xs
xsm
sm
md
lg

โศกนาฎกรรม แห่ง หนานจิง

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


"ที่หน้าศาลมีรถยนต์ผุผังพลิกคว่ำอยู่ ข้ามไปอีกฟากถนนหนึ่งเป็นสระน้ำ ไม่รู้ว่าคนจีนคนนั้นมาจากไหน ...เหล่าสหายร่วมรบก็แสดงอาการเหมือนกับเด็กที่ได้ของเล่นใหม่ ล้อเล่นกับคนจีนคนนั้นเหมือนเล่นกับลูกหมา จากนั้นนิชิโมโต้ ก็เสนอไอเดียสุดโหดออกมา .... คนจีนคนนั้นที่ทั้งร้องทั้งตะโกนดังลั่นถูกจับใส่เข้าไปในถุงไปรษณีย์
"ปากถุงถูกมัดแน่น คนจีนที่อยู่ในนั้นก็พยายามแหวกปากถุงอย่างสุดชีวิต ทั้งตะโกนทั้งร่ำไห้
"นิชิโมโต้เตะถุงไปรษณีย์นั้นไปมา เหมือนกับเขากำลังเล่นฟุตบอล เยี่ยวรดถุงไปรษณีย์นั้นเหมือนกับเยี่ยวรดแปลงผัก จากนั้นเขาก็เอาน้ำมันจากรถที่พลิกคว่ำมาราดใส่ถุงใบนั้น ผูกเชือกยาวไว้กับถุงแล้วก็โยงออกมา .... นิชิโมโต้จุดไฟ .... ถุงไปรษณีย์ไหม้ และกลิ้งไปมาคล้ายกับลูกไฟก็ไม่ปาน .... กระตุ้นเสียงร้องจาก 'นรก' ให้ดังขึ้น
"ไม่พอ นิชิโมโต้ยังเอาระเบิดมือ 2 ลูกมัดติดกับถุงดังกล่าว แล้วจึงก็โยนถุงลงไปสระน้ำ .... ตูม!!!" - จากบันทึกของชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งผู้อยุ่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่หนานจิง (นานกิง) ปีค.ศ.1937-1938*

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ญี่ปุ่นจะเข้ารุกรานจีนด้วยการส่งกองทัพเข้ายึดพื้นที่ทางภาคอีสานและตั้งขึ้นเป็น ประเทศแมนจู (แมนจูกั๋ว:满族国) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1931 แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ถือเอาว่า เหตุการณ์ที่สะพานมาร์โค โปโล ชานกรุงปักกิ่ง (Marco Polo Bridge Incident หรือ 卢沟桥事变 หรือ 七七事变) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1937 นั้นเป็น จุดเริ่มของสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในสงครามโลกครั้งที่สอง

การปะทะระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารจีนที่สะพานมาร์โค โปโล เกิดขึ้นเมื่อ ฝ่ายญี่ปุ่นระบุว่า มีทหารของตนหายตัวไปจึงทำการเปิดฉากโจมตีฝ่ายจีน จากนั้นสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีนก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลก๊กมินตั๋ง ซึ่งปกครองจีนอยู่ในขณะนั้นก็ยังไม่แสดงทีท่าเดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากนัก จนกระทั่ง ....

การรุกรานของญี่ปุ่นที่ทำให้รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็ก ต้องสะดุ้ง ก็คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1937 (คนจีนเรียกว่าเหตุการณ์ 八一三事变 ) คล้อยหลังจากการปะทะกันที่สะพานมาร์โค โปโลได้ราว 1 เดือน เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลบุกเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีน และประกาศข่มขู่ว่าจะยึดจีนให้ได้ภายใน 3 เดือน**

หลังจากเข้าตีเซี่ยงไฮ้สำเร็จ กองทัพญี่ปุ่นก็มุ่งสู่เป้าหมายต่อไปคือ การบุกยึด 'หนานจิง' อันเป็นเมืองหลวงของจีนในขณะนั้น โดยยุทธศาสตร์การบุกหนานจิง ญี่ปุ่นได้แบ่งออกเป็น 3 ทัพ ทัพใหญ่ ปีกซ้าย และปีกขวา ขณะเดียวกันก็ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด ไประเบิดเมืองหนานจิงเป็นการล่วงหน้า

