xs
xsm
sm
md
lg

หมื่นลี้ไร้เมฆ:หญิงสาวผู้ตามรอย 'ซำจั๋ง'(2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ทศวรรษที่ 1960 ก่อนที่การปฏิวัติวัฒนธรรมจะเริ่มขึ้น ซูหยุน (书云) เกิดในครอบครัวนายทหารตระกูลซุน (孙) ในมณฑลซานตง

เธอเล่าว่า เด็กชาวจีนที่เกิดในยุคเดียวกันกับเธอต่างก็เติบโต-ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในรูปลักษณ์เดียวกัน ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม เรดการ์ด สมุดเล่มแดงของเหมา เพลงสรรเสริญประธานเหมา แนวความคิดของ 'การกำจัด 4 เก่า' คือ ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และ ความคุ้นเคยเก่า ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ซูหยุนกล่าวว่า สำหรับตัวเธอยังมีโชคเสียหน่อยที่เติบโตมากับ 'คุณยาย' ตัวแทนของสังคมจีนแบบเก่า ...... คุณยาย ผู้รัดเท้ามาตั้งแต่เจ็ดขวบ และ ศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างมั่นคง ยังเชื่อใน บุญ-บาป กรรมดีและกรรมชั่ว ส่งผลให้ตัวเธอยังพอมีภาพรางๆ เกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ในหัวสมองบ้าง

ตรงกันข้าม บิดา อันเป็นนายทหารพรรคคอมมิวนิสต์ และนับถือประธานเหมาอย่างสุดหัวใจ ก็มักจะต่อว่า แม่ยาย ที่มักจะสวดมนต์ และ จุดธูป-เทียน เพื่อบูชาพระพุทธรูป อยู่เสมอ .... ความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง จุดมุ่งหมายเพื่อการปฏิวัติของพ่อ (คอมมิวนิสต์) กับ จุดมุ่งหมายเพื่อความสงบทางจิตใจของยาย (ศาสนาพุทธ) วนเวียนอยู่ในหัวสมองของเธอจนกระทั่งโตเป็นวัยรุ่น

เมื่อถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัย ซูหยุน สอบเข้าเรียนได้ที่คณะภาษาตะวันตก เอกภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก่อนที่จะสอบได้ทุนรัฐบาลจีนเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

อ๊อกฟอร์ด นอกจากจะเปิดประตูสู่โลกกว้างให้เธอแล้ว ยังเป็นสถานที่ซึ่งเธอพบกับเพื่อนใหม่จากทุกมุมโลก

"นอกจาก ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาประกบนักศึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งแล้ว วิชาที่อ๊อกฟอร์ดยังเปิดโลกทัศน์ของฉันด้วย ในชั้นเรียนวิชาหนึ่งมีนักศึกษา 13 คน มาจาก 9 ประเทศ มีนักเรียนนายร้อยจากเวสปอยต์ ที่เมื่อจบไปก็ได้ใช้ความรู้ทันทีในสงครามอ่าวเปอร์เซีย นักการทูตหญิงจากญี่ปุ่นที่ในเวลาต่อมากลายเป็นเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น หนุ่มอัจฉริยะที่พูดได้ถึง 7 ภาษา ส่วนเพื่อนร่วมชั้นที่ฉันชอบมากคนหนึ่งก็ คือ หนุ่มชาวอินเดีย

"ครั้งแรกที่เราพบกันเขาก็ถามฉันเลยว่า ลองเดาดูสิว่า ชาวจีนที่ฉันนับถือมากที่สุดคือใคร?

"ฉันเดาไปหลายครั้ง ทั้ง โจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิง แต่ก็ไม่ถูกเสียที จนสุดท้ายเขาต้องเฉลยว่า บุคคลนั้นก็คือ พระเสวียนจั้ง! ..... เขาบอกว่าถ้าไม่มีพระเสวียนจั้งแล้วละก็ ประวัติศาสตร์อินเดีย เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ถึงปัจจุบันก็คงยังเป็นเรื่องราวอันรางเลือน"

ซูหยุน กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยนับถือ พระเสวียนจั้ง พระจีนที่ดำรงชีวิตอยู่เมื่อหนึ่งพันกว่าปีที่แล้วก็เนื่องมาจาก บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (ต้าถังซียู่จี้:大唐西域记) ที่ท่านเขียนขึ้นหลังจากการอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียกลับมาถึงนครฉางอาน โดยบันทึกชิ้นนี้บรรจุรายละเอียดการเดินทางจากจีนไปอินเดีย และรายละเอียดสภาพแวดล้อม ผู้คน ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ตำนานพื้นเมือง การเมือง-การปกครอง กฎหมาย การทหารของอินเดียเมื่อหนึ่งพันกว่าปีที่แล้วไว้อย่างละเอียด

"อดีต ชาวอินเดีย เชื่อถือเทพเจ้า สิ่งเหนือธรรมชาติ ทำให้นอกจากคำสอนทางศาสนาแล้วชาวอินเดียไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติศาสตร์ อย่าว่าแต่คำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้า เป็นคนผิวขาวหรือเป็นคนผิวสี .... แม้อินเดียจะเป็นต้นธารแห่งพุทธศาสนา แต่ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยกลับไม่ทราบว่าศาสดาของ หนึ่งในศาสนาอันยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้ เป็นชาวอินเดีย

"ยิ่งอินเดียในยุคปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือ ศาสนาฮินดู และอิสลามด้วยแล้วละก็ เรื่องราวของศาสนาพุทธยิ่งพร่าเลือน ..... ผิดกับชาวจีนที่ติดนิสัยของการบันทึกเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ" เธอกล่าว ......

