xs
xsm
sm
md
lg

"9 ผู้นำสูงสุดจีน" เข้าห้องเรียนอัพเดทตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ว่ากันว่า “หูจิ่นเทา” ผู้นำสูงสุดของประเทศจีน ท่อง “เน็ต” สำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนด้วยตัวเอง

ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งสูงสุด ก็น่าจะเป็นไปได้ครับ เมื่อเขาขึ้นรับตำแหน่งสูงสุดแล้ว ไม่แน่ว่าจะมีเวลามีกำลังเปิดเน็ตดูเอง แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อนักข่าวถามว่า เขายังท่องเน็ตอยู่หรือเปล่า เขาบอกว่ายังทำอยู่แต่น้อยลง

“ผู้นำยิ่งอยู่สูง ก็ยิ่งห่างเหินจากชาวบ้าน”

ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานรับคำร้องเรียน แต่มันก็ต้องผ่าน “คนอื่น” ผ่านวิจารณญาณของคนอื่น ซึ่ง “คิด” อะไรอยู่ ท่านผู้นำก็รู้ยาก

หรือแม้ว่าจะมีหน่วยงานติดตามความคิดเห็นด้านต่างๆ ของประชาชนทางเน็ตก็ตาม แต่โดยธรรมชาติของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” แล้ว ก็คงมุ่งจ้องจะจับผิดคนที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลเสียมากกว่าที่จะนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ท่วงทำนองของหูจิ่นเทาที่ติดตามความคิดเห็นของประชาชนในเน็ตด้วยตัวเอง จึงเป็นภาพด้านบวก

ซึ่งก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ที่ผู้นำประเทศอื่นจะทำตามบ้าง (มีอยู่ประเทศหนึ่งคงไม่ทำ!)

ข่าวคราวเรื่องคณะผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีท่าทีเปิดกว้างมากขึ้น มีการศึกษาแนวทางการเมืองของประเทศอื่นๆ นั้น ปรากฎเป็นข่าวอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าพวกเขาจัดการศึกษากันอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไร

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน มีการเปิดเผยเนื้อหาที่คณะกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน 9 คน ร่วมกันศึกษาหัวข้อ “ปัญหาว่าด้วยการสร้างสรรค์สมรรถภาพการบริหารการเมืองของพรรค” โดยเชิญศาสตราจารย์หวงจังเหลียง ผู้เชี่ยวชาญด้านลัทธิสังคมนิยมในโลกแห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นผู้บรรยาย

นอกจากบรรดากรมการเมือง (โปลิสบุโร) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะศึกษาร่วมกันแล้ว ยังให้เผยแพร่คำบรรยายและจัดการศึกษาภายในพรรคทุกระดับชั้น

อันที่จริงเนื้อหาที่ศาสตราจารย์หวงจังเหลียงบรรยายนั้น ก็มิใช่เรื่องใหม่อะไรนักสำหรับชาวต่างชาติที่ติดตามศึกษาสถานการณ์ประเทศจีน

แต่ “ท่าที” ของพรรคคอมมิวนิสต์ต่างหากที่ค่อนข้างเป็นสิ่งใหม่ คือแสดงการยอมรับแนวคิดของนักวิชาการอย่างเต็มที่

ศ.หวงจังเหลียง ผู้ซึ่งวิจัยศึกษาเปรียบเทียบลัทธิสังคมนิยมกับลัทธิทุนนิยม และการเมืองในประเทศต่างๆ มานานปี เสนอแนวคิดว่า การเมืองในประเทศต่างๆ ต้องป้องกันหลีกเลี่ยง “อำนาจผูกขาด ฉ้อฉลผูกขาด”

ประเทศตะวันตก พยายามใช้หลักการแบ่งอำนาจและถ่วงดุลสามสถาบัน คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศตกไปสู่ภาวะ “อำนาจผูกขาด ฉ้อฉลผูกขาด” และมองว่านี่เป็นข้อดีเด่นข้อหนึ่งของประชาธิปไตยแบบตะวันตก

และการเลือกตั้งทำให้พรรคการเมืองไม่ห่างเหินกับประชาชน

ในทางทฤษฎีมันก็ดูดีอยู่หรอกครับ

แต่ถ้า ศ.หวงจังเหลียง ได้มาศึกษาความเป็นจริงภาคสนามในเมืองไทยบ้าง อาจจะหมดศรัทธากับการเลือกตั้งไปเลยก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การที่ ศ.หวงจังเหลียงยกข้อดีของสามเสาหลักประชาธิปไตยและการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นมาชี้ให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าใจ ก็เพื่อที่จะชี้ต่อไปว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องพัฒนาพรรคคอมมิวนิสต์ให้มีลักษณะดีแบบนั้นบ้าง

ศ.หวงจังเหลียงยังสรุปบทเรียนความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียรัสเซียและยุโรปตะวันออกว่า เป็นเพราะ

1. สูญเสียรากฐานมวลชน คือ เหินห่างจากมวลชน ไม่ใกล้ชิด ไม่ได้รับความสนับสนุนความนิยมจากรากฐานมวลชนที่แท้จริง

2. การจัดตั้ง และวินัยของพรรคเสื่อมไป ชาวคอมมิวนิสต์กลายเป็นนักลิทธิขุนนางไป

3. พรรคคอมมิวนิสต์กลายสภาพไปเป็นลัทธิคัมภีร์ เหินห่างจากสภาพความเป็นจริง คือ กอดตำราลัทธิและประสบการณ์ที่มันเก่านับร้อยปีมาแล้ว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์ความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์นั้นเป็นแนวคิดที่มีลักษณะปฏิวัติ ซึ่งต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ท่าทีของพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันจึงจะต้องป้องกันหลีกเลี่ยงภาวะ “อำนาจผูกขาด ฉ้อฉลผูกขาด” จะต้องทำให้มวลชนได้มีส่วนร่วมในการปกครอง จะต้องทำให้ผู้ปฏิบัติงาน (หมายถึงสมาชิกพรรค) ได้รับการตรวจสอบจากมวลชน ให้มวลชนมีอำนาจกำกับควบคุมผู้ปฏิบัติงาน (ซึ่งคนเหล่านี้มักได้เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐและองค์กรของรัฐ) จีนจะต้องสร้างระบบควบคุม ถ่วงดุลอำนาจ ที่มีลักษณะจำเพาะของจีนขึ้น แม้มันจะยากเย็นและต้องใช้เวลานาน ก็จะต้องมานะพยายามทำให้ได้ มิฉะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะพบกับจุดจบทำนองเดียวกับพรรคโซเวียตและยุโรปตะวันออก
กำลังโหลดความคิดเห็น