xs
xsm
sm
md
lg

หนานจิง : "หมิง" จุดหักเหของจีน

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ตั้งแต่ต้นราชวงศ์ ฮ่องเต้หมิงก็สั่งให้มีการซ่อม-สร้าง กำแพงเมืองจีน ที่ไม่ได้มีการบูรณะอย่างจริงๆ จังๆ มาพันกว่าปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.220)

สำหรับสาเหตุที่หลังสมัยราชวงศ์ฮั่น ไม่มีการบูรณะกำแพงเมืองจีน นั้นก็ต้องกลับไปดูเจตนาของ ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ในการเชื่อมเอากำแพงของเมืองต่างๆ ที่ตีมาได้ และสร้างแนวกำแพงขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็นกำแพงเมืองจีนที่ทอดตัวตามแนว ตะวันออก-ตะวันตก ยาวตั้งแต่ 'ส่านซี' ในภาคกลาง ไปจนจรด 'ตงเป่ย' ในภาคอีสานของจีนว่า มีจุดประสงค์ในการป้องกันไม่ให้ ซงหนู (匈奴) ชนเผ่านอกด่านรุกรานชาวจีนในด่านได้โดยง่าย

เจตนาของ จิ๋นซีฮ่องเต้ นี้ได้สืบต่อมายังฮ่องเต้ของราชวงศ์ฮั่น แต่เมื่อมาถึง ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) อันถือว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่อีกยุคหนึ่งของประเทศจีนนั้น ฮ่องเต้ราชวงศ์ถังมีนโยบายในการเปิดประเทศ ให้มีความสัมพันธ์ทางการทูต และการค้าขาย แลกเปลี่ยนเอา วิวัฒนาการ ความรู้ กับดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจีน (เป็นการติดต่อผ่านทางการคมนาคมภาคพื้นดินเนื่องจากขณะนั้นการคมนาคมทางน้ำยังไม่แพร่หลาย) ดังนั้นในสมัยถังจึงไม่มีการซ่อมกำแพงเมืองจีน

ขณะที่ในยุคต่อๆ มา อย่างเช่น สมัยหยวน (ค.ศ.1206-1368) ฮ่องเต้ก็มีสายเลือดของชาวมองโกล อันเป็นชนเผ่านอกด่านจึงสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ในสมัยหยวนไม่มีการซ่อมกำแพงเมืองจีน

ทั้งนี้เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง อันเป็นยุคสมัยที่ ชาวฮั่น กลับขึ้นมาปกครองประเทศจีนอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มองโกลย้อนกลับเข้ามาได้อีกง่ายๆ จึงมีการซ่อม-สร้างกำแพงเมืองจีนยาวตั้งแต่ ด่านเจียยู่กวน (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลกานซู่) ในภาคตะวันตกให้ยาวไปจรด ด่านยาลี่ว์เจียง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง) โดยมีความยาวรวมกว่า 12,700 ลี้

"ด่านปาต๋าหลิง" อันเป็น ด่านยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนปักกิ่ง ก็สร้างขึ้นในสมัยหมิงนี้ด้วยเช่นกัน

แม้การคมนาคมทางเรือจะเริ่มก้าวหน้า แต่ยุคของการซ่อม-สร้างกำแพงเมืองจีนครั้งใหญ่ในสมัยหมิง อันถือเป็นการปิดประตูการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความเป็นไปของโลก กับดินแดนทางทิศตะวันตกนี้เองที่มีนักประวัติศาสตร์จีนหลายคน ให้ข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ อัตราการพัฒนาของสังคมจีนในสมัยหมิง ดำเนินไปอย่างเชื่องช้ากว่า สังคมตะวันตก อย่างเปรียบกันไม่ได้

ราชวงศ์หมิงซึ่งมีอายุรวม 276 ปีสิ้นสุดลง เมื่อจีนถูกปกครองต่อด้วย ราชวงศ์ชิง ที่แม้จะเป็นชนเผ่านอกด่านแต่ ฮ่องเต้แมนจู ก็พยายามลอกเลียนแบบวัฒนธรรมของชาวฮั่นมาอย่างเต็มที่ และเมื่อฮ่องเต้ชิงปกครองจีนผ่านไปอีกเกือบ 200 ปี โดยยังคงหลงนึกอยู่ว่า "จีนเป็นจุดศูนย์กลางโลก ตนเป็นโอรสสววรค์" ก็ทำให้ ประเทศที่เคยรุ่งเรืองที่สุดของโลก ต้องสยบลงแทบเท้าวิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตกในที่สุด

นอกจากนี้แล้ว ความเคร่งครัดในวัฒนธรรมและประเพณีโบราณ ตามความเชื่อในลัทธิขงจื๊อ ก็ยิ่งทำให้สังคมจีนไม่สามารถที่จะเปิดรับความคิดใหม่ๆ ที่จะนำมาสู่ความก้าวหน้าดังเช่นที่เกิดกับตะวันตกได้

ในสมัยของจูหยวนจาง เนื่องจากที่ปรึกษาของพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นบัณฑิตลัทธิขงจื๊อทั้งสิ้น ในเวลาต่อมาจากแผนผลิตผู้รู้หนังสือเพื่อเป็นขุนนางจึงมีการตั้งสถาบันการศึกษาที่เรียกว่า "สถาบันราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตลัทธิขงจื๊อเข้ารับราชการตั้งแต่ปี ค.ศ.1365 (ก่อนที่จูหยวนจางจะขึ้นครองราชย์)*

ทั้งนี้หลักสูตรตำราเรียนของ สถาบันราชวิทยาลัยนั้นเป็นหลักสูตรบังคับที่วางเกณฑ์ไว้ว่า นักศึกษาจะต้องศึกษาตำราดั้งเดิมสองชุดที่เรียกกันว่า ซื่อชู (四书) อันมี 4 เล่ม และ อู่จิง (五经) อันมี 5 เล่ม โดยนักศึกษาที่ผ่านการสอบไล่ตามหลักสูตรจะต้องสามารถท่องจำตำราทั้งสองชุดนี้ที่ว่ากันว่ามีตัวหนังสือจีนรวมแล้วมากกว่า 430,000 ตัวให้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ

ประเพณี การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการของจีน (เคอจู่จื้อตู้:科举制度) ที่คนไทยรู้จักกันในนาม การสอบจอหงวน (จริงๆ แล้วคำว่า 'จอหงวน' นั้นมาจากคำว่า จ้วงหยวน:状元 ซึ่งหมายถึงตำแหน่งของผู้ที่สอบเข้ารับราชการได้เป็นอันดับหนึ่งในการสอบเข้ารับราชการรอบสุดท้าย ระดับสูงสุด ที่เรียกว่า จิ้นซื่อ:进士) แม้จะเริ่มต้นมามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย และแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง แต่ในสมัยหมิงนั้น ได้กลายเป็น ระบบการสอบตายตัว เน้นการท่องจำ และไม่เปิดให้บัณฑิตได้แสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่อยู่ในตำราได้แม้แต่น้อย

ต่อมาในรัชกาลเฉิงฮั่ว (成化) เมื่อมีการบังคับให้ผู้เข้าสอบเขียน "ความเรียงแปดขา (ปากู่เหวิน:八股文)" สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก

สาเหตุที่ความเรียงชนิดนี้ถูกเรียกว่า "ความเรียงแปดขา" ก็เนื่องจาก ระเบียบได้กำหนดให้ความเรียงมีทั้งสิ้นแปดส่วนอย่างตายตัว (ประกอบด้วย ) โดยแต่ละส่วนผู้เขียนจะต้องเขียนให้มีข้อความเชื่อมโยงกับตอนก่อนๆ แม้ว่าหลายส่วนน่าจะตัดออกไปได้ นอกจากนี้เนื้อหาพื้นฐานที่เขียนก็จำเป็นต้องอิงอยู่กับ ซื่อชู และ อู่จิง ตำราของลัทธิขงจื๊อ ด้วยระเบียบเช่นนี้ ทำให้ผู้เข้าสอบไม่สามารถจะพลิกแพลงอะไรได้เลย**

ทั้งนี้ ความเรียงแปดขา ดังกล่าว มีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าหากผู้เข้าสอบทำในส่วนของความเรียงนี้ไม่ผ่าน แม้ว่าผลการสอบ และ ความสามารถในส่วนอื่นๆ จะยอดเยี่ยมเช่นไรก็ไม่สามารถสอบเข้ารับราชการได้ ทำให้มีการกล่าวกันว่า ปากู่ฉี่ว์ซื่อ (八股取士) อันมีความหมายเปรียบเทียบว่า ความเรียงแปดขานั้นสำคัญที่สุดในการตัดสินว่าใครสอบเข้ารับราชการได้หรือไม่

ระบบการสอบเข้ารับราชการที่ยึดเอาลัทธิขงจื๊อเป็นแกนกลาง อันคร่ำครึดังกล่าว ตกทอดมาเรื่อยๆ จนสิ้นสุดลงในยุคปลายราชวงศ์ชิง เมื่อจีนกำลังบอบช้ำกับความพ่ายแพ้ให้กับ ญี่ปุ่น และชาติตะวันตกครั้งแล้วครั้งเล่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยของฮ่องเต้กวงสู้จักรพรรดิองค์รองสุดท้ายของจีน "ซูสีไทเฮา" ผู้ซึ่งกุมอำนาจการปกครองจีนตัวจริงก็ยินยอมทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อดึงอำนาจให้คงอยู่ในมือตัวเอง โดยหนึ่งในการปฏิรูปดังกล่าวก็รวมถึง การยกเลิกระบบการสอบเข้ารับราชการดังกล่าวด้วย ในปี ค.ศ.1905

ในช่วงหลายร้อยปีที่มีการสอบเข้ารับราชการด้วยวิธีนี้นั้น ระบบการสอบดังกล่าวได้ทำลายชีวิตผู้ที่มีความฝันว่าจะเป็นบัณฑิตผ่านการสอบเข้ารับราชการของจีนไปมากมาย โดยบางคนนั้นสอบตั้งแต่หนุ่มจนแก่หัวหงอกก็ยังไม่สามารถสอบผ่านระดับท้องถิ่นไปเป็น "ซิ่วไฉ (秀才)" ได้ โดยผู้ที่สอบไม่ผ่านไม่ว่าจะแก่อายุ 50 หรือ 60 ก็ยังจะต้องถูกเรียกว่า ถงเซิง (童生; "ถง" คำนี้ในภาษาจีนแปลว่า "เด็ก")

บางคนเมื่อสอบไม่ผ่านหลายครั้งเข้า ก็สติแตก หาเลี้ยงชีพอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะทั้งชีวิตมุ่งมั่นไปที่เป้าหมายเดียวคือ การสอบจอหงวน (อย่างเช่น ตัวละครที่ชื่อ ข่งอี๋จี่:孔乙己 ในเรื่องสั้นชื่อเดียวกันที่หลู่ซวิ่น นักประพันธ์ผู้ถูกยกย่องว่าเป็น 'บิดาแห่งวรรณคดีของจีนใหม่' ได้เคยเขียนกระทบกระเทียบไว้)

ในเวลาต่อมาเมื่อจีนรับเอาความคิดใหม่ๆ จากตะวันตกเข้ามา แม้ระบบการสอบจอหงวนจะยุติไปแล้ว แต่การยึดถือในคำสอนของขงจื๊อก็ยังคงติดอยู่กับวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณีของคนจีนมากมาย จนทำให้ในที่สุดในหมู่ปัญญาชนจีนต้องทำการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติวัฒนธรรม (หรือเรียกว่า การปฏิวัติของปัญญาชน) โดยยึดเอาสโลแกน "ต๋าเต่าข่งเจียเตี้ยน:打倒孔家店!)" หรือ "ล้มล้างแนวคิดแบบขงจื๊อ!" ..... แนวคิดแบบขงจื๊อ ที่ปัญญาชนในสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นตัวแทนของการปกครองในระบอบขุนนาง แนวคิด ประเพณี วัฒนธรรมอันคร่ำครึ ที่กดขี่สามัญชน และฉุดจีนให้ล้าหลัง

หากผู้ใดสนใจเรื่องขงจื๊อและการสอบจอหงวนข้างต้น ที่เมืองหนานจิงก็มีสถานที่ซึ่งไม่น่าจะพลาดไปชม ก็คือ ย่าน วัดฟูจื่อ (夫子庙) หรือวัดที่จัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับขงจื๊อและสาวกของขงจื๊อ โดยมีการแสดงตำนานต่างๆ รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน

บริเวณใกล้ๆ ยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติการสอบเข้ารับราชการของเจียงหนาน (江南贡院历史) โดยพื้นที่ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันนั้นเป็นสถานที่จัดสอบเข้ารับราชการจริงๆ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) โดยในสมัยก่อนนั้นมีพื้นที่กว้างขวางถึง 300,000 ตารางเมตร และระหว่างการสอบ 9 วัน ผู้เข้าสอบจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในคอกเล็กๆ ที่แยกออกจากผู้อื่น

ทั้งนี้ สนามสอบเจียงหนาน อันครอบคลุมผู้เข้าสอบจากสองมณฑลคือ เจียงซูและอันฮุย นั้นในอดีตขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่ง ผลิตบัณฑิต อันดับหนึ่ง จ้วงหยวน:状元), อันดับสอง (ปั๋งแหย่น:榜眼) และอันดับสาม (ถ้านฮวา:探花) ตามลำดับ รวมกันแล้วได้มากที่สุดของประเทศ โดยตลอดสมัยชิงที่มีการสอบจอหงวนจำนวน 112 ครั้ง เจียงซู ผลิตบัณฑิตที่สอบได้อันดับ 1, 2 และ 3 ของประเทศได้มากถึง 49 คน, 26 คน และ 42 คนตามลำดับ ทิ้งห่างมณฑลเจ้อเจียง ที่มีผู้สอบเข้ารับราชการได้อันดับ 1, 2 และ 3 เพียง 20, 29 และ 27 คนไปไกลลิบ

นอกจากการจัดแสดงสภาพการสอบเข้ารับราชการในอดีต หนังสือ ประวัติของจอหงวนคนดังในประวัติศาสตร์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แล้วยังมีการจัดแสดงวิธี ซุกโพย ซุกฝิ่น ของผู้เข้าสอบในสมัยโบราณด้วย

เมื่อเดินดูนิทรรศกาลที่พิพิธภัณฑ์นี้แล้วต้องซูฮกเลยครับ สอบจอหงวนมันยากเข็ญเช่นนี้นี่เอง ขนาด "ฝิ่น" กับ "โพย" มันยังทำกันลำบากถึงขนาดนี้!

Tips สำหรับการเดินทาง:
- ค่าผ่านเข้าประตูวัดฟูจื่อ ราคา 15 หยวน ส่วนพิพิธภัณฑ์ประวัติการสอบเข้ารับราชการของเจียงหนาน อยู่ที่ราว 10 หยวน ซึ่งหากใครไม่สนใจ ขงจื๊อและการสอบจอหงวน ไม่เข้าไปดู ก็ไม่เสียหายอะไร
- ปัจจุบัน ย่านวัดฟูจื่อ เป็นย่านตลาดนัดช่วงแดดร่มลมตกของหนานจิง โดยตั้งแต่ช่วงหัวค่ำเป็นต้นไปจะคึกคักอย่างมาก เนื่องจาก มีแสงสีเสียงครึกครื้น มีของให้ซื้อ มีอาหารให้ทาน และมีละครกลางแจ้งให้ชม

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 หน้า 433-435
**หนังสือ จงกั๋วเหวินฮั่วตี้ถู เล่มที่ 2 (中国文化地图 (下)) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จงกั๋วฉางอาน (中国长安出版社) หน้า 294


กำลังโหลดความคิดเห็น