xs
xsm
sm
md
lg

จีนผันทรัพยากรเป็นเงิน พัฒนาภาคตะวันตก(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขุมพลังเศรษฐกิจ / ดินแดนอันกว้างใหญ่ทางภาคตะวันตก ที่กินอาณาเขตถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วประเทศ รวมพื้นที่กว่า 5,400,000 ตร.กม. เป็นที่อยู่ของประชากรกว่า 280 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 23% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นดินแดนที่เคยถูกกล่าวขานว่า กันดาร ห่างไกล ริมชายขอบ ยากจน และกว้างใหญ่ ถึงแม้ว่าการคมนาคมในดินแดนแถบนี้ยังไม่สะดวกสบายมากนัก อีกทั้งการบุกเบิกพัฒนายังอยู่ในระดับต่ำ แต่สามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เฉลี่ยเป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพีทั้งประเทศ และยังเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์

ภาคตะวันตกของจีนกินพื้นที่ตั้งแต่ มณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน) กุ้ยโจว ชิงไห่ กันซู่ ส่านซี ซื่อชวน(เสฉวน) เขตปกครองตนเองซินเจียง(ซินเกียง) หนิงเซี่ย กว่างซี(กวางสี) มองโกเลียใน ทิเบต และนครฉงชิ่ง

หลังวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1999 ที่อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ได้ประกาศชัดเจนถึงหลักการในอันที่เร่งพัฒนาภาคตะวันตกของประเทศ และเน้นย้ำถึงการดำเนินนโยบายของทางรัฐบาล ในการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ รวมไปถึงการระดมทรัพยากรบุคคลเข้าสู่พื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในการเร่งพัฒนาทั้งในด้านประชากร ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม โดยนับตั้งแต่นั้นรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ

ปันทรัพยากรป้อนภาคตะวันออก

โครงการใหญ่ยักษ์ที่รัฐบาลเล็งเห็นแล้วว่า จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาคตะวันตก คือการนำทรัพยากรในพื้นที่ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล มากระจายสู่ภูมิภาคต่างๆในประเทศ ซึ่งภาคตะวันออกนับเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรสูงที่สุด และ ‘สมบัติล้ำค่า’ ในดินแดนภาคตะวันตก ซึ่งเป็นที่หมายปองของเขตเศรษฐกิจในฝั่งตะวันออก คือ ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าพลังน้ำ

โครงการท่อส่งก๊าซสู่ภาคตะวันออก(西气东输工程)

เป็นโครงการหนึ่งในแผนการบุกเบิกพัฒนาภาคตะวันตก ที่รัฐบาลหวังจะให้มีส่วนในการปรับโครงสร้างการใช้พลังงานในประเทศ โดยพัฒนาการนำพลังงานสะอาดมาใช้ อีกทั้งเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตเครื่องจักรกล พลังงานไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ หลอมโลหะ และวัสดุก่อสร้าง ที่กระจายอยู่ใน 10 เขตให้เติบโตขึ้น เป็นพลังทางเศรษฐกิจที่นำรายได้มาสู่ภูมิภาค

หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ อุตสาหกรรมต่างๆในประเทศจีนค่อยๆก่อมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานหลัก ดังนั้น การพัฒนาพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนจึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว รัฐบาลได้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณ ในการบุกเบิกโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานธรรมชาติในภาคตะวันตก ซึ่งกว่า 67% ลงทุนไปในการสร้างท่อส่งก๊าซในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก

โดยเริ่มต้นบุกเบิกพื้นที่บนที่ราบถ่าหลี่มู่(塔里木盆地) ในซินเจียง เป็นฐานผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งไปยังพื้นที่ในภาคตะวันออก 5 เขต ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานอย่างมหาศาล ได้แก่ มณฑลเหอหนัน อันฮุย เจียงซู เจ้อเจียง และเซี่ยงไฮ้ (ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแยงซี)

โครงการนี้ยังรวมไปถึง การสร้างท่อส่งก๊าซผ่านเขตปกครองต่างๆ ตั้งแต่ ซินเจียง กันซู่ หนิงเซี่ย ส่านซี ซันซี เหอหนัน อันฮุย เจียงซู เซี่ยงไฮ้ และเจ้อเจียง โดยท่อส่งก๊าซสายหลักมีความยาวประมาณ 4,000 กิโลเมตร ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับการส่งจ่ายก๊าซได้ถึง 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร / ปี รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อการใช้งาน ณ สถานีจ่ายพลังงานปลายทาง ตัวเลขเงินลงทุนคาดการณ์ว่า อาจสูงกว่า 140,000 ล้านหยวน(ราว 700,000 ล้านบาท )

กว่าที่โครงการระดับชาตินี้จะคลอดออกมา ต้องใช้เวลาในการเตรียมการในระยะยาว ตั้งแต่ปี 1996 ที่กลุ่มบริษัทน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศจีน ได้เริ่มสำรวจและศึกษาวิจัยขอบข่ายของโครงการดังกล่าวในเบื้องต้น

2 ปีต่อมา ทำการวิจัยอย่างเป็นทางการ ถึงความเป็นไปได้ในการขยายขอบข่ายโครงการฯ  ปี 2000 รัฐบาลจึงประกาศอนุมัติก่อตั้งโครงการ จนมาถึงปี 2002 ได้มีการสรุปผลการสำรวจและศึกษาในด้านต่างๆของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างอิงด้านทรัพยากร ด้านการตลาด การสร้างท่อส่งก๊าซ และด้านเศรษฐกิจ และเริ่มงานก่อสร้างท่อก๊าซในจุดต่างๆในวันที่ 4 กรกฎาคม 2002 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ต้นปี 2005

หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่า โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากตะวันตกสู่ตะวันออกนี้ จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสองภูมิภาค โดยผู้เชี่ยวชาญจีนชี้แจงว่า รายได้ในภาคการเงินของซินเจียงเพิ่มสูงขึ้น 10% เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแยงซี ก็สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรได้ เพราะที่ผ่านมา ต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 85% ในการนำเข้าพลังงานจากต่างถิ่น ซึ่งนับเป็นช่องว่างทางการตลาดขนาดใหญ่ที่รอโอกาสส่งเสริม นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ถึงปีละ 9 ล้านตัน ซึ่งส่งผลต่อการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะฝนกรดในเซี่ยงไฮ้ เจียงซู และในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย

อ่านต่อหน้า 2 

โครงการจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ภาคตะวันออก(西电东送工程)

อีกโครงการหนึ่งที่เป็นแกนหลักในแผนการพัฒนาภาคตะวันตก ที่มีเป้าประสงค์คล้ายคลึงกับโครงการท่อส่งก๊าซฯ คือ การส่งกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากเขตต่างๆในภาคตะวันตก ได้แก่ กุ้ยโจว หยุนหนัน กว่างซี ซื่อชวน มองโกเลียใน ซันซี ส่านซี ไปยังพื้นที่ในภาคตะวันออก ได้แก่ กว่างตง(กวางตุ้ง) เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง และเขตเศรษฐกิจจิงจินถัง (ปักกิ่ง เทียนจิน และถังซันในเหอเป่ย)

ทรัพยากรน้ำบริเวณตอนบนและตอนกลางของแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง) เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ซึ่งยังไม่เคยมีการจัดสรรใช้สอยที่มีประสิทธิภาพ โครงการดังกล่าวจะตอบสนองการนำพลังงานน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่ภาคตะวันออก โดยได้มีการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า 3 แห่งด้วยกัน คือ

โรงไฟฟ้าที่มีอุโมงค์เชื่อมต่อระหว่างกุ้ยโจว หยุนหนัน และกว่างซี ส่งกระแสไฟฟ้าไปยังกว่างตง โรงไฟฟ้าและอุโมงค์ไฟฟ้าจากมองโกเลียใน และซันซี ส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเขตจิงจินถังในภาคเหนือ และโรงไฟฟ้าจากเขื่อนซันเสียและแม่น้ำจินซาเจียง ทางตอนกลางของประเทศ จ่ายไฟสู่เมืองในภาคตะวันออก โดยคาดการณ์ว่า ต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 ล้านหยวน (ราว 500,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ยังสามารถทดแทนการเผาถ่านหิน เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบดั้งเดิมในภาคตะวันออกได้ถึง 36 ล้านตัน ซึ่งลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 50 ล้านตันด้วย

สำหรับประโยชน์ต่อภาคตะวันตก จะสามารถสร้างงาน สร้างโอกาสการลงทุน และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากสถิติไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากโรงไฟฟ้าบางแห่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายไฟแล้ว เฉพาะที่กุ้ยโจวมีรายได้จากการเก็บภาษีสูงถึง 2,000 ล้านหยวน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการดังกล่าวยังคงประสบปัญหาการแข่งขันทางการตลาด ที่มีการผูกขาดทางการตลาดอย่างรุนแรง การจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม และการให้สิทธิพิเศษด้านสินเชื่อกู้ยืมเงิน ตลอดจนผลประโยชน์หลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้า ที่กระจายอยู่ทั้งในเขตตะวันตกและออกรวมกว่า 100 บริษัท ซึ่งยังรอการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ สื่อมวลชนจีนชี้ว่า ก้างชิ้นใหญ่ที่ขัดขวางการพัฒนาในภาคตะวันตก คือการขาดแคลนด้านบุคลากร อาทิ บุคลากรถูกแทรกแซงจากราชการมาก จนไม่สามารถมีอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ งานหรือสวัสดิการก็ไม่น่าดึงดูดใจ หลายคนออกนอกเขตไปหางานทำที่อื่น ขนาดบางเขตยังจำกัดเสรีไม่ให้มีการโยกย้ายงาน และที่สำคัญคือ การด้อยโอกาสทางการศึกษาในบางพื้นที่ยังเป็นปัญหารุนแรงมาก

ทว่า อุปสรรคสำคัญต่องานการบุกเบิกพัฒนาเขตพื้นที่ทางภาคตะวันตก ยังมีอีก 2 ประการ คือ ภาวะเงินลงทุนในพื้นที่ และการสนับสนุนด้านนโยบายที่เหมาะสม.


โปรดติดตาม 'การพัฒนาภาคตะวันตก' (ตอนจบ) : อุปสรรคปัญหาและเขตบุกเบิกที่สำคัญในภาคตะวันตก สัปดาห์หน้า 
ข้อมูลอ้างอิงจาก : developwest.gov.cn / xinhuanet.com / china5e.com / ICXO.com / chinaed.com.cn / sina.com.cn 
กำลังโหลดความคิดเห็น