xs
xsm
sm
md
lg

บุรุษผู้มีคำว่า "ปฏิวัติ" อยู่ในสายเลือด (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


"ระบบของจีน รวมถึงรัฐบาลจีน ในปัจจุบันไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้อีกแล้ว และก็ไม่อาจทำการปฏิวัติอะไรได้ด้วย ทำได้ก็แต่เพียงโค่นล้ม" - ดร.ซุนยัดเซ็น ค.ศ.1897

ระหว่างที่ ดร.ซุน เคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติจีนนั้น ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่างๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นนั้นเป็นเป็นเพียงกลุ่มที่กระจุกแต่เพียงในพื้นที่นั้นๆ มิได้มีการคิดการใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่มีหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติที่แน่ชัด ดังเช่น ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ดร.ซุน

จนในเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ.1905 ก็มีการประกาศรวมกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติจีนที่ชื่อ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน (จงกั๋วถงเหมิงฮุ่ย:中国同盟会) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย 'ถงเหมิงฮุ่ย' นี้มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิง โดยยึดหลักการของลัทธิไตรราษฎร์ โดยศูนย์กลางของถงเหมิงฮุ่ยนั้น อยู่ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงก่อนหน้าที่ 'ถงเหมิงฮุ่ย' จะเกิดขึ้นนั้น ทางฝั่งราชสำนักจีนที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น-ชาติตะวันตก และปล่อยให้กบฎนักมวยออกมาสร้างความวุ่นวายในปักกิ่ง กำลังตกอยู่ในสถานะแพ้สงครามให้กับกองทัพมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ จนต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol (辛丑条约; ลงนามในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1901) เพื่อยืนยันว่า จีนยินยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ก็กำลังพยายามทำการปฏิรูปทางการปกครองประเทศ การทหาร อยู่เช่นกัน โดยมีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อเตรียมประกาศรัฐธรรมนูญ (ระบบการสอบจอหงวนก็สิ้นสุดลงในช่วงนี้ และ การสะสมกำลังทหารเพื่อสร้างเป็นกองทัพของหยวนซื่อไข่ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน)

อย่างไรก็ตาม ดังเช่น ที่ ดร.ซุนกล่าวไว้ถึง ความสิ้นหวังต่อระบอบกษัตริย์ การปฏิรูปที่ราชสำนักชิงพยายามทำนั้น ในสายตาของประชาชนกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากยิ่งขึ้นไปอีก

จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราชสำนักชิงที่พุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ถงเหมิงฮุ่ย รวบรวมสมาชิกได้มากกว่าหมื่นคน มีการเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อ ปลุกระดม และเผยแพร่ ลัทธิไตรราษฎร์ และที่สำคัญพยายามลงมือกระทำการปฏิวัติต่อเนื่อง

นับแต่ปี ค.ศ.1907 ถงเหมิงฮุ่ย ทำการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติในพื้นที่ภาคใต้ของจีนสิบกว่าครั้ง ก่อนจะสำเร็จที่สุดในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 ที่ อู่ชาง มณฑลหูเป่ย

การปฏิวัติครั้งประวัติศาสตร์ เริ่มกระทำการอย่างเร่งด่วนในคืนวันที่ 10 ตุลาคม โดย ทหารสมาชิกพรรคปฏิวัติในกองทัพใหม่ที่ประจำการอยู่ภายในเมืองอู่ชางซึ่งนำโดยผู้บังคับการที่ชื่อว่า หลีหยวนหง (黎元洪) แต่ปราศจากผู้นำของ 'ถงเหมิงฮุ่ย' คอยสั่งการแม้แต่คนเดียว เนื่องจากแผนปฏิวัติรั่วไหลไปเข้าหูทางการเข้า

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่า การก่อการอู่ชาง (武昌起义) หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า สองสิบ (双十) เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 10 เดือน 10 (ปัจจุบันชาวไต้หวันยังถือเอาวันนี้เป็นวันชาติอยู่ ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันชาติ) ส่วนชื่อทางการของการปฏิวัตินั้นเรียกว่า การปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เนื่องจากตามปฏิทินจันทรคตินั้นเป็น ปี ค.ศ.1911 ชาวจีนเรียกว่าปีซินไฮ่

