xs
xsm
sm
md
lg

‘หยวนหมิงหยวน’ ความงามที่จากไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชีวิตคนเมืองจีน / วันครบรอบ 144 ปี ของการบุกเผาอุทยานพระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา(18) เป็นวาระที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของจีนมารวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมรำลึกถึงโศกนาฏกรรมที่กองทัพมหาอำนาจจักรวรรดินิยม บุกเข้าเผาทำลาย ‘เทพีแห่งอุทยาน’ สมัยราชวงศ์ชิงที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ (ชมภาพในโฟโต้แกลอรี่ด้านล่าง)

นักวิชาการจีนหลายท่านเห็นว่า ควรมีการสร้างเลียนแบบสิ่งปลูกสร้างบางส่วนในหยวนหมิงหยวนขึ้นมาใหม่ โดยทำเลียนแบบโครงสร้างเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับความงามของสถาปัตยกรรมโบราณ และยังมีความคิดจะนำชื่อ 'หยวนหมิงหยวน' เสนอต่อองค์การยูเนสโกรับรองให้เป็นมรดกโลกด้วย โดยโครงการนี้จะเริ่มขึ้นที่วัดเจิงเจี๋ยว์ใกล้อุทยานฉี่ชุนหยวน

ในทันทีที่มีการเสนอข่าวดังกล่าว ก็เกิดกระแสต่อต้านความคิดนี้ เนื่องจากหวั่นเกรงว่า คุณค่าของอุทยานหยวนหมิงหยวนอาจจะถูก 'ทำลาย' ลงอีกครั้ง โดยโต้ว่า การก่อสร้างใดใดขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบจากของเดิมในอดีต ไม่ได้มีคุณค่าทางศิลปะด้านสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด โดยพวกเขายังย้ำว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะในแต่ละยุคสมัยมีเทคนิควิธีการแตกต่างกัน ซึ่งรังสรรค์คุณค่าทางจิตวิญญาณออกมาเทียบเคียงกันไม่ได้

และตามที่ทราบกันอยู่ในจิตสำนึกของชาวจีนทั้งหลายว่า คุณค่าของความโบราณในหยวนหมิงหยวนอยู่ที่ ‘บาดแผล’ ที่ฝังลึกอยู่ในซากปรักหักพังในอุทยานนั่นเอง

หรือเพราะว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถทวงภาพในอดีตที่เคยเป็น 'ชีวิต' อันภูมิฐานอลังการของอุทยานพระราชวังหยวนหมิงหยวนกลับฝื้นคืนมาได้ !

อุทยานพระราชวังหยวนหมิงหยวน เป็นหนึ่งในอุทยานในพระราชวังฤดูร้อนชานกรุงปักกิ่ง ที่สร้างขึ้นตามกระแสนิยมในการเสด็จแปรพระราชฐานของจักรพรรดิสมัยราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1644-1911) ในราวคริสต์ศักราช 1700 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในยุคเฟื่องฟูที่สุดของสวนแห่งนี้ พื้นที่อุทยานกว้างใหญ่ราว 3,500,000 ตรม. ประกอบด้วย 3 อุทยานคือ ฉางชุนหยวน(长春园) ฉี่ชุนหยวน(绮春园) และหยวนหมิงหยวน(圆明园) สวนในวังที่งดงามกว้างใหญ่ที่สุด จนได้ชื่อว่า ‘สวนแห่งสวนทั้งหมื่น’ และยังเป็นแหล่งรวมของสวนที่มีศิลปะการตกแต่งต่างๆกันกว่า 100 แบบ ซึ่งต่อให้จิตรกรฝีมือเอกก็ยากที่ถ่ายทอดความงามเหล่านั้นออกมาได้

ภายในอุทยานแบ่งเป็นเขตต่างๆทั้งที่เป็นพระราชวัง ตำหนักนางใน วัด อุทยาน ทะเลสาบ ฯลฯ โดยมีเขตทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของกลุ่มสถาปัตยกรรมหลัก ที่ซึ่งจักรพรรดิเคยเสด็จมาใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด นับตั้งแต่ จักรพรรดิหย่งเจิ้ง เฉียนหลง เจียชิ่ง เต้ากวง และเสียนเฟิง 5 รัชกาล และเป็นที่ตั้งของอุทยานหยวนหมิงหยวน ซึ่งปัจจุบันไม่หลงเหลือสิ่งปลูกสร้างใดใดอยู่เลย

