xs
xsm
sm
md
lg

เขาชิงเฉิงและเขื่อนธรรมชาติตูเจียงเอี้ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เขาชิงเฉิง

เขาชิงเฉิง ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 15 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองตูเจียงเอี้ยน ในมณฑลซื่อชวน(เสฉวน)ทางภาคตะวันตกของจีน เป็นแหล่งต้นกำเนิดที่สำคัญแห่งหนึ่งของลัทธิเต๋าในจีน เนื่องจากขุนเขาแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองแห่งแมกไม้สีเขียว’ (ชิง ในภาษาจีนหมายถึง สีเขียวของต้นไม้ต้นหญ้า และ เฉิง หมายถึง เมือง)

กล่าวกันว่า จางหลิง (สมัยฮั่นตะวันออก ปีค.ศ. 126 - 144) ผู้ให้กำเนิดศาสนาเต๋าได้เดินทางมาบำเพ็ญพรตที่เขาชิงเฉิงแห่งนี้ และได้เผยแพร่ลัทธิเต๋าจนเป็นที่รู้จักในแผ่นดินจีนจวบจนสำเร็จเป็นเซียน เมื่อถึงปีค.ศ. 618 – 907 จักรพรรดิในราชวงศ์ถังหันมานับถือศาสนาเต๋า เป็นเหตุให้ลัทธิเต๋ารุ่งเรืองขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังมีการแบ่งออกเป็นนิกายต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เขาชิงเฉิงยังคงเป็นศูนย์รวมของบรรดาผู้นำลัทธิเต๋าที่มีชื่อเสียงต่อมาอีกมากมาย ปัจจุบัน โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมที่เป็นศูนย์กลางได้แก่ ถ้ำเทียนซือ ซึ่งล้อมรอบด้วย วังเจี้ยนฝู วังซ่างชิง ตำหนักจู่ซือ วังหยวนหมิง หอเหล่าจวิน วังอวี้ชิง และถ้ำเฉาหยัง เป็นต้น

วังเจี้ยนฝู สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (ปีค.ศ. 730) ปัจจุบันหลงเหลือเพียงสถาปัตยกรรมที่บูรณะขึ้นใหม่ ในสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง (ปีค.ศ. 1888) ประกอบด้วย 3 ตำหนักใหญ่ เป็นสถานที่กราบไหว้บูชาบรรดาปรมาจารย์ในลัทธิเต๋าและเทพเจ้าต่าง ๆ

บนเสาภายในตำหนักยังประดับด้วยคำโคลง 394 ตัวอักษร ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สุดยอดแห่งชิงเฉิง’  นอกจากนี้ ยังมีหอภาพชมไพร ที่ตั้งอยู่บนสันเขาหลงจีว์ มีลักษณะเป็นเก๋งสิบเหลี่ยมที่มีชายคาทับซ้อนกัน สร้างในสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง ระหว่างปีค.ศ. 1875 – 1909

นักท่องเที่ยวที่มาชมทิวทัศน์ ณ ที่นี้ จะพบว่าตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาดอันงดงามทางธรรมชาติแห่งนี้ อันเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า ‘ภาพชมไพร’

หมู่สถาปัตยกรรมเหล่านี้สร้างขึ้นอย่างกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศรอบข้าง ด้วยฝีมือและเทคนิคการก่อสร้างชั้นเยี่ยม เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดลัทธิเต๋าในการเข้าถึงธรรมชาติ แม้แต่ข้าวของเครื่องประดับก็ยังแสดงถึงความเป็นมงคล อายุยืนนานและความมุ่งหวังที่จะบรรลุเป็นเซียน ตามแนวคิดสูงสุดของเต๋า ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะอย่างมาก สำหรับผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยปรัชญาเต๋าของจีนโบราณ

เขาชิงเฉิงมีความโดดเด่นที่ธรรมชาติอันงดงามและเป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรมตามแนวคิดเต๋า และยังได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและที่ฝึกจิตปฏิบัติธรรมนับแต่โบราณกาล

บรรดานักปราชญ์ปัญญาชนที่เป็นทั้งนักคิดนักเขียนมากมายที่ได้มีโอกาสมายังที่แห่งนี้ ต่างก็ได้ฝาก ‘ฝีไม้ลายมือ’ ไว้ เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมของที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าคำขวัญคู่มากมายที่แขวนอยู่ตามห้องโถงต่าง ๆ

ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแสดงความชื่นชมต่อความงามของเขาชิงเฉิง ทั้งยังแฝงไปด้วยแนวคิดเชิงปรัชญาของลัทธิเต๋า หรือเป็นคำสอนทางธรรมที่แฝงความหมายเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง บ้างแสดงถึงการคารวะต่อชนชาติจีนในยุคบรรพกาล หรือความรู้สึกต่อความรุ่งเรืองและโรยราของบ้านเมือง รวมถึงทุกข์สุขของราษฎร

'สร้างเขื่อนจากธรรมชาติ' ที่ตูเจียงเอี้ยน

เขื่อนชลประทานตูเจียงเอี้ยน เป็นโครงการชลประทานโบราณบนลำน้ำหมินเจียง (เขตต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียง) ใกล้ที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตกของเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นเมืองตูเจียงเอี้ยน

ก่อนที่เขื่อนชลประทานแห่งนี้จะสร้างขึ้น ความเชี่ยวกรากของแม่น้ำหมินเจียงได้ก่อให้เกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง จวบจนเมื่อปีค.ศ. 256 ข้าหลวงเมืองสูนาม หลี่ปิงและบุตรชาย ได้นำประชาชนในท้องถิ่นก่อสร้างเขื่อนชลประทานแห่งนี้ขึ้น จากนั้นมา พื้นที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่เมืองเฉิงตูก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองแมนแดนสวรรค์’ และได้กลายเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของจีน

ตลอดเวลากว่า 2,200 ปี ที่โครงการชลประทานแห่งนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานแห่งนี้เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัย ชลประทาน ขนส่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมพื้นเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เป็นต้น

โครงการชลประทานตูเจียงเอี้ยน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ปากปลา เฟยซาเอี้ยน(ฝายน้ำล้น) และเป่าผิงโข่ว(ปากน้ำ)

บริเวณปากปลา จะเป็นเกาะกลางน้ำ มีลักษณะคล้ายปลาใหญ่ทอดตัวไปตามแนวลำน้ำหมินเจียง ปากปลาหันไปทางต้นน้ำ ทำหน้าที่แยกสายน้ำเป็น 2 สายคือ สายในและสายนอก สายในใช้เพื่อการชลประทาน สายนอกใช้เพื่อการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก

อ่านต่อหน้า 2
 

เฟยซาเอี้ยนหรือฝายน้ำล้น จะอยู่บริเวณตอนกลางของตัวปลาใหญ่กลางน้ำ สร้างเป็นช่องทางระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่เพียงใช้ระบายน้ำ ยังช่วยชะลอสายน้ำที่ไหลผ่านเพื่อลดการเกิดระลอกคลื่นใหญ่ของลำน้ำสายนอก อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการสะสมของกรวดทราย ที่จะไหลเข้าไปยังบริเวณเป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่สาม

เป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ มีลักษณะเป็นช่องทางน้ำแคบๆคล้ายคอขวด มีหน้าที่ในการทดน้ำจากแม่น้ำสายในเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก และยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเมืองได้อีกด้วย

การชักนำสายน้ำที่คดโค้งตามธรรมชาติ ให้เกิดการทดน้ำเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ ระบายน้ำและกรวดทรายที่เป็นส่วนเกินนั้น ต้องการความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น อาทิ สภาพทางชัยภูมิ เส้นทางน้ำ แรงน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น

หลี่ปิง เมื่อครั้งสร้างตูเจียงเอี้ยนขึ้นนั้น ได้คำนวณอย่างมั่นเหมาะถึงการทำงานของทั้งสามส่วน ปากปลาทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำให้แยกเป็นสองสาย เฟยซาเอี้ยนหรือฝายน้ำล้น ทำหน้าที่ระบายน้ำ และเป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ ทำหน้าที่ทดน้ำเข้า ซึ่งต้องสอดประสานกันจนเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อถึงฤดูแล้ง สายน้ำจากแม่น้ำหมินเจียงที่ผ่านปากปลาจะไหลเข้าสู่สายใน 60% อีก 40% ระบายออกสายนอก ขณะที่ในฤดูน้ำหลากสัดส่วนจะกลับกัน โดยระบายออกสายนอก 60% ทำให้ฤดูน้ำหลากน้ำไม่ท่วม ในฤดูแล้งก็ไม่ขาดน้ำ

นอกจากนี้ แนวโค้งของลำน้ำและความแรงของกระแสน้ำจะทำให้ปริมาณของหินทรายที่ไหลมาตามน้ำถูกพัดพาเข้าหาลำน้ำสายนอกถึง 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ที่เข้ามายังสายในจะมีด่านกักทรายไว้อีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าไปในบริเวณปากน้ำ จึงไม่เกิดการสะสมของตะกอนดินทราย กระบวนการทั้งหมดนี้ ล้วนสำเร็จได้โดยธรรมชาติ และการทำนุบำรุงรักษาโดยลูกหลานรุ่นต่อมา

โครงการชลประทานตูเจียงเอี้ยน ถือเป็นศิลปะการก่อสร้างทางน้ำที่โดดเด่นเป็นเอก มีรูปแบบกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และได้สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้กับที่ราบลุ่มเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นรากฐานของความอุดมสมบูรณ์ อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้ในเวลาต่อมา

ตูเจียงเอี้ยนไม่เพียงเป็นโครงการชลประทานโบราณขนาดใหญ่ ที่ใช้เทคนิคการทดน้ำโดยไม่สร้างเขื่อนกักน้ำเพียงแห่งเดียวของโลก ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่จวบจนปัจจุบัน แต่ยังเป็นแหล่งความรู้ทางการชลประทานชั้นนำของโลก ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ศาสนาและสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองในอดีต.


ข้อมูล

เขาชิงเฉิงและโครงการชลประทานโบราณตูเจียงเอี้ยน มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ. 2000
ที่ตั้ง- เมืองตูเจียงเอี้ยน(都江堰) ห่างจากเฉิงตู 40 กม. มณฑลซื่อชวน (เสฉวน)
เขาชิงเฉิง สร้างใน สมัยฮั่นตะวันออก ราวปีค.ศ. 126 – 144
อาณาเขต - พื้นที่อนุรักษ์ 15.22 ตารางกิโลเมตร มี36 ยอดเขา 80 ถ้ำและวัดเต๋า 11 แห่ง
ระดับน้ำทะเล - 726 – 2,434 เมตร
โครงการชลประทานตูเจียงเอี้ยน สร้างในราวปี ค.ศ. 256
ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 6,700 ตารางกิโลเมตร


ข้อมูลท่องเที่ยว
การเดินทาง
เดินทางจากเมืองเฉิงตูสู่เขาชิงเฉิงและเขื่อนชลประทานตูเจียงเอี้ยน มีรถโดยสารประจำทางสายพิเศษ จากจัตุรัสสถานีรถไฟเมืองเฉิงตู(成都火车站广场) และที่สถานีรถโดยสารประตูตะวันตก(西门车站) รถออกทุก 10 นาที

เมืองตูเจียงเอี้ยนอยู่ห่างจากสนามบินซวงหลิว(双流机场) 58 กม. เขาชิงเฉิงอยู่ห่างจากตัวเมืองตูเจียงเอี้ยน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 15 กม.(ห่างจากเฉิงตู 68 กม.) ใช้เวลาเดินทางและท่องเที่ยว 1 วัน

ราคาบัตร ขึ้นเขาชิงเฉิง 41 หยวน รถกระเช้า 56 หยวน ตูเจียงเอี้ยน 60 หยวน

เทศกาลสำคัญ
เทศกาลปล่อยน้ำในวันเช็งเม้ง วันที่ 5 เมษายน
เทศกาลเบียร์ เดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน
เทศกาลรำลึกหลี่ปิง ก่อนและหลังวันที่ 24 มิถุนายน

กำลังโหลดความคิดเห็น