xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานพระราชวังแห่งเมืองเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุทยานพระราชวังของจักรพรรดิ

บ้านพักตากอากาศบนเขาของจักรพรรดิหลังนี้ ตั้งอยู่ทางเหนือในเขตใจกลางเมืองเฉิงเต๋อ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอู่เลี่ยเหอ (武烈河) ได้ถวายการรับใช้ สนองความสำราญพระราชหฤทัยของฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงมาถึง 3 รัชกาล คือ ในสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลง รวมระยะเวลานาน 90 ปี

การก่อสร้างพระราชวังฤดูร้อนเริ้มขึ้นจาก ครั้งหนึ่งระหว่างทางที่จักรพรรดิคังซีเสด็จประพาสภาคเหนือ ทรงตระหนักในคุณค่าของภูมิประเทศของเมืองเฉิงเต๋อ ด้วยทรงพอพระราชหฤทัยภูมิอากาศที่อบอุ่นเย็นสบาย ทัศนียภาพที่งดงาม และยังทรงเล็งเห็นว่า สถานที่นี้เป็นเสมือน 'ประตูสู่บ้านเกิด' ของกษัตริย์แมนจูแห่งราชวงศ์ชิง (ชนเผ่าแมนจูถอยร่นมาจากดินแดนทางภาคเหนือ) อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่สามารถเฝ้าดูความเป็นไปของพวกมองโกล ทั้งในและนอกราชอาณาจักรด้วย จึงทรงรับสั่งให้ลงหลักปักฐานสร้างพระราชวังขึ้น

การขุดลอกคลองและงานถางทางก่อสร้างครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นขึ้นในปีที่ 42 (ปี 1703 ราชวงศ์ชิง-ค.ศ.1644-1911) แห่งรัชสมัยจักรพรรดิคังซี จนกระทั่งในปีที่ 52 (ค.ศ.1713) งานก่อสร้างพระราชวังสำเร็จไปถึง 36 ส่วน รวมถึงรั้วล้อมรอบพระราชวัง การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงในรัชกาลของจักรพรรดิหย่งเจิ้ง มาในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงปีที่ 6 (ค.ศ.1741) จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างและต่อเติมอีกครั้ง จนมาแล้วเสร็จในปีที่ 57 (ค.ศ.1792) ที่มีการสร้าง 'วัดนอกวังทั้งแปด' เพิ่มเข้าไปในส่วนนอกพระราชวัง พระราชวังแห่งนี้สร้างและแล้วเสร็จในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ชิง

ในปีที่ 50 แห่งรัชกาลคังซี จักรพรรดิคังซีทรงมีลายพระหัตถ์ พระราชทานนามให้แก่พระราชวังแห่งนี้ที่ป้ายหน้าประตู่อู่(午门) ว่า ‘ปี้สู่ซันจวง’ (避暑山庄) ที่มีความหมายว่า พระราชวังพักร้อนหรือพระราชวังฤดูร้อน หลังจากนั้น พระองค์และครอบครัวก็จะเสด็จจากกรุงปักกิ่ง มาพักร้อนที่พระราชวังเฉิงเต๋อเป็นประจำทุกปี

จักรพรรดิคังซีทรงต้องมนตร์เสน่ห์เมืองเหนือ ณ พระราชวังแห่งนี้ และเสด็จออกล่าสัตว์ที่ทุ่งราบบริเวณพระราชวังอยู่บ่อยครั้ง ภาพที่พระองค์ทรงม้า ตามติดด้วยขุนนางผู้ใหญ่ และข้าทาสบริวารอีกนับหมื่น ขณะทรงล่าสัตว์ในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ สร้างความน่าเกรงขามราวกับกษัตริย์นำทัพทหารออกศึก ย่อมมีผลทางจิตวิทยาต่อชนส่วนน้อยทางเหนือเผ่าต่างๆ ให้ศิโรราบต่อราชสำนักชิงในยุคนั้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชนเผ่ามองโกล

