xs
xsm
sm
md
lg

‘จิงจินจี้’ ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งที่ 3(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณีปักกิ่งจะเป็นศูนย์การเงินนานาชาติ

ขุมพลังเศรษฐกิจ / ปักกิ่ง เริ่มมีการอุ่นเครื่องดำเนินการเอาจริงเอาจังกับธุรกิจด้านการเงินเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา (2002) โดย 10 ปีก่อนหน้านั้น รัฐบาลกลางได้วางนโยบายพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการเงินไปที่เมืองเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ก่อน ขณะนั้นกรุงปักกิ่งเองได้รับการส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการเมืองและวัฒนธรรม ฉะนั้นการส่งเสริมด้านการเงินในปักกิ่งจำต้องทำอย่างสุขุมรอบคอบ ไม่มีบรรยากาศการรณรงค์ส่งเสริมที่โจ่งแจ้งอย่างใน 2 เมืองข้างต้น

ประสบการณ์ 10 ปี ทำให้นครหลวงแห่งนี้ตระหนักแล้วว่า เศรษฐกิจ คือพื้นฐานของความเป็นศูนย์กลางการเมืองและวัฒนธรรม และการเงินการคลัง คือหัวใจของเศรษฐกิจ เมื่อต้นปี 2002 หลิวฉี ผู้ว่าการเทศบาลนครปักกิ่งในขณะนั้น ประกาศชัดในการประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนและการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมือง ว่า

เศรษฐกิจของเมืองหลวงคือ เศรษฐกิจภูมิปัญญา (Knowledge-Based Economy) และปักกิ่งจะต้องพัฒนาการผลิตในอุตสาหกรรมภาคการบริการ โดยมีธุรกิจการบริการด้านการเงินและประกันภัยเป็นหัวขบวนนำทัพที่สำคัญ

และในปีนั้นเองที่มูลค่าการผลิตในธุรกิจการเงินปักกิ่ง เติบโตขึ้นมีสัดส่วนถึง 15.5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกรุงปักกิ่ง(จีดีพี) และสูงเป็นอันดับต้นของประเทศ

ต้นปีที่แล้วก็ที่มีการก่อตั้งสำนักงานบริการด้านการเงินของทางการปักกิ่ง และคณะทำงานด้านการเงินประจำกรุงปักกิ่ง พร้อมกับการก่อตั้งศูนย์กลางที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านการเงินหลายประเภทหลายแห่ง จนศาสตราจารย์ชิวเจ้าเสียง แห่งสถาบันการเงินการคลัง มหาวิทยาลัยการค้าระหว่างประเทศ พูดติดตลกว่า “รวมศูนย์กลางการเงินเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็ทำให้ปักกิ่งกลายเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งชาติที่ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว”

แต่ศูนย์กลางการเงินแห่งชาติไม่ได้อยู่ที่ปักกิ่งแห่งเดียว

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งในสื่อฮ่องกง ‘เซียงกั่งเหวินฮุ่ยเป้า’ (香港文汇报) เคยพาดหัวคำกล่าวของกรมเศรษฐกิจท้องถิ่น ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว (14 ธ.ค.46) ว่า ‘การที่จีนจะมีศูนย์กลางการเงินนานาชาติ 3 แห่งในเวลาเดียวกัน (หมายถึง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง) เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง’

และยังยอมรับว่า บทบาทและปัญหาของเขตเศรษฐกิจเมืองใหญ่ทั้งสามมีความซ้ำซ้อนอยู่แล้ว นอกจากนี้ ระดับการแข่งขันระหว่างเขตทั้ง 3 ก็รุนแรงมากเกินไป ซึ่งการตั้งปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติ ย่อมเกิดความสัมพันธ์เชิงแข่งขันกับเซี่ยงไฮ้อย่างชัดเจน

คำพูดนี้ส่อสัญญาณบางอย่างจากหน่วยงานรัฐ ?

รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การเสนอตั้งปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติ กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์ถกเถียงและถูกจับตาไปทั่ว โดยมีการทำวิจัยเสนอรายงานเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวออกมาสม่ำเสมอ หลังจากที่นายหวังฉีซัน อดีตผู้ว่าการธนาคารจงกั๋วเจี้ยนเส้ออิ๋นหัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งชาติจีน(จงกั๋วเหรินหมินอิ๋นหัง) ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเทศบาลนครปักกิ่งคนปัจจุบัน(รับตำแหน่งเมื่อ 2004)

ดังตัวอย่างรายงานการวิจัย เรื่อง ‘ทิศทางการพัฒนาและจัดตั้งศูนย์กลางการเงิน’ ของสำนักวิจัยเอกชนรายหนึ่ง ก็เสนอว่า ตลาดการเงินของปักกิ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาปัจจัยด้านเงินทุนและการตลาดมากขึ้นกว่านี้

ในขณะที่บทสัมภาษณ์ หวังลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากสื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยนั้น กลับมองตรงกันข้าม เขากล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นการซ้ำซ้อน หากว่าเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งจะเป็นศูนย์กลางการเงินด้วยกัน เพราะแต่ละที่มีจุดที่น่าส่งเสริมแตกต่างกัน ซึ่งทั้งนี้เขาไม่ได้กล่าวถึงฮ่องกงแต่อย่างใด

เขากล่าวเช่นนี้เพราะเชื่อว่า ศูนย์กลางการเงินนานาชาตินั้นมีการแบ่งระดับชั้น การเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติระดับทั่วโลกของนิวยอร์ก ไม่ได้ขัดขวางการเติบโตของศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาคของชิคาโก และสำหรับจีน หากมองกันในระยะยาวแล้ว สามารถมีศูนย์กลางการเงินนานาชาติได้มากกว่า 2 แห่งขึ้นไปแน่นอน

หวังลี่ กล่าวเสริมว่า ในความเป็นจริงกรุงปักกิ่งมีศักยภาพพอที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งรวมสำนักงานใหญ่ของธนาคาร และสถาบันการเงินขนาดใหญ่อยู่มาก ในอนาคตหากการโยกย้ายเงินทุนทั้งหมดในระบบมาจบลงที่นี่ และมีการรวบรวมตัวเลขเงินทุนของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ตลอดจนมีการจัดการระบบการใช้สอยเงินทุนทั้งหมด นั่นเท่ากับว่า ปักกิ่งจะครอบครองเงินทุนเทียบเท่ากับปริมาณเงินทุนรวมของธุรกิจธนาคารในจีนถึงกว่า 80%

นอกจากนี้ เขายังอ้างว่า การใช้สอยเงินทุนอย่างเป็นระบบในธุรกิจประกันภัยของจีนมากกว่า 2 ใน 3 ก็สิ้นสุดลงที่นี่ รวมไปถึงการเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ในปักกิ่ง อาทิ

กลุ่มบริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติ บริษัทน้ำมันซิโนเปค บริษัทผลิตน้ำมันนอกชายฝั่ง บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไชน่าโมบาย และบริษัทไชน่า ยูนิคอม บริษัทธุรกิจอินเทอร์เน็ต ซีเอ็นซี อินเตอร์เนชั่นเนล กลุ่มบริษัทธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและการสื่อสารโทรคมนาคม ไชน่า หัวเหนิง และบริษัทธุรกิจขนส่งเรือเดินสมุทร จงหย่วนจี๋ถวน เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเงินทุนจำนวนมหาศาล ในเวลาเดียวกันก็มีส่วนค้ำจุนความเป็นศูนย์กลางการเงินของนครหลวงปักกิ่งด้วย

ในขณะที่ เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติที่ครบครันมากกว่า ด้วยเป็นแหล่งธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจแลกเปลี่ยนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ และภายหลังที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) นครเซี่ยงไฮ้ก็เป็นแนวหน้าในการเปิดกว้างทางการค้ากับนานาประเทศ มีการดำเนินนโยบายสิทธิพิเศษด้านภาษี สิทธิพิเศษในการซื้อบ้านแก่บุคลากรด้านการเงิน ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุน และตั้งมาตรการพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างถิ่น และเร่งขับดันให้มหานครแห่งนี้พัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกโดยไว

รายงานล่าสุด (19 ต.ค.47)จาก ‘จินหรงสือเป้า’ นิตยสารด้านการเงินการธนาคารของจีน ระบุว่า ทางการปักกิ่งได้ส่งคณะผู้แทนเดินทางไปยังประเทศต่างๆในยุโรป เพื่อเชิญชวนนักการคลังชั้นนำทั่วโลก เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่บนถนนสายการเงินใจกลางกรุงปักกิ่ง โดยเริ่มจากนักธุรกิจในลอนดอน ตามโครงการพัฒนาปักกิ่งเป็นศูนย์กลางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยนานาชาติ

ทั้งนี้ นายจีว์จิ่น ผู้อำนวยการบริษัท Beijing Financial Street Holding ที่รับผิดชอบโครงการก่อตั้งถนนการเงินในกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า ถนนการเงินซึ่งตั้งอยู่ในเขตซีเฉิงทางฝั่งตะวันตกของพระราชวังกู้กงสายนี้ เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ด้านธุรกิจการเงินการธนาคารยักษ์ใหญ่ของจีน อาทิ ธนาคารกลาง สำนักงานบริหารจัดการด้านเงินตราต่างประเทศ ฯลฯ

โดยขณะนี้ถนนสายดังกล่าวควบคุมเงินทุนของธนาคารจงกั๋วอิ๋นหังถึง 90% และเงินทุนในธุรกิจประกันภัยทั่วประเทศ 65%  ซึ่งใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 40,000 ล้านหยวน (ราว 200,000 ล้านบาท) ในการบุกเบิกโครงการบนเนื้อที่ 1,500,000 ตรม. และในอนาคต (2006) จะมีแผนขยายพื้นที่ก่อสร้างออกไปอีก 2,500,000 ตร.ม.

แม้ว่าบทสรุปของปักกิ่งจะยังคงเป็นที่กังขาในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ของจีน แต่กระแสการเทียบมวยระหว่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และบางครั้งก็โยงไปถึงเซินเจิ้น ก็ยังเป็นประเด็นโต้เถียงที่ปรากฏในสื่อมวลชนแดนมังกรเป็นระยะๆ  รวมไปถึงการเปิดเว็บไซต์ที่รายงานความเคลื่อนไหวของการชิงตำแหน่งศูนย์กลางการเงินนานาชาติของจีน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมาโหวตแสดงความเห็นว่า เขตใดมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการเงินที่เหมาะสมที่สุดด้วย.


เรียบเรียงจาก :ไชน่านิวส์ / ซีนาเน็ต(ธุรกิจ) / กั๋วจี้จินหรงเป้า / เทียนจินอีนอร์ธเน็ต / หนันเฟิงชวง / ซีอาร์ไอออนไลน์ ภาพจาก : ซินหัวเน็ต
สนใจติดตามเว็บไซต์ข่าวสารศูนย์กลางการเงินนานาชาติของจีน เชิญแวะชมที่ http://business.sohu.com/84/07/column212820784.shtml
กำลังโหลดความคิดเห็น