xs
xsm
sm
md
lg

แม่น้ำเหลือง (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้เรื่องเมืองจีน / สายน้ำใหญ่ที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีนนาม 'หวงเหอ' (黄河) ‘ฮวงโห’ หรือ ‘แม่น้ำเหลือง’ ผู้เป็นเสมือน ‘แม่’ ของลูกหลานชาวจีน ผู้ให้ชีวิต ผู้สร้างจิตวิญญาณ สั่งสมอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวจีน

เธออาจเปรียบได้กับนักเดินทางที่รอนแรมผ่านมณฑลและเขตต่างๆทางตอนเหนือของประเทศจีน นับตั้งแต่ ชิงไห่ ซื่อชวน(เสฉวน) กันซู่ หนิงเซี่ย สุยหย่วน(ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน) ส่านซี ซันซี เหอหนัน และซันตง เป็นระยะทางยาวถึง 5,464 กิโลเมตร ซึ่งมีบางตอนที่เธอไต่ขึ้นเหนือและบางตอนไหลล่องใต้คดเคี้ยวตามเส้นทางรูปตัว [ 几 ]

แม่น้ำเหลืองแตกเป็นแม่น้ำสาขามากกว่า 30 สายหลัก และมีแม่น้ำสายน้อยและลำธารอีกนับไม่ถ้วน รวมผืนดินและแหล่งพำนักของผู้คนริมฝั่งน้ำที่เธอไหลผ่านเป็นพื้นที่ทั้งสิ้นมากกว่า 750,000 ตร.กม. หวงเหอมุ่งหน้าไปยังบูรพาทิศและสุดท้ายไหลลงทะเลป๋อไห่ที่มณฑลซันตง

เนื่องจากตอนกลางของสายน้ำไหลเข้าสู่เขตที่ราบสูงที่เป็นดินเหลือง ประกอบกับแม่น้ำสาขาหลายสายยังเต็มไปด้วยดินเลนและดินทรายจำนวนมาก นับเป็นสายน้ำที่มีปริมาณของเลนและทรายจำนวนมากที่สุดในโลก เฉลี่ย 37 กิโลกรัม / ลูกบาศก์เมตร จนมีคำกล่าวว่า 'น้ำ(จากแม่น้ำเหลือง) 1 ชาม เป็นเลนอยู่เสียครึ่งชาม' ส่งผลให้สายน้ำมีสีเหลืองอันเป็นที่มาของชื่อ

ในแต่ละปี สายน้ำหวงเหอตอนกลางจะพัดพาโคลนเลนและทรายลงสู่สายน้ำตอนปลาย คาดว่ามีปริมาณเลนและทรายสูงถึง 400 ล้านตัน/ปีใต้ก้นแม่น้ำเหลืองตอนล่าง  นานวันเข้าทำให้ลำน้ำตื้นเขิน น้ำเอ่อล้นตลิ่งและทลายเขื่อนกั้นน้ำจนเกิดอุทกภัยร้ายแรงหลายครั้ง ซึ่งอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดลุกลามไปถึงนครเทียนจินทางทิศเหนือ ส่วนทางใต้น้ำเคยท่วมไปถึงมณฑลเจียงซูและอันฮุย รวมพื้นที่เสียหายกว้างขวางถึง 250,000 ตร.กม.

แม่น้ำเหลืองกำเนิดขึ้นจากร่องน้ำสามสาย ได้แก่ ข่ายื่อชีว์ เยียว์กู่จงเลี่ยฉีว์ และจาชีว์ บริเวณเชิงเขาทางทิศเหนือของเทือกเขาปาเหยียนคาลาซัน ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,400 เมตร ที่ซึ่งล้อมรอบด้วยยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปีทั่วทั้งสี่ทิศ

หวงเหอช่วงต้นน้ำเป็นช่วงที่มีเส้นทางการไหลคดเคี้ยวมากที่สุด เริ่มตั้งแต่บึงน้ำซิงซู่ไห่ (星宿海) ในมณฑลชิงไห่ ที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมน้ำจากทะเลสาบเล็กๆจำนวนมาก เมื่อไหลออกจากบึงน้ำซิงซู่ไห่ก็ไหลเข้าสู่ทะเลสาบเอ้อหลิงหู (鄂陵湖) และจาหลิงหู (札陵湖) จนไหลเรื่อยมาถึงเมืองหม่าตัว (玛多) อ้อมภูเขาจีสือซัน (积石山) และเทือกเขาซีชิงซัน (西倾山) มาทะลุผ่านหุบเขาหลงหยังเสีย (龙羊峡) และมาออกที่เมืองกุ้ยเต๋อของมณฑลชิงไห่ (青海贵德) หลังจากนั้นไหลเข้าสู่ดินแดนอดีตมณฑลสุยหย่วน (绥远省) และกันซู่

