นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองแผ่นดินมังกรในปี 1949 จีนแดงมองว่าการประกวดความงามต่างๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกลางและความเสื่อมโทรม ทางการจึงไม่สนับสนุนให้มีการจัดงานประกวดบนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งประชาชนก็มองการประกวดดังกล่าวในแง่ลบ บรรดาดอกไม้งามพันธุ์มังกรจำต้องแหวกม่านไม้ไผ่ออกไปคว้ารางวัลประกวดขาอ่อนกันจากต่างแดนแทน
แต่หลังจากจีนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คลื่นเสรีทางเศรษฐกิจได้ซัดกระแสแนวคิดต่อต้านการประกวดออกไปทีละน้อย ประชาชนเริ่มเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น และเมื่อปีที่แล้ว ทางการจีนก็ได้ปิดฉากกฎแบนการจัดเวทีประชันความงามในประเทศ ที่กินระยะเวลานานกว่า 54 ปีลงอย่างเป็นทางการ ทำให้บนแผ่นดินจีนเริ่มมีงานประกวดต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นนางงามเฮลธ์ แอนด์ บิวตี้ นางแบบเส้นทางสายไหมใหม่ จนกระทั่งถึงการประกวดแปลกๆ อย่าง นางงามอัปลักษณ์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการอุ่นเครื่องเพื่อการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสเวิลด์ครั้งที่ 53 ณ เมืองซันย่า มณฑลไห่หนันนั่นเอง
รัฐบาลจีนมองว่าการจัดงานประกวดดังกล่าวเป็นโอกาสสำคัญในการประชาสัมพันธ์ซันย่าให้เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ อันเป็นที่มาของการที่ซันย่าได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประกวดมิสเวิลด์เป็นปีที่ 2 ในปีนี้ และจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปีหน้าด้วย
ในปี 2004 เป็นปีหนึ่งที่จีนจัดการประกวดสาวงามแดนมังกรขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทีมงานมุมจีนจึงได้จัดประมวลภาพเหล่าสาวงามอันดับ 1 ของเวทีขาอ่อนระดับประเทศ มาให้ผู้อ่านตัดสินว่าหมวยจีนจากเวทีใดที่สวยโดนใจมากที่สุด
**************
กำเนิดเวทีเฟ้น‘บุปผางาม’ในแดนมังกร
ภาพสิบนางคณิกาในอดีต
ดอกราตรีที่หอโคมเขียว
เวทีประชันความงามแบบฉบับสามัญชนของจีนเริ่มต้นขึ้นในสังคม “นางโลม” ณ เมืองเปี้ยนจิง ช่วงปีซีหนิงของราชวงศ์ซ้องเหนือ (ค.ศ.1068-1077) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากบรรดาชาวเมืองและบัณฑิตขี้เหงาทั้งหลาย
นับว่างานประกวดเฟ้นหาสาวงามอันดับ 1 ของหอโคมเขียวนี้ เกิดก่อนการประกวดนางงามโลกของฝั่งตะวันตกเมื่อปี 1912 หลายร้อยปีทีเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการประกวด มาตรฐานการตัดสิน กรรมการตัดสิน ล้วนไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย สาวงามยุคก่อนต่างต้องงัดความสามารถมาประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านพิณ หมากรุก เขียนพู่กันจีน วาดภาพ ร้องเพลง เต้นรำ เป็นต้น
สำหรับกรรมการตัดสินก็ได้แก่ เหล่าบัณฑิต ซึ่งจะร่ายบทกลอนชื่นชมความงามของแม่นางแต่ละคนออกมาเป็นคำตัดสิน ไม่ได้ง่ายเหมือนกรรมการยุคนี้ ที่แค่ยกป้ายคะแนนเป็นอันใช้ได้
โบตั๋นงามในพระราชฐาน
การเลือกเฟ้นสาวงามเริ่มคืบคลานเข้าสู่รั้วพระราชวังตั้งแต่ปีเทียนฉี่ของฮ่องเต้ซีจงแห่งราชวงศ์หมิง เมื่อปีค.ศ. 1621 โดยจุดประสงค์เพื่อเลือกสาวงามเข้าถวายงานแก่ฮ่องเต้ซีจง
ก่อนงานพิธีอภิเษกสมรส ขันทีน้อยใหญ่ถูกส่งออกไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหาบุตรีตระกูลผู้ดีอายุ 13-16 ปี จำนวน 5,000 คน โดยผู้ที่รับผิดชอบการจัดงานแต่งงานครั้งนี้ จะจ่ายเงินก้อนเพื่อเป็นสินสอดให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง
หลังจากนั้น ขันทีจะดำเนินการคัดเลือกสาวงามรอบแรก โดยจัดให้สาวน้อยเรียงแถวหน้ากระดานตามลำดับอายุ แถวละ 100 คน และบรรดากงกงทั้งหลายก็จะทำการตรวจดูว่าใครสูงหรือเตี้ยเกิน อ้วนหรือผอมเกิน ก็จะถูกคัดออก ครั้งแรกนี้จะคัดออก 1,000 คน
