xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำแห่งฤดูร้อน:จาก 'นครเหนือ' สู่ 'นครใต้'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ตอนเด็กๆ เมื่อถึงฤดูร้อน โรงเรียนปิดเทอมทีไร ผมมักจะตื่นเต้นทุกครั้งกับการไม่ต้องไปโรงเรียน ได้ตื่นสายๆ หาเรื่องคลุกคลีตีโมงอยู่กับเพื่อนๆ ข้างบ้าน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ผมมักจะรวมหัวกับพี่ๆ และเพื่อนๆ แปลงบ้านให้กลายเป็น 'เกาะมหัศจรรย์' ตามละครเย็นที่ฉายหลอกเด็ก (มุมบ้านที่เรียงรายไปด้วยตุ่มรองน้ำฝนดูจะลึกลับเสียเหลือเกิน) ตากแดดเตะฟุตบอลพลาสติกตลอดบ่ายบนลานปูนในบ้านโดยถือเอารองเท้าแตะฟองน้ำเป็นเสาโกล์ และบ้านเราให้เป็น "แอนฟิลด์" ขี่จักรยานออกไปไกลถึงถนนใหญ่ โดยไม่บอกให้พ่อ-แม่ ทราบ หากไม่มีพี่ชายไปเป็นเพื่อนผมคงไม่กล้า บ้างก็หยิบว่าวกระโดดขึ้นซ้อนท้ายรถพี่ชาย ถีบลุยทางลูกรังออกไปประลองฝีมือกับเพื่อนๆ ที่บึงท้ายซอย ข้างๆ โรงเผาถ่าน

ตอนนั้นบ้านผมแถวลาดพร้าว ดูเหมือนจะมีกลิ่นอายของต่างจังหวัดเจือจางอยู่ไม่น้อย ผิดกับปัจจุบันที่แถวๆ บ้านผมตอนนี้กลายเป็นเมืองกรุงอย่างสมบูรณ์แบบไปแล้ว ไม่มีเด็กๆ มาเตะฟุตบอลพลาสติกกลางถนน ไม่มีบึงหลังบ้าน ไม่มีช่วงเวลาปลดปล่อยของวันปิดเทอม และที่สำคัญไม่มี พี่ๆ เพื่อนๆ และผม ที่ยังอยู่ในวัยไร้เดียงสา

นั่นเป็นฤดูร้อนของวัยเยาว์ ที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในความทรงจำของผม .....

เมืองจีนมีฤดูร้อนที่ผิดแปลกไปจากเมืองไทยเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องช่วงเวลา ช่วงเวลาร้อนที่สุดของประเทศไทยจะไปตกเอาในช่วงสงกรานต์กลางเดือนเมษายน ขณะที่เมืองจีนนั้นจะตกอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ดีกรีความร้อนสำหรับฤดูร้อนที่เมืองจีนนั้น ทำเอาหลายเมืองถูกยกให้เป็น "หม้อน้ำ (锅炉)" หรือที่ภาษาบ้านเราเรียกว่า "เตาอบ" เพราะ ในหลายเมืองโดยเฉพาะทางภาคใต้อุณหภูมิอาจทะลุขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียสได้ง่ายๆ ทำให้คนจีนทางใต้พอถึงฤดูร้อนทีไรก็มักจะหาทางหอบลูกจูงหลานขึ้นเหนือหลบร้อน

อย่างไรก็ตามร้อนนี้ผมซึ่งถือว่าเป็น "คนเหนือ" (เพราะอยู่ปักกิ่ง) ก็ขอสวนทาง ถือโอกาส "ลงใต้" มาสัมผัสบรรยากาศแบบทางใต้ของจีนเสียบ้าง

ด้วยหลายๆ เหตุผล หนานจิง เป็นจุดหมายแรก และเป็นเมืองต้นทางสำหรับการลงใต้ของผมในครั้งนี้

หนานจิง (南京) หรือ นานกิง ในความหมายที่แปลเป็นไทยได้ว่า "นครหลวงทางใต้" เป็นเมืองสำคัญของจีนทางใต้ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาว และถือเป็นหนึ่งในเมืองหลวงเก่าของจีน