แม้ว่าในปี 1691 กำแพงเมืองจีนนอกกรุงปักกิ่งจะทรุดโทรมอย่างมาก ขุนนางผู้ใหญ่จะชักชวนให้พระองค์เร่งระดมกำลังซ่อมแซมกำแพง แต่ฮ่องเต้คังซีกลับทรงเห็นว่า พระราชวังแห่งนี้คือ ‘กำแพงเมืองจีน’ ที่แท้จริง ทั้งยังทรงรับสั่งกำชับให้ทะนุบำรุงรักษาวังเป็นอย่างดี 11 ปีต่อมาก็ทรงให้มีการซ่อมแซมและต่อเติมพระราชวังเฉิงเต๋อด้วย

ในช่วงระหว่างความไม่สงบและเกิดกบฏมองโกล จักรพรรดิคังซีมีพระชนมายุ 60 พรรษา ยังทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดพุทธที่เลียนแบบศิลปะแห่งแคว้นมองโกล (วัดผู่เหรินซื่อ) และหอรับรองราชนิกุลผู้สูงศักดิ์ของชนเผ่ามองโกล รวมถึงสถานที่อีกหลายแห่งที่จำลองศิลปะแบบชนส่วนน้อยต่างๆ เพื่อใช้ในการต้อนรับ และร่วมในกิจกรรมสังสรรค์ระหว่างพระองค์กับมิตรประเทศ กล่าวได้ว่าพระราชวังแห่งนี้ไม่เป็นเพียงสถานที่พักผ่อนของฮ่องเต้เท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางการเมืองต่อความสัมพันธ์ของราชสำนักชิงกับราชสำนักของชนส่วนน้อยในอดีตด้วย

เมื่อครั้งที่จักรพรรดิเฉียนหลงประสูติ ก็ตรงกับปีที่จักรพรรดิคังซีพระราชทานนามให้กับพระราชวังในพระราชหฤทัยนี้พอดี เฉียนหลงจึงกลายเป็นพระราชนัดดาที่ทรงโปรดที่สุดของฮ่องเต้คังซี และยังเสด็จมาใช้เวลาร่วมกับพระอัยกาที่นี่หลายครั้ง พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อจึงเป็นทั้งที่เล่นเรียนเขียนอ่าน เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของพระองค์ด้วย ครั้นเมื่อเจริญชันษาและขึ้นครองราชย์สมบัติ ได้เสด็จกลับมาที่นี่อีกครั้ง และได้เปลี่ยนชื่อวังนี้มาใช้ชื่อ 'จี้เอินถัง' (纪恩堂) หมายถึง หอรำลึกบุญคุณ อันเป็นเครื่องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระอัยกาที่มีต่อพระองค์นั่นเอง

ต่อมาเมื่อมองโกลก่อกบฏขึ้นอีก ฮ่องเต้เฉียนหลงได้เจริญรอยตามฮ่องเต้คังซี โปรดฯให้สร้างวัดลามะ คือวัดผู่ถัวจงเฉิง (普陀宗乘之庙) ตามความเชื่อทางศาสนาแบบลามะทิเบต ของชนส่วนน้อยทั้งหลายแถบมองโกลในเวลานั้น เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นอย่างสันติ และยังรับสั่งให้สร้างวัดที่จำลองแบบวังโปตะลา(小布达拉宫)ในทิเบต ขึ้นในพระราชวังเฉิงเต๋ออีกด้วย

300 ปีสู่สวนของสาธารณชน

พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ กินอาณาเขตกว้างใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาและสวนป่า โดยพื้นที่ 4 ใน 5 ส่วนเป็นภูเขา มีชื่อเสียงในความเป็น ‘สวนท่ามกลางขุนเขา และขุนเขาท่ามกลางสวน’ เขตพระราชวังแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพระราชวังและอุทยาน ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศลักษณะต่างๆ อาทิ ยอดเขา เชิงเขา ลำธารระหว่างซอกเขา ฯลฯ จัดแต่งทิวทัศน์ขึ้นเพิ่มเติมเป็นสวนป่าขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ภายในรั้วพระราชวังยังเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างโบราณสมัยราชวงศ์ชิง ที่โดดเด่นที่สุด คือเก๋งจีน 2 หลังบนยอดเขา ชื่อว่า ‘เก๋งภูเขาใต้ซับหิมะ’ (หนันซันจีเสี่ยว์南山积雪) และ ‘เก๋งภูเขาเมฆสี่ทิศ’ (ซื่อเมี่ยนหยุนซัน四面云山) อาณาเขตนอกพระราชวังยังล้อมรอบด้วยวัดวาอารามน้อยใหญ่ ที่มีความงามทางศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย

ปัจจุบันพระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อเปิดเป็นสวนสาธารณะ เก็บค่าผ่านประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ โดยจุดท่องเที่ยวในเขตพระราชวังฤดูร้อน แบ่งเป็น เขตพระราชฐาน เขตทะเลสาบ เขตทุ่งราบ และเขตภูเขา 4 เขตใหญ่

เขตพระราชฐาน หมายถึง เขตว่าราชการและที่ประทับของจักรพรรดิ ทั่วอาณาบริเวณของพระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ ด้านตะวันตก-ออกเต็มไปด้วยลำธารสายน้ำ ส่วนด้านเหนือ-ใต้ก็เต็มไปด้วยภูเขา ลักษณะโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ที่มีภูเขาเป็นพื้นฐาน เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการจัดสรรพื้นที่ นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยทัศนียภาพหลากหลายรูปแบบ

ส่วนการปลูกสร้างภายในเขตพระราชฐานนั้น ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่โอ่อ่าด้วยความเรียบง่าย และอุทยานที่จัดแต่งเป็นกลิ่นอายบรรยากาศป่าเขาก็ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนภาพย่อส่วนของทิวทัศน์ธรรมชาติในประเทศจีนเลยทีเดียว

สถาปัตยกรรมหลักในเขตพระราชฐาน ย่อส่วนมาจากพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่ง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ พระราชวังหน้า(正宫-เจิ้งกง) สถานที่ว่าราชการ ที่ประกอบพิธีสำคัญของราชสำนัก และที่ประทับพักผ่อนของจักรพรรดิชิง หอซงเฮ่อไจ (松鹤斋-ซงเฮ่อไจ) ซึ่งเป็นวังที่ประทับของไทเฮา หอวั่นเฮ่อซงเฟิง (万壑松风) ห้องทรงพระอักษรของฮ่องเต้ ซึ่งตัวอาคารเชื่อมต่อระหว่างเขตพระราชวังกับเขตทะเลสาบ สร้างเลียนแบบพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน ในกรุงปักกิ่ง และสุดท้ายคือ พระราชวังตะวันออก (东宫-ตงกง-ถูกทำลายระหว่างสงคราม) เดิมใช้เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีเลี้ยงสังสรรค์

พระราชวังหน้า เป็นหมู่สถาปัตยกรรมหลัก ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 เขต คือ เขตพระราชฐานฝ่ายหน้า(前朝) กับเขตหอบรรทม(后寝) สิ่งปลูกสร้างที่เป็นพระราชวังหลัก คือ พระราชวังตั้นป๋อจิ้งเฉิง (澹泊敬城) บางครั้งเรียก พระราชวังหนันมู่ เพราะสร้างด้วยไม้หนันมู่ทั้งหลัง (楠木-ซึ่งเป็นเนื้อไม้ล้ำค่านิยมใช้ในงานก่อสร้าง) เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆของจักรพรรดิ

รายล้อมพระราชวังแห่งนี้ เป็นหอหนังสือ สถานที่ออกว่าราชการ และที่อาศัยของฮ่องเต้ ฯลฯ ในปี 1860 เมื่อครั้งที่ทหารพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศสบุกกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิราชวงศ์ชิงก็เสด็จลี้ภัยทางการเมืองมาหลบ ‘ร้อน’ อยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนแห่งนี้ นอกจากนี้ สนธิสัญญาขายชาติหลายฉบับของฮ่องเต้ราชวงศ์ชิง อาทิ ‘สนธิสัญญาปักกิ่ง’ ที่เซ็นกันระหว่างจีนและรัสเซีย ก็มาทำกันที่พระราชวังนี้เช่นกัน

ภายนอกพระราชฐาน เป็นกลุ่มโบราณสถานวัดลามะ สร้างในสมัยต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของศาสนาพุทธนิกายลามะ ได้รับการสนับสนุนเป็นปึกแผ่นมั่นคง โบราณสถานส่วนใหญ่มีการถ่ายเทศิลปวัฒนธรรมของชนส่วนน้อยทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ของชาวมองโกล ซินเจียง(ซินเกียง) และทิเบต มาไว้ที่นี่ เช่น วัดผู่หนิงซื่อ (普宁寺) วัดลามะที่เลียนแบบวัดศิลปะซินเจียง และมีบางส่วนที่เลียนแบบวัดของชนเผ่าทิเบต เช่น วัดผู่ถัวจงเฉิง