ด้านเจียงไคเช็ก เมื่อทราบข่าวว่าญี่ปุ่นมุ่งมาทางหนานจิงแน่นอนแล้ว จึงมีแผนการณ์ที่จะถอยทัพ และย้ายเมืองหลวงจากหนานจิง ไปที่ ฉงชิ่ง (重庆 หรือบางคนอ่านว่า จุงกิง) แต่เมื่อทำการประชุมร่วมกับผู้นำและนายพล ความคิดดังกล่าวก็ถูกทัดทานจาก นายพลถังเซิงจื้อ (唐生智) ซึ่งให้ความเห็นว่า ควรทิ้งกำลังไว้ปกป้องหนานจิงอย่างเต็มที่เนื่องจากหนานจิงไม่เพียงเป็นเมืองหลวง แต่ยังเป็นที่ตั้ง สุสานของดร.ซุนยัดเซ็น จึงทำให้ เจียงไคเช็กเปลี่ยนความคิด

อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพ และกำชัยชนะมาตลอดเส้นทางที่มุ่งมายังหนานจิง เจียงไคเช็ก และนายทหารระดับสูงจำนวนมากต่างก็เปลี่ยนใจ โดยตัดสินใจที่จะถอยทัพและย้ายเมืองหลวงไปที่ฉงชิ่ง มีแต่เพียง นายพลถังเซิงจื้อเท่านั้นที่ยังยืนยันความคิดเดิมที่จะปกป้อง หนานจิงเอาไว้ และขอให้ทิ้งกำลังทหารเอาไว้ได้เพียงไม่กี่หมื่นคน ขณะที่หนานจิงในขณะนั้นมีพลเมืองเกือบ 1 ล้านคน

8 ธันวาคม ค.ศ.1937 กองทัพญี่ปุ่นอันแข็งแกร่งเริ่มเข้าสู่พื้นที่รอบหนานจิง จากนั้นก็ประชิดเข้ามายังกำแพงเมือง และโจมตีทั้งทางบก น้ำ อากาศ อย่างหนัก จนในที่สุดเมืองหนานจิงก็แตกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1937 จากนั้น กองทัพญี่ปุ่นก็เนรมิตให้เมืองหนานจิงก็กลายเป็น 'นรกบนดิน' ไปโดยพลัน ...

หลังจากยึดหนานจิงสำเร็จ ทหารญี่ปุ่น ก็กลายสภาพเป็นโจร ฆ่า ปล้น ชิง เผา ข่มขืน ทรมาน ชาวหนานจิงทั้งเมือง อย่างไร้เมตตา โดยได้รับการสนับสนุนจากนายทหารผู้คุมกองทัพ และรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นก็รับทราบ!

วิธีการทรมานและสังหาร ทหารจีน-ชาวจีนที่หนานจิง ที่ทหารญี่ปุ่น คิดค้นและนำมาใช้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การยิงเป้า ใช้ดาบซามูไรตัดคอ ฝังทั้งเป็น เผาทั้งเป็น แขวนคอ ใช้ดาบแทงให้ตาย ตัดแขน-ขาทั้งสี่ ตัดอวัยวะเพศ ผ่าสมอง ควักหัวใจ การบังคับให้พ่อข่มขืนลูกสาว-ลูกชายข่มขืนแม่ ฯลฯ

แต่ทั้งนี้พฤติกรรมที่น่าสะพรึงกลัวไปกว่า 'การฆ่าเพื่อไม่ให้ถูกฆ่า' ก็คือ 'การฆ่าเพื่อความสนุกสนาน'

หลังจากยึดหนานจิงของกองทัพญี่ปุ่น มีการละเล่นในหมู่ทหารญี่ปุ่นที่เรียกว่า "การแข่งฆ่า" ที่ผู้ชนะคือผู้ที่สังหารชาวจีนได้มากที่สุด และเมื่อสังหารได้ครบ 100 คนแล้วก็จะมีการออกใบรับรอง ทั้งนี้หนังสือพิมพ์อังกฤษเคยบันทึกเป็นหลักฐานไว้ว่า ทหารญี่ปุ่นผู้หนึ่งทำสถิติใน 'เกมอำมหิต' ดังกล่าว ด้วยตัวเลขที่มากถึง 300 ศพ

นอกจากการสังหารชาวจีนแล้ว ทหารญี่ปุ่น ยังทำเผาบ้านเรือน (จากการสำรวจหลังเหตุการณ์ พบว่าอาคารในหนานจิงหนึ่งในสามถูกเผาทำลาย) ปล้น-ขโมยทรัพย์สิน และที่น่ารังเกียจที่สุดก็คือ "การข่มขืน"

