xs
xsm
sm
md
lg

หนานจิง : จูหยวนจาง กับ ราชวงศ์หมิง

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

นับจากวันที่ จูหยวนจาง เดินออกจากร่มกาสวพัสตร์ เข้ามาเป็นพลทหารในกองทัพต้านมองโกล เขาใช้เวลาเพียง 13 ปี ในการก่อร่างสร้างตัวก้าวขึ้นมาเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง

ระหว่างก้าวย่างของการขึ้นมาสู่ความยิ่งใหญ่ แน่นอนว่า จูหยวนจาง ย่อมต้องอาศัยการสนับสนุนจากกุนซือ และเพื่อนฝูงที่ร่วมเป็นร่วมตายด้วยกันมาไม่น้อย แต่เมื่อมายืนที่จุดสูงสุด ในใจของพระองค์กลับเกิดความหวาดระแวงต่อผู้ใกล้ชิดและขุนนาง เหล่านั้นว่า กำลังวางแผนที่โค่นล้มบัลลังก์ของตน ...

หลังขึ้นสู่อำนาจพระองค์ ได้กำจัด อัครมหาเสนาบดี ขุนพล ที่ปรึกษา ไปมากมาย ทั้งนี้การสั่งกำจัดใครคนใดคนหนึ่งนั้นหมายความถึง การประหารทั้งโคตรตระกูล รวมถึงสมัครพรรคพวกด้วย โดยครั้งหนึ่งมีหลักฐานว่า การจำกัด อัครมหาเสนาบดี หูเหวยยง ที่ปรึกษาคนสำคัญที่สุดของจูหยวนจางตั้งแต่ก่อนครองราชย์นั้น สังหารคนไปทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 คน*

ทั้งนี้ กรณีการกำจัดคนใกล้ชิดที่ขึ้นชื่อว่า แนบเนียน และเจ้าเล่ห์ที่สุดของ จูหยวนจาง ก็คือ การกำจัด นายพลคนสำคัญที่ชื่อว่า สูต๋า (徐达)

นายพลสูต๋า (ค.ศ.1332-1385) เป็นคนเหาโจว บ้านเดียวกับ ฮ่องเต้จูหยวนจาง เคยนำทัพบุก ต้าตู เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน (ปัจจุบันคือ ปักกิ่ง) จนจักรพรรดิมองโกลต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปทางภาคเหนือ เป็นผู้คุมการสร้างกำแพงเมืองจีนในส่วน ซานไห่กวาน อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของพื้นที่ทางเหนือของดินแดน

นายพลสู่ต๋าผ่านร้อนผ่านหนาว กับจูหยวนจางมานับครั้งไม่ถ้วน จนได้ตำแหน่งเป็น กงแห่งรัฐเว่ย และได้รับสิทธิพิเศษจากองค์ฮ่องเต้ คือ ให้ตายได้ 3 ครั้ง (หมายความว่า หากฮ่องเต้มีบัญชาให้ประหาร ก็ไม่ต้องถูกประหาร 3 ครั้ง)**

ในปี ค.ศ.1384 นายพลสูต๋า เกิดมีอาการหลังติดเชื้อเป็นฝีชนิดร้ายแรง ซึ่งเมื่อ จูหยวนจาง ได้ข่าวก็เปิดประชุมแพทย์หลวงขึ้นทันที โดยแพทย์ผู้หนึ่งก็ให้คำปรึกษาว่า ผู้ที่เป็นฝีชนิดนี้นั้นห้ามกิน "เนื้อห่าน" โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงที่ปากบาดแผลเริ่มหายและปิดสนิท ทั้งนี้หากไม่ระมัดระวังทานเนื้อห่านเข้าไปแล้วละก็ แผลก็จะกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง เป็นหนอง และอาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อได้ยินคำของแพทย์หลวงดังกล่าว ก็พยักหน้า และมีบัญชาเรียก นายพลสูต๋า กลับหนานจิงโดยด่วน ในอีกทางหนึ่งก็สั่งให้ราชองครักษ์ไปเลือกเฟ้นห่าน เพื่อขุนไว้รอเวลา

เมื่อนายพลสูต๋า กลับมาถึงหนานจิง ก็รีบเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ซึ่งจูหยวนจางก็จัดงานเลี้ยงต้อนรับดังเช่น พี่น้องร่วมท้อง โดยเมื่อนายพลสูต๋า ดื่มเหล้าจนเมาพับ จูหยวนจางก็สั่งให้นำเอานายพลสูต๋ากลับไปพักผ่อนที่เตียงบรรทมของพระองค์

เช้ามาเมื่อนายพลสูต๋า ตื่นขึ้นพบว่าเมื่อคืน ตนเองบังอาจถึงขั้นหลับพักผ่อนบนเตียงของเหนือหัว ก็ตกใจถึงกับนึกในใจว่าตัวเองคอขาดแน่แล้วคราวนี้ แต่ จูหยวนจาง กลับประคองนายพลสูต๋าขึ้นและรับสั่งว่า นายพลสูต๋านั้นเหมือนพี่เหมือนน้อง เรื่องแค่นี้มิใช่เรื่องใหญ่อันใด พร้อมกับกล่าวด้วยว่าในการกลับมาครั้งนี้ ได้มีการเตรียมแพทย์หลวงฝีมือดีไว้รักษาอาการเจ็บป่วยที่หลังของนายพลสูต๋าไว้พร้อมแล้ว

นายพลสูต๋าเข้ารับการรักษาจากแพทย์หลวงไม่ถึงหนึ่งเดือนดี แผลก็เริ่มปิด กระนั้นเอง จูหยวนจาง ก็ถึงกับไปเยี่ยมนายพลสูต๋าด้วยตนเองถึงที่ โดยรับสั่งว่า

"เพื่อน้องรักจะได้หายเป็นปกติโดยไว มาช่วยบริหารบ้านเมือง ข้าได้สั่งให้พ่อครัวในวังหลวงปรุงห่านมาตัวหนึ่ง ไว้ให้น้องรักทานบำรุงกำลัง!"

เมื่อได้ยินนายพลสูต๋า ก็ตื้นตันใจเป็นอันมากโดย ต่อหน้าจูหยวนจางถึงกับรับประทานห่านไปถึงครึ่งตัว ... อย่างที่คาดเอาไว้ วันต่อมาแผลที่หลังของนายพลสูต๋าก็กำเริบ บวมแดง และติดเชื้อขึ้นอีก โดยคราวนี้แพทย์หลวงก็กล่าวว่า หมดทางรักษาเสียแล้ว และก็ทำให้นายพลสูต๋ารู้ตัวว่า ตัวเองไม่เป็นที่ต้องการขององค์ฮ่องเต้อีกต่อไป โดยในปีต่อมา นายพลคู่กายของจูหยวนจางก็ลาโลกไปในที่สุด

แม้ จูหยวนจาง จะดูเหมือนเหี้ยมโหด และอำมหิต แม้กระทั่งกับ ผู้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน แต่จริงๆ แล้วจุดประสงค์ก็เพียงเพื่อรักษาอำนาจให้อยู่กับตัว ไม่ให้เกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำดังเช่นที่เคยเกิดกับ ราชวงศ์ที่ปกครองจีนมาก่อนหน้า

ด้วยความที่มีชาติกำเนิดอันต่ำต้อย มาจากครอบครัวของชาวนา จูหยวนจาง จึงยกย่องและนิยมชมชอบ หลิวปัง หรือปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.220) มาก โดยพระองค์พยายามเรียนรู้ประวัติศาสตร์หาจุดเด่น จุดด้อย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ ราชวงศ์หมิงของพระองค์พบกับความเสื่อมสลาย อย่างเช่นที่เคยเกิดกับราชวงศ์ฮั่น

ในสายตานักประวัติศาสตร์จำนนวนมาก ราชวงศ์หมิงที่จูหยวนจางเป็นผู้ให้กำเนิด นับว่าเป็น ยุคที่ยิ่งใหญ่ยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน โดยสามารถปกครองแผ่นดินจีนมาได้ยาวนานถึง 276 ปี ด้วยความมีเสถียรภาพทางสังคม และเป็นการปูรากฐานในสังคม ประเพณี และการปกครองที่ฝังรากลึกต่อเนื่องมาถึง ราชวงศ์ชิง

ความเกรียงไกรของแผ่นดินจีนที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ อันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ ฮ่องเต้ราชวงศ์หมิงปกครองอยู่ ก็อย่างเช่น ขบวนสำเภาหลวง ขนาดมโหฬารนำขบวนโดย เจิ้งเหอ (郑和) ที่เดินทางออกทะเลล่องไปทั่วโลก 7 ครั้งในรอบ 28 ปี ไปไกลถึง อินเดีย แอฟริกา และเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการว่า เจิ้งเหอเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จริงหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติม : เจิ้งเหอ: มังกรแห่งท้องทะเล)

ปัจจุบันที่ หนานจิงก็ยังมี หอประวัติเจิ้งเหอและสวนสาธารณะเจิ้งเหอสร้างไว้เป็นที่ระลึก

กำแพงเมืองจีน ที่ยุคสมัยของหมิง นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในสามยุคของการสร้าง-ซ่อมกำแพงเมืองจีนยุคสำคัญ ร่วมกับ 'สมัยฉิน' และ 'สมัยฮั่น' โดย ยุคหมิงนี่เองที่เริ่มเรียกกำแพงเมืองจีนว่า "เมืองหมื่นลี้ (万里长城)" และร่องรอยกำแพงเมืองจีนที่ยังหลงเหลือให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็น ส่วนที่ซ่อมแซมและสร้างเพิ่มเติมในสมัยหมิงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีนักประวัติศาสตร์ที่มองในมุมกลับกันโดยวิเคราะห์ว่า สมัยหมิงนี่แหละที่เป็นยุคผกผัน และทำให้ จีนที่เคยเป็นอู่อารยธรรม และเป็นดินแดนที่มีความเจริญทั้งทางการปกครอง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และสังคมอันอุดมไปด้วยวัฒนธรรม-ประเพณี ตกต่ำจนต้องเดินตามก้นชาวตะวันตกจนกระทั่งทุกวันนี้

นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ราชวงศ์หมิง ปกครองจีนด้วยการสืบสานขนบประเพณีไปตามวิธีดั้งเดิมของตน (และสืบต่อมายังราชวงศ์ชิง) ขณะเดียวกันทางด้านยุโรปก็ก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ยุคปฏิรูป (Reformation) ซึ่งติดตามมาด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศส และการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม***

ชาร์ลส์ แพทริก ฟิตซเจอรัลด์ (Charles Patrick Fitzgerald) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ กล่าวไว้ในหนังสือ China:A Short Cultural History ว่า "ภายใต้ราชวงศ์หมิง นับเป็นครั้งแรกที่อารยธรรมจีนล้าหลังความเจริญก้าวหน้าที่มีในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป หากแต่มันเป็นเพราะความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของตะวันตกยิ่งกว่าความคงที่ตายตัวของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง

"เมื่อมาร์โค โปโล กลับไปจากจีนนั้นเป็นเวลาก่อนหน้าที่ราชวงศ์ซ่งจะดับสูญเพียงสองสามปี (ผู้เขียน:ช่วงปลายศตวรรษที่ 13) อารยธรรมของจีน ที่มาร์โค โปโลเขียนให้ชาวยุโรปได้ทราบทั่วกันนั้น มีความเหนือกว่าดินแดนที่เป็นมาตุภูมิของเขาอย่างลิบลับในทุกๆ ด้าน แต่เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายลงในปี ค.ศ.1644 ยุโรปก็ได้ก้าวหน้าไปอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะการเดินเรือ วิทยาศาสตร์และความรู้ในส่วนอื่นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็มีความสมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเองแล้วยังค่อนข้างโดดเดี่ยวยิ่งกว่าในสมัยถังด้วย แต่เแม้จะเป็นเพราะสาเหตุดังกล่าวอารยธรรมของจีนกับยุโรป ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนของพัฒนาการในระดับเดียวกัน ..... ส่วนหนึ่งเพราะการแสดงออกแห่งอัจริยะวุฒิของหมิง ยังไม่เป็นที่ทราบกันโดยชัดแจ้งนักแก่บรรดาผู้ศึกษาและสอบค้นชาวต่างชาติ ..."

ขณะที่ แฟร์แบงค์ และ ไรสชาวร์ (Fairbank and Reischauer) ก็ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ China : Tradition and Transformation ที่คล้ายกันว่า

"เสถียรภาพตลอดยุคสมัยอันยาวนานแห่งอารยธรรมของเอเชียตะวันออก ยังผลให้เอเชียตะวันออกกลายมาเป็น "ความล้าหลัง" หรือ "ด้อยพัฒนา" เมื่อเทียบกัน แต่ในการเอาจีนมาเทียบกับการแผ่ขยายของตะวันตก เราก็จะต้องไม่ไปเหมาเอาว่า ยุคสมัยต่างๆ ของหมิงและชิงนั้นเป็นยุคของการถอยหลังเขาคลองหรือบดบังผลสำเร็จที่แท้จริงนานาประการของจีนเสียเลย .... สังคมจีนนั้นยังห่างไกลกันนักกับความคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หากแต่ฝีเท้าที่ก้าวเดินของการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่า และระดับแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มีน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกตะวันตกเป็นไหนๆ"

หมายเหตุ : ในที่นี้ใช้ชื่อจูหยวนจาง แทน ไท่จู่ หรือ หงอู่ อันเป็นพระนามและชื่อรัชกาลของปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง เพื่อง่ายแต่ความเข้าใจและไม่สับสนของผู้อ่าน

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 หน้า 435
**หนังสือ จงกั๋วเหวินฮั่วตี้ถู เล่มที่ 2 (中国文化地图 (下)) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จงกั๋วฉางอาน (中国长安出版社) หน้า 294-296
***หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 หน้า 425-426
กำลังโหลดความคิดเห็น