วัดเหล่านี้ได้กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ของบรรดาเหล่าราชนิกุลแห่งราชสำนักชิง และขุนนางชั้นสูงชนส่วนน้อยต่างๆ ทางเหนือและตะวันตก และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคีของชนส่วนน้อยต่างๆ ซึ่งแฝงนัยทางการเมืองในยุคนั้นอย่างเด่นชัด ทั้งนี้มีวัดของชนส่วนน้อยสำคัญ 8 วัด ที่ในอดีตเคยถูกปกครองโดยราชสำนักชิง รวมเรียกว่า ‘วัดนอกเขตวังทั้งแปด’ (外八庙-วัดไว่ปา) มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรม 3 ลักษณะที่โดดเด่น คือ ศิลปะแบบทิเบต ศิลปะแบบฮั่น และศิลปะผสมผสานทั้งทิเบตและฮั่น

วัดทั้งแปด ได้แก่ วัดผู่เหรินซื่อ ( 溥仁寺)ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สุด วัดผู่เล่อซื่อ (普乐寺) วัดอันหย่วนเมี่ยว (安远庙) ทั้งสามวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอู่เลี่ยเหอ ถัดไปทางเหนือเป็นวัดเชิงเขา ได้แก่ วัดผู่หนิงซื่อ (普宁寺) ส่วนทิศเหนือของเขตพระราชวังเป็น วัดซีว์หมีฝูโซ่ว ( 须弥福寿之庙) วัดผู่ถัวจงเฉิง (普陀宗乘之庙) วัดจูเซี่ยง ( 殊象寺) และวัดกว่างหยวน (广缘寺) รวมถึงวัดผู่ซ่าน ( 溥善寺)

ส่วนที่เป็นเขตทะเลสาบ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขตพระราชฐาน รวมพื้นที่ที่เป็นเกาะเล็กทั้ง 8 ในทะเลสาบ กว่า 570,000 ตารางเมตร ซึ่งสร้างสรรค์ทัศนียภาพในทะเลสาบลดหลั่นเป็นชั้นเชิง เกาะน้อยใหญ่ที่ดารดาษกลางทะเลสาบทำให้แบ่งพื้นน้ำออกเป็น 5 ทะเลสาบ ซึ่งทุกเกาะเชื่อมต่อถึงกันด้วยสะพาน อุดมด้วยแมกไม้เขียวขจี และเรือนริมทะเลสาบที่มีกลิ่นอายของศิลปะแถบเจียงหนัน สร้างสีสันและมุมมองที่สลับซับซ้อนมีชีวิตชีวา

สำหรับเขตทุ่งราบ หมายถึงพื้นที่ราบตีนเขา ซึ่งเป็นทิวทัศน์ทุ่งหญ้าเขียวขจีทางตะวันออกของเขตทะเลสาบ มีพื้นที่รวมกว่า 530,000 ตารางเมตร พื้นที่ทุ่งหญ้านี้ในอดีตเคยเป็นสวนต้นไม้กว้างใหญ่ ภายในสวนมีเต้นท์มองโกลถึง 28 เต้นท์ ซึ่งเต้นท์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นพระราชวังชั่วคราวของฮ่องเต้ด้วย จักรพรรดิเฉียนหลงทรงใช้เต้นท์มองโกลเป็นที่ให้คณะราชนิกุลของชนส่วนน้อยต่างๆ รวมถึงเจ้านายชั้นสูง และคณะทูตานุทูตจากดินแดนชนส่วนน้อยของจีนเข้าเฝ้าฯบ่อยครั้ง และยังทรงนิยมจัดปิกนิกกลางป่าที่ทุ่งหญ้านี้ด้วย

ส่วนเขตภูเขา คือเขตทางตะวันตกของพระราชวัง ซึ่งกินพื้นที่มากที่สุดถึง 4 ใน 5 ของอาณาเขตทั้งหมด ราว 4.22 ตร.กม. เป็นที่ตั้งของวัด ศาลาพักร้อน และวิหารจำนวนมาก

ความสำคัญของพระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ นอกจากจะเป็นประตูเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างราชสำนักส่วนกลางกับชนส่วนน้อยต่างๆเพื่อผลทางการเมืองแล้ว ด้านการออกแบบจัดสร้างยังแตกต่างจากแบบฉบับพระราชวังและอุทยานทั่วไป เนื่องจากเป็นศิลปะการปลูกสวนป่าที่มีแนวคิดการหยิบยืมภูมิประเทศตามธรรมชาติ มาดัดแปลงและตกแต่งเพิ่มเติมให้เกิดเป็นสวนฝีมือมนุษย์ ที่มีสุนทรียรสใกล้เคียงธรรมชาติ และบางส่วนยิ่งงดงามเหนือธรรมชาติ ทั้งยังผสมผสานสุดยอดศิลปะการจัดสวนแบบภาคเหนือและใต้มาไว้ด้วยกัน

วิธีการโน้มนำศิลปะการออกแบบสวนที่เข้าหาธรรมชาติได้อย่างลงตัวเช่นนี้ ทำให้พระราชวังเฉิงเต๋อได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างของ ‘ที่สุดของสวนคลาสิก’ ในประวัติศาสตร์การสร้างสวนของจีน ซึ่งยังคงคุณค่าความงาม เหมือนเมื่อ 300 ปีก่อนอยู่นั่นเอง.


ข้อมูล

มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ.1994
ที่ตั้ง : เมืองเฉิงเต๋อ ห่างจากกรุงปักกิ่งราว 250 กิโลเมตร ในมณฑลเหอเป่ย
สร้างเมื่อ : ค.ศ.1703-1792 สมัยราชวงศ์ชิง
อาณาเขต : พระราชวังฤดูร้อนและวัดไว่ปา รวมพื้นที่ราว 5.84 ตร.กม.



ข้อมูลท่องเที่ยว

การเดินทาง : จากปักกิ่งมีรถไฟไปลงที่สถานีรถไฟเมืองเฉิงเต๋อโดยตรง ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชม. แล้วสามารถต่อรถโดยสารหมายเลข 5 หรือ 8 ถึงพระราชวังฯ
เดินทางในเมืองเฉิงเต๋อ มีรถประจำทางราคา 1 หยวน รถแท็กซี่ราคาเริ่มต้น 5 หยวน 2 กิโลเมตรต่อไป ราคา 1.4 หยวน / กม.

ราคาบัตรผ่านประตู :
พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อ(承德避暑山庄) 50 หยวน (ราคานี้รวมค่าเข้าพิพิธภัณฑ์แล้ว) เวลาทำการ 08:10-17:30 น.

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง :
ลานล่าสัตว์มู่หลัน(木兰围场) 50 หยวน อดีตจักรพรรดิคังซี เฉียนหลง และเจียชิ่งแห่งราชวงศ์ชิงจะมาล่าสัตว์ที่นี่ทุกๆฤดูใบไม้ร่วง ใช้เวลาท่องเที่ยว 1 วัน วัดผู่เล่อ(普乐寺) 25 หยวน วัดผู่หนิง(普宁寺) 30 หยวน วัดอันหย่วน(安远庙) 25 หยวน พระราชวังโปตาละจำลอง(小布达拉宫) 25 หยวน ที่ประตูใหญ่พระราชวังฤดูร้อนฯ สามารถขึ้นรถโดยสารหมายเลข 6 หรือ 15 ไปวัดนอกวังทั้ง 8 (วัดไว่ปา -外八庙)
เมืองตากอากาศฉินหวงเต่า (秦皇岛) ห่างออกไป 306 กิโลเมตร ชมกำแพงเมืองจีนด่านซันไห่กวน(山海关) นั่งรถไฟขึ้นที่สถานีเฉิงเต๋อ ลงที่ฉินหวงเต่า

สภาพอากาศ :
สภาพอากาศเหมาะแก่การเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อุณหภูมิเฉลี่ย 24.4-22.8 องศาเซลเซียส

เว็บไซต์ท่องเที่ยว :
http://www.travelchinaguide.com/attraction/hebei/chengde/index.htm

กำลังโหลดความคิดเห็น