ในระยะเวลา 4-5 พันปี ของประวัติศาสตร์ชาติ ชาวจีนถือว่า ตนมี เมืองหลวงเก่าแก่ (古都) อยู่ 6 เมือง ขณะที่บางตำราว่า 7 เมือง คือรวม อันหยาง (安阳) ที่พบ อักษรจารึกบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ หรือ เจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文) เข้าไปด้วย โดย เมืองหลวงเก่า 6 เมือง (六大古都) ดังกล่าวนั้นเมื่อเรียงตามยุคสมัยจากเก่าไปถึงใหม่ แล้วก็ประกอบไปด้วย

1.ซีอาน หรือชื่อเดิมคือ ฉางอาน ปัจจุบันอยู่ในมณฑลส่านซี
2.ลั่วหยาง ปัจจุบันอยู่ในมณฑล เหอหนาน
3.ไคฟง หรือ คายเฟิง ที่คนไทยรู้จักกันดีก็เพราะละครเปาบุ้นจิ้น ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน
4.หางโจว ปัจจุบันเป็นเมืองเอกของ มณฑลเจ้อเจียง
5.หนานจิง ปัจจุบันเป็นเมืองเอกของ มณฑลเจียงซู
และ 6.ปักกิ่ง ที่แปลเป็นไทยคือ นครหลวงทางเหนือ และมีสถานะเป็นเมืองหลวงของจีนในปัจจุบัน

ก่อนมาถึง ภาพลักษณ์ของ "หนานจิง" ในใจของผมนั้น เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จีน เริ่มตั้งแต่สมัยของราชวงศ์หมิง เรื่อยมาถึงประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ ยุคปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญของ ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองจีนในรอบเกือบ 2,000 ปี

หากจะกล่าวถึง "หนานจิง" ในฐานะของเมืองหลวงเก่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงชื่อของบุคคล บุคคลหนึ่ง คือ จูหยวนจาง (朱元璋) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ผู้ขับไล่มองโกลออกจากอาณาจักรจีนและตั้งราชวงศ์หมิง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่มีจักรพรรดิเชื้อสายฮั่น ขึ้นมาปกครองอาณาจักร

เมื่อพลิกไปอ่านประวัติชีวิตของ จูหยวนจาง แล้วก็จะพบว่า เป็นประวัติที่น่าตื่นตาตื่นใจ และพบว่าเป็นเรื่องจริง ที่มีสีสันเสียยิ่งกว่าละครหลังข่าวของโทรทัศน์บ้านเราเป็นไหนๆ

จูหยวนจาง เกิดเมื่อปี ค.ศ.1328 ในครอบครัวชาวนาอันยากจนในเหาโจว (濠州) ซึ่งปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในมณฑลอันฮุย โดย จูหยวนจางนั้นมีลักษณะนิสัยเป็นผู้นำตั้งแต่เล็ก โดยมักจะเล่นเป็นหัวโจกให้เพื่อนๆ คุกเข่าลงคารวะแล้วสรรเสริญว่า "ว่านสุ้ย (万岁)" อันเป็นคำที่ ขุนนางใช้สรรเสริญองค์ฮ่องเต้อยู่เสมอ

เนื่องจากครอบครัวเป็นชาวนายากจน ทำให้จูหยวนจาง ต้องอพยพย้ายครอบครัวทำไร่ไถนาไปเรื่อยๆ ในหลายท้องที่ จนกระทั่ง ค.ศ.1344 เมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ สมาชิกในครอบครัวของจูหยวนจางต่างก็ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เขาต้องบากหน้าไปขอยืมที่ดินเพื่อนบ้านเพื่อฝังศพสมาชิกในครอบครัว ขณะที่ตัวเองนั้นก็ เข้าบวชเป็นพระ หนีความอดอยากเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม 16 ปี*