การข่มขืนสตรีที่หนานจิงของทหารญี่ปุ่น นั้นครอบคลุมทุกสตรีเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กสาว ผู้หญิงที่ตั้งท้องไปจนถึงยายเฒ่า มากกว่านั้นยังมีกระบวนการลักพาเอาสาวจีนไปเป็นโสเภณีในซ่องบำรุงขวัญของทหารญี่ปุ่นอีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างการยึดหนานจิงของทหารญี่ปุ่นมีข้อมูลระบุว่า เกิดคดีข่มขืนขึ้นกว่า 20,000 คดี และหญิงสาวจำนวนมากที่ถูกข่มขืนก็กลายเป็นโรคประสาท

ความป่าเถื่อน ของ ทหารญี่ปุ่นในขณะนั้นทำให้ ทหารญี่ปุ่นที่หนานจิง ถูกขนานนามว่า "ฝูงปีศาจ"

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เลวร้ายที่หนานจิง ก็ยังพอจะมีแสงสว่างน้อยๆ คอยปลอบประโลมอยู่บ้าง โดยก่อนการบุกหนานจิง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงไว้กับรัฐบาลตะวันตกว่าจะไม่ไปก้าวก่ายเรื่องราวใน "เขตปลอดภัยสากล (International Safety Zone:国际安全区)" ขนาด 3.86 ตารางกิโลเมตร อันเป็นเขตที่ตั้งของบริษัท มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และหน่วยงาน ที่มีชาวตะวันตกทำงานอยู่

John H.D. Rabe ผู้จัดการของบริษัทซีเมนส์ และสมาชิกของพรรคนาซี เยอรมัน ซึ่งเป็นประธานของเขตปลอดภัยที่หนานจิง พร้อมกับชาวอเมริกัน อังกฤษ เดนมาร์ก และเยอรมัน ที่เป็น แพทย์ บาทหลวง ผู้จัดการบริษัท และอาจารย์มหาวิทยาลัย ในเขตปลอดภัย ราว 20 คนได้เปิดประตูรับคนหนานจิงเข้ามาหลบซ่อนกว่า 25,000 คน

โดยระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นยึดหนานจิงอยู่นั้น John H.D. Rabe ซึ่งในเวลาต่อมาถูกยกย่องให้เป็น "ออสการ์ ชินดเลอร์ ของจีน" ก็ยังเขียนบันทึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาประสบพบเห็นกับตาเอาไว้ด้วย

ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ (ธันวาคม 1937-มกราคม 1938) ที่กองทัพญี่ปุ่นยึดหนานจิงเอาไว้ มีการสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตออกมาว่า มากกว่า 300,000 คน! โดยที่หนานจิง ข้อมูล หลักฐาน หนังสือพิมพ์ บันทึก ข้อเขียน บทสัมภาษณ์ผู้ที่รอดชีวิต ทั้งหลายที่เป็นลายลักษณ์ อักษร เป็นภาพ เป็นสิ่งของ ซากกระดูกของผู้เสียชีวิต ต่างก็ถูกบรรจุ และจัดแสดงไว้ที่ หอที่ระลึกการสังหารหมู่ที่หนานจิง (Memorial Hall of the Nanjing Massacre:南京大屠杀纪念馆) โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ฟรี

"เมื่อฉันไปสัมภาษณ์อดีตนายทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเหตุการณ์หนานจิง มีหลายคนปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องนี้ บางคนปฏิเสธว่าแม้แต่ซากศพก็ยังไม่เคยเห็น หรือบางคนก็บอกว่ากองทัพของตัวเองไม่ได้ทำ ฉันต้องใช้วิธีการถามจี้ มิฉะนั้นก็ไม่พูดออกมา" นักเขียนสาวชาวญี่ปุ่นผู้สัมภาษณ์ อดีตนายทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในเหตุการณ์ที่หนานจิงเมื่อปี ค.ศ.1937 กว่า 102 คน เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ สงครามที่หนานจิง (南京战)***

อย่างเช่นที่นักเขียนสาวชาวญี่ปุ่นกล่าวไว้ สำหรับคนญี่ปุ่นเหตุการณ์ที่หนานจิงเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นทั่วไปไม่กล่าวถึงกันนัก และทางญี่ปุ่นเองก็ยังตัดทอนเอาเนื้อหาส่วนนี้ออกจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียน มากกว่านั้นผู้นำของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่หนานจิงอีกด้วย ส่วนใครที่กล่าวถึง ก็อาจจะถูกประณามถึงขั้นว่าเป็นคนขายชาติ ทำให้จนทุกวันนี้คนญี่ปุ่นก็ยังถูกประณามจากประเทศเพื่อนบ้านว่าพยายาม บิดเบือนประวัติศาสตร์

ถึงปัจจุบันแม้เหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่หนานจิง จะผ่านมาเกือบ 7 ทศวรรษ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะถูกฟื้นฟูมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 และ ชาวญี่ปุ่นต่างหลั่งไหลมาเมืองจีนเพื่อทำธุรกิจ-ท่องเที่ยว-ศึกษาต่อในเมืองจีนกันมากมายแล้ว แต่ถ้าหากเอ่ยถึง "โศกนาฎกรรมที่หนานจิง" กับคนจีนแล้ว คงจะหนีไม่พ้น ความขุ่นข้องหมองใจ และความเจ็บแค้นที่มีต่อ "ชาวญี่ปุ่น"

ร่วมกับ "การนำชาวจีนมาเป็นเครื่องมือทดลองอาวุธเคมีของกองทัพญี่ปุ่น" (เหมือนกับที่นาซีเยอรมัน เคยใช้กับชาวยิว เมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง) เหตุการณ์ "โศกนาฎกรรมที่หนานจิง" กลายเป็นสองรอยด่างใหญ่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่ยากจะลบเลือน

ถึงวันนี้ข่าวชาวจีนต้องตกเป็น 'เหยื่อรายวัน' จาก อาวุธเคมีที่ญี่ปุ่นปล่อยทิ้งไว้ในจีนหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่สองก็ยังคงมีอยู่เนืองๆ ขณะที่เมื่อมีข่าวนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำคนสำคัญๆ ของญี่ปุ่นไปเยือนสุสานทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงครามโลกเมื่อไร ก็มักจะมีเสียงคัดค้านออกมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ เกาหลีใต้ และจีนเสมอว่า การที่ผู้นำญี่ปุ่นไปแสดงความเคารพอาชญากรสงครามนั้นเป็นการทำร้ายจิตใจประชาชนของประเทศผู้ถูกรุกราน!

พ่อของนักศึกษาญี่ปุ่นที่เช่าห้องอยู่ใกล้ๆ กันกับผม เมื่อมาเยี่ยมบุตรชายที่เมืองจีน ก็ยังแสดงความหวั่นเกรงในความปลอดภัยของลูก จนต้องออกปากฝากให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยดูแลเป็นพิเศษ

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรอบชิงชนะเลิศ เมื่อทีมชาติจีนพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติญี่ปุ่นในบ้าน 3 ต่อ 1 ชาวปักกิ่งก็ถึงกับแสดงความบ้าคลั่งลุกขึ้นมาเผาธงชาติญี่ปุ่น จนเป็นเรื่องโจษจันกันไปทั่วโลกถึงความป่าเถื่อน .....

หากไม่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ กลับไปเราก็คงไม่ได้ทราบถึง ความสูญเสีย ความเจ็บปวด ร่องรอยและบทเรียน ที่สงครามทุกครั้งได้ทิ้งไว้ให้กับมนุษยชาติ อย่างเช่นหลายคนกล่าว

"สงคราม ... แท้จริงแล้วทิ้งไว้ก็แต่เพียงผู้พ่ายแพ้ หากเราไม่พยายามเรียนรู้จากความพ่ายแพ้เหล่านั้น สงครามก็พร้อมจะย้อนกลับมาถามหาความสูญเสียจากเราอยู่อย่างไม่จบสิ้น"

หากสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับ "โศกนาฎกรรมที่หนานจิง" หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก
- หนังสือ หลั่งเลือดที่นานกิง โดย ฉัตรนคร องคสิงห์ (แปลจาก THE RAPE OF NANKING:Iris Chang) สำนักพิมพ์มติชน
- ภาพยนตร์ Don't Cry, Nanking (1995) หรือ สงครามอำมหิตปิดตาโลก
- ภาพยนตร์ Black Sun:The Nanjing Massacre
- ดาวน์โหลด สารคดีสั้น โศกนาฎกรรมที่หนานจิง ความยาว 4 นาที 47 วินาที ขนาด 42MB

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคปัจจุบัน สำนักพิมพ์เกาเติ่งเจี้ยวยู่ (高等教育出版社) ปี 2001 บทที่ 22 หน้าที่ 330
**หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้และยุคปัจจุบัน (中国近现代历史概要) โดย ตู้จื้อจุน ของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง บทที่ 9-11
***หนังสือ สงครามที่ (南京战) โดย 松冈环 ฉบับแปลเป็นภาษาจีน สำนักพิมพ์ซ่างไห่ฉือซู (上海辞书出版社) ปี 2002








กำลังโหลดความคิดเห็น