xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนจะถึง 'หวงซาน'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมตรวจดูตั๋วรถไฟของเช้าวันพรุ่งนี้ ก่อนสอดมันไว้ที่ซอกเดิมของกระเป๋า .... พรุ่งนี้ สิบโมงเช้า ผมต้องจับรถไฟไป 'หวงซาน'

คืนสุดท้ายก่อนโบกมือลาหนานจิง ผมปฏิบัติตามคำแนะนำของ คุณป้า สุสานหมิง ที่บอกว่า ถ้าตอนเย็นย่ำหากเคยไปเดินแถว วัดฟูจื่อ แล้วก็ให้ลองไปหาอะไรทานท้องถิ่นทาน แถวๆ ซือหวังฝุ (狮王府; มีอีกชื่อหนึ่งคือ ซือจึเฉียว (狮子桥) บนถนนหูหนานลู่ เพราะป้าแกรับประกันว่าอาหารที่ ซือหวังฝุ จ๊าบ! ที่สุดในหนานจิงแล้ว

ผมค้นข้อมูลมาได้ความว่า "อาหารภาคตะวันออก" ของจีนนั้นครอบคลุมไว้ 3 สำนักใหญ่ คือ สำนักเจียงซู (หนานจิงเป็นเมืองเอกของมณฑลเจียงซู) สำนักฝูเจี้ยน และสำนักเจ้อเจียง (หางโจวเป็นหลัก) โดยอาหารหนานจิงนั้นจะรสกลางๆ เค็ม-จืด ไว้ก่อน และไม่ค่อยน่าดึงดูดนักสำหรับชาวไทยที่นิยมความแซ่บ!

อาหารขึ้นชื่อของ 'หนานจิง' คล้ายๆ กับ 'ปักกิ่ง' คือ เป็น "อาหารเป็ด" เหมือนกัน แต่ "เป็ด" ของหนานจิงนั้นเป็น เป็ดเย็นๆ เค็มๆ ที่ชื่อว่า 'เป็ดต้มน้ำเกลือ (แหยนสุ่ยยา:盐水鸭)' ซึ่งถ้าหากใครลองแล้วชอบใจก็สามารถซื้อ แพ็คเป็นตัวกลับไปหั่นทานที่บ้านได้เหมือนกับ 'เป็ดปักกิ่ง' อาหารขึ้นชื่อของเมืองหลวง

แต่หากใครไม่ชอบใจ "เป็ดต้ม" ที่ว่าเหมือนผม ก็ควรลองมาที่ ซือหวังฝุ เพราะที่นี่มีอาหารนานาชาติ และที่สำคัญมีร้านอาหารตะวันออกของชาวจีนเด็ดๆ

ร้านที่ว่าก็คือ ร้านหนานจิงต้าไผตั้ง (南京大牌档; เปิด 11.00-2.00 น.) ร้านนี้เป็นร้านในอาคาร แต่ตกแต่งโดยให้บรรยากาศเหมือนนั่งอยู่โรงเตี๊ยมริมถนนในหนังจีน โต๊ะก็จะเป็นโต๊ะไม้ กับ ม้านั่งง่ายๆ มีดนตรีจีนสดๆ ให้ฟังให้ชม ภายในร้านยังตกแต่งด้วยต้นไม้ (ปลอม) ต้นใหญ่อยู่กลางร้าน ทั้งยังมีร้านรวงเปิดอยู่เรียงราย ซึ่งหากใครไม่รู้ภาษาจีนเปิดเมนูอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็สามารถไป ชี้โบ๊ชี้เบ๊ เอาได้ว่า "เอางี้ที่นึง!" ส่วนอาหารก็รสชาติเข้ากับบรรยากาศ และพอจะถูกลิ้นคนไทย

ทั้งนี้หากใครเบื่ออาหารจีน ที่ ซือหวังฝุ ก็มีอาหารชาติอื่นๆ รวมถึงอาหารไทยเอาไว้ให้แก้เลี่ยนเช่นกัน ....
..........................
จากเมืองใหญ่ แห่งเจียงซู ผมนั่งรถไฟเที่ยว K25 ข้ามมณฑล ข้ามทุ่งหญ้า ข้ามภูเขา ลัดเลาะถนนเล็กๆ จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง จนรถไฟจอดที่ เมืองถุนซี (屯溪) เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ แห่งมณฑลอานฮุย (安徽)

เมืองถุนซี หรือในอีกชื่อหนึ่งคือเมืองหวงซาน (黄山市) ถุนซี เป็นเมืองต้นทางสำหรับการมาเยือน "ภูเหลือง"

สำหรับ "ภูเหลือง" หรือ "หวงซาน (黄山)" นั้น เพียงได้ยินแค่คำร่ำลือตั้งแต่ครั้งแรก ผมก็ตัดสินใจไว้แล้วว่า ชีวิตนี้ต้องไปเหยียบให้ได้สักครั้ง

"五岳归来不看山,黄山归来不看岳"*
อู่เยว่กุยหลายปู๋ค่านซาน หวงซานกุยหลายปู๋ค่านเยว่
"ไป 5 ภู กลับมาไม่มองภูเขา ไปหวงซานกลับมาไม่มอง 5 ภู"
หรือ
"九寨归来不看水,黄山归来不看山"
จิ่วจ้ายกุยหลายปู๋ค่านสุ่ย หวงซานกุยหลายปู๋ค่านซาน
ไปจิ่วจ้าย(โกว)กลับมาไม่มองน้ำ ไปหวงซานกลับมาไม่มองภูเขา

สำนวนแรกเป็นของ สีว์เสียเค่อ (徐霞客) นักเดินทางผู้มีชื่อเสียงสมัยหมิง ส่วนสำนวนที่สองนั้นเพิ่งเกิดเมื่อคนจีนไปพบเอาจิ่วจ้ายโกวเข้า โดยสองสำนวนที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่ยกยอ และ ยกย่อง ความสวยงาม และความเป็นที่สุดของขุนเขาแห่งเมืองจีนของหวงซานไว้อย่างชัดเจน

มีการกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ หวงซาน เป็นที่สุดของภูเขาก็เนื่องจาก หวงซาน เป็นลูกผสม คือ ผสมเอา ความสง่างามของไท่ซาน ความอันตรายของหัวซาน ความแปลกของเอียนตั้งซาน ความอ่อนช้อยของเอ๋อเหมยซาน ทะเลหมอกของภูใต้ (เหิงซาน) และ ความสดใสของหลูซาน เข้าไว้ด้วยกัน (อะไรมันหลายพ่อ หลายแม่ ขนาดน้าน!)**

แต่ทั้งนี้บางตำราก็บอกอีกอย่างว่า ทัศนคติดั้งเดิมคนจีนแบ่ง ความสวยงามของภูเขาออกเป็นสองแบบด้วย คือ สวยแข็งแกร่งแบบผู้ชาย และ สวยนุ่มนวลแบบผู้หญิง โดยภูเขาอันเป็นตัวแทนของ ความแข็งแกร่งและสง่างามก็ คือ ไท่ซาน (泰山) แห่งภูตะวันออก แห่งมณฑลซานตง ส่วนภูเขาอันเป็นตัวแทนของ ความอ่อนช้อย สะโอดสะอง ก็คือ หวงซาน (黄山) ภูเหลืองแห่งมณฑลอานฮุย

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า "หวงซาน" ขึ้นชื่อถึงความสวยงามมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แต่ทั้งนี้สำหรับจีนในยุคหลังตั้งแต่กลายเป็น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้นมา บุคคลที่ถือว่าเป็นผู้เปิดประตู "หวงซาน" ให้ชาวโลกได้ทราบถึงความงดงาม ก็คือ เติ้งเสี่ยวผิง

"ภูเขาลูกนี้ ผมต้องขึ้นให้ได้ : 这个山,我一定要上"***

เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1979 เติ้งเสี่ยวผิง ในวัย 75 ปี ใช้เวลาในวันหยุดเพื่อมาเยือนหวงซาน โดยการมาเยือนครั้งนั้น เติ้งได้กล่าวว่า หวงซาน น่าจะเป็นจุดหมายในฝันสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยหน่วยงานท้องถิ่นน่าจะพัฒนาหวงซานให้ทั่วโลกรู้จัก เพื่อที่รายได้จากการท่องเที่ยวจะได้นำมาช่วยพัฒนาจีน คำพูดของเติ้งสอดคล้องกันพอดิบพอดีกับช่วงเวลาที่ประเทศจีนนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ามาดัดแปลงใช้ กับประเทศที่เป็นสังคมนิยม และปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก

ในที่สุด หวงซาน ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของโลก สมความตั้งใจ เติ้ง จริงๆ เมื่อ เดือนธันวาคม ปีค.ศ.1990 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้มีมติขึ้นทะเบียน หวงซาน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

ต่อมา หลังขึ้นสหัสวรรษใหม่ ปี ค.ศ.2001 ผู้นำรุ่นที่สาม เจียงเจ๋อหมิน ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนก็มาเยือน หวงซานอีกครั้ง โดยคราวนี้ เจียง ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นให้รัฐบาลท้องถิ่นพัฒนาระบบการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น แต่ยังระบุด้วยว่า หวงซาน ควรเป็นแหล่งอารยธรรม และประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองจีน โดยอารยธรรมอันเก่าแก่ของพื้นที่บริเวณหวงซาน ที่ เจียงว่าก็คือ วัฒนธรรมของฮุยโจว (徽州)

ทั้งนี้หากต้องการสัมผัสมรดกตกทอดของวัฒนธรรมฮุยโจวอันเป็นเนื้อเป็นหนัง แบบจับต้องได้ก็ต้องไปที่ หมู่บ้านอนุรักษ์ซีตี้-หงชุน (西递-宏村; ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งแต่ ค.ศ.2000) ที่มีอายุเกือบพันปีแล้ว

นอกจากนี้ในถุนซี (เมืองหวงซาน) ก็มีถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งถูกอนุรักษ์ไว้ คือ เหล่าเจีย (老街) อันแปลเป็นไทยได้ว่า ถนนโบราณ

เหล่าเจีย เป็นถนนคนเดินสายเล็กๆ ยาว 1,200 กว่าเมตร ตัดอยู่กลางเมืองถุนซี จุดเด่นของถนนสายนี้อยู่ที่อาคารสองฝั่งที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัย หมิง-ชิง และ ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยปัจจุบันตลอดถนนทั้งเส้น เป็นเป็นถนนวัฒนธรรม มีร้านขายอาหารท้องถิ่น ขายงานศิลปะ ภาพวาด เครื่องปั้น หินสลัก เครื่องประดับ เครื่องเรือน เครื่องแต่งบ้าน ชาจีน ฯลฯ

เปรียบไป เหล่าเจีย ของถุนซี ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ถนนสายวัฒนธรรมโบราณ (กู่เหวินฮั่วเจีย:古文化街) ที่ เมืองเทียนจิน อยู่หลายส่วน แต่ เหล่าเจีย มีดีกว่าก็ตรงที่บรรยากาศนั้นยังคงความขลังและดั้งเดิมมากกว่า ถนนสายวัฒนธรรมโบราณของเทียนจินที่เพิ่งทำการปรับปรุงและสร้างใหม่

"ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรม อากาศที่หวงซานก็คงไม่ดีอย่างนี้ ขนาดบุหรี่ เบียร์ ยี่ห้อหวงซาน ยังต้องผลิตที่เมืองอื่น แล้วมาอาศัยชื่อเสียงของที่นี่ทำตลาดแทน ส่วนชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบก็เป็นเกษตรกร ทำไร่ ไถนา ปลูกชา เป็นหลัก"

คนหวงซานบอกกับผมว่า "เมืองหวงซาน" ที่อยู่ได้เพราะ "ภูเขาหวงซาน" บริเวณโดยรอบพื้นที่นี้ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และคนเมืองนี้ก็พึ่งพา ฝากชีวิต-ฝากท้องไว้กับ ภาคบริการ-ภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขจากทางการก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า รายได้จากภาคบริการนั้นคิดเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพีของหวงซานเลยทีเดียว

ทุกๆ ปีหวงซานมานักท่องเที่ยวมาเยือนหลายล้านคน โดยในปี 2545 (ค.ศ.2002) มีจำนวนมากถึง 7 ล้านคน และนำรายได้เข้าท้องถิ่นได้มากกว่า 2,500 ล้านหยวน (ราว 12,500 ล้านบาท) ส่วนปี 2546 ที่แม้ประเทศจีนจะถูกคุกคามจากโรคซาร์สอยู่หลายเดือนแต่ หวงซานก็ยังมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากถึงราว 5.6 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 1,800 ล้านหยวน (ราว 9,000 ล้านบาท)****

เป็นไปตามเป้าหมายของผู้นำจีน ปัจจุบัน ธรรมชาติอันบริสุทธิ์และวัฒนธรรมอันทรงสเน่ห์ของ หวงซานกลายเป็น จุดขายและแรงดึงดูดสำคัญที่นักท่องเที่ยว ผู้แสวงหาความเป็นที่สุดจากทั่วทุกมุมโลกทุกคนต่างก็ต้องการมาเยือน

อ่านเพิ่มเติม :
- เรื่องราวของ 5 ยอดภูแห่งแผ่นดินจีนได้ที่ สู่ ซานซี:เหิงซาน ที่ 2,017 เมตร โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล (15 ก.ค. 2547)
- เสฉวนรำลึก:ถึงสวรรค์ "จิ่วจ้ายโกว"(4) โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล (1 ต.ค. 2546) และ 'จิ่วไจ้โกว..ดินแดนแห่งเทพนิยาย' โดย มุมจีน ผู้จัดการออนไลน์

อ้างอิงจาก :
*, **หนังสือจงกั๋วหลี่ว์โหยวตี้หลี่ (中国旅游地理) ปี ค.ศ. 2003 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแร่ธาตุจีน หน้า 34
***นิตยสาร 生活周刊 ฉบับที่ 33 ปี 2004 หน้า 50
****ตัวเลขจากหนังสือพิมพ์ China Daily ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2004 หน้า 15





กำลังโหลดความคิดเห็น