xs
xsm
sm
md
lg

เมืองเก่าผิงเหยา : ขุมคลังโบราณและต้นแบบตลาดค้าเงินยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผิงเหยา เป็นเมืองเก่าที่มีอายุกว่า 2,700 ปี ยังคงรักษาโครงสร้างบ้านเมืองแบบชาวฮั่นในสมัยหมิงและชิง(ราวค.ศ. 1368–1911)ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ การวางผังเมืองได้รับการออกแบบอย่างเป็นระเบียบ สิ่งปลูกสร้างภายในเมืองอย่าง วัดวาอาราม อาคารหอสูง ถนน บ้านเรือนราษฎร ฯลฯ ต่างสะท้อนให้เห็นถึงวิทยาการความรู้และวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ

เมืองเก่าผิงเหยาตั้งอยู่บนที่ราบไท่หยวนริมฝั่งแม่น้ำเฝินเหอ ตอนกลางของมณฑลซันซีทางภาคเหนือของจีน ห่างจากเมืองไท่หยวนเมืองเอกของมณฑลไปราว 90 กิโลเมตร เคยเป็นศูนย์กลางตลาดทางการเงินของประเทศมาแต่เก่าก่อน จนได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ปักกิ่งน้อย’


ที่มา

ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ก็เริ่มมีผู้คนดำรงชีพอยู่ในดินแดนแถบนี้ กล่าวกันว่ากษัตริย์เหยา ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนสมัยดึกดำบรรพ์ ได้เคยปกครองดินแดน‘เถา’(陶)มาก่อน ขณะที่ผิงเหยา เดิมเคยมีชื่อเรียกว่า ‘กู่เถา’หรือ‘ผิงเถา’(平陶) ขณะที่มีการสร้างกำแพงเมืองครั้งแรกสมัยโจวเซวียนหวังแห่งราชวงค์โจวตะวันตก เมื่อ 827 -782 ปี ก่อนคริสตกาล ล่วงเข้าสมัยชุนชิวจั้นกั๋วดินแดนแถบนี้อยู่ในเขตแคว้นจิ้น ที่ต่อมากลายเป็นรัฐเจ้า เมื่อฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกัน ผิงเหยาก็กลายเป็นเขตอำเภอหนึ่งของจีนแต่นั้นมา

เมื่อถึงราชวงศ์วุ่ยเหนือ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ชื่อเมืองออกเสียงเช่นเดียวกับจากพระนามฮ่องเต้ทัวป๋าเถา จึงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ‘ผิงเหยา’จวบจนปีหงอู่ที่ 3 ในราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1370) ได้มีการบูรณะขยายเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้โบราณสถานและบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบันอยู่ในช่วงสมัยหมิงและชิง ถือเป็นเมืองโบราณของชาวฮั่นที่ยังคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเมืองหนึ่งทีเดียว ถึงแม้ว่าผิงเหยายังคงสถานภาพความเป็นเมืองระดับอำเภอมากว่า 2,700 ปี แต่ในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมก็มีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองสดใสในอดีต

ขุมคลังทางโบราณคดี

ผิงเหยาที่ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ย่อมจะกลายเป็นแหล่งสะสมทางโบราณคดีที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีหน่วยงานรักษาโบราณวัตถุกว่า 300 แห่ง ในจำนวนนี้ ที่มีความสำคัญระดับชาติ 3 แห่ง ได้แก่ กำแพงเมืองเก่า วัดเจิ้นกั๋ว และวัดซวงหลิน

กำแพงเมืองเก่า แรกสร้างขึ้นในสมัยโจวตะวันตก (827 – 782 ปีก่อนคริสตศักราช) ต่อมาในราชวงศ์หมิงปีหงอู่ที่ 3(ค.ศ. 1370) จึงได้มีการขยายแนวกำแพงดินออกไป ซึ่งคงอยู่จวบจนทุกวันนี้ ความยาวโดยรอบ 6,200 เมตร สูง 6-10 เมตร ส่วนยอดกำแพงกว้าง 3-6 เมตร กำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีหอประตูเมือง 6 แห่ง อันเป็นที่มาของคำเรียกขานว่า ‘เมืองเต่า’โดยมีหอประตูเมืองทิศใต้เป็นหัวเต่า ทิศเหนือเป็นหางเต่า ทิศตะวันออกและตกมี 4 ประตู เป็นขาทั้งสี่

โครงสร้างภายในเมืองผิงเหยายังจัดวางอย่างเป็นระเบียบแบบแผน มีหอประจำเมืองรูปแปดเหลี่ยมเป็นจุดศูนย์กลาง ถนนหมิงชิงตัดเป็นแนวเส้นเหนือใต้ แบ่งสิ่งปลูกสร้างโบราณออกเป็นสองฝั่ง วัดประจำเมืองอยู่ทางซ้าย ที่ทำการราชการอยู่ทางขวา วัดราษฎร์อยู่ซ้าย วัดหลวงอยู่ขวา วัดเต๋าซ้าย วัดพุทธขวา แนวถนนสายตัดสานกันเป็นตาข่ายคล้ายลวดลายบนหลังเต่า มีแนวถนนสายหลัก 4 สาย ถนนรอง 8 สาย กับตรอกซอยอีก 72 เส้น ประกอบกันขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ‘ปากว้า’

วัดพุทธเจิ้นกั๋ว (镇国寺)สมัยห้าราชวงศ์-ราชวงศ์ชิง
เป็นหนึ่งในสามของสถานที่สำคัญภายในเมืองผิงเหยา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง แรกสร้างในราชวงศ์เป่ยฮั่น สมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 963) บูรณะครั้งใหญ่สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1815) ภายในแบ่งเป็นหน้าหลัง 2 ส่วน ส่วนหลักของด้านหน้าคือวิหารหมื่นพุทธ เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้ที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน ปัจจุบันมีอายุกว่า1,000 ปี ภายในยังประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยถัง 14 องค์ ด้านหลังเป็นหอสามพุทธ ประดิษฐานพระพุทธประธานทั้ง 3 องค์ ที่นี่ประดับด้วยภาพวาดฝาผนังพุทธประวัติจากสมัยราชวงศ์อันลือเลื่อง

วัดซวงหลิน(สมัยราชวงศ์หมิง)
วัดซวงหลิน เป็นวัดพุทธ เดิมชื่อ ‘วัดจงตู’ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง วัดซวงหลินได้ชื่อว่าเป็น ‘ขุมคลังรูปปั้นประติมากรแห่งตะวันออก’ ภายในวัดมีรูปปั้นเทวรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า 2,000 องค์ มีตั้งแต่ที่สูงใหญ่ขนาด 3-4 เมตร จนถึงขนาดเล็กเพียงไม่กี่สิบมิลลิเมตร

ภายนอกวัดมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมคล้ายเป็นป้อม ล้อมรอบด้วยกำแพงดิน โดยมีวัดอยู่ศูนย์กลาง ภายในมีทั้งภาพวาดฝาผนังเรื่องราวของพุทธประวัติ รูปปั้นของ 18 อรหันต์ฯลฯ

ปัจจุบัน สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในเมืองผิงเหยากว่า 3,797 แห่ง มีการรักษาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ 400 กว่าแห่ง โดยมากเป็นสิ่งปลูกสร้างในสมัยหมิงและชิง ที่มีโครงสร้างแบบ 4 องค์ เชื่อมต่อกันเป็น 2-3 ชุด มีสวนหย่อมอยู่ภายใน อาคารประดับประดาด้วยงานไม้แกะสลัก หินสลัก กระดาษตัด ฯลฯ บางแห่งมีลักษณะพิเศษของท้องถิ่นคือเป็นที่พักแบบถ้ำโพรงผสมผสานกับบ้านไม้หลังคากระเบื้อง ซึ่งจะเย็นสบายในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูหนาว บ้างยังเปิดเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง ได้ลิ้มลองและสัมผัสความงดงามในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น

ศูนย์กลางตลาดค้าเงิน – ต้นแบบธุรกิจการธนาคาร

ในระหว่างช่วงกลางและปลายยุคศตวรรษที่ 19 เมืองผิงเหยาถือเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางการเงินที่สุดเมืองหนึ่ง เป็นศูนย์รวมของธุรกิจการค้าเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตรา และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางการเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น ถนนหมิงชิงในเมืองเล็กๆแห่งนี้ถึงกับได้ชื่อว่าเป็น ‘วอลสตรีทแห่งเอเชียในศตวรรษที่19’ ได้ครอบคลุมธุรกรรมการเงินของประเทศจีนเอาไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ธุรกิจค้าเงินตรา ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจจีนในยุคประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างมาก

ร้านแลกเงินยื่อเซิงชาง (日升昌)
ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 คหบดีจากเมืองผิงเหยาและละแวกใกล้เคียง ที่มีร้านค้าในเมืองปักกิ่ง เมื่อถึงสิ้นปี ต้องขนเงินส่งกลับบ้านเกิด โดยใช้บริการสำนักคุ้มกันภัยหรือเปาเปียวในการขนส่งดังกล่าว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ปลอดภัยนัก เหลยหลี่ว์ไท่(雷履泰)ผู้จัดการร้านค้าสีแห่งร้านซีอี้ว์เฉิง จึงได้ทำความตกลงกับพ่อค้ารายอื่นๆให้ส่งเงินผ่านร้านซีอวี้เฉิงในปักกิ่ง จากนั้นสามารถไปรับเงินสดได้ที่ร้านซีอวี้เฉิงในผิงเหยา

เดิมทีกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปแต่ในเฉพาะกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ ภายหลังมีกลุ่มพ่อค้าบ้านเดียวกันที่เห็นว่าวิธีการนี้สะดวกและปลอดภัยกว่าการขนเงินสด จึงเสนอขอร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้นจึงเสนอให้มีการเก็บค่าใช้จ่ายขึ้น วงเงินหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเหลยหลี่ว์ไท่จึงปรึกษากับเจ้าของร้านเปลี่ยนกิจการค้าสี เป็นร้านยื่อเซิงชาง ทำกิจการแลกเงิน

ร้านยื่อเซิงชาง เป็นร้านแลกเงินแห่งแรกที่เปิดธุรกิจค้าเงินตราของจีนและยังเป็นกิจการที่ใหญ่โตที่สุดอีกด้วย ตั้งอยู่บนถนนสายตะวันตก เลขที่ 38 ในช่วงเวลานั้น ถนนสายนี้เป็นแหล่งรวมกิจการค้าเงินขนาดใหญ่ ถึงกับได้ชื่อว่าเป็น ‘ถนนเงินตราที่หนึ่งแห่งต้าชิง’ ทั้งร้านยื่อเซิงชาง ยังได้ชื่อว่าเป็นร้าน ‘แลกเงินทั่วราชอาณาจักร’ โดยมีสาขากว่า 35 แห่งทั่วประเทศ เงินหมุนเวียนถึง 1 ล้าน – 38 ล้านชั่ง

ธุรกิจค้าเงินตราที่ปรากฏขึ้นทดแทนการขนส่งเงินตรานี้ ได้พลิกโฉมธุรกิจการเงินจีนในทศวรรษใหม่อย่างสิ้นเชิง ปัจจุบัน ร้านยื่อเซิงชาง ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การค้าเงินตราแห่งชาติ เปิดให้ผู้ชมได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาและลักษณะการดำเนินธุรกิจในยุคนั้น ซึ่งเป็นร่องรอยและรากฐานการดำเนินกิจการธนาคารของจีนในยุคนี้

สถานที่ท่องเที่ยวภายในเมือง ได้แก่

- เมืองเก่าผิงเหยา บัตรเข้าชม 120 หยวน (บัตรชุด สามารถเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว 16 จุด)
- กำแพงเมืองเก่า สมัยราชวงศ์หมิง (บัตรราคา 15 หยวน)
- วัดพุทธเจิ้นกั๋ว (镇国寺)สมัยห้าราชวงศ์-ราชวงศ์ชิง (บัตรราคา 15 หยวน)
- วัดซวงหลิน (双林寺)สมัยราชวงศ์หมิง (บัตรราคา 12 หยวน)
- ร้านแลกเงินยื่อเซิงชาง (日升昌)สมัยราชวงศ์ชิง (บัตรราคา 10 หยวน)
- หอประจำเมืองเก่า
ตั้งอยู่บนถนนสายใต้ของเมือง และเป็นศูนย์กลางของเมืองผิงเหยา เป็นหอไม้สมัยชิง สูง 3 ชั้น หลังคาประดับกระเบื้องสีเหลืองเขียวอย่างประณีต เนื่องจากชั้นล่างของหอมีบ่อน้ำทองคำ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘หอบ่อทองคำ’ เมื่อขึ้นถึงชั้นบนสามารถชมทิวทัศน์รอบเมือง
- ถนนหมิงชิง (明清一条街)
ตั้งอยู่บนถนนสายใต้ของเมือง ตลอดเส้นทางเป็นบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างสมัยโบราณ ถนนไม่กว้างนัก สองข้างทางเรียงรายด้วยร้านค้า ของที่ระลึก อาหาร หรือแม้แต่สำนักคุ้มกันภัยที่เราท่านเคยเห็นกันในทีวี
- วิหารใหญ่วัดเหวินเมี่ยว (文庙)
ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร มีวิหารใหญ่เป็นจุดศูนย์กลาง ปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1163 มีอายุกว่า 800 ปี มีการติดประดับกระจกเขียวบนเพดาน
- ที่ทำการอำเภอ (古县衙)
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง มีพื้นที่กว่า 26,000 ตารางเมตร ตั้งชิดกับแนวเส้นถนนสายหลักจากใต้ขึ้นเหนือ ข้ามผ่านแนวถนนสามสาย ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม ภายในมีทั้งส่วนว่าราชการและที่พักของเจ้าหน้าที่ (บัตรราคา 20 หยวน)
- วัดเต๋าชิงซีว์กวน (清虚观)
เป็นวัดเต๋า ตั้งอยู่บนถนนสายตะวันออก เดิมชื่อ ‘ไท่ผิงกวน’แรกสร้างในระหว่างรัชสมัยถังเกาจงแห่งราชวงศ์ถัง สิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยหยวนและหมิงเป็นหลัก ภายในเก็บรักษาแผ่นหินสลักโบราณไว้มากมาย ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง จิน หยวน หมิงและชิง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองโบราณวัตถุของผิงเหยา (บัตรราคา 10 หยวน)

ข้อมูล
มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปี ค.ศ. 1997
ที่ตั้ง – ที่ราบไท่หยวน ริมฝั่งแม่น้ำเฝินเหอ ตอนกลางของมณฑลซันซีทางภาคเหนือของจีน
ก่อสร้างครั้งแรก – สมัยราชวงค์โจวตะวันตก (827 -782 ปี ก่อนคริสตกาล)
อาณาเขต – พื้นที่กว่า 2.25 ตารางกิโลเมตร
ประชากรในพื้นที่ – ราว 27,000 คน

ข้อมูลการเดินทางและที่พัก
การเดินทาง
เส้นทางจากไท่หยวนมายังผิงเหยา สามารถโดยสารรถไฟหรือรถประจำทาง(ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง) มาลงที่สถานีผิงเหยาได้โดยตรง
การเดินทางภายในเมือง เนื่องจากตัวเมืองเก่าผิงเหยามีพื้นที่ไม่ใหญ่โตนัก โดยมากสามารถเดินทางด้วยเท้าไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากนี้ ภายในเมืองยังมีรถลากแบบเก่าเพื่อให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว

ที่พัก

ภายในเมืองมีที่พักไม่น้อย อาจเลือกที่พักแบบเรือนหมู่แบบโบราณ ลิ้มลองความเป็นอยู่ในแบบย้อนยุค

อากาศ
อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 10.2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 540 มิลลิเมตรต่อปี โดยมากฝนตกชุกในฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม – กันยายน) อุณหภูมิในฤดูหนาวกับฤดูร้อนต่างกันมาก

ของดีเมืองผิงเหยา
สินค้าเลื่องชื่อของเมืองผิงเหยาได้แก่ เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์ประเภทหมี่ โดยเฉพาะผิงเหยาหวั่นทัว ที่คิดค้นขึ้นโดยต่งเซวียนพ่อครัวในราชสำนักสมัยราชวงศ์ชิง มีเส้นใส กลิ่นหอม ลื่นคอ จะนำมาคลุกกับเครื่องเป็นหมี่เย็น หรือนำไปผัดร้อนก็ได้ และงานหัตถกรรมเคลือบแลกเกอร์


สถานที่ท่องเที่ยวละแวกใกล้เคียง
- หมู่ตึกโบราณ บ้านคหบดีใหญ่ ใช้เวลาเดินทางด้วยรถประจำทางหรือรถไฟเพียง 1-2 ชม.ได้แก่
- บ้านตระกูลหวัง(王)อำเภอหลิงสือ (灵石县)ได้ชื่อว่าเป็น ‘หอศิลป์ประชาชนแห่งชาติ’ขนาด 200 กว่าห้อง บัตรราคา 45 หยวน
- บ้านตระกูลเฉียว(乔)อำเภอฉี(祁县)สมัยชิง ขนาด 300 กว่าห้อง สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘ผู้หญิงคนที่ 4 ชิงโคมแดง’ บัตรราคา 40 หยวน
- บ้านตระกูลฉีว์ (渠)อำเภอฉี(祁县)อาณาบริเวณ 5300 ตารางเมตร สมัยชิง เฉียนหลงฮ่องเต้ เคยได้สมญา ‘ฉีว์ครึ่งเมือง’ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมกลุ่มคหบดีจิ้นซาง หรือคหบดีใหญ่ในแถบซันซีที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต บัตรราคา 20 หยวน
- บ้านตระกูลเฉา (曹)อำเภอไท่กู่ (太谷县)ขนาด 270 กว่าห้อง การวางผังของหมู่ตึกเป็นอักษรคำว่า ‘寿’โซ่ว ที่แปลว่าอายุวัฒนะ หลอมรวมรูปแบบสถาปัตยกรรมเหนือใต้เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยังดัดแปลงรูปแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสานด้วย บัตรราคา 20 หยวน
- เขาเหมียนซัน(绵山)บนเขามีวัดพุทธเศียรมังกร เก็บรักษาวัตถุโบราณตั้งแต่สมัยถังมากมาย

ข้อมูลจาก ซินหัวเน็ต/ซีซีทีวี/เน็ตอีส163/พีเพิลเน็ต
ข้อมูลเพิ่มเติม www.pytour.com/ www.pingyao.com.cn/

กำลังโหลดความคิดเห็น