู่ ที่แปลว่าโชคลาภวาสนา

ดังเช่น เมื่อแกะสลักค้างคาวไว้บนเงิน ก็จะมีความหมายว่าโชคลาภกำลังอยู่ในมือ ค้างคาวคู่อยู่บนลูกท้อวันเกิด มีความหมายถึงโชคดีและอายุยืนยาวนาน เช่นเดียวกับกวางดาว นกเป็ดน้ำ ที่ต่างก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีด้วย เหล่านี้ล้วนเป็น ตัวสะท้อนให้เห็นว่าชาวจีนในสมัยโบราณมีความปรารถนาต่อชีวิตที่เป็นสุข ตลอดจนเป็นผู้มีอารยธรรม

แต่รูปทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดหลังราชวงศ์ชิงมาจนถึงยุคปัจจุบัน นั่นคือ การแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่กวนอิม อันเป็นตัวบอกเล่าถึงความเชื่อในศาสนาพุทธได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ทั้งนี้ หยกบนแผ่นดินจีนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ นั่นคือ หยกแข็งและหยกอ่อน อันเป็นตัวแบ่งจากธาตุที่ประกอบอยู่ในเนื้อหิน คือธาตุเจไดต์และเนไฟรต์ ซึ่งหยกที่มีธาตุเจไดต์อยู่มากจะมีเนื้อแข็ง สีใสกึ่งโปร่งแสง ในขณะที่หยกที่มีธาตุเนไฟร์ตมากจะมีเนื้ออ่อนกว่า

สำหรับสีของหยกนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ขาว ไปจนถึงเขียว น้ำตาล แดงและดำ ซึ่งชาวจีนจะให้ความสำคัญกับหยกสีเขียวมรกตมากที่สุด

ปัจจุบันแหล่งผลิตหยกที่สำคัญในแผ่นดินใหญ่ คือปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวในมณฑลกว่างตง หยังโจวในมณฑลเจ้อเจียง และในมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งรูปลักษณ์ของหยกที่ผลิตได้จากแหล่งเหล่านี้ก็แตกต่างกันไป เช่น เครื่องหยกที่ผลิตจากปักกิ่งจะมีความเด่น หรูหรา สง่างาม ในขณะที่งานหยกจากเซี่ยงไฮ้มักจะเลียนแบบศิลปะเครื่องเงินยุคโบราณ ด้านกว่างโจวจะเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากเทคนิคตะวันตก มีลักษณะเด่นคือมีความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดกรอบ .

เรียบเรียงจาก เชียนหลงเน็ต/ ไชน่าคัลเจอร์ อินฟอร์เมชั่น เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น