น้ำในบริเวณต้นน้ำที่ไหลจากมณฑลชิงไห่ผ่านเข้ามาในมณฑลกันซู่บริเวณที่เป็นหุบเขาและหน้าผาจำนวนมากยังใสบริสุทธิ์และไม่เป็นสีเหลือง 

ต่อเมื่อไหลเข้าสู่ช่วงตอนกลางของสายน้ำซึ่งเริ่มตั้งแต่ในเขตมองโกเลียในจนถึงมณฑลเหอหนัน   สายน้ำได้หักตัวไหลลงทิศใต้ทะยานเข้าสู่ ที่ราบสูงดินเหลือง (黄土高原)  ผ่านที่ลาดชันและเพิ่มความแรงขึ้นจนตกจากหน้าผากลายเป็นน้ำตกหูโขว่ (壶口瀑布) น้ำจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพราะตะกอนดินทรายและเลนจากที่ราบสูงดังกล่าว

สายน้ำบริเวณตั้งแต่เมืองเมิ่งจิน (孟津) ในมณฑลเหอหนันเรื่อยมาจนถึงมณฑลซันตงเป็นช่วงที่ไหลราบเรียบที่สุด  ไหลผ่านบริเวณที่เป็นโตรกผาซันเหมินเสียและที่ราบภาคเหนือของจีน  ที่หวงเหอช่วงปลายน้ำนี้เองเป็นจุดที่เธอจะกระโจนลงสู่ห้วงทะเลลึกที่บริเวณเกือบเหนือสุดของอ่าวไหลโจว (莱州湾) ในมณฑลซันตง

แม่น้ำเหลืองนับเป็นอู่อารยธรรมอันทรงคุณค่าแห่งหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่ มีหลักฐานการขุดพบซากฟอสซิลที่ระบุว่า มีมนุษย์วานรอายุ 5-6 แสนปีก่อนในยุคดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่ เรียก ‘มนุษย์วานรหลันเถียน’ "蓝田猿人" หรือ มนุษย์วานรที่เป็นบรรพบุรุษของชนชาติจีนที่อาศัยอยู่ในอำเภอหลันเถียนของมณฑลส่านซี

และเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองเป็นแหล่งที่ดินดี และอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุสำคัญต่อพืชจึงเหมาะแก่การเพาะปลูก กอปรกับสภาพอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นเหมาะแก่การตั้งบ้านสร้างเมือง ถิ่นนี้จึงเป็นแหล่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางประเพณีวัฒนธรรม เช่น บริเวณสายน้ำตอนกลางและตอนปลายเป็นแหล่งกำเนิด 'วัฒนธรรมหยั่งเสา' (仰韶文化) ที่มีอายุเก่าแก่ราว 3,000 - 5,000 ปี

ทั้งนี้ ตามหลักฐานที่มีการค้นพบซากโบราณสถานและเครื่องเคลือบสีโดยเฉพาะเครื่องเคลือบสีแดงซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'วัฒนธรรมเครื่องเคลือบสี' (彩陶文化) กระจายอยู่ในอาณาบริเวณมณฑลเหอหนัน ซันซี ส่านซี กันซู่ ชิงไห่ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินและกระดูกสัตว์อีกด้วย

ริมฝั่งแม่น้ำเหลืองยังเป็นแหล่งตั้งเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆในประวัติศาสตร์จีน เช่น นครอันหยัง นครฉางอัน(ซีอัน) นครลั่วหยัง เสียนหยัง และไคเฟิง.



โปรดติดตาม เกร็ดความรู้เรื่องแม่น้ำเหลือง(ตอนจบ)  ได้ในคอลัมน์ 'รู้เรื่องเมืองจีน' วันพุธที่ 5 ม.ค.48  คอลัมน์ใหม่ที่จะนำเสนอสารพันเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับเมืองจีน.  
กำลังโหลดความคิดเห็น