วังที่เหลือไว้แต่ชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ พระราชวังเจิ้งต้ากวงหมิงเตี้ยน ซึ่งเป็นวังหลักของหยวนหมิงหยวน ณ ใจกลางประดิษฐานพระที่นั่งแกะสลักงามวิจิตรทำจากไม้จันทน์ทั้งหลัง และที่ฝาผนังประดับภาพเขียนทิวทัศน์อุทยานหยวนหมิงหยวน ซึ่งปัจจุบันก็อันตรธานไปหมดสิ้น

หากเปรียบ ‘เทพีแห่งอุทยาน’ นี้เป็นอิสตรี เธอก็เป็นโฉมงามอันดับหนึ่ง เสมือน ‘สนมเอก’ ที่สร้างความสำราญพระราชหฤทัยแก่องค์จักรพรรดิในยามบ้านเมืองสงบสุข และคือตัวแทนของความงามสมบูรณ์แบบ ความโอ่อ่ามั่งคั่ง และสัญลักษณ์ของความฟุ้งเฟ้อในคราเดียวกัน แต่เมื่อถึงยามที่ ‘เจ้านาย’ ไร้ซึ่งอำนาจ เธอก็ถูกรุกรานย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนไม่หลงเหลือภาพความงามที่เคยเย้ายวนน่าชื่นชม

ระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1860 วันที่ 6 ตุลาคม กองทหารพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศสบุกอุทยานหยวนหมิงหยวน ใช้เวลาเผาวังอยู่ถึง 2 วัน 2 คืน และยังกวาดเอาทรัพย์สินและโบราณวัตถุที่มีค่าไปด้วย ซากปรักหักพังจากการเผาทำลายครั้งนั้นไม่ได้รับการซ่อมแซม เนื่องจากราชสำนักแมนจูในเวลานั้นมีฐานะคลอนแคลน

จนถึง ปีค.ศ.1900 ราชวงศ์ชิงถูกสั่นคลอนอำนาจ ซากวังจึงไร้เจ้าของ และถูกปล้นสะดมอีกครั้งอย่างน่าสะเทือนใจโดยกองทัพมหาอำนาจ 8 ชาติ สมบัติพัสถานที่เหลือทั้งหมดถูกขโมยและทำลายจนราพณาสูร

จากนั้นมา เทพีแห่งอุทยานอันทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมตะวันออก ที่ผสมผสานศิลปะแนวตะวันตกได้สาบสูญไปจากสายตาของผู้คน โดยมีทุ่งหญ้ารกร้างและซากอิฐหักพังระเกะระกะเข้ามาแทนที่ ซึ่งกลายเป็นสภาพที่ชนรุ่นหลังรู้จักหยวนหมิงหยวนมาจนถึงวันนี้

ดังนั้น สิ่งที่ฝ่ายต่อต้านโครงการดังกล่าวยังกังวลอยู่คือ หากมีการทุ่มงบประมาณสร้างอุทยานขึ้นใหม่ได้สำเร็จ คงต้องมีผลประโยชน์ทางธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อ 'ทุกอย่างกลายเป็นธุรกิจ' บาดแผลที่เคยเกิดขึ้นบนซากผุพังและในเศษอิฐทุกเม็ดทุกก้อนอาจถูกมองข้ามไป ความอัปยศอดสูและความเจ็บปวดแห่งชนชาติที่เคยจารึกอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ก็จะค่อยๆลบเลือนหายไปเช่นกัน.

อ้างอิงจาก : CRI online/YNET.com
เว็บไซต์แสดงภาพจำลองโบราณสถานในหยวนหมิงหยวนก่อนและหลังถูกทำลาย http://www.ctvpr.com.tw/case-ymy/present-1a.htm










กำลังโหลดความคิดเห็น