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทุพภิกขภัยขณะนั้นร้ายแรงมากเสียจน ขนาดพระในวัดก็ยังไม่มีข้าวกิน เจ้าอาวาสจึงแนะนำให้ พระในวัดแยกย้าย กระจายกันไปบิณฑบาตรในหลายๆ พื้นที่ เพื่อจะได้ไม่อดตาย

หลังจากเร่ร่อนได้หลายปี เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จูหยวนจาง ก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมที่ออกบวช โดยระหว่าง 3 ปีที่อยู่ในวัดทำให้ จูหยวนจาง มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ จนในปี ค.ศ.1352 เมื่ออายุได้ 24 ปี จูหยวนจางก็ไปเข้าร่วมกับกองทัพโพกผ้าแดง ของ กัวจื่อซิง (郭子兴)

แม้ จูหยวนจาง จะมีหน้าตาค่อนข้างอัปลักษณ์ นัยน์ตาโปน คางยื่น รูปร่างสูงใหญ่ แต่กัวจื่อซิง ก็มองเห็นสติปัญญาอันเฉียบแหลม และความสามารถ จึงยกลูกเลี้ยง ให้เป็นภรรยาของจูหยวนจาง

จนในปี ค.ศ.1355 หลังจากจูหยวนจาง เข้ามาร่วมกองทัพได้เพียง 3 ปี กัวจื่อซิง ผู้นำของกองทัพโพกผ้าแดงก็เสียชีวิตลงกะทันหัน และ จูหยวนจาง ในฐานะลูกเขย ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพแทน

จูหยวนจาง เป็นผู้นำที่ฉลาดหลักแหลม มองการณ์ไกล และที่สำคัญมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม เขารู้จักใช้คนที่มีทั้งทาง บุ๋น และ บู๊ ได้อย่างเหมาะเจาะ โดยหลังจากที่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ เขาก็พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง กับบรรดาขุนศึกที่ตอนนั้นแยกกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ครองอาณาจักรของตน

ในเวลาไม่นาน ด้วยคำแนะนำของที่ปรึกษา ในปี ค.ศ.1356 จูหยวนจางก็ยึดเมืองจินหลิง (金陵) ซึ่งในปัจจุบันก็คือพื้นที่ เมืองหนานจิง และดำเนินนโยบาย "สร้างกำแพงเมืองสูง สะสมกำลัง-เสบียง แต่ยังไม่ตั้งตนเป็นกษัตริย์"

ขณะที่ทำตัวเล็กๆ ไม่ตั้งตนเป็น ฮ่องเต้ให้กระโตกกระตาก ในทางกลับกัน จูหยวนจาง มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การขับไล่พวกมองโกล ออกจากแผ่นดินจีนเสีย และรวบรวมอาณาจักรจีนให้เป็นหนึ่งเดียวขึ้นมาอีกครั้ง

หลังจากยึดเอาจินหลิง เป็นฐานที่มั่น เพื่อสะสมกำลังได้ ในเวลาต่อมา จูหยวนจางก็ค่อยๆ รุกคืบไปทีละขั้น ปราบเหล่าขุนศึกไปทีละก๊ก จนในที่สุด เมื่อปี ค.ศ.1368 อาณาเขตทั่วภาคใต้ของจีนก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของเขาทั้งหมด และจูหยวนจาง อดีตลูกชาวนาที่เคยอดอยาก ยากจนถึงขนาดต้องหนีไปบวชเป็นพระ ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็น ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง ที่มีความหมายว่า "แสงสว่าง" ขึ้นใน วันตรุษจีน

จูหยวนจาง ถวายพระนามตนเองว่า ไท่จู่ (太祖) ใช้ชื่อรัชกาลว่า หงอู่ (洪武) และถือเอา หนานจิง เป็นเมืองหลวงของ ราชวงศ์แห่งแสงสว่าง

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พ.ศ.2542 หน้า 416-419

หมายเหตุ : สารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชุด "ความทรงจำแห่งฤดูร้อน" ความยาวประมาณ 12 ตอน จะกล่าวถึงเมืองหนานจิง หวงซาน และหางโจว โดยเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เป็นตอนแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น