รอบที่ 2 เรียงแถวเหมือนเดิม ขันทีจะใช้ตาเรดาร์สอดส่องจับผิดตั้งแต่หู ตา ปาก จมูก ผม ผิว คอ เอว ไหล่ หลัง หากว่ามีเพียงจุดเดียวที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ก็จะถูกคัดออกทันที จากนั้นก็จะให้ผู้เข้ารับคัดเลือกแจ้งชื่อแซ่ ภูมิลำเนา อายุ เพื่อที่จะฟังน้ำเสียงและอากัปกิริยา หากใครฟันไม่สะอาด เสียงใหญ่ห้าว และเวลาตอบคำถามลุกลี้ลุกลน ก็จะถูกคัดออก ในรอบนี้จะคัดออก 2,000 คน
รอบที่ 3 เหล่าขันทีจะใช้ไม้บรรทัดวัดมือและเท้า แล้วคัดคนที่มือสั้นเท้าใหญ่ออก ต่อจากนั้นจะให้แม่นางที่ผ่านการทดสอบลองเดินสัก 10 ก้าวเพื่อดูท่วงท่าในขณะย่างก้าว รอบนี้คัดออก 1,000 คน และจะเหลือสาวงามทั้งหมด 1,000 คน
สาวงามทั้ง 1,000 คนนี้ จะถูกนำเข้าวัง ให้หมอตำแยทำการตรวจภายใน เสร็จจากขั้นตอนนี้ จะเหลือสาวงามที่ได้รับเลือกให้เป็นชาววังอยู่แค่ 300 คนเท่านั้น และจะต้องอาศัยอยู่ในวังเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างนี้ ฮ่องเต้ก็จะส่งคนมาสืบเกี่ยวกับนิสัยใจคอและความคิดอ่านของสาวงามเหล่านี้ว่านิสัยแข็งหรืออ่อน ฉลาดหรือโง่ มีคุณธรรมหรืออิจฉาริษยา และสุดท้ายก็จะเหลือแค่ 50 คนเท่านั้นที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสนม
ต่อหัวข้อ "มาตรฐานสาวงามต่างยุค" หน้า 2
1. ยุคหินใหม่ (เพศหญิงเป็นใหญ่) (ราว 6,000 – 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้หญิงร่างกายใหญ่ล่ำสันแข็งแรง ซึ่งเป็นจุดเด่นของรูปปั้นเทพธิดาในยุคดังกล่าว ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงาม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ความสามารถในการสืบพันธุ์และคลอดบุตรเป็นเกณฑ์วัดความงามของหญิงในยุคนี้
2. ราชวงศ์เซี่ย-ซาง-โจว-ชุนชิว-จั้นกั๋ว ( 2,100 – 221ปีก่อนคริสต์ศักราช) ให้ความสำคัญกับความงามบนใบหน้าของหญิงสาว นิยมกุลสตรีท่าทางอ่อนแอบอบบางและเชื่อฟัง ซึ่งเป็นลักษณะความคิดของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่
3. ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกจนถึงราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ (202 ปี ก่อนคริสต์ศักราช-คริสต์ศักราช 589 ) - บูชาความงามสูงสุด ชื่นชมความงามแนวปรัชญา ซึ่งแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังหาหญิงใดงามเปรียบกับมาตรฐานในยุคนี้ไม่ได้ แต่เมื่อถึงยุคราชวงศ์ใต้เหนือความคิดดังกล่าวก็เริ่มเสื่อมถอยลง
4. ราชวงศ์สุย-ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 581-ค.ศ. 907 ) – สาวงามในยุคนี้ได้แก่ หญิงที่รูปร่างสมบูรณ์ หน้าผากกว้าง รูปหน้ากลม สุขุมเยือกเย็น สุขภาพดีและเป็นธรรมชาติ แต่หญิงสาวที่มีลักษณะแข็งแกร่งและอรชรอ้อนแอ้นก็ได้รับการชื่นชมเช่นกัน อีกทั้งในยุคดังกล่าวยังมีแฟชั่นการแต่งกายที่ค่อนข้างเปิดเผย กล่าวคือ การสวมชุดเผยเนินอกของหญิงสาว
5. ราชวงศ์ซ่ง(ซ้อง)-หยวน-หมิง-ชิง (ค.ศ. 960 - 1911 ) – นิยมผู้หญิงที่สุภาพอ่อนโยน ไหล่เล็ก หน้าอกแบน เอวคอด เท้าเล็ก ดังนั้นในยุคนี้จึงเกิดแฟชั่นรัดเท้า หรือ “เท้าดอกบัวทองคำขนาด 3 นิ้ว” ความเซ็กซี่ของผู้หญิงตัดสินจากขนาดเท้าที่เล็ก
6. ปลายราชวงศ์ชิงจนกระทั่งถึงยุคสาธารณรัฐจีน (ค.ศ.1911 -1949) – เท้าเล็กๆ เริ่มเสื่อมความนิยม แต่กลับมาให้ความสำคัญกับหน้าอกแทน ความงามแบบเซ็กซี่เริ่มปรากฏขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สังคมทั้งหมดยังคงยกย่องความงามแบบ “หลินไต้อี้ว์”* หรือ “สาวงามขี้โรค” เป็นแม่แบบ
7. หลังยุคสาธารณรัฐจีน – ความงามแบบตะวันออกและตะวันตกเริ่มผสมผสานกัน โดยในยุค 60 นิยมสาวเอวเล็กสะโพกใหญ่ งามแบบโครงกระดูกในยุค 70 งามแบบมีเนื้อมีหนังในยุค 80 และยุค 90 ก็เริ่มเข้าสู่ยุคความงามที่หลากหลาย
หมายเหตุ
* หลินไต้อี้ว์ เป็นตัวละครเอกหญิงในวรรณคดีอมตะของจีนเรื่อง “ความรักในหอแดง”