ประกายไฟแห่งความสำเร็จของการก่อการที่อู่ชาง ปลุกให้เกิดการปฏิวัติทั่วประเทศจีน โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1911 มีถึง 14 มณฑล จากทั้งหมด 24 มณฑลของจีนที่ประกาศปลดปล่อยตัวเองออกจากการปกครองของรัฐบาลชิงที่ปักกิ่ง

การปฏิวัติซินไฮ่นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สองพันปีที่จีนหลุดพ้นออกจากระบอบการปกครองของกษัตริย์ และ ก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางของการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ โดยในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ.1911 ดร.ซุน ก็กลับมาถึงเซี่ยงไฮ้จากต่างประเทศ และจากมติของตัวแทนสมาชิกที่ร่วมปฏิวัติจากทั่วประเทศจีนก็เลือกเอา ดร.ซุนยัดเซ็นเป็น ประธานาธิบดีชั่วคราวของ สาธารณรัฐจีน (中华民国) โดยถือเอาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1912 เป็นปีแรกของสาธารณรัฐ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่ เมืองหนานจิง

ทั้งนี้เมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ดร.ซุน ได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า "ผู้ใดที่กล้าขุดระบอบกษัตริย์ขึ้นมา (ในจีน) คนทั่วแผ่นดินจะร่วมกันลุกขึ้นคัดค้าน"

จากความพยายามอยู่หลายสิบปี แม้การปฏิวัติจะสำเร็จลงในที่สุด แต่รัฐบาลชั่วคราวที่หนานจิง ที่นำโดย ดร.ซุน ก็ประสบปัญหาที่รุมเร้า อย่างเช่น ภาวะการคลังของจีนที่ขาดดุลเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยปกครองโดยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะการต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้กับต่างชาติตามสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol, โครงสร้างในการปกครองที่ยังไม่ลงตัว, ฮ่องเต้จีนองค์สุดท้ายที่คงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังต้องห้าม และที่จุดอ่อนที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาลๆ หนึ่งคือ การขาดกำลังทหาร!

หลังสิ้นยุคของซูสีไทเฮา หยวนซื่อไข่ หรือ หยวนซื่อข่าย (袁世凯) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งลัทธิขุนศึก" ก็ขึ้นมากุมกองกำลังทหารทั้งหมดของภาคเหนือ และในเวลาต่อมากดดันให้ ดร.ซุน ต้องยอมยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้ โดยหลังจากลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ดร.ซุน หันไปทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจีนแทน

หลังจากการก่อการที่อู่ชาง ได้ไม่กี่เดือน อำนาจในการปกครองที่ควรจะเป็นของประชาชนจีนทั้งมวล ก็กลับมารวมกันอยู่ในมือคนเพียงคนเดียวที่ชื่อ หยวนซื่อไข่ อีกครั้ง ซึ่งก็เป็นดังคาด หยวน ไม่ยอมละทิ้งระบอบกษัตริย์โดยพยายามตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" แต่สุดท้ายฮ่องเต้หยวนซื่อไข่ก็ไปไม่รอดตามคำสาปแช่งที่ ดร.ซุน เคยกล่าวไว้ก่อนหน้า

ค.ศ.1916 เมื่อ หยวนซื่อไข่ เสียชีวิตลงด้วยโลหิตเป็นพิษ ประเทศจีนก็ย่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่เรียกว่า "ยุคขุนศึกภาคเหนือ (北洋军阀时期; 1912-1928)" อย่างเต็มตัว

นับจากเริ่มก่อตั้ง สมาคมซิงจงฮุ่ย ในปี ค.ศ.1894 ภารกิจในการปฏิวัติที่ดำเนินมานานกว่า 20 ปี ที่ควรจะเสร็จสิ้นเพื่อนำประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งการสร้างชาติขึ้นใหม่ของ ดร.ซุนยัดเซ็น สุดท้ายก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำร้ายประเทศจีนยังตกอยู่ในสภาวะที่ต่างชาติต้องการหาตัวแทนเป็นขุนศึก เพื่อแบ่งจีนออกเป็นส่วนๆ เพื่อหาผลประโยชน์

หลังความล้มเหลวดังกล่าว ส่งให้กำลังใจของนักปฏิวัติผู้นี้แทบไม่มีเหลือ จนครั้งหนึ่งถึงกับรำพึงกับคนสนิทว่า "บางทียุคสาธารณรัฐ อาจจะย่ำแย่กว่ายุคที่จีนปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เสียด้วยซ้ำ"

อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นในการประกอบภารกิจที่ยังไม่สำเร็จ ดร.ซุน ก็ยังพยายามโค่นเหล่าขุนศึกภาคเหนือต่อไป โดยต่อมาหลังจากเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 (五四运动) ก็ร่วมก่อตั้ง พรรคก๊กมินตั๋ง (จงกั๋วกั๋วหมินตั่ง:中国国民党) ขึ้น ซึ่งต่อมามีความร่วมมือกับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1921)

แต่สุดท้ายแล้ว ดร.ซุน ก็อยู่ไม่ทันเห็นผลจากความพยายามชั่วชีวิตของตน เนื่องจาก เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรงมะเร็งตับที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1925 ระหว่างการเยือนปักกิ่งเพื่อมาหารือกับขุนศึกแห่งภาคเหนือ

ก่อนเสียชีวิต ดร.ซุนได้ทิ้งคำสั่งเสียไว้โดยมีใจความสำคัญว่า "... จีนต้องการอิสระและความเท่าเทียมกันจากนานาชาติ ประสบการณ์ 40 ปีที่ผ่านมาของข้าพเจ้า สอนข้าพเจ้าว่า ในการบรรลุเป้าหมายในการปฏิวัติ เราจะต้องปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา ...... การปฏิวัติยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้สหายทั้งหลายของเราดำเนินการตามแผนการของข้าพเจ้าต่อไปเพื่อฟื้นฟูบูรณะชาติของเราขึ้นมา" (หมายเหตุ : คำสั่งเสียดังกล่าวบันทึกโดย วังจิงเว่ย (汪精卫) คนสนิทของ ดร.ซุน ที่ต่อมาขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋ง สามารถหาอ่านข้อความเต็มได้จาก หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก บนที่ 24 หน้าที่ 882-883)

หลังจากเสียชีวิต ศพของ ดร.ซุนยัดเซ็น ถูกนำไปตั้งไว้ชั่วคราวที่ วัดเมฆหยก (ปี้หยุนซื่อ:碧云寺) ตีนเขา เซียงซาน บริเวณเทือกเขาด้านตะวันตก (ซีซาน:西山) ชานกรุงปักกิ่ง เพื่อรอเวลาในการสร้าง สุสานซุนจงซาน ที่หนานจิงให้เสร็จสิ้น (ทั้งนี้ "ซีซาน" อันเป็นสถานที่ตั้งศพชั่วคราวของ ดร.ซุน นี้ในเวลาต่อมาระหว่างการแย่งอำนาจในพรรคก๊กมินตั๋ง สมาชิกก๊กมินตั๋งกลุ่มขวาเก่า ได้นำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มซีซาน" เพื่อแสดงความใกล้ชิด และแสดงว่าตนเป็นทายาทของ ดร.ซุนที่แท้จริง)
............................
ที่หนานจิง สุสานซุนจงซาน (中山陵) อันตั้งอยู่บริเวณเนินทางทิศใต้ของของภูเขาจงซาน เริ่มสร้างใน เดือนมกราคม ค.ศ.1926 และเสร็จสิ้นในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1929 โดยศพของ ดร.ซุนยัดเซ็น นั้นถูกย้ายจากปักกิ่งมาตั้งไว้ ณ สุสานแห่งนี้เมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1929

มีการกล่าวถึงสาเหตุที่การสร้างสุสาน ดร.ซุนยัดเซ็น ณ บริเวณนี้ว่า ครั้งหนึ่ง ดร.ซุน เคยมาเยี่ยมเยือนบริเวณนี้ เมื่อสังเกตเห็นว่า เนินทางทิศใต้ของภูเขาจงซาน มีทัศนียภาพที่งดงาม และชัยภูมิที่ดีจึงเปรยเล่นๆ กับผู้ติดตามว่า เหมาะกับการสร้างสุสานของตน อย่างไรก็ตาม การเปรยเล่นๆ ดังกล่าวกลับมีผู้จดบันทึกเอาไว้

ปัจจุบัน สุสานซุนจงซาน มีขนาดใหญ่โตกว่า สุสานหมิง ที่อยู่ข้างๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีขนาดพื้นที่กว้างขวางถึง 8 หมื่นตารางเมตร โดย สุสานถูกออกแบบและสร้างให้เป็น ทางเดินหินลาดขึ้นไปตามเนินเขาที่ยาวกว่า 323 เมตร กว้าง 70 เมตร

ประตูใหญ่ของสุสาน สร้างจากหินอ่อนขาวที่นำมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ขณะที่หลังคาเป็นกระเบื้องออกแบบเป็นสีน้ำเงินคราม - - - สีขาว-น้ำเงินคราม อันเป็นสีธงประจำพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งหากสังเกตดูดีๆ แล้ว อาคารทั้งหมดของ สุสานซุนจงซาน ก็ออกแบบในโทน สีขาว-น้ำเงิน นี้

เหนืออาคารแรกถัดจากประตูใหญ่ ผู้มาเยือนจะพบลายมือของ ดร.ซุน ที่เขียนเอาไว้ว่า " แผ่นดินเป็นของประชาชน (เทียนเซี่ยเหวยกง:天下为公)"

อาคารหลังสุดท้ายของสุสานซุนจงซาน เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ครอบสุสานเอาไว้ ด้านหน้ามีตัวหนังสือเขียนเรียงไว้ว่า ชาตินิยม (民族), ประชาธิปไตย (民权) และ สังคมนิยม (民生) อันประกอบเป็น ลัทธิไตรราษฎร์ ที่ ดร.ซุน บัญญัติขึ้น

ภายในอาคารมีรูปปั้นในท่านั่งของ ดร.ซุนยัดเซ็น ผลงานของ Paul Landowski ประติมากรชาวฝรั่งเศสขณะที่ผนังโดยรอบก็สลักไว้ด้วย "หลักการพื้นฐานในการสร้างชาติโดยสังเขป ของ ดร.ซุน" โดยเมื่อเดินผ่านเข้าไปหลักรูปปั้นนั่ง ก็จะพบกับห้องวงกลมอันเป็นห้องเก็บศพ โดยบนโลงศพนั้นประดับไว้ด้วยรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของ ดร.ซุนเอง ที่ปั้นโดยศิลปินชาวเชก

ในปัจจุบันหรือในอนาคต ไม่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่ กับ จีนไต้หวัน จะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใด สิ่งแน่ใจได้ประการหนึ่งก็คือ บุรุษผู้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจาก 'นายแพทย์ผู้รักษาชีวิตคน' มาเป็น 'นักปฏิวัติผู้ช่วยชีวิตประเทศจีน' ผู้นี้ คงเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ทั้งชาวจีนทั้งสองฝั่งกล่าวได้เต็มปากว่า หากไม่มีเขาก็อาจไม่มีประเทศจีนในวันนี้

อ่านเพิ่มเติม : บทความอื่นๆ จากคอลัมน์ริมจัตุรัสที่เกี่ยวข้องกับ ดร.ซุนยัดเซ็น
- เที่ยวสือช่าไห่ แวะบ้าน "ซ่งชิ่งหลิง" ตอนที่ 2 และ ตอนที่ 3 (19 พ.ค. และ 27 พ.ค. 2547)

ประวัติของ ดร.ซุนยัดเซ็น เรียบเรียงมาจาก :
1.หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้และยุคปัจจุบัน (中国近现代历史概要) โดย ตู้จื้อจุน ของมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง บทที่ 9-11
2.หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 บทที่ 20 หน้าที่ 739-771 และ บทที่ 2 หน้า 877-913
3.หนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543 หน้าที่ 83-87
4.หนังสือ 孙中山在说 (2004) โดย ซุนจงซาน สำนักพิมพ์ตงฟัง

ทั้งนี้หนังสือทั้ง 4 เล่มให้ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับ ดร.ซุนยัดเซ็น คลาดเคลื่อนกัน ดังนั้นข้อมูลในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอ้างอิงจาก เล่มที่สี่ เป็นหลัก และเสริมข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสืออีกสามเล่ม




กำลังโหลดความคิดเห็น