xs
xsm
sm
md
lg

'หางโจว' รอยต่อแห่งผืนฟ้าและแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ชีวิตคนไยไม่ต่างกับหยดน้ำเล็กๆ ซึ่งดำรงอยู่เพียงชั่วเวลาสั้นๆ
ก่อนที่จะระเหยหายไปไม่ช้านาน
จะแปลกอะไรว่าจะเป็นหยดน้ำค้างบนใบหญ้า
เป็นละอองน้ำที่ติดอยู่ข้างถ้วยแก้วในร้านกาแฟ
เป็นหยาดฝนบนใบไม้
หรือที่เกาะพราวอยู่ตามกระจกหน้าต่าง
หรือว่าเป็นน้ำหยดเล็กๆ ในแม่น้ำลำธารหรือในท้องทะเลมหาสมุทร
เราต่างก็เป็นหยดน้ำซึ่งจะระเหยเหือดแห่งไปในยามเช้าและยามเย็น
ในยามค่ำ ยามกลางวัน หรือดึกดื่น เที่ยงคืน
ทีละหยด ทีละหยด ได้จางหายไป ล่วงลับดับสูญไปเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น


พจนา จันทรสันติ
ชีวิตกับหยดน้ำ จากหนังสือ ‘เปลวไฟใต้กระแสธาร’


เมื่อครั้งยังอ่อนวัย ผมเคยใฝ่ฝันว่าอยากจะเขียนบทกวี ได้กินใจเพียงสักหนึ่งในร้อยของ พจนา จันทรสันติ ก็ยังดี

ความฝันของผมก็ถูกปล่อยให้ลอยไปกับกระแสแห่งกาลเวลา บางทีอาจเป็นเพราะ หินกรวดของชีวิตที่วุ่นวาย ได้เสียดสีให้ใจผมกระด้างขึ้น และมิอาจรับการขัดถูจาก บทกวี ใดๆ ให้ละเอียดอ่อนได้เช่นเดิมอีกแล้ว

แต่เมื่อผมมาถึงดินแดนที่ชื่อ 'หางโจว' ความรู้สึกลึกซึ้งกับบทกวีที่เคยผ่านตาและหลงเหลือเป็นเศษเล็กเศษน้อยในความทรงจำก็กลับมากระตุ้นให้เกิด 'ความเสียดาย' .... เสียดายที่ชีวิตนี้ไม่มีพรสวรรค์เพียงพอจะเป็นนักกวี .... เสียดายที่บุคคลผู้มาถึงสถานที่แห่งนี้ในวันนี้กลับเป็นผม มิได้เป็นนักกวีคนใดสักคน มิฉะนั้นเขาอาจจะซึมซับและถ่ายทอด ความสวยงามของ 'หางโจว' เป็น บทกวีสักบท ผ่านไปยังท่านผู้อ่านได้ ลึกซึ้งและงดงามกว่านี้
.......................
"上有天堂,下有苏杭"
"บนฟ้ามีสวรรค์ บนดินมีซู-หัง (หมายถึงเมือง ซูโจว และ หางโจว)"

การเปรียบเปรยความงดงามของสองเมืองแห่ง 'เจียงหนาน' (หมายความถึง ดินแดนที่อยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง ครอบคลุมพื้นที่ด้านใต้ของมณฑลเจียงซู และตอนบนมณฑลเจ้อเจียง) ไม่รู้ว่าถ่ายทอดกันมากี่ร้อย กี่พันปีแล้ว แต่ถึงปัจจุบัน คำเปรียบเปรยดังกล่าวก็ยังคงอยู่ และถูกพิสูจน์ด้วยสายตาของผู้มาเยือนจำนวนนับไม่ถ้วน ตลอดมา

หางโจว (杭州) เป็นเมืองเอก ของมณฑลเจ้อเจียง (浙江) มณฑลทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง (长江) หนึ่งในสอง 'แม่น้ำ' ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของชาวจีนทั้งมวล

ด้วยความสวยงามทำให้หางโจว มีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า "สวรรค์บนดิน"

