xs
xsm
sm
md
lg

พบรักที่ 'ซีหู' (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ตำนานเรื่องนางพญางูขาว ถูกเล่าถ่ายทอดกันมานับพันปีนับแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) โดยมีฉากประกอบเป็นสถานที่จริงทั้งในเมืองซูโจวและเมืองหางโจว โดยเฉพาะ ทะเลสาบซีหู และสถานที่บริเวณรอบๆ ซีหู นั้นถือเป็นสถานที่ดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ อย่างเช่น สะพานขาด (ต้วนเฉียว) หรือ เจดีย์เหลยเฟิง ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

เจดีย์เหลยเฟิง (雷峰塔) เดิมถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.977 โดยกษัตริย์พระองค์หนึ่งของ แคว้นอู๋เยว่ (吴越) หนึ่งในสิบแคว้นของ ยุค 5 ราชวงศ์ 10 แคว้น (五代十国) ที่บริเวณเนินเขาทางด้านทิศใต้ของซีหู โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อเก็บรักษาพระเกศาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ เฉลิมฉลองที่สนมเอกให้กำเนิดบุตรชาย*

เจดีย์เหลยเฟิง แต่เดิมเป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม สูง 5 ชั้น โครงหลักสร้างจากไม้ ส่วนภายนอกนั้นเป็นอิฐสีแดง-น้ำตาล โดยเจดีย์แห่งนี้จะงดงามที่สุดก็ในช่วงเวลายามเย็นเมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงมา ให้แสงที่กลมกลืนไปกับสีของเจดีย์

เจดีย์เหลยเฟิง ที่อยู่ทางทิศใต้ของทะเลสาบซีหู เมื่อประกอบเข้ากับ เจดีย์เป่าชู่ (保俶塔) ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือแล้วจึงถูกเรียกว่า 'ประตูสู่ซีหู'

ทั้งนี้ด้วยความที่ในเวลาต่อมาแคว้นอู่เยว่ก็ถูกรวมเข้าไปกับราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ เจดีย์เหลยเฟิงไม่ได้ถูกบูรณะซ่อมแซมเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ชาวบ้านยังหวั่นเกรงกันว่า รอบเจดีย์ดังกล่าวมีคำสาปของนางพญางูขาวที่เคยถูกกักขังอยู่ ....ในที่สุดวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1924 เจดีย์เดิมที่โครงทำจากไม้ก็พังลงมาในที่สุด

เมื่อเจดีย์เหลยเฟิงพังลงนั้น ชาวจีนจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียโบราณสถานอันเก่าแก่กว่าพันปีแห่งนี้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับรู้สึกดีเสียอีก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

สาเหตุก็ คือ 'นางพญางูขาว' แม้จะเป็นเดิมจะเป็นเพียงสัตว์เดียรัจฉาน ที่ดูเหมือนจะน่ากลัว แต่สำหรับชาวจีนจำนวนหนึ่งแล้ว ไป๋สู้เจิน เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความดี ความกล้าหาญ และความรักอันบริสุทธิ์ ในทางตรงกันข้าม ฝาไห่ แม้ภายนอกจะมีสถานะเป็นพระสงฆ์ ผู้ทรงศีล แต่ภายในจิตใจฝาไห่กลับเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และเป็นสัญลักษณ์ของความจอมปลอม

ทั้งนี้ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนางพญางูขาว ที่สะท้อนออกมาเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึง ความดีงามและ ความชั่วร้าย ดังกล่าว ในเวลาต่อมาก็มีผู้ตีความออกมาหลายแนว โดยมีแนวทางหนึ่งได้ตีความว่า ไป๋สู้เจิน เป็นตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาที่ ซื่อสัตย์-กล้าหาญ ขณะที่ พระฝาไห่ นั้นคือ ชนชั้นเจ้าขุนมูลนายที่คอยกดขี่ประชาชน** ซึ่งการตีความดังกล่าวก็ไปสอดคล้องกับกระแสการปฏิวัติโค่นล้ม ล้มล้าง ระบอบ ประเพณี เก่าๆ ของจีนพอดิบพอดี โดยเมื่อ พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองประเทศจีน ในปี ค.ศ.1949 เรื่อง 'นางพญางูขาว' จึงได้รับการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง

หลู่ซวิ่น ยอดนักประพันธ์จีนในยุคปฏิวัติ ของจีน ครั้งมาเยือนหางโจว เมื่อผ่านเจดีย์เหลยเฟิงอันผุกร่อน ที่อยู่ในสภาพจะพังมิพังแหล่ก็อดสะท้อนใจมิได้ หลู่ซวิ่นจึงนำเอาสภาพของเจดีย์เหลยเฟิงมาเปรียบเทียบกับประเทศจีนในขณะนั้น โดยเขียนบทวิพากษ์ว่า เจดีย์เหลยเฟิงอันทรุดโทรมก็เปรียบได้กับประเทศจีนที่ ครึ่งหนึ่งถูกกัดกร่อนด้วยระบบขุนนาง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็กำลังจะตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ โดยตอนหนึ่งนั้นหลู่ซวิ่นระบุว่า

"หวังว่า เจดีย์เหลยเฟิง (จีนยุคเก่า) จะพังทลายลง"

อย่างไรก็ตาม ยอดนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนสมัยใหม่ ผู้นี้ยังกล่าวไว้ด้วยว่า "เมื่อประชาชนจีนกลับมาเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่งคั่งเมื่อใด ก็อาจสร้างเจดีย์เหลยเฟิงขึ้นมาใหม่ได้"**

เจดีย์เหลยเฟิง หลังจากพังทลายไปเมื่อปี ค.ศ.1924 แต่ด้วยฐานะที่เคยเป็นหนึ่งใน 'สิบทิวทัศน์' ที่สวยงามที่สุดของซีหู โดยได้รับการขนานนามว่า 'แสงอาทิตย์อัสดงที่เหลยเฟิง (雷峰夕照)' ทำให้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีความคิดกันว่า ควรที่จะบูรณะและสร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นมาต้อนรับศตวรรษใหม่ เพื่อฟื้นทัศนียภาพเดิมขึ้นมาอีกครั้ง และจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึง ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองหางโจวให้เข้ากับยุคสมัย

โครงการสร้างเจดีย์เหลยเฟิงใหม่ นี้กลับมีผู้คัดค้านอยู่บ้าง อย่างเช่นนักวิชาการที่เชื่อว่าของใหม่ซิงๆ ยังไงก็สู้ของเก่าโทรมๆ ไม่ได้ และ บรรดาชาวบ้านที่ยังเชื่อถือเรื่องราวของ นางพญางูขาว โดยมีการตั้งคำถามว่า การสร้างเจดีย์ขึ้นมาอีกครั้งจะคล้ายกับเป็นการทรยศต่อเธอผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการบูรณะ-สร้าง เจดีย์เหลยเฟิงแห่งศตวรรษที่ 21 เริ่มดำเนินการจริง ในเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2001 ก็พบว่าใต้ซากเจดีย์เก่ามีวัตถุโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และศาสนา ถูกฝังอยู่เป็นจำนวนมาก โดย วัตถุโบราณที่มีความสำคัญต่อการศึกษาถึง การเผยแพร่ศาสนาพุทธในประเทศจีนอย่างสูงก็คือ สถูปเงินขนาดเล็กที่แกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ

สถูปเงิน ที่ค้นพบเป็นสถูปที่เชื่อว่าบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า สูง 35.6 เซนติเมตร โดยประมาณกันว่าถูกสร้างขึ้นในช่วง 200-300 ปีก่อนคริสต์กาล โดย พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอินเดีย (จีนเรียกว่า 阿育王) ที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าอโศกหันมาศรัทธาในศาสนาพุทธและได้ยินมาว่าการสร้างสถูปเพื่อธำรงค์ศาสนาพุทธ นั้นเป็นการกระทำที่ได้บุญมาก พระองค์จึงสั่งให้สร้างสถูปขึ้นถึง 84,000 องค์

สถูปที่พระเจ้าอโศก สร้างส่วนใหญ่แล้วจะทำจากวัสดุที่เป็น ทองแดง หรือไม่ก็ เหล็ก ส่วนที่ทำจาก เงินบริสุทธิ์ดังเช่นที่พบใต้เจดีย์เหลยเฟิงนั้นมีน้อยมาก โดย สถูปเงิน ก็แสดงให้เห็นถึงการแพร่ขยายของศาสนาพุทธจากอินเดียเข้ามาในแผ่นดินจีน และความศรัทธาต่อศาสนาพุทธของกษัตริย์ของแคว้นอู๋เยว่ด้วย

หลังจากการสำรวจทางโบราณคดีเสร็จสิ้น โครงการสร้างเจดีย์เหลยเฟิงใหม่ก็ดำเนินรุดหน้าไป จนเสร็จสิ้นในที่สุดในเดือนตุลาคม ค.ศ.2002 โดยเจดีย์ใหม่นี้ สร้างบนพื้นฐานของเจดีย์เดิม คือ เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยมขนาด 5 ชั้น แต่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งชาวหางโจวบางคนก็ว่าสวยกว่าของเดิม แต่บางคนกลับบอกว่า ไม่สวยโดยเฉพาะ เวลากลางคืนที่เจดีย์เหลยเฟิงจะเปิดไฟสีสันแสบตา (คล้ายแสงงานวัดบ้านเรา)

ในสายตาของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเพียงชั่วคราว 'เจดีย์เหลยเฟิงใหม่' องค์ใหม่นี้แทบจะไม่เหลือร่องรอยของความเก่าแก่เอาไว้เลย เนื่องจากการจัดสร้างใหม่ ผู้สร้างได้ยกเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใส่ไว้ในเจดีย์แห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ บันไดเลื่อน ลิฟท์แก้ว (ที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการ และ นักท่องเที่ยวที่ขี้เกียจขึ้นบันได) ระบบนิทรรศการที่มีทั้งภาพและเสียงสมบูรณ์แบบ

สำหรับ ส่วนฐานชั้นล่างสุดได้จัดเป็นนิทรรศการแสดงความเป็นมาเจดีย์เหลยเฟิงตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงเจดีย์องค์ปัจจุบัน โดยบริเวณส่วนกลางเป็นซากเจดีย์เก่า ถัดขึ้นไปชั้นที่สอง เป็นภาพไม้สลักนูน 8 ภาพเล่าเรื่องราวอย่างย่อๆ ของ ตำนานนางพญางูขาว ขณะที่ชั้นบนสุดนั้นเป็นภาพพุทธประวัติ พร้อมๆ กับเปิดระเบียงรอบๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมทิวทัศน์

สำหรับตัวผมเอง ....

ขณะที่ยืนรับลมอยู่ ณ ชั้นบนสุดของเจดีย์เหลยเฟิง แม้จะเสียดายอยู่ลึกๆ ในใจที่ไม่ได้ 'พบรัก' ดังเช่น ไป๋สู้เจินกับสี่ว์เซียน แต่หัวใจของผมกลับเต้นแรง .... มันตะโกนบอกว่า

"ผมตกหลุมรัก 'ซีหู' เข้าแล้วจริงๆ"

Tips สำหรับการเดินทาง:
- ราคาบัตรเข้า เจดีย์เหลยเฟิง ผู้ใหญ่ 40 หยวน นักเรียน 30 หยวน และ เด็ก 20 หยวน
- หลังจากชมเจดีย์เหลยเฟิงแล้ว อย่าเพิ่งรีบออก เพราะข้างๆ เจดีย์มีอีก 2 อาคารที่เข้าชมได้ฟรี อาคารแรก เป็นอาคารบรรจุสถูปเงิน (Museum of Holy Relics of Sakayamuni) ส่วนอาคารที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงวัตถุโบราณของเจดีย์เหลยเฟิงที่ถูกขุดขึ้นมา โดยมีของล้ำค่ามากมายทั้ง ถาดเงิน เหรียญ หยก เครื่องทองแดง เครื่องประดับ คำภีร์ พระไตรปิฎก พระพุทธรูป ฯลฯ

อ้างอิงจาก :
*หนังสือ 雷峰塔千年胜迹 โดย จางเจี้ยนถิง (张建庭) และ หวังปิง (王冰) สำนักพิมพ์หางโจว (杭州出版社) หน้า 138
**หนังสือ The Legend of White Snake (白蛇传) ฉบับสองภาษา (英汉对照) โดย เจ้าชิงเก๋อ (赵清阁) สำนักพิมพ์ 新世界出版社







กำลังโหลดความคิดเห็น