ปี ค.ศ.627 หลังจากออกจากฉางอาน พระเสวียนจั้ง เผชิญกับสภาวะธรรมชาติอันโหดร้าย เดินทางข้ามทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ภูเขาหิมะหนาวเหน็บ ทุ่งหญ้าที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ผจญกับอุปสรรคและสิ่งเย้ายวนสารพัดสารพัน โจรปล้นคณะพ่อค้า ลูกไม้รั้งท่านให้อยู่แสดงธรรมต่อของกษัตริย์ในประเทศต่างๆ ที่เป็นทางผ่าน ด้วย สตรี อำนาจ ทรัพย์สิน*

พระเสวียนจั้ง เดินทางผ่าน 16 ประเทศ ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคกายและอุปสรรคใจ ทั้งมวลมาถึงจุดหมายคือ มหาวิทยาลัยนาลันทา (那烂陀) ในประเทศอินเดียที่แต่เดิมชาวจีนเรียกว่า จู๋กั๋ว (竺国)

พระเสวียนจั้งใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเวลา 6 ปีก่อนออกเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง ก่อนจะออกเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมกับพระไตรปิฎกที่คัดลอกมาจากต้นฉบับในปี ค.ศ.643

ในเส้นทางขากลับจากอินเดีย พระเสวียนจั้งใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าขาไปครึ่งหนึ่ง คือ ใช้เวลา 2 ปี โดยกลับถึงนครฉางอานเมื่อ ปี ค.ศ.645 พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 150 องค์ พระไตรปิฎกจำนวน 257 เล่มสมุด บรรทุกด้วยม้าจำนวน 20 ตัว รวมระยะเวลาที่ท่านจากบ้านไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียนานถึง 19 ปี รวมระยะการเดินทางกว่า 50,000 ลี้

"ระหว่างเส้นทางของการเดินทางกลับของพระเสวียนจั้ง ในบางช่วงท่านอาศัยเดินทางกับคณะพ่อค้าที่กำลังเดินทางมาค้าขายที่ฉางอาน แต่ก็โชคไม่ดีนักที่ คณะรวม 24 คนถูกโจรปล้นฆ่าเอาสินค้าไปไม่น้อย โดย สุดท้ายเมื่อมาถึงเมืองฉางอาน จากจำนวน 24 คน ต้องเสียชีวิตไปเสีย สองในสาม เหลือรอดมาได้เพียง 8 คน โดย พระเสวียนจั้งนั้นต้องขอร้องให้โจรละเว้นตัวท่านกับพระไตรปิฎกที่อุตสาหะไปนำมาจากอินเดีย

"เมื่อกลับมาถึงเมืองจีน การเผยแพร่ศาสนาพุทธของ พระเสวียนจั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในราชสำนักขณะนั้นฮ่องเต้ยังคงยึดถึง ลัทธิและคำสอนของขงจื๊อเป็นหลัก โดย กว่าที่จะกล่อมองค์ฮ่องเต้ให้หันมานับถือศาสนาพุทธได้นั้น พระเสวียนจั้งก็ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ ฮ่องเต้ถังไท่จง เรื่อยมาจนถึงพระราชโอรส ฮ่องเต้ถังเกาจง"

อย่างไรก็ตาม หนังสือหลายเล่ม นั้นกลับกล่าวตรงข้ามกับ ซูหยุน โดยระบุว่า ครั้งเมื่อ พระเสวียนจั้งกลับมาถึงฉางอาน องค์ฮ่องเต้ถังไท่จง ทรงเสด็จมารับด้วยพระองค์เอง พร้อมกับทรงรับสั่งให้มีการจัดแจงวัดต้าฉือเอิน (大慈恩寺) ที่พระองค์สร้างอุทิศให้พระมารดาไว้ให้ พระเสวียนจั้งแปลพระไตรปิฎก และ ในเวลาต่อมาหลังฮ่องเต้ถังไท่จงเสด็จสวรรคต เมื่อพระราชโอรส ถังเกาจงขึ้นครองราชย์ พระเสวียนจั้ง ก็ทูลขอพระบรมราชานุญาตให้สร้างเจดีย์ขึ้นทางทิศตะวันตกของวัด .... ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ เจดีย์ห่านป่าใหญ่ (ต้าเอี้ยนถ่า:大雁塔)

ในเวลาต่อมาด้วยการอุทิศตนของ พระเสวียนจั้ง ท่านได้แปลพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมให้เป็นภาษาจีน จำนวนมากถึง 75 เล่มสมุด 1,335 ม้วน ซึ่งในปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับแปลโดย พระเสวียนจั้ง ดังกล่าวก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในวงพุทธศาสนาของประเทศจีน

นอกจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาจีน ที่พระเสวียนจั้งได้ทิ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับชาวจีนและชาวเอเชียตะวันออกแล้ว ท่านยังได้ทิ้ง 'บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)' บันทึกประวัติศาสตร์อันมีค่ามหาศาลไว้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรม สำหรับชาวโลกรุ่นหลังอีกด้วย

หมายเหตุ :
*อ่านเพิ่มเติมเส้นทางธรรมจาริกไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียของพระถังซำจั๋งได้จากหนังสือ ย่ำรอยทราย...บนสายแพรไหม โดย ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน หน้า 72-82 และ หนังสือประวัติพระถังซำจั๋ง แปลโดย เคงเหลียน สีบุญเรือง จัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ

อ้างอิงจาก :
- หนังสือว่านหลี่อู๋หยุน (万里无云:Ten Thousand Miles Without a Cloud) โดย ซูหยุน (书云) สำนักพิมพ์จิงจี้รื่อเป้า (经济日报出版社)
- หนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社
- หนังสือ ย่ำรอยทราย...บนสายแพรไหม โดย ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน



กำลังโหลดความคิดเห็น