ไม่เพียงแต่ความสวยงาม พื้นที่รอบบริเวณของดินแดนที่แทรกตัวอยู่ในเจียงหนานแห่งนี้ ยังเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทางเกษตรกรรม การเพาะปลูก และถือเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของจีนตลอดมา

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) จากคำสั่งขุดคลองต้ายุ่นเหอ (大运河; Grand Canal) ขององค์ฮ่องเต้สุยหยางตี้ รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์สุย เพื่อเชื่อมดินแดนทางเหนือกับทางใต้ จากปักกิ่งมายังหางโจว ได้ผลักดันให้เมืองหางโจวเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

ในหน้าประวัติศาสตร์จีน หางโจว เจริญถึงขีดสุดเมื่อ ราชวงศ์ซ่งได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากเมืองไคเฟิง (开封) ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง (黄河) ลงมายัง หางโจว ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เพื่อความปลอดภัยจากการกรุกรานของชนเผ่าจิน (金) และได้ตั้งราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋; ค.ศ.1127-1279) ขึ้น

การย้ายเมืองหลวงดังกล่าวได้ผลักดันให้ชื่อของ 'หางโจว' ติดอยู่ในทำเนียบ 1 ใน 7 เมืองหลวงเก่าของจีน ร่วมกับ อันหยาง, ซีอาน, ลั่วหยาง, ไคเฟิง, หนานจิง และ ปักกิ่ง

แม้ว่าในเวลาต่อมา ชนเผ่ามองโกลจะเข้ามาปกครองแผ่นดินจีนในนามของราชวงศ์หยวน (元; ค.ศ.1206-1368) โดยยึดเอา ต้าตู (ปักกิ่ง) ที่อยู่ทางภาคเหนือเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์กลางทางการเมือง-การปกครอง แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทางใต้ หางโจวก็ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอยู่

"ไม่น่าสงสัยเลยว่า Kinsai* (เป็นชื่อที่ มาร์โค โปโล ใช้เรียกหางโจว) เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยม และงดงามที่สุดในโลก .... เมือง (หางโจว) มีความเส้นรอบวงประมาณ 100 ไมล์ ... และเกือบทุกส่วนของเมืองสามารถไปถึงได้ด้วยทางบก หรือ คลอง ....
"กล่าวกันว่า มีสะพานอยู่ 12,000 แห่ง โดยสะพานที่ทอดผ่านลำคลองสายสำคัญนั้นจะถูกสร้างไว้สูงตระหง่าน และออกแบบอย่างดีให้เรือลำใหญ่ที่ปลดเสาเรือลงแล้ว สามารถลอดผ่านได้ ขณะที่ด้านบนสะพานก็มีเกวียนและม้าสัญจรผ่านไปมา ... (หางโจว) มีห้องอาบน้ำสาธารณะถึง 3,000 แห่ง" - Travels of Marco Polo, (Wordsworth Ediitions Ltd., 1997)

นอกจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแล้ว สเน่ห์สำคัญที่ขับให้ หางโจว กลายเป็น "สวรรค์บนดิน" จนถึงขนาดนักเดินทางชาวอิตาลีอย่างมาร์โค โปโล (ค.ศ.1254-1324) ยกย่องว่าเป็นเมืองที่ วิจิตรและงดงามที่สุดในโลกในยุคนั้น ก็คือ ทะเลสาบที่มีชื่อว่า 'ซีหู'

ทั่วแผ่นดินจีนมี ซีหู หรือ ทะเลสาบตะวันตก มากถึง 36 แห่ง แต่ 'ซีหู' ที่ถือว่าเป็น พี่ใหญ่แห่งซีหูทั้ง 36 แห่ง และได้ชื่อว่าเป็น ซีหู ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็ คือ ทะเลสาบตะวันตก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหางโจว

ซีหู มีลักษณะใกล้เคียงกับวงรี สามด้านถูกล้อมรอบด้วยภูเขา และอีกหนึ่งด้านเป็นเมือง โดยสาเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็น ทะเลสาบตะวันตก ก็เนื่องมาจากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองหางโจว เดิมที ซีหู เชื่อมต่อกับแม่น้ำเฉียนถังเจียง แต่ในศตวรรษที่ 8 ได้มีการถมทางน้ำที่เชื่อมซีหูกับแม่น้ำออกเสีย ทำให้ปัจจุบัน ซีหู กลายเป็นทะเลสาบที่ตั้งอยู่โดดๆ

รอบ ซีหู ประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญมากกว่า 30 แห่ง และสถานที่ชมทิวทัศน์มากกว่า 40 แห่ง โดย จุดสำคัญก็ได้แก่ หนึ่งภูเขา (กูซาน: 孤山), สองทาง (ซูตี-ไป๋ตี:苏提-白提 ; เป็นทางถนนที่สร้างตัดผ่านทะเลสาบ 'ซีหู' ทั้งนี้บางคนกล่าวว่ามีทางสายที่สาม คือ หยางตี:杨提), สามเกาะ ห้าทะเลสาบ และ สิบทิวทัศน์*

บุคคลที่มีส่วนช่วยขับให้ ชื่อเสียง ความงามของซีหู เลื่องลือระบือไกล นั้นเป็น 'ยอดกวี' ในคราบนักปกครองสองคนที่เคยมารับราชการที่หางโจว สองคน คนแรกคือ ไป๋จีว์อี้ (白居易) ยอดกวีแห่งสมัยถัง ผู้ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการนครหางโจว เมื่อ ค.ศ.822

ในยุคของ ไป๋จีว์อี้ หางโจวได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียง ทั้งไป๋ยังเขียนบทกวีกล่าวถึงหางโจวอีกจำนวนมาก และประชาชนชาวหางโจวก็ตอบแทน ไป๋จีว์อี้ ด้วยการตั้งชื่อสถานที่เพื่อระลึกถึงเขาไว้หลายแห่ง โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ไป๋ซาตี (白沙堤) หนึ่งในสองทางตัดผ่านซีหูอันมีชื่อเสียง

คนที่สองก็คือ ซูตงโพ (苏东坡) กวีสมัยซ่ง ซูตงโพได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทั้ง นักปกครอง กวี และศิลปิน ในคนๆ เดียว ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการนครหางโจวเมื่อ ค.ศ.1072 คล้อยหลัง ไป๋จีว์อี้ ไปประมาณ 200 กว่าปี

ซูตงโพ เป็นนักปกครองที่เยี่ยมยอด และเป็นที่รักยิ่งของชาวหางโจวในสมัยนั้นด้วย แต่ด้วยความดีเด่นเกินหน้าเกินตา ภัยร้ายก็มาถึง เมื่อเขาโดนปลดจากตำแหน่งและถูกเนรเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงร้องขอ "ซูตงโพ" จากประชาชนดังขึ้นๆ ราชสำนักซ่งก็ทานกระแสไม่อยู่ต้องแต่งตั้งให้เขากลับมาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งเมื่อ ค.ศ.1089

เช่นเดียวกับ ไป๋จีว์อี้ ชาวหางโจวก็ตอบแทนความดีของ ซูตงโพ ด้วย ซูตี (苏堤) อันเป็นเส้นทางตัดผ่านทะเลสาบซีหูที่ชื่อถูกตั้งตามชื่อสกุลของ ซูตงโพ

ด้วยความที่เป็นยอดกวี ซู ได้ร่ายบทกวี พรรณนาถึงเมืองหางโจวไว้อย่างเลิศหรู ทั้งยังจับเอา ไซซี หรือ ซีซือ (西施)ยอดสาวงามในสมัยชุนชิว (ช่วงปี 722-481 ก่อนคริสต์ศักราช) ผู้ถูกร่ำลือว่า "งามเสียจนฝูงปลายังต้องจมน้ำ" และถูกจัดว่าเป็น หนึ่งในสี่สุดยอดสาวงามในประวัติศาสตร์จีน ลงมาว่ายน้ำเล่นในทะเลสาบซีหู** ก็ยิ่งขับให้สเน่ห์ของหางโจวให้ขจรกระจายไปทั่วแผ่นดิน**

ชื่อเสียงความงามของ หางโจว หนึ่งในสวรรค์แห่งดินแดนเจียงหนาน ทางภาคใต้ของจีน โด่งดังเสียจนฮ่องเต้จีน ที่เมืองหลวงตั้งอยู่ทางตอนเหนือในยุคต่อๆ มาอดรนทนไม่ไหวต้องเสด็จลงมาตรวจราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในสมัยชิง เฉียนหลงฮ่องเต้ก็ถึงกับสั่งให้มีการสร้างสวนส่วนพระองค์ โดยเลียนแบบเอาทิวทัศน์ของเจียงหนาน มาตั้งไว้ที่ปักกิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าทิวทัศน์รอบทะเลสาบคุนหมิงของ พระราชวังฤดูร้อน (颐和园) ในปัจจุบันนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับ ทิวทัศน์รอบทะเลสาบซีหู ของหางโจวอยู่หลายส่วน

ฤดูกาล ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการไปเยือนซีหู ก็คือ ชุนเทียน (春天) ที่มีลมเย็นแห่งฤดูใบไม้ผลิคอยโลมเลีย ใบเขียวอ่อนของต้นหลิว และ ดอกท้อที่เพิ่งผลิกลีบ

ตั้งแต่โบราณกาลความงามของซีหู ทะเลสาบตื้นๆ ที่มีความลึกเพียง 2-3 เมตร มีความผูกพันกับผู้คนจากทั่วสารทิศ มีเรื่องราว เรื่องเล่า ตำนาน บทกวี ที่ถ่ายทอดถึงความสุข-ความทุกข์ อันเกี่ยวพันกับซีหู หลงเหลือตกทอดไว้ถึงปัจจุบันมากมายเหลือคณานับ

ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองที่เรียงรายอยู่รอบๆ ได้ขับให้ ซีหู คล้ายกับเป็น ดวงเดือนนวลแสงที่มีดวงดาวสุกสกาว รุมล้อมอยู่ก็ไม่ปาน ....

Tips สำหรับการเดินทาง:
- หางโจว เป็นเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมากับทัวร์ เพราะเป็นเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว ซึ่งมีที่พักเยอะและหลากหลายราคา มีการคมนาคมที่สะดวกทั้งทางเครื่องบิน รถไฟ รถประจำทาง หรือ รถยนต์
- แผนที่หางโจว (杭州市交通旅游图) เป็นอุปกรณ์สำคัญมากสำหรับการเที่ยวมาเที่ยวหางโจว แบบมาเองลุยเอง แผนที่ดังกล่าวเป็นแบบสี่สี (ภาษาจีนล้วน) ขายอยู่ริมทาง สนนราคา 5 หยวน มีแผนที่หลายขนาด อธิบายอย่างละเอียด รวมถึงแผนที่ซีหูและแหล่งท่องเที่ยวรอบๆ ซีหู โดยเฉพาะด้วย
- รถประจำทางที่หางโจว (มีข้อมูลบนแผนที่) ค่อนข้างสะดวกสบาย โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ รอบซีหูนั้นมีรถประจำทางผ่านทั้งหมด ราคาค่าโดยสารก็ย่อมเยา ประมาณ 1-2 หยวน โดยรถประจำทางที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวนั้นส่วนใหญ่จะขึ้นด้วย Y (มีบ้างที่ขึ้นต้นด้วย K) อย่างเช่น สาย Y2 ต้นสายอยู่ที่สถานีรถไฟ และวิ่งวนรอบซีหู
- แท็กซี่และคนขับแท็กซี่ที่หางโจว คุณภาพและอัธยาศัยอยู่ในขั้นดีมาก ราคาเริ่มต้นที่ 10 หยวน

อ้างอิงจาก :
*หนังสือจงกั๋วหลี่ว์โหยวตี้หลี่ (中国旅游地理) ปี ค.ศ. 2003 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแร่ธาตุจีน หน้า 74
**หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 158-162


กำลังโหลดความคิดเห็น