xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นจักรยานชมซีหู(2):เลี้ยวเข้าพิพิธภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เมื่อโซ่ถูกปลด ล้อจักรยานก็ถูกปล่อยให้เป็นอิสระ และเริ่มหมุนไปอีกครั้ง ... หมุนเร็วขึ้นทีละนิดทีละนิด ... เมื่ออยากให้มันแล่นไปข้างหน้าเร็วขึ้นก็ออกแรงมากหน่อย หรือพอเหนื่อยก็ปล่อยให้มันวิ่งเอื่อยไปเฉยๆ เสียอย่างนั้น ... ล้อจักรยานไม่เคยที่จะหมุนเร็วเกินไปกว่าแรง ที่เราใช้ถีบลงไปอยู่แล้ว

ผมยังแวะเวียนอยู่บน ไป๋ตี (白提) ที่เชื่อมเอาภูเขากูซาน ( 孤山) ไว้ไม่ให้กลายเป็นภูเขาอันโดดเดี่ยวเดียวดายท่ามกลางทะเลสาบ .... รอบๆ ซีหูเพียงแค่เส้นทางสายสั้นๆ ภูเขาลูกเล็กๆ ก็มีสถานที่ให้เที่ยวชมได้เป็นวัน

ก่อนหน้าจะมาถึงหางโจว เพื่อนฝูง และ คนรู้จักจำนวนหนึ่งที่เคยมาเยือนมาหางโจว เคยบ่นว่าหางโจวเมืองนี้ไม่มีอะไรมากนักนอกจากซีหู ... อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาเดินทางมาที่นี่ แต่มาผิดเวลา ผิดวิธี หรือ อาจจะมากับคนผิด

ทัวร์จิ้มจุ่ม?!? .... ไม่ใช่ว่าไม่เคย แต่ตัดสินใจไปแล้วว่าจะหย่าขาดจากมันชั่วชีวิต ... เมืองไทย เมืองจีน หรือ ไม่ว่าจะแห่งหนใด การเดินทางเพื่อเปิดโลกกว้างสำหรับผมแล้ว คำว่า คุณภาพ ถูกวางไว้ข้างหน้า คำว่า ปริมาณ เสมอ

ก่อนจะถึงสะพานซีหลิง (西泠桥) สะพานทางทิศเหนือที่เชื่อมไป๋ตีเข้ากับถนนรอบซีหูอีกครั้ง ผมเลี้ยวจักรยานเข้าไปยังซอยเล็กๆ มีบ้านระบุว่า พิพิธภัณฑ์การพิมพ์จีน (中国印学博物馆)

อาคารขนาดสองชั้นทาสีขาว ต้นไม้เล็กๆ ที่ปลูกอยู่ด้านหน้า กับบรรยากาศเงียบๆ เป็นดังเช่นที่ อาจารย์วิชาภูมิศาสตร์จีนชาวหางโจวเคยแนะนำกับผมไว้ว่า ในหางโจว สถานที่แห่งนี้เหมาะที่สุด สำหรับการหลบสภาพแออัด และเป็นสถานที่ซึ่งคนท้องถิ่นรู้กันเองว่า ไม่มีทัวร์มาลง

พิพิธภัณฑ์การพิมพ์จีน เป็นส่วนหนึ่งของ สมาคมการพิมพ์ซีหลิง (西泠印社)*

เป็นที่ยอมรับกันว่า ชาวจีน เป็นผู้ค้นพบกระดาษ ค้นพบการพิมพ์ ก่อนใครเพื่อน การแกะสลักตราเพื่อประทับลงไปบนจดหมาย นั้นเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ราว 2,500 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างรัฐ (จ้านกั๋ว:战国; 403-221 ปีก่อนคริสตกาล) โดยสำหรับชาวจีนแล้ว ศาสตร์ชนิดนี้ คือ ศิลปะแขนงหนึ่ง เป็นศิลปะ ที่มีส่วนผสมระหว่างการแกะสลักและการเขียนตัวอักษรจีน (书法 หรือ Calligraphy)

สมาคมแห่งนี้เป็นเปิดมาเกือบครบศตวรรษแล้ว โดยปัจจุบันจัดทำในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดง วัฒนธรรมการทำตราประทับ การพิมพ์ ภาพวาด ศิลปะการเขียนอักษรจีน ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ และยังมีนักวิจัยทำงานอยู่ถึงปัจจุบัน

เมื่อเดินทะลุอาคารด้านหน้าเข้าไป เดินเลียบเนินเขาที่เป็นทางลาดเอียงสักพักก็จะพบกับสวนโบราณ ที่ตั้งประชันหน้าอยู่กับทะเลสาบซีหู มีสระน้ำ มีเก๋งจีน มีม้าหิน มีลมพัดเอื่อย มีเสียงนกร้อง ให้นั่งหย่อนใจได้แบบเงียบๆ

ขวดน้ำเปล่าๆ ถูกตั้งไว้ข้างกับเปลือกไอติมถั่วแดง ผมนั่งมองทิวทัศน์และคิดเรื่องสารพัดสารพัน ...

เมื่อเหลือบมาดูนาฬิกาอีกที ยังเหลือเวลาอีกหลายชั่วโมงก่อนจะค่ำ ผมยังมีเวลาเตร็ดเตร่อีกสักพัก ... แล้วล้อจักรยานเริ่มหมุนอีกครั้ง

ผมจอดจักรยาน เช็คความแน่นหนาของล็อค ก่อนจะเดินผ่านรั้วเข้าไปในบริเวณ พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง (浙江博物馆)

คิดไปคิดมา พิพิธภัณฑ์ ก็มีส่วนคล้าย กาแฟ อยู่ไม่น้อย ..... ตอนเด็กๆ ผมไม่ถูกโรคเอาเสียเลยกับสถานที่ซึ่งถูกเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ เหมือนกับเด็กๆ ทั่วไปผมไม่เข้าใจถึงเนื้อในและความหมายของ บรรดา ซากกระดูก ของเก่า วัตถุโบราณ ที่วางอยู่นิ่งๆ ข้างหน้า ... ตอนเด็กๆ อารมณ์เมื่อต้องถูกบังคับให้เดินเข้าพิพิธภัณฑ์ นั้นเหมือนกับอารมณ์เมื่อลิ้นรับรู้รสขมฝาดของกาแฟ ยังไงยังงั้น

ตอนนี้ กาแฟกลับกลายเป็นเป็นเครื่องดื่มที่ผมจิบเพื่อไว้กระตุ้นสมองในยามเช้า ทุกวัน เหมือนกับ การเข้าพิพิธภัณฑ์ บนเส้นทางของการเดินทางทุกครั้ง หากพบ ผมก็อยากจะไม่พลาดมัน ... คล้าย กาแฟ พิพิธภัณฑ์ช่วยกระตุ้นสมองของผมได้เหมือนกัน เพียงแต่เป็นการกระตุ้นกันคนละประเภท

สำหรับคนจีนแล้ว แม่น้ำเหลือง (หวงเหอ:黄河) ที่ไหลผ่านดินแดนทางตอนเหนือของจีน คือ แม่ผู้ให้กำเนิด คือ เปลผู้ฟูมฟักชนชาติจีนให้เติบใหญ่ขึ้นมา ในหมู่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์เป็นที่เชื่อกันมานานว่า บรรพบุรุษชาวจีนอารยธรรมหยั่งเสา (仰韶文化) ที่วิวัฒนาการมาจากลิง-มนุษย์โบราณ ในยุคแรกเมื่อ 5-6 พันปีก่อน ก็อาศัยแม่น้ำเหลืองนี่แหละเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต

ขณะที่ แยงซีเกียง (ฉางเจียง:长江) แม่น้ำสายที่มีความยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก แม้จะไหลหล่อเลี้ยงดินแดนทางใต้ของจีนมีหน้าที่เช่นเดียวกันกับแม่น้ำเหลือง แต่ สถานะในความเป็น "แม่ของชนชาติจีน" แยงซีเกียงกลับไม่มีเทียบเท่ากับแม่น้ำเหลือง

จนเมื่อราว 30 ปีก่อน (ค.ศ.1973) เมื่อนักโบราณคดีจีนไปขุดพบเข้ากับ อารยธรรมโบราณอีกแห่ง ณ บริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงตอนปลาย ก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทร ในส่วนมณฑลเจ้อเจียง เมืองหยูเหยา เหอหมู่ตู้ (河姆渡)**

หลังจากการขุดสำรวจระหว่าง ค.ศ.1973-1978 นักโบราณคดีก็ค้นพบว่าสถานที่แห่งนี้เมื่อราว 6-7 พันปี ก่อนในยุคหินใหม่ มีชุมชนของมนุษย์ดำรงอยู่แล้ว ทั้งนี้นอกจากจะดำรงอยู่ยังมีอารยธรรมที่คล้ายกับมนุษย์ในปัจจุบันเป็นอย่างมากแล้ว ยังมีอายุอานามที่เก่าแก่กว่า อารยธรรมหยั่งเสา เสียอีก

หยิบเอาจากชื่อสถานที่ซึ่งขุดค้นพบ นักโบราณคดีได้ตั้งชื่อ ต้นธารอารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง นี้ว่า อารยธรรมเหอหมู่ตู้ (河姆渡文化)

มีการค้นพบเมื่อ 6-7 พันปีที่แล้ว ชุมชนดังกล่าวมีเครื่องมือการเกษตรที่ประดิษฐ์มาจากกระดูกสัตว์ และร่องรอยของเมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดผัก ทำให้นักโบราณคดี ทราบว่าชุมชนมนุษย์ในสมัยนั้นเริ่มมีการทำการเกษตรแล้ว นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเครื่องเคลือบดินเผา มีการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือหมู ส่วนที่อยู่นั้นก็เป็นบ้านไม้ยกสูง อันแสดงให้เห็นถึงระดับของการพัฒนาของสังคม ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม และงานฝีมือทางด้านหัตถกรรมในขณะนั้น

การค้นพบอารยธรรมเหอหมู่ตู้ ทำให้ ณ ปัจจุบัน ในแวดวงโบราณคดีเป็นที่ยอมรับกันว่า จีนหนึ่งในศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์แห่งแรกของโลก มีศูนย์กลางในการเพาะปลูกพืช สองแห่งที่แยกออกต่างหากกัน หนึ่ง คือ ลุ่มแม่น้ำเหลือง และ สอง คือ ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง**

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมสนใจที่สุดก็คือ เมื่อ 6-7 พันปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมหยั่งเสาแห่งลุ่มแม่น้ำเหลือง หรือ อารยธรรมเหอหมู่ตู้แห่งลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ชุมชนของทั้งสองอารยธรรม สถานะของผู้หญิงต่างก็เหนือกว่าผู้ชาย เป็นอารยธรรมยุคที่ ผู้หญิงเป็นใหญ่ (母系氏族 หรือ Matriarchy)

เมื่อ 6-7 พันปีก่อน สภาพของสังคม ไม่ได้ให้สิทธิกับบุรุษเพศ มากดังเช่นสังคมในปัจจุบัน

อารยธรรมเหอหมู่ตู้ บอกกับเราว่ายุคแรกที่มนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นสังคม "ผู้หญิงเป็นใหญ่ สตรีเป็นศูนย์กลาง" โดยในสังคมดังกล่าว ลูก รู้จักแต่เพียงว่าแม่เป็นใคร แต่กลับไม่ทราบว่าพ่อเป็นใคร วัฒนธรรมการสืบสายเลือดก็ดำเนินไปตามสายบรรพบุรุษทางฝั่งแม่ ทางด้านผู้ชายต้องติดตามผู้หญิง เข้าไปอยู่ในแวดวงครอบครัวของฝ่ายหญิง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ด้วยหน้าที่ในการแบ่งหน้าที่ในการผลิต เนื่องจาก ผลได้จากการหาอาหารของผู้ชาย คือ การตกปลาล่าสัตว์ มักไม่แน่นอน คือ ล่าได้บ้างไม่ได้บ้าง บางวันโชคดีมีทั้งเนื้อมีทั้งหนัง บางวันโชคร้าย เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แถมหากโชคร้ายเข้าจริงๆ คนที่บ้านยังได้กระดูกคุณผู้ชายมาแขวนคออีกต่างหาก!?! ขณะที่ผลได้จากการผลิตอาหารผ่านการทำการเกษตรของผู้หญิงแน่นอนกว่า นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้ชายต้องพึ่งพาผู้หญิง***

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยดังกล่าว สถานะที่สูงกว่าของฝ่ายหญิงก็ไม่ได้หมายความถึงข้อได้เปรียบหรือความสะดวกสบายอะไร เนื่องจาก ด้วยสภาพร่ายกายตามธรรมชาติของผู้ชายที่แข็งแรงกว่า ทำให้ผู้ชายมีหน้าที่ในการออกล่าสัตว์และปกป้องความปลอดภัยของชุมชน ขณะที่ผู้หญิงนั้นแม้จะอยู่ติดครอบครัว แต่ก็มีหน้าที่สารพัดสารพัน เช่น ดูแลที่ดิน เก็บผลผลิตจากการเกษตร ทำอาหาร เย็บเสื้อผ้า เลี้ยงดูทายาท ฯลฯ

แต่ทั้งนี้เมื่อ เวลาผ่านไป เมื่อพลังการผลิตเปลี่ยนไป เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือการเกษตรใหม่ๆ เมื่อการสะสมความรู้ทางเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ พัฒนาก้าวหน้าถึงจุดหนึ่ง ผู้ชายก็ไม่ต้องออกล่าสัตว์ ลักษณะของครอบครัว การสืบสายเลือด และลักษณะของชุมชนก็เปลี่ยนไป

เปลี่ยนจาก "ผู้หญิงเป็นใหญ่" กลายเป็น "ผู้ชายเป็นใหญ่" .... เมื่อการเกษตรทำให้ความสามารถในการผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้นจนบริโภคไม่ทัน มนุษย์ก็เริ่มเกิดการสะสม เมื่อเกิดการสะสมก็บ่มเพาะให้มีความแตกต่างระหว่างคนรวย-คนจน เกิดชนชั้น เกิดความแตกแยก .... เกิดสงคราม ....

กงล้อประวัติศาสตร์ยังคงหมุนไป จะช้า หรือ จะเร็ว .... จะหมุนไปบนเส้นทางแห่งสันติสุข หรือ มุ่งไปสู่ปลายทางแห่งหายนะ ย่อมเป็นไปตามแรงที่มนุษยชาติจะผลักมันให้เดิน

Tips สำหรับการเดินทาง:
- สมาคมการพิมพ์ซีหลิง (西泠印社) และ พิพิธภัณฑ์การพิมพ์จีน (中国印学博物馆) เปิด 8.30-16.30น. ไม่เสียค่าเข้าชม
- พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง (浙江博物馆) เปิดทุกวันตังแต่ 9.00-16.30น. ไม่เสียค่าเข้าชม และมีเครื่องบรรยายอัตโนมัติให้เช่า ภายในมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์จีน บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงตั้งแต่ยุค 6-7 พันปีก่อน เรื่อยมาถึง กำเนิดสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จัดแสดง อาคาร ที่มีการออกแบบมาภายใต้แนวคิด 'อาคารในสวน สวนในหมู่อาคาร' ทำให้สภาพแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์นับว่าดีมาก ขณะที่สิ่งของที่นำมาจัดแสดงก็หลากหลาย ส่วนระบบการจัดแสดงก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ เมื่อเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีห้องจัดแสดงแยกย่อยออกไปอีกหลายแห่ง และยังมีการเชื่อมทางเดินกับ ห้องแสดงภาพซีหู (Zhejiang West Lake Gallery) ที่ก็เปิดให้เข้าชมฟรีเช่นกัน

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 大杭州旅游新指南 (Greater Hangzhou A New Travel Guide) โดย เฉินกัง (陈刚) สำนักพิมพ์เจ้อเจียงเส้อหยิ่ง (浙江摄影出版社) หน้า 82-85
**หนังสือปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ โดย จาเร็ด ไดมอนด์ (Guns, Germs and Steel:The Fates of Human Societies by Jared Diamond) แปลโดย อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ หน้า 424-440
***หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคเก่า (中国古代史) โดยกัวเผิง